โพรไบโอติกสามารถช่วยรักษาอาการท้องร่วงเฉียบพลันจากการติดเชื้อได้หรือไม่

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

โรคท้องร่วงเฉียบพลันจากการติดเชื้อมีความสำคัญในระดับโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ผู้วิจัยต้องการทราบว่าการทานโพรไบโอติกจะช่วยทำให้อาการท้องร่วงหายไวขึ้นหรือไม่ โดยได้ทำการสืบค้นการศึกษาเกี่ยวกับการใช้โพรไบโอติกในผู้ที่มีอาการท้องร่วงเฉียบพลัน และสนใจการศึกษาที่สุ่มให้การรักษาแต่ละชนิดแก่ผู้เข้าร่วม ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือ

ใจความสำคัญ

โพรไบโอติกอาจไม่ส่งผลต่อระยะเวลาของอาการท้องร่วงเฉียบพลัน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าสามารถย่นระยะเวลาในการฟื้นตัวจากอาการท้องร่วงได้หรือไม่ ผู้วิจัยยังต้องการหลักฐานที่เชื่อถือได้จากการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อตรวจสอบว่าโพรไบโอติกช่วยรักษาอาการท้องร่วงเฉียบพลันได้หรือไม่

การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาอะไร

“ท้องร่วง” หมายความถึง การบีบตัวของลำไส้มากผิดปกติ หรือการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตในลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องร่วงเฉียบพลัน และส่วนใหญ่มักแพร่กระจายทางน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระที่ติดเชื้อ อาการท้องเสียเฉียบพลันมักจะดีขึ้นภายในสองถึงสามวัน อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจสูญเสียน้ำ เกลือแร่ และสารอาหารในปริมาณมาก ทำให้ร่างกายขาดน้ำและอาจถึงแก่ชีวิตได้ การรักษาอาการท้องร่วงเฉียบพลันมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันหรือชดเชยการขาดน้ำ, เร่งเวลาในการฟื้นตัว และลดระยะเวลาท่่ีผู้ป่วยอาจแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น

โพรไบโอติกเป็นแบคทีเรียและยีสต์ที่มีชีวิตที่คาดว่าสามารถคืนสมดุลตามธรรมชาติของแบคทีเรียในลำไส้หลังจากถูกรบกวนจากความเจ็บป่วยหรือการรักษา โพรไบโอติกมักถูกอธิบายว่าเป็นแบคทีเรีย "ดี" หรือ "เป็นมิตร" ซึ่งอาจอยู่ในโยเกิร์ตหรือนำมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในโรคท้องร่วงเฉียบพลันจากการติดเชื้อ โพรไบโอติกอาจทำหน้าที่ต่อต้านจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง, ช่วยให้ลำไส้ต่อสู้กับเชื้อโรค หรือลดการอักเสบและความเสียหายต่อลำไส้

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

ผู้วิจัยพบการศึกษา 82 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 12,127 คน (ส่วนใหญ่เป็นเด็ก) ที่มีอาการท้องร่วงเฉียบพลัน มีการศึกษาเพียง 26 ฉบับในประเทศที่มีอัตราเสียชีวิตสูง (ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆ ) ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก

การศึกษาเหล่านี้เปรียบเทียบผลของโพรไบโอติกชนิดต่างๆ กับการไม่ได้รับการรักษาเพิ่มเติมใดๆ หรือการให้ยาหลอก ผู้วิจัยสนใจประเด็นเหล่านี้:

•จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียนานกว่า 48 ชั่วโมง; และ
•ระยะเวลาโดยเฉลี่ยของอาการท้องเสีย

มีความแตกต่างหลายประการในรูปแบบการวิจัยและการดำเนินการศึกษาเหล่านี้ การศึกษาใช้คำจำกัดความที่แตกต่างกันของ "อาการท้องร่วงเฉียบพลัน" และ "การสิ้นสุดของอาการท้องร่วง" และได้ทดสอบโพรไบโอติกหลายชนิด ดังนั้นจึงไม่สามารถรวมผลการศึกษาทั้งหมดมาในการวิเคราะห์ครั้งนี้ได้

ผู้วิจัยไม่พบความแตกต่างระหว่างการรับประทานโพรไบโอติกและการได้รับยาหลอกหรือไม่มีการรักษาเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ท้องเสียนานกว่า 48 ชั่วโมง (การศึกษา 2 ฉบับในประเทศที่มีรายได้สูง; เด็ก 1770 คน) และไม่แน่ใจว่าการใช้โพรไบโอติกจะมีผลต่อระยะเวลาที่มีอาการท้องเสียหรือไม่ (การศึกษา 6 ฉบับ; 3058 คน) ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ได้รับผลกระทบจากอายุ, ภาวะทางโภชนาการ เศรษฐกิจและสังคม, ภูมิภาค, การติดเชื้อโรตาไวรัส, การได้รับยาปฏิชีวนะ หรืออาหารเสริมสังกะสี

การใช้โพรไบโอติกอาจไม่มีผลต่อ:

• จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียนานกว่า 14 วัน (การศึกษา 9 ฉบับ; 2928 คน); หรือ
• จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการท้องร่วง (การศึกษา 6 ฉบับ; 2283 คน)

ยังไม่ชัดเจนว่าการใช้โพรไบโอติกช่วยลดเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับการได้รับยาหลอกหรือไม่มีการรักษาเพิ่มเติม (การศึกษา 24 ฉบับ; 4056 คน) มีการศึกษาไม่กี่ฉบับที่รายงานผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากโพรไบโอติก และไม่มีรายงานผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรงในผู้ที่ทานโพรไบโอติก

ความน่าเชื่อถือของผลการวิจัย

การทบทวนวรรณกรรมฉบับที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ได้ข้อสรุปจากการศึกษาขนาดเล็กหลายฉบับในสาขานี้และชี้ให้เห็นถึงประสิทธผลของโพรไบโอติก

แต่การวิเคราะห์ครั้งใหม่นี้แสดงให้เห็นว่ามฮคติในการตีพิมพ์เกิดขึ้นในหัวข้อนี้ โดยการศึกษาขนาดเล็กที่แสดงผลลัพธ์ในเชิงบวกมีแนวโน้มที่จะได้รับการตีพิมพ์มากกว่า ซึ่งจะบิดเบือนผลลัพธ์ในภาพรวม การวิเคราะห์ครั้งใหม่ได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้

ผู้วิจัยรวบรวมหลักฐานที่เผยแพร่จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2019

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

โพรไบโอติกอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลยต่อจำนวนผู้ที่มีอาการท้องร่วงเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น และผู้วิจัยไม่แน่ใจว่าโพรไบโอติกช่วยลดระยะเวลาของอาการท้องร่วงได้หรือไม่ การวิเคราะห์นี้อ้างอิงจากการศึกษาขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โพรไบโอติกอาจช่วยลดระยะเวลาของอาการท้องร่วงเฉียบพลันจากการติดเชื้อ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของโพรไบโอติกในโรคท้องร่วงเฉียบพลันจากการติดเชื้อที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว หรือที่สันนิษฐานว่าเป็น

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาในฐานข้อมูลของ Cochrane Infectious Diseases Group, MEDLINE และ Embase ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2019 ตลอดจน Cochrane Controlled Trials Register (ฉบับที่ 12, 2019) ใน Cochrane Library และรายการอ้างอิงจากการศึกษาและการทบทวนวรรณกรรม นอกจากนี้ยังได้รวมเอาการศึกษาเพิ่มเติมที่ได้จากการตรวจสอบภายนอก

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบ Randomized controlled trials ที่เปรียบเทียบระหว่างโพรไบโอติกชนิดหนึ่งๆ กับยาหลอกหรือการไม่ได้รับโพรไบโอติก ในผู้ที่มีอาการท้องร่วงเฉียบพลันที่พิสูจน์แล้วหรือสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 2 คนได้ทำการประเมินงานวิจัยเพื่อคัดเข้าในการทบทวน ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และดึงข้อมูล อย่างอิสระต่อกัน ผลลัพธ์หลัก คือ ตัววัดที่บ่งชี้ระยะเวลาของอาการท้องร่วง (อาการท้องร่วงนาน ≥ 48 ชั่วโมง; ระยะเวลาของอาการท้องร่วง) ผลลัพธ์รอง ได้แก่ จำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (ในการศึกษาในชุมชน), ระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาล (ในการศึกษาในผู้ป่วยใน), อาการท้องร่วงนาน ≥ 14 วัน และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษา 82 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 12,127 คน มีเด็ก 11,526 คน (อายุ <18 ปี) และผู้ใหญ่ 412 คน (มีการศึกษา 3 ฉบับที่คัดเลือกผู้ใหญ่และเด็ก 189 คน แต่ไม่ได้ระบุจำนวนในแต่ละกลุ่มอายุ) ไม่มีการทดลองแบบ cluster-randomized trials รวมอยู่ด้วย การศึกษาเหล่านี้ใช้คำจำกัดความของ "อาการท้องร่วงเฉียบพลัน" และ "การสิ้นสุดของอาการท้องร่วง" และชนิดโพรไบโอติกที่ทดสอบแตกต่างกันออกไป มีการศึกษาทั้งหมด 53 ฉบับในประเทศที่อัตราการเสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่ำหรือต่ำมาก และ 26 รายที่อัตราการเสียชีวิตของเด็กหรือผู้ใหญ่อยู่ในระดับสูง

มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจนในหลายการศึกษา และมีความแตกต่าง (heterogeneity) ทางสถิติอย่างชัดเจนเมื่อนำเอาผลลัพธ์หลักมารวมไว้ในการวิเคราะห์ meta-analysis เช่นเดียวกับขนาดของผลลัพธ์ (effect size) ในการวิเคราะห์ sensitivity analysis ซึ่งก็มีความแตกต่างอย่างชัดเจน อคติในการตีพิมพ์แสดงให้เห็นจาก funnel plots ของผลลัพธ์หลัก

ในการวิเคราะห์หลักเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักของการศึกษาที่มีความเสี่ยงของการมีอคติในทุกด้านต่ำ พบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างโพรไบโอติกและกลุ่มควบคุมในหัวข้อ การมีอาการท้องร่วงนาน ≥ 48 ชั่วโมง (risk ratio (RR) 1.00, 95% confidence interval (CI) 0.91 ถึง 1.09; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 1770 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง); หรือระยะเวลาของอาการท้องร่วง (mean difference (MD) สั้นลง 8.64 ชั่วโมง, 95% CI สั้นลง 29.4 ชั่วโมง ถึง นานขึ้น 12.1 ชั่วโมง; 6 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 3058 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก)

ขนาดของผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน และมีความแตกต่างอย่างชัดเจนในการวิเคราะห์กลุ่มย่อยที่ระบุไว้ล่วงหน้าของผลลัพธ์หลักจากการศึกษาทั้งหมด รวมไปถึงการวิเคราะห์ที่สนใจแค่โพรไบโอติก Lactobacillus rhamnosus GG และ Saccharomyces boulardii เท่านั้น โดยใน 6 การทดลอง (ผู้เข้าร่วม 433 คน) ของ Lactobacillus reuteri พบว่ามีความสอดคล้องกันระหว่างผลการวิจัย (I² = 0%) แต่มีความเสี่ยงของการมีอคติในการศึกษาทั้งหมด ความแตกต่างไม่ได้เกิดจากประเภทของผู้เข้าร่วม (อายุ, ภาวะทางโภชนาการ / เศรษฐกิจและสังคมที่จำแนกตามอัตราการเสียชีวิต, ภูมิภาคที่ทำการศึกษา), อาการท้องร่วงในเด็กที่เกิดจากไวรัสโรตา, การได้รับยาปฏิชีวนะ และบางการศึกษามีเด็กที่ได้รับอาหารเสริมสังกะสีในการรักษา นอกจากนี้ ยังไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในขนาดของผลสำหรับผลลัพธ์หลักในการวิเคราะห์ post hoc analyses จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหรือแม้กระทั่งการทดลองที่ได้รับการลงทะเบียนหรือไม่ได้ลงทะเบียน

สำหรับผลลัพธ์อื่นๆ ระยะเวลาของการรักษาในโรงพยาบาล (ในการศึกษาในผู้ป่วยใน) โดยเฉลี่ยในกลุ่มโพรไบโอติกสั้นกว่าในกลุ่มควบคุม แต่มีความแตกต่างระหว่างการศึกษาอย่างชัดเจน (I² = 96%; MD -18.03 ชั่วโมง, 95% CI -27.28 ถึง -8.78, random-effects model: การศึกษา 24 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 4056 คน) ไม่พบความแตกต่างระหว่างโพรไบโอติกและกลุ่มควบคุมในจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วงนาน ≥ 14 วัน (RR 0.49, 95% CI 0.16 ถึง 1.53; การศึกษา 9 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 2928 คน) หรือ ความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (ในการศึกษาชุมชน) (RR 1.26, 95 % CI 0.84 ถึง 1.89; การศึกษา 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 2283 คน)

ไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงเกิดจากโพรไบโอติก

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 23 ธันวาคม 2020

Tools
Information