คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
การเลี้ยงทารกด้วยนมสูตรที่มีโปรตีนไฮโดรไลซ์จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ เช่นโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้จมูกและการแพ้อาหารในช่วงวัยทารกและวัยเด็กหรือไม่
ความเป็นมา
โรคภูมิแพ้มีผลสำคัญต่อสุขภาพของทารกเด็กและผู้ใหญ่ อาหารในช่วงต้นของชีวิต อาจมีผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ เมื่อทารกไม่ได้เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว (exclusively breast fed) การใช้นมสูตรไฮโดรไลซ์แทนนมทารกชนิดนมวัวทั่วไป อาจลดโรคภูมิแพ้ในทารกและเด็กได้ แม้ว่าจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสิ่งนี้ นมทารกได้รับการออกแบบมาเพื่อลดโอกาสที่จะทำให้ทารกเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งรวมถึงนมวัวที่ผ่านกระบวนการไฮโดรไลซ์และนมถั่วเหลือง นมสูตรที่ผ่านการไฮโดรไลซ์จะสลายโปรตีนในนมให้เป็นโปรตีนขนาดเล็ก ซึ่งอาจลดการกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้น้อยลง
ผลการศึกษา
การทบทวนวรรณกรรมนี้ ไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการเลี้ยงด้วยนมสูตรไฮโดรไลซ์ ในการป้องกันโรคภูมิแพ้ ทดแทนการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว (exclusive breast feeding) สำหรับทารกที่ไม่สามารถเลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่มีหลักฐานว่าการให้นมทารกสูตรไฮโดรไลซ์เป็นเวลานานเมื่อเทียบกับนมวัวจะมีความสัมพันธ์กับความแตกต่างในการเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้จมูก การแพ้อาหารหรือแพ้นมวัว ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่จำกัด ในทารกที่ได้รับนมสูตรไฮโดรไลซ์อย่างที่สุด (extensively hydrolysed formula) แทนนมวัวอาจช่วยลดโรคภูมิแพ้ในทารกได้ แต่มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของหลักฐานและความสม่ำเสมอของผลลัพธ์ ที่บ่งชี้ว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม หลักฐานในการทบทวนวรรณกรรมนี้ มาจากการค้นหาวรรณกรรมจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2017
สรุปผลการศึกษา
เราไม่พบหลักฐานที่สำคัญที่สนับสนุนว่า ในทารกที่ไม่สามารถเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว การให้นมนมสูตรไฮโดรไลซ์ในระยะสั้นหรือเป็นเวลานาน จะสามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ได้เมื่อเทียบกับการให้นมทารกชนิดนมวัว
เราไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการให้นมในระยะสั้นหรือเป็นเวลานานด้วยนมสูตรไฮโดรไลซ์เทียบกับการให้นมแม่อย่างเดียวเพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากบ่งชี้ว่าการใช้ EHF ในระยะสั้นเมื่อเทียบกับ CMF อาจป้องกัน CMA ในทารกได้ ควรต้องมีการศึกษาทดลองเพิ่มเติมก่อนที่จะดำเนินการตามแนวปฏิบัตินี้
เมื่อเทียบกับ CMF เราไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการให้นมสูตรไฮโดรไลซ์เป็นเวลานานเพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ ในทารกที่ไม่สามารถให้กินนมแม่อย่างเดียว (exclusively breast fed) ได้
นมสำหรับทารกชนิดที่มีโปรตีนไฮโดรไลซ์ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในการป้องกันโรคภูมิแพ้ในทารก แทนการใช้นมทารกชนิดนมวัว (CMF: cow’s milk formula) แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกรองรับในเรื่องนี้
เพื่อเปรียบเทียบผลต่อโรคภูมิแพ้ (allergic disease) ในทารกได้รับการเลี้ยงด้วย นมสูตรไฮโดรไลซ์ (hydrolysed formula) เทียบกับนมสำหรับทารกชนิดนมวัว (CMF) หรือนมแม่ (human breast milk) ถ้านมสูตรไฮโดรไลซ์ได้ผลจริง สูตรไหนที่ได้ผลดีที่สุด ทั้งนมสูตรไฮโดรไลซ์อย่างที่สุด (EHF: extensively hydrolysed formula) หรือนมสูตรไฮโดรไลซ์บางส่วน (PHF: partially hydrolysed formula) เพื่อตรวจสอบว่าทารกกลุ่มใดจะได้รับประโยชน์จากนมสูตรไฮโดรไลซ์ ทั้งในกลุ่มทารกที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ต่ำหรือสูง และทารกที่ได้รับระยะสั้นในช่วงแรก (สองถึงสามวันแรกหลังคลอด) หรือได้รับนมสูตรนี้เป็นเวลานาน
ผู้ทำวิจัยได้สืบค้นจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL 2017, Issue 11), MEDLINE (1948 ถึง 3 พฤศจิกายน 2017) และ Embase (1974 ถึง 3 พฤศจิกายน 2017) นอกจากนี้ยังค้นหาจากฐานข้อมูลการศึกษาทดลองทางคลินิก เอกสารในการประชุมและเอกสารอ้างอิงของบทความที่สืบค้นได้และของการทบทวนวรรณกรรมของการศึกษาทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials) และการทดลองแบบ quasi-randomised trials
เราค้นหาการศึกษาทดลองแบบ randomised trials และ quasi-randomised trials ที่เปรียบเทียบการใช้นมสูตรไฮโดรไลซ์กับนมแม่หรือนมทารกชนิดนมวัว ผลลัพธ์ที่มีการติดตามผล ≥ 80% ของผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัย จึงจะถูกคัดเลือกเข้ามาในการทบทวนวรรณกรรมนี้
ผู้ทบทวนสองคนทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกัน ในการคัดเลือกการศึกษาวิจัย ประเมินคุณภาพของการศึกษาวิจัยและดึงข้อมูล การวิเคราะห์ผลใช้ Fixed-effect analyses ผลการรักษาแสดงเป็นอัตราส่วนความเสี่ยง (RR: risk ratio) และความแตกต่างของความเสี่ยง (RD: risk difference) พร้อมช่วงความเชื่อมั่น 95% (confidence intervals) และคุณภาพของหลักฐานประเมินด้วย GRADE ผลลัพธ์หลักคือโรคภูมิแพ้ทั้งหมด (รวมถึงโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้จมูกและการแพ้อาหาร)
ได้รวบรวมการศึกษาวิจัยทั้งหมด 16 การศึกษา
การศึกษาวิจัย 2 การศึกษาประเมินผลของการให้นม EHF เทียบกับนมแม่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ในช่วง 3 ถึง 4 วันหลังคลอดขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล การศึกษาหนี่งซึ่งศึกษาทารก 90 คน รายงานว่าไม่มีความแตกต่างในโรคภูมิแพ้ทุกชนิด (RR 1.43, 95% CI 0.38 ถึง 5.37) หรือโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่งจนถึงวัยเด็กรวมถึงการแพ้นมวัว (CMA: cow's milk allergy) (RR 7.11, 95% CI 0.35 ถึง 143.84) อีกการศึกษาหนึ่งรายงานว่าไม่มีความแตกต่างใน CMA ของทารก (RR 0.87, 95% CI 0.52 ถึง 1.46; ผู้เข้าร่วม = 3559) คุณภาพของหลักฐานต่ำมากสำหรับทุกผลลัพธ์การศึกษา
ไม่มีการศึกษาวิจัยที่เทียบนมสูตรไฮโดรไลซ์กับนมแม่ในระยะที่เวลานาน
การศึกษาวิจัย 2 การศึกษา ประเมินผลของการเสริมทารก 3 ถึง 4 วันด้วย EHF เทียบกับ CMF การศึกษาหนึ่งซึ่งศึกษาทารก 90 คน รายงานว่าไม่มีความแตกต่างในโรคภูมิแพ้ทุกชนิด (RR 1.37, 95% CI 0.33 ถึง 5.71; ผู้เข้าร่วม = 77) หรือโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่งรวมถึง CMA จนถึงวัยเด็ก อีกการศึกษาหนึ่ง รายงานว่า CMA ของทารกลดลงอย่างมีแนวโน้มที่จะมีนัยสำคัญ (borderline significance) (RR 0.62, 95% CI 0.38 ถึง 1.00; ผู้เข้าร่วม = 3473) คุณภาพของหลักฐานต่ำมากสำหรับทุกผลลัพธ์การศึกษา
การศึกษาวิจัย 12 การศึกษา ประเมินผลของการให้นมทารกเป็นเวลานานด้วยนมสูตรไฮโดรไลซ์เมื่อเทียบกับนมทารกชนิดนมวัว (CMF) ข้อมูลไม่พบความแตกต่างของโรคภูมิแพ้ทุกชนิดในทารก (typical RR 0.88, 95% CI 0.76 ถึง 1.01; ผู้เข้าร่วม = 2852; การศึกษา = 8) และในเด็ก (typical RR 0.85, 95% CI 0.69 ถึง 1.05; ผู้เข้าร่วม = 950; = 2) และไม่มีความแตกต่างในโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่งรวมถึงโรคหอบหืดในทารก (typical RR 0.57, 95% CI 0.31 ถึง 1.04; ผู้เข้าร่วม = 318; การศึกษา = 4), โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (eczema) (typical RR 0.93, 95% CI 0.79 ถึง 1.09; ผู้เข้าร่วม = 2896; การศึกษา = 9), โรคภูมิแพ้จมูก (typical RR 0.52, 95% CI 0.14 ถึง 1.85; ผู้เข้าร่วม = 256; การศึกษา = 3), การแพ้อาหาร (typical RR 1.42, 95% CI 0.87 ถึง 2.33; ผู้เข้าร่วม = 479; การศึกษา = 2) และ CMA (typical RR 2.31, 95% CI 0.24 ถึง 21.97; ผู้เข้าร่วม = 338; การศึกษา = 1) คุณภาพของหลักฐานต่ำมากสำหรับทุกผลลัพธ์การศึกษา
แปลโดย นายแพทย์โยธี ทองเป็นใหญ่ หน่วยโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา Dr.Yothi Tongpenyai; May 31, 2021