การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน

น้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับสภาวะสุขภาพที่ร้ายแรงหลายประการ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยในการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหารและระดับการออกกำลังกาย การรักษาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนจึงมักเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย เราพบว่าการออกกำลังกายมีผลเชิงบวกต่อน้ำหนักตัวและปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายนั้นทำให้สุขภาพดีขึ้นแม้ว่าน้ำหนักจะไม่ลดลงก็ตาม ไม่มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ คุณภาพชีวิต การเจ็บป่วย ต้นทุน หรือการเสียชีวิต

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ผลลัพธ์ของการทบทวนนี้สนับสนุนการใช้การออกกำลังกายเป็นมาตรการในการลดน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงอาหาร การออกกำลังกายมีความเกี่ยวข้องกับการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ แม้ว่าน้ำหนักจะไม่ลดลงก็ตาม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักตัวได้ ไม่มีการทบทวนเเกี่ยวกับรื่องนี้อย่างเป็นระบบในเชิงปริมาณใน Cochrane Library

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินการออกกำลังกายซึ่งเป็นวิธีการลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน โดยใช้การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม

วิธีการสืบค้น: 

การศึกษาได้มาจากการค้นหาฐานข้อมูลบรรณานุกรมอิเล็กทรอนิกส์หลายฐานข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาจะถูกรวบรวมเข้ามา หากเป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวโดยใช้การแทรกแซงกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 1 อย่างในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนที่การตรวจวัดพื้นฐาน และขาดการติดตามผลของผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 15%

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ประเมินคุณภาพของการศึกษาและดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน

ผลการวิจัย: 

การศึกษา 43 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 3476 คน แม้ว่าความแตกต่างที่มีนัยสำคัญในการวิเคราะห์ผลกระทบหลักบางส่วนจะจำกัดความสามารถในการรวบรวมขนาดของผลกระทบในการศึกษาบางการศึกษา แต่ก็มีการคำนวณขนาดของผลกระทบรวมหลายขนาด เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รักษา การออกกำลังกายส่งผลให้น้ำหนักลดลงเล็กน้อยในการศึกษาต่างๆ การออกกำลังกายร่วมกับการควบคุมอาหารส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้มากกว่าการควบคุมการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว (WMD - 1.0 กก.; ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -1.3 ถึง -0.7) การเพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลังกายทำให้น้ำหนักลดลงมากขึ้น (WMD - 1.5 กก.; 95% CI -2.3 ถึง -0.7) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการวัดผลลัพธ์อื่นๆ เช่น ไขมันในเลือด ความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักเพียงอย่างเดียวส่งผลให้ความดันโลหิตตัวล่างลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (WMD - 2 มิลลิเมตรปรอท; 95% CI -4 ถึง -1) ไตรกลีเซอไรด์ (WMD - 0.2 มิลลิโมล/ลิตร; 95% CI -0.3 ถึง -0.1) และ ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (WMD - 0.2 มิลลิโมล/ลิตร; 95% CI -0.3 ถึง -0.1) การออกกำลังกายที่มีความหนักมากขึ้นส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลดลงมากกว่าการออกกำลังกายที่มีความหนักน้อยกว่า (WMD - 0.3 มิลลิโมล/ลิตร; 95% CI -0.5 ถึง -0.2) ไม่มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ คุณภาพชีวิต การเจ็บป่วย ต้นทุน หรือการเสียชีวิต

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 19 มกราคม 2024

Tools
Information