วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้
เพื่อเปรียบเทียบการรักษาร่วมกับการใช้และไม่ใช้ยาต้านการเจริญเติบโตของหลอดเลือดในผู้ป่วยต้อหินที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ที่มุมตา
ใจความสำคัญ
ยังไม่แน่ชัดว่าการใช้ยาต้าน VEGF ในการรักษาผู้ป่วยต้อหินที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ที่มุมตามีประโยชน์มากกว่าการรักษาโดยไม่ใช้ยาต้าน VEGF หรือไม่ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของยาต้าน VEGF เมื่อเทียบกับการรักษาเดิมหรือเมื่อให้ร่วมกับการรักษาเดิม
เราศึกษาอะไรในการทบทวนวรรณกรรมนี้
VEGF เป็นโปรตีนที่ถูกผลิตโดยเซลล์ในร่างกายของคุณและทำหน้าที่สร้างหลอดเลือดใหม่เมื่อร่างกายต้องการ เมื่อเซลล์สร้าง VEGF มากเกินไปจะทำให้หลอดเลือดผิดปกติเกิดขึ้นในตา NVG เป็นชนิดของโรคต้อหินที่มุมตาซึ่งอยู่ระหว่าง iris (ส่วนสีของตา) และกระจกตา (ส่วนโปร่งใสด้านหน้าของตา) ถูกปิดโดยเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นในตาจึงเรียกว่า 'neovascular' เส้นเลือดใหม่อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นและทำให้มุมตาแคบลง ซึ่งในที่สุดสามารถทำให้มุมตาปิดทั้งหมด สิ่งนี้ส่งผลให้มีความดันตาสูงเนื่องจากของเหลวในตาไม่สามารถระบายได้ตามปกติ ผู้ป่วย NVG จะมีตาแดง ปวดตาและการมองเห็นที่ผิดปกติ ความดันที่สูงในตาสามารถทำให้ตาบอดได้
ยาต้าน VEGF เป็นยาชนิดหนึ่งที่ยับยั้ง VEGF ทำให้ชะลอการเจริญเติบโตของหลอดเลือด ยาจะถูกฉีดเข้าไปในตา สามารถใช้ยาได้ในระยะแรกเริ่มของโรคซึ่งยังไม่สามารถรักษาด้วยการรักษาแบบเดิมได้ การศึกษาส่วนใหญ่รายงานประโยชน์ระยะสั้น (โดยทั่วไปสี่ถึงหกสัปดาห์) ของยาต้าน VEGF แต่ประโยชน์ระยะยาวยังไม่ชัดเจน
ผลลัพธ์หลักของการทบทวนนี้คืออะไร
ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษาสี่เรื่องซึ่งมีผู้ป่วย NVG ทั้งหมด 263 ราย มีการศึกษาหนึ่งที่ไม่สามารถประเมินผลได้หลังรักษาไป 1 สัปดาห์ ส่วนการศึกษาอีกเรื่องหนึ่งได้ผลที่ไม่แน่นอนเรื่องจากข้อจำกัดของการออกแบบการศึกษา
การศึกษาอีกสองเรื่องรายงานผลที่แตกต่างกันของการลดลงของความดันตา การศึกษาหนึ่งแสดงผลที่สรุปไม่ได้ ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งพบว่าการใช้ยาต้าน VEGF มีประสิทธิภาพมากกว่า หลักฐานจากการศึกษาเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือน้อยเนื่องจากข้อจำกัดในการออกแบบการศึกษาและความไม่สอดคล้องของผลการศึกษา ดังนั้นหลักฐานที่มีอยู่ในขณะนี้จึงยังไม่เพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ยาต้าน VEGF เป็นประจำในผู้ป่วยที่เป็น NVG
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้เป็นอย่างไร
ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงวันที่ 22 เดือนมีนาคม ปี 2019
ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนเกี่ยวกับประสิทธิผลระยะยาวของยาต้าน VEGF เช่น การฉีดยา ranibizumab หรือ bevacizumab หรือ aflibercept เข้าน้ำวุ้นตาเพื่อเป็นยาเสริมร่วมกับการรักษาแบบเดิมในการลดความดันตาใน NVG ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของยาเหล่านี้ เมื่อเทียบยากับการรักษาเดิมหรือเมื่อให้ยาร่วมกับการรักษาเดิมทั้งแบบผ่าตัดและแบบใช้ยาเพื่อลดความดันตาใน NVG
ต้อหินที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ที่มุมตา (NVG) เป็นต้อหินชนิดทุติยภูมิที่ทำให้เกิดตาบอดได้ โรคนี้เกิดจากการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ผิดปกติ ซึ่งบดบังการระบายน้ำจากส่วนหน้าของตา ยาที่ต่อต้านโกรทแฟคเตอร์ของหลอดเลือด (anti-VEGF) นั้นเป็นตัวยับยั้งที่เจาะจงต่อสารที่สร้างเส้นเลือดใหม่ มีการศึกษาที่รายงานประสิทธิผลของยาต้าน VEGF ในการควบคุมความดันตาในผู้ป่วย NVG แล้ว
ในการประเมินประสิทธิผลของการใช้ยาต้าน VEGF ในลูกตาเพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการรักษาแบบเดิมหนึ่งชนิดหรือสองชนิดขึ้นไปเทียบกับการไม่ใช้ยาต้าน VEGF ในการรักษา NVG
เราทำการสืบค้นจาก CENTRAL (ซึ่งมี Cochrane Eyes and Vision Trials Register) MEDLINE Embase PubMed และ LILACS จนถึง 22 มีนาคม 2019 สืบค้นจาก meta Register of Control Trials จนถึง 13 สิงหาคม 2013 และสืบค้นจากการลงทะเบียนงานวิจัยอีกสองแหล่ง จนถึง 22 มีนาคม 2019 ผู้วิจัยไม่ได้จำกัดวันหรือภาษาในการสืบค้นทางอิเล็กทรอนิกส์
เรารวบรวม randomised controlled trials (RCTs) ที่ศึกษาในคนที่รักษาด้วยยาต้าน VEGF สำหรับ NVG
ผู้ทบทวนสองคนประเมินผลของการศึกษาแล้วทำการดึงข้อมูล แล้วประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยอิสระต่อกัน เราแก้ปัญหาความเห็นไม่ตรงกันโดยการอภิปราย
เรารวบรวม RCTs สี่เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 263 คน) และพบว่ามีการศึกษาหนึ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ การทดลองแต่ละชิ้นดำเนินการในประเทศที่แตกต่างกันคือ จีน บราซิล อียิปต์และญี่ปุ่น เราประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติในการทดลอง พบว่าอยู่ในระดับที่ไม่ชัดเจนเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ มีการทดลองสองเรื่องที่เปรียบเทียบการฉีดยา bevacizumab เข้าน้ำวุ้นตาร่วมกับการผ่าตัดใส่ท่อระบายชนิด Ahmed valve และการยิง panretinal photocoagulation (PRP) ร่วมกับการผ่าตัดใส่ท่อระบายชนิด Ahmed valve และการยิง PRP เราไม่ได้รวมการทดลองทั้งสองนี้เนื่องจากมีความไม่เป็นเอกพันธ์เชิงสถิติและคลินิก มีการทดลองหนึ่งทำการสุ่มผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อรับการฉีดยาต้าน VEGF เข้าน้ำวุ้นตาหรือรับยาหลอกในการตรวจครั้งแรก จากนั้นให้การรักษาแบบไม่สุ่มโดยดูจากอาการที่ตรวจพบหลังหนึ่งสัปดาห์ การทดลองเรื่องล่าสุดทำการสุ่มผู้เข้าร่วมโครงการให้รักษาด้วย PRP ร่วมกับการฉีดยา ranibizumab หรือ PRP โดยไม่ฉีดยา ranibizumab แต่ไม่มีรายละเอียดของการศึกษาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์
การทดลองสองชิ้นที่วัดความดันตาแสดงผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกัน การทดลองหนึ่งพบผลที่สรุปไม่ได้เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของความดันตาระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับและไม่ได้รับยาต้าน VEGF ที่หนึ่งเดือน (mean difference [MD] -1.60 มิลลิเมตรปรอท, 95%ช่วงความเชื่อมั่น [CI] -4.98 ถึง 1.78; ผู้เข้าร่วม 40 คน) และที่หนึ่งปี (MD 1.40 มิลลิเมตรปรอท, 95% CI -4.04 ถึง 6.84; ผู้เข้าร่วม 30คน) 65 เปอร์เซ็น ของผู้เข้าร่วมที่ได้รับยาต้าน VEGF มีความดันตา ≤ 21 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเทียบกับ 60% ของผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้รับยาต้าน VEGF ในอีกการทดลองหนึ่ง ผู้ที่ได้รับยาต้าน VEGF มีแนวโน้มที่จะลด IOP ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยาที่หนึ่งเดือน (MD -6.50 มิลลิเมตรปรอท, 95% CI -7.93 ถึง -5.07; ผู้เข้าร่วม 40 คน) และที่หนึ่งปี (MD -12.00 มิลลิเมตรปรอท, 95% CI -16.79 ถึง -7.21; ผู้เข้าร่วม 40 คน) 65 เปอร์เซ็น ของผู้เข้าร่วมที่ได้รับยาต้าน VEGF มีความดันตา ≤ 21 มิลลิเมตรปรอท เมื่อเทียบกับ 50% ของผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้รับยาต้าน VEGF ผลการศึกษานี้มีความน่าเชื่อถือของหลักฐานในระดับต่ำ เนื่องจากออกแบบการวิจัยมีข้อจำกัดและผลระหว่างการศึกษาไม่สอดคล้องกัน
ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ได้แก่ เลือดออกที่ช่องหน้าลูกตา (3 ตา) และเลือดออกใต้เยื่อบุตา (ผู้เข้าร่วม 2 คน) ในกลุ่มที่ได้ยาต้าน VEGF และจอประสาทตาหลุด และตาฝ่อ (1 คน) ในกลุ่มควบคุม ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการผลที่ไม่แม่นยำและหลักฐานที่ไม่ตรง
ไม่มีการทดลองที่รายงานสัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่มีการมองเห็นดีขึ้น สัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่เส้นเลือดใหม่มีการฝ่อลงทั้งหมดหรือสัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่ไม่ปวดตาและตาไม่แดงหลังติดตามการรักษาไปสี่ถึงหกสัปดาห์หรือหนึ่งปี
แปลโดย พญ. สุขุมาล ธนไพศาล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 10 มีนาคม 2020