ส่วนสำคัญที่สุด
เราพบว่าการให้ลูกดูดนมแม่ก่อนและระหว่างการฉีดวัคซีนช่วยลดความเจ็บปวดในทารกส่วนใหญ่จนถึงอายุ 1 ปี
ความเป็นมา
เข็มใช้สำหรับฉีดวัคซีนเด็กปฐมวัยและการดูแลทางการแพทย์ในช่วงที่เจ็บป่วยในวัยเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นแต่เจ็บปวด สร้างความทุกข์ให้กับทารกและบ่อยครั้งต่อพ่อแม่/ผู้ดูแล และอาจส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลและความกลัวเกี่ยวกับเข็มในอนาคต การให้ลูกดูดนมแม่ระหว่างการตรวจเลือดในทารกแรกเกิดช่วยลดความเจ็บปวด การให้ลูกดูดนมแม่เมื่อเป็นไปได้และทำได้อาจช่วยปลอบประโลมทารก และลดความเจ็บปวดในช่วงแรกเกิดและตลอดช่วงวัยทารก
ลักษณะของการศึกษา
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เราสืบค้นวรรณกรรมทางการแพทย์เพื่อศึกษาประสิทธิผลต่อทารกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 ถึง 12 เดือนระหว่างการใช้เข็ม เราเปรียบเทียบประสิทธิผลของการให้ลูกดูดนมแม่ในการลดความเจ็บปวด (ตามคะแนนเวลาร้องไห้และคะแนนความเจ็บปวด) กับการอุ้ม ทารกนอนราบ การให้น้ำหรือยาหวาน เราพบการศึกษา 10 รายการ มีทารกทั้งหมด 1066 คน การศึกษาทั้งหมดตรวจสอบว่าการให้ลูกดูดนมแม่ลดความเจ็บปวดระหว่างการฉีดวัคซีนหรือไม่
ผลการศึกษาที่สำคัญ
การให้ลูกดูดนมแม่ลดการร้องไห้ของทารกที่ได้รับวัคซีน โดยเฉลี่ย ทารกที่ดูดนมแม่จะร้องไห้น้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ 38 วินาที (6 การศึกษา; ทารก 547 คน; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) และคะแนนความเจ็บปวดต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (5 การศึกษา; ทารก 310 คน; หลักฐานคุณภาพปานกลาง)
ไม่มีการศึกษารายงานเกี่ยวกับอันตรายใดๆ (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) เราไม่สามารถสรุปผลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายในทารกที่มีสุขภาพดีที่ดูดนมแม่ในระหว่างการฉีดวัคซีน
ต่อจากนี้ไป: หากมารดาให้ลูกดูดนมแม่ ควรพิจารณาให้ทารกในระหว่างการฉีดวัคซีนเมื่อมีโอกาส จำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้ว่าการให้ลูกดูดนมแม่สามารถช่วยทารกที่อายุมากกว่าและทารกในโรงพยาบาลในระหว่างการตรวจเลือดหรือหัตถการ เช่น การให้น้ำเกลือ หรือไม่
คุณภาพของหลักฐาน
คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางสำหรับผลลัพธ์เรื่องเวลาที่ร้องไห้และคะแนนความเจ็บปวด การศึกษาส่วนใหญ่รวมถึงทารกอายุ 1 ถึง 6 เดือน การวิจัยเพิ่มเติมรวมถึงทารกที่มีอายุถึง 12 เดือนอาจเปลี่ยนข้อสรุปของเรา นอกจากนี้ การศึกษายังได้ประเมินผลของการให้ลูกดูดนมแม่ระหว่างการฉีดวัคซีน เราไม่ทราบว่าการให้ลูกดูดนมแม่ช่วยทารกที่ป่วยอายุ 1 ถึง 12 เดือนในโรงพยาบาลในระหว่างการเก็บตัวอย่างเลือดหรือการให้น้ำเกลือหรือไม่
เราสรุปจากการศึกษา 10 รายการ ที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ว่าการให้ลูกดูดนมแม่อาจช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการฉีดวัคซีนสำหรับทารกที่เกินช่วงแรกเกิด การให้ลูกดูดนมแม่ลดการตอบสนองทางพฤติกรรมของระยะเวลาร้องไห้และคะแนนความเจ็บปวดอย่างสม่ำเสมอระหว่างและหลังการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่าการให้ลูกดูดนมแม่มีผลต่อการตอบสนองทางสรีรวิทยา ไม่มีการศึกษาใดที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้เกี่ยวกับประชากรของทารกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งได้รับกระบวนการทำลายผิวหนังแบบอื่น แม้ว่าอาจเป็นไปได้ที่จะขยายผลการทบทวนสำหรับประชากรกลุ่มนี้ แต่การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ความเป็นไปได้ และการยอมรับในประชากรกลุ่มนี้มีความจำเป็น
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) แสดงให้เห็นว่าการให้ลูกดูดนมแม่ระหว่างขั้นตอนที่เจ็บปวดช่วยลดความเจ็บปวด กลไกต่างๆ ได้รับการพิจารณาว่ามีหลายปัจจัย และรวมถึงการดูด การสัมผัสทางผิวหนัง ความอบอุ่น การโยกเยก เสียงและกลิ่นของมารดา และอาจมีสารฝิ่นภายในร่างกายในน้ำนมแม่
เพื่อตรวจสอบผลของการให้ลูกดูดนมแม่ต่อความเจ็บปวดในทารกที่เกินช่วงแรกเกิด (28 วันแรกของชีวิต) จนถึงอายุ 1 ขวบ เทียบกับการไม่ให้ลูกดูดนมแม่ ยาหลอก ผู้ปกครองอุ้ม การสัมผัสทางผิวหนัง น้ำนมแมที่บีบออกมา่ นมผสม การให้นมขวด สารละลายรสหวาน (เช่น ซูโครสหรือกลูโคส) การเบี่ยงเบนความสนใจ หรือวิธีการอื่นๆ
เราสืบค้นฐานข้อมูลต่อไปนี้จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2016: the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (the Cochrane Library), MEDLINE รวมทั้ง In-Process & Other Non-Indexed Citations (OVID), Embase (OVID), PsycINFO (OVID) และ CINAHL (EBSCO); metaRegister of Controlled Trials (mRCT), ClinicalTrials.gov (clinicaltrials.gov) และ the World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform (WHO ICTRP) (apps.who.int/trialsearch/) สำหรับการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่
เรารวม RCTs และ quasi-RCTs ที่เกี่ยวข้องกับทารกอายุ 28 วันหลังคลอดถึง 12 เดือน และได้รับการให้ดูดนมแม่ในขณะที่อยู่ในขั้นตอนที่เจ็บปวด กลุ่มเปรียบเทียบ ไม่จำกัดว่าเป็นการให้น้ำทางปาก, สารละลายรสหวาน, น้ำนมที่บีบออกมา, หรือนมผสม, ไม่มี intervention, การใช้จุกนมหลอก, การจัดตำแหน่ง, การกอด, การเบี่ยงเบนความสนใจ, ยาชาเฉพาะที่, และการสัมผัสผิวหนังต่อผิวหนัง หัตถการประกอบด้วย: การฉีดยาใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อ, การเจาะเลือด, การสอดสายเข้าเส้นเลือดดำ, การเจาะส้นเท้า, และการเจาะนิ้ว โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา
เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานตามที่ Cochrane กำหนด ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนได้ทำการประเมินงานทดลองเพื่อการคัดเข้าในการทบทวนวรรณกรรม ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และดึงข้อมูล อย่างอิสระต่อกัน ผลลัพธ์หลักคือตัวบ่งชี้ทางพฤติกรรมหรือทางสรีรวิทยาและคะแนนความเจ็บปวดแบบรวม เช่นเดียวกับผลลัพธ์ที่สำคัญทางคลินิกอื่นๆ ที่รายงานโดยผู้นิพนธ์ของการศึกษาที่รวบรวมไว้ เรารวบรวมข้อมูลสำหรับผลลัพธ์ที่เปรียบเทียบได้มากที่สุด และมีข้อมูลจากการศึกษาอย่างน้อย 2 รายการ ที่สามารถรวมได้ เราใช้ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) กับช่วงความเชื่อมั่น (CI) 95% โดยใช้ random effect model สำหรับผลลัพธ์ต่อเนื่องที่วัดด้วยวิธีเดียวกัน สำหรับผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลต่อเนื่องที่ใช้มาตรวัดต่างกัน เรารวมค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) และ 95% CI ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผลลัพธ์แบบ dichotomous เราวางแผนที่จะรวมเหตุการณ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในการศึกษาโดยใช้ risk ratio (RR) และ 95% CIs อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการศึกษาที่รายงาน dichotomous outcomes ไม่เพียงพอ เราจึงไม่ได้รวมเหตุการณ์ดังกล่าว เราประเมินหลักฐานโดยใช้ GRADE และสร้างตาราง 'Summary of findings'
เราพบการศึกษา 10 รายการ มีทารกทั้งหมด 1066 คน การศึกษาทั้งหมดดำเนินการในช่วงการให้วัคซีนเด็กปฐมวัย เนื่องจากวิธีการให้ลูกดูดนมแม่ไม่สามารถปิดบังได้ เราจึงให้คะแนนการศึกษาทั้งหมดว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการปิดบังผู้เข้าร่วมและบุคลากร เราประเมินการศึกษา 9 รายการว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำสำหรับข้อมูลผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ เราประเมินการศึกษา 9 รายการว่ามีความเสี่ยงสูงสำหรับการปกปิดการประเมินผล เราให้คะแนนความเสี่ยงของอคติที่เกี่ยวข้องกับ random sequence generation, allocation concealment, และ selective reporting ว่าไม่ชัดเจนเนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่ขาดข้อมูล
ผลลัพธ์หลักของเราคือความเจ็บปวด การให้ลูกดูดนมแม่ช่วยลดการตอบสนองความเจ็บปวดตามพฤติกรรม (เวลาที่ร้องไห้และคะแนนความเจ็บปวด) ระหว่างการฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับการไม่รักษา การให้น้ำในช่องปาก และวิธีการอื่นๆ เช่น การกอด, กลูโคสในช่องปาก, ยาชาเฉพาะที่, การนวด และสารทำความเย็น การให้ลูกดูดนมแม่ไม่ได้ลดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาอย่างต่อเนื่อง เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ เรารวบรวมข้อมูลสำหรับระยะเวลาร้องไห้จากการศึกษา 6 รายการ (n = ทารก 547 คน) การให้นมลูกเมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มน้ำหรือไม่รักษา ส่งผลให้เวลาร้องไห้ลดลง 38 วินาที (MD -38, 95% CI -50 ถึง -26; P < 0.00001) คุณภาพของหลักฐานตาม GRADE สำหรับผลลัพธ์นี้อยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากทารกส่วนใหญ่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน และผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปสำหรับทารกในระหว่างการให้วัคซีนที่ 12 เดือน เรารวบรวมข้อมูลสำหรับคะแนนความเจ็บปวดจากการศึกษา 5 รายการ (n = ทารก 310 คน) การให้ลูกดูดนมแม่มีความสัมพันธ์กับการลดลงของคะแนนความเจ็บปวดมาตรฐาน 1.7 จุด (SMD -1.7, 95% CI -2.2 ถึง -1.3); เราถือว่าหลักฐานนี้มีคุณภาพปานกลาง เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่มาจากทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน เราสามารถรวมข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจหลังจากการฉีดยาสำหรับการศึกษาเพียง 2 รายการเท่านั้น (n = 186); เราถือว่าหลักฐานนี้มีคุณภาพต่ำเนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่มีความแตกต่างระหว่างการให้ลูกดูดนมแม่และการควบคุม (MD -3.6, -23 ถึง 16)
การศึกษา 4 ใน 10 รายการมีมากกว่า 2 กลุ่ม การให้ลูกดูดนมแม่มีประสิทธิภาพในการลดระยะเวลาการร้องไห้หรือคะแนนความเจ็บปวดระหว่างการฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับ: เดกซ์โทรส 25% และครีมทาเฉพาะที่ (EMLA) สารทำความเย็น การกอดของแม่ และการนวด
ไม่มีการศึกษาที่รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
ผู้แปล ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 28 มิถุนายน 2021