ทาเพ็นทาดอลแบบรับประทานสำหรับอาการปวดจากโรคมะเร็ง

ทาเพ็นทาดอลที่รับประทานทางช่องปากช่วยบรรเทาอาการปวดสำหรับผู้ที่มีอาการปวดจากโรคมะเร็งระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ดี คล้ายกับมอร์ฟีนหรือออกซีโคโดน

1 ใน 2 หรือ 3 คนที่เป็นโรคมะเร็งจะมีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง เมื่อมะเร็งลุกลาม ความเจ็บปวดอาจแย่ลง ยามอร์ฟีนถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1950 เพื่อควบคุมความเจ็บปวดจากมะเร็ง ตั้งแต่นั้นมา จำนวนของยาที่ออกฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีนมีการพัฒนาเพื่อควบคุมความเจ็บปวดมีมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือทาเพ็นทาดอล ยาทาเพ็นทาดอล ได้รับการศึกษาในการทดลองทางคลินิกตั้งแต่ปี 2005 แต่มีการใช้เฉพาะในสหราชอาณาจักรเท่านั้นตั้งแต่ปี 2011 มียาที่พร้อมใช้ในรูปแบบเม็ดที่มีความเข้มข้นต่างกัน และปกติจะรับประทานวันละ 2 ครั้ง ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เราได้กำหนดเป้าหมายเพื่อประเมินว่ายาทาเพ็นทาดอลออกฤทธิ์ได้ดีอย่างไร และมีผู้ป่วยกี่รายที่มีผลข้างเคียง รวมถึงผลกระทบร้ายแรงหรือผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาต่อได้

เราค้นหาฐานข้อมูลทางการแพทย์สำหรับการทดลองทางคลินิกในผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดมะเร็งระดับปานกลางถึงรุนแรงที่เปรียบเทียบทาเพ็นทาดอลกับยาหลอก (ยาทดแทน) หรือยาแก้ปวดอื่นๆ และวัดความเจ็บปวดโดยใช้วิธีการประเมินที่เป็นที่ยอมรับ

เราพบการศึกษา 4 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 1029 คน การศึกษาทั้ง 4 ฉบับเปรียบเทียบผู้เข้าร่วมในการศึกษาที่รับประทานยาทาเพ็นทาดอลกับผู้เข้าร่วมในการศึกษาที่รับประทานยาที่คล้ายกัน เช่น มอร์ฟีนหรือออกซีโคโดน การศึกษาทั้งหมดให้เวลาแก่ผู้เข้าร่วมในการศึกษาช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อหาขนาดยาที่ดีที่สุดที่ควรได้รับก่อนที่จะรับประทานยาต่อเนื่องและเปรียบเทียบระดับความเจ็บปวดของพวกเขา

การศึกษาทั้งหมดมีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ดังนั้นผลที่ได้จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกอิทธิพลจากความผันผวนแบบสุ่ม (random fluctuations) มากกว่าที่จะเป็นความแตกต่างที่แท้จริง และอาจประมาณค่าผลใดๆ สูงเกินไป การทดลอง 1 ฉบับ อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมทราบว่าพวกเขากำลังได้รับยาอะไรอยู่ และอีกการทดลอง 1 ฉบับ ถูกระงับก่อนกำหนดเนื่องจากปัญหาในการบริหาร ดังนั้น พวกเขาจึงมีคนไม่เพียงพอในการศึกษา เราต้องมีความระมัดระวังในการแปลผลจากการศึกษาเหล่านี้

เนื่องจากการศึกษาทั้งหมดใช้การออกแบบการศึกษาที่แตกต่างกัน เราจึงไม่สามารถเปรียบเทียบผลการศึกษาหนึ่งกับการศึกษาอื่นได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละการศึกษาแสดงให้เห็นว่าระดับความเจ็บปวดไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างผู้ที่รับประทานทาเพ็นทาดอลกับผู้ที่รับประทานมอร์ฟีนและออกซีโคโดน โดยทั่วไประดับความเจ็บปวดควบคุมได้ดี หลายการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างที่สามารถวัดได้ชัดเจนในเรื่องของผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นขณะรับประทานยาทาเพ็นทาดอล มอร์ฟีน หรือออกซีโคโดน

ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปได้เพียงว่าการศึกษาจนถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าทาเพ็นทาดอลไม่ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าหรือแย่กว่ามอร์ฟีนและออกซีโคโดน และการทนต่อยาก็เช่นกัน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ข้อมูลรายละเอียดจากการทดลองแบบ RCTs เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความอดทนต่อยาทาเพ็นทาดอลมีจำกัด การศึกษาที่มีอยู่มีขนาดปานกลางหรือเล็กและใช้การออกแบบการศึกษาที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ การบรรเทาอาการปวดและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สามารถเปรียบเทียบกันได้ระหว่างกลุ่ม ทาเพ็นทาดอล และ มอร์ฟีน และ ออกซีโคโดน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามส่วนใหญ่จะเผชิญกับอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ทาเพ็นทาดอลเป็นยาแก้ปวดชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์จากส่วนกลางที่ μ-opioid receptor และ inhibiting noradrenaline reuptake ประสิทธิภาพของทาเพ็นทาดอลเทียบได้กับมอร์ฟีนและออกซีโคโดน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพยาแก้ปวดทาเพ็นทาดอลในการบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งในผู้ใหญ่ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สัมพันธ์กับการใช้ยานี้ในการทดลองทางคลินิก

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE และ EMBASE ตั้งแต่เดือนมกราคม 2005 ถึงกรกฎาคม 2015 พร้อมด้วยรายการอ้างอิงของเอกสารที่รวบรวมมาและบทความการทบทวนวรรณกรรม และทะเบียนการทดลองทางคลินิก 2 แหล่ง การค้นหาเริ่มตั้งแต่ปี 2005 เนื่องจากครอบคลุมระยะเวลาที่ทำการทดลองทางคลินิก เราติดต่อผู้ผลิตยาทาเพ็นทาดอลในสหราชอาณาจักรเพื่อค้นหาการทดลองเพิ่มเติมที่ไม่พบในการค้นหาทางอิเล็กทรอนิกส์ เราไม่มีข้อจำกัดทางภาษาในการค้นหา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ของยาทาเพ็นทาดอล เปรียบเทียบกับยาหลอกหรือยาที่กำลังใช้อยู่เป็นกลุ่มควบคุมในผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดจากมะเร็งในระดับปานกลางถึงรุนแรง ความเจ็บปวดต้องวัดโดยใช้เครื่องมือประเมินที่ได้รับการตรวจสอบ และการศึกษาต้องมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 10 คนต่อกลุ่มการรักษา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนดึงข้อมูลโดยใช้แบบฟอร์มมาตรฐานและประเมินความเสี่ยงของอคติอย่างอิสระต่อกัน เราดึงข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับการออกแบบการศึกษา รายละเอียดผู้เข้าร่วม สิ่งแทรกแซง และผลลัพธ์ รวมถึงการวัดผลยาแก้ปวด การถอนตัว และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 4 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วมในการศึกษา 1029 ราย การศึกษาทั้งหมดใช้การออกแบบการทดลองแบบกลุ่มคู่ขนาน (parallel-group design) และรวมถึงเฟสที่เริ่มต้นการปรับขนาดยาเพื่อหาประสิทธิภาพสูงสุดของปริมาณยาที่ทนได้ ตามด้วยเฟสการปรับปรุงบำรุงรักษา รับประทานยาทาเพ็นทาดอล วันละ 2 ครั้ง และขนาดยาอยู่ระหว่าง 50 ถึง 500 มก. ต่อวัน ยาช่วยเหลือ (Rescue medication) (มอร์ฟีนหรือออกซีโคโดนที่ออกฤทธิ์ทันที) ที่มีพร้อมให้ผู้เข้าร่วมในศึกษาทั้งหมดทุกการศึกษา

โดยรวมแล้ว ผู้เข้าร่วม 440 คน ได้รับการสุ่มในการออกแบบการทดลองแบบ RCTs แบบดั้งเดิม และผู้เข้าร่วม 589 คนได้รับการลงทะเบียนใน enriched-enrolment, randomised-withdrawal (EERW) trials ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 476 คนได้รับการสุ่มเพื่อปรับปริมาณยาด้วยทาเพ็นทาดอล และผู้เข้าร่วม 338 คนได้รับยาทาเพ็นทาดอลตลอดเฟสการปรับปรุงบำรุงรักษาของการทดลองของพวกเขา

การศึกษาทั้งหมดใช้วิธีการให้คะแนนเป็นตัวเลข คะแนนการประเมินการเปลี่ยนแปลงตามมุมมองของผู้ป่วย (Patient Global Impression of Change: PGIC) และการใช้ยาช่วยเหลือเพื่อเป็นการวัดประสิทธิภาพ และรายงานทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และการถอนตัว

การศึกษาทั้งหมดมีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 200 คนต่อกลุ่มที่ได้รับการรักษา ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงที่จะประมาณค่าประสิทธิภาพสูงเกินไป การศึกษา 1 ฉบับถูกยกเลิกไปก่อนเนื่องจากปัญหาในการจัดหายาช่วยเหลือ โดยมีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 20 คนที่ลงทะเบียนต่อกลุ่มที่ได้รับการรักษาในเฟสการปรับปรุงบำรุงรักษาของการทดลอง เราตัดสินการศึกษาอื่นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอคติเนื่องจากการออกแบบการทดลองแบบไม่มีการปิดบัง (open-label design)

มีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการรวบรวมและการวิเคราะห์ทางสถิติ อัตราการตอบสนองต่อระดับความรุนแรงของความเจ็บปวดสามารถเทียบกันได้ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาในแต่ละการศึกษา ในการศึกษาแบบ EERW 1 ฉบับ อัตราการตอบสนองมีค่าที่สูงทั้งในกลุ่มที่ได้รับการรักษาและกลุ่มที่ได้รับยาหลอกในระหว่างเฟสการปรับปรุงบำรุงรักษา (ทาเพ็นทาดอล 62% มอร์ฟีน 69% และยาหลอก 50%) สำหรับการบรรเทาอาการปวด ทาเพ็นทาดอลไม่ได้มีประสิทธิภาพมากไปกว่าออกซีโคโดนหรือมอร์ฟีน (หลักฐานคุณภาพต่ำ)

อัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำการรักษาอยู่ในระดับสูง ประมาณ 50% ถึง 90% เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุดคือระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก) (หลักฐานมีคุณภาพต่ำ) ไม่มีข้อได้เปรียบของยาทาเพ็นทาดอลที่เหนือกว่ามอร์ฟีนหรือออกซีโคโดนในแง่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสติสัมปชัญญะ ความอยากอาหาร หรือความกระหายมีจำนวนน้อย

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ฎลกร จำปาหวาย

Tools
Information