ทำไมการทบทวนวรรณกรรมนี้จึงสำคัญ
การประเมินผลของการให้บริการอย่างเป็นระบบจากผู้ใช้บริการถึงนักจิตบำบัดอาจช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ของการบำบัดทางจิตวิทยาได้ โดยปกติแล้วผู้ใช้บริการจะมีการประเมินการให้บริการตลอดระยะเวลาการได้รับการบำบัดเป็นระยะๆ ผู้ใช้บริการจะกรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้สึกต่อการได้รับการบำบัดและความรู้สึกต่อบริการโดยทั่วไป นักบำบัดจะประมวลผลและทบทวนผลการประเมิน แนวคิดคือนักบำบัดจะใช้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับกระบวนการบำบัดโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงความเหมาะสมของผู้บำบัดกับผู้ใช้บริการ และการบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ เป้าหมายสุดท้าย การมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ การตอบสนองต่อการรักษาและผลลัพธ์ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการใช้ผลการประเมินการบริการจากผู้ใช้บริการจิตบำบัดสำหรับผู้ใหญ่สามารถปรับปรุงผลลัพธ์และการตอบสนองได้ แต่มีความรู้ที่จำกัดเกี่ยวกับการปฏิบัตินี้ในผู้ใช้บริการที่เป็นเด็กและวัยรุ่น การทบทวนนี้สามารถทำให้มีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับบทบาทปัจจุบันของผลการประเมินการทำจิตบำบัดจากผู้ใช้บริการที่เป็นเด็กและวัยรุ่น ตลอดจนทิศทางในอนาคตที่ส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในการทำจิตบำบัดสำหรับเด็กและวัยรุ่น
ใครที่จะมีความสนใจในการทบทวนวรรณกรรมนี้
นักจิตบำบัดที่ทำงานกับเด็กและวัยรุ่น ผู้กำหนดนโยบาย เด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ดูแลและญาติของเด็กและวัยรุ่น
การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามอะไร
งานวิจัยบางเรื่องให้ข้อเสนอแนะว่าการได้รับการประเมินผลจากผู้ใช้บริการมีผลดีต่อผลลัพธ์ของการทำจิตบำบัดกับผู้ใหญ่ เราไม่ทราบว่าการได้รับการประเมินผลจากผู้ใช้บริการจะสามารถนำมาใช้กับเด็กและวัยรุ่นหรือไม่
การศึกษาใดที่นำเข้าในการทบทวนวรรณกรรม
เกณฑ์การคัดเลือกงานวิจัยเพื่อรวมไว้ในการทบทวนนี้คือ การศึกษาจะต้องมีการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม โดยเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้รับการจัดสรรเข้ากลุ่มแบบสุ่ม (โดยโอกาสเพียงอย่างเดียว) เพื่อเข้ารับบริการจิตบำบัดและได้รับการประเมินผลกลับจากผู้ใช้บริการ หรือ เข้ากลุ่มที่ได้รับบริการจิตบำบัดตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว เราสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อค้นหาการทดลองดังกล่าวทั้งหมดที่เผยแพร่จนถึงวันที่ 3 เมษายน 2018 และพบ 6 การศึกษา (โดยมีเด็กและวัยรุ่นทั้งหมด 1097 คน) ที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา
หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมนี้บอกอะไรเราบ้าง
มีการศึกษาจำนวนเล็กน้อยที่มีศึกษาผลของการใช้ผลการประเมินการให้บริการของผู้ที่ใช้บริการการบำบัดทางจิตวิทยาสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในสหรัฐอเมริกากับเด็กโตและวัยรุ่น (อายุ 11 ถึง 18 ปี)
ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่สนับสนุนประสิทธิภาพของการใช้การประเมินผลจากผู้ใช้บริการที่รับการบำบัดทางจิตวิทยาสำหรับเด็กและวัยรุ่น
อะไรที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไป
จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าการประเมินผลจากผู้ใช้บริการมีผลในเชิงบวกต่อผลลัพธ์ของจิตบำบัดในเด็กและวัยรุ่น จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงเพื่อแสดงหลักฐานที่เพียงพอต่อการสนับสนุนการใช้การประเมินผลจากผู้ใช้บริการที่เป็นเด็กและวัยรุ่น การศึกษาในอนาคตควรรวมผู้ใช้บริการที่เป็นเด็กที่มีอายุน้อยด้วยและควรดำเนินการศึกษาในประเทศอื่นนอกเหนือไปจากสหรัฐอเมริกาด้วย
เนื่องจากข้อมูลที่มีคุณภาพสูงมีน้อยและการรายงานผลการศึกษาที่แตกต่างกันจากความแตกต่างของการศึกษา ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะมีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของการใช้ข้อมูลการประเมินผลจากการบำบัดทางจิตวิทยาสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต และการวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับหัวข้อนี้มีความสำคัญ
การศึกษาในอนาคตควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านการดำเนินการวิจัย อคติจากการประเมินผลลัพธ์และอคติในการติดตามผู้เข้าร่วมวิจัย ดังที่พบในการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้ จำเป็นต้องมีการศึกษาจากประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 10 ปี
ปัญหาสุขภาพจิตในวัยเด็กและวัยรุ่นเป็นปัญหาที่สำคัญและเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก การวิจัยชี้ให้เห็นว่าจิตบำบัดสามารถส่งผลเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิตเช่นโรควิตกกังวลโรคซึมเศร้าและความผิดปกติของพฤติกรรม เครื่องมือที่ใช้ประเมินผลการใช้บริการจากผู้ใช้บริการเป็นวิธีการตรวจสอบความก้าวหน้าของผู้ใช้บริการและ ข้อเสนอแนะจากผู้ใช้บริการไปยังนักบำบัดในระหว่างกระบวนการบำบัด เครื่องมือเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มการตัดสินใจของผู้ให้บริการทางคลินิก โดยให้พวกเขาปรับแผนการรักษาเมื่อการบำบัดดำเนินไปส่งผลต่อการลดลงของความล้มเหลวในการรักษา การวิจัยแสดงให้เห็นว่าวิธีการประเมินผลจากผู้ใช้บริการมีผลดีต่อการทำจิตบำบัดในผู้ใหญ่ บทวิจารณ์นี้กล่าวถึงว่าเครื่องมือการประเมินผลในการบำบัดจากเด็กละวัยรุ่นสามารถช่วยให้นักบำบัดสามารถรักษาผู้ใช้บริการที่ มีอายุน้อยได้ดีขึ้นหรือไม่
เพื่อประเมินผลของการใช้การประเมินผลการได้รับการบำบัดจากผู้ใช้บริการที่ได้รับการบำบัดทางจิตวิทยาต่อผลลัพธ์สุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น
งานวิจัยที่นำมาทบทวนสืบค้นจากฐานข้อมูลต่อไปนี้ Cochrane Common Mental Disorders Group Controlled Trials Register (CCMDCTR, ตัวงานวิจัยและเอกสารอ้างอิง), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), Ovid MEDLINE (1946-), Embase (1974-) และ PsycINFO (1967-) และสืบค้นจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2018 เราไม่มีข้อจำกัดการสืบค้นเกี่ยวกับวันที่ ภาษา หรือสถานะการเผยแพร่
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างการได้รับข้อมูลการประเมินผลจากผู้ใช้บริการ กับการไม่ได้รับข้อมูลการประเมินผลจากผู้ใช้บริการในการรับการบำบัดทางจิตวิทยาสำหรับเด็กและวัยรุ่น
ผู้วิจัย 2 คนทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกันในการประเมินเอกสารงานวิจัยที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้า และคัดลอกผลการศึกษา ความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษา และลักษณะการศึกษาในแบบฟอร์มที่จัดทำขึ้น เราติดต่อผู้วิจัยของการศึกษานั้น ๆ เพื่อขอข้อมูลที่ขาดหายไป สำหรับผลลัพธ์ที่เป็นสองกลุ่ม (binary) เราคำนวณอัตราส่วนความเสี่ยง (RRs) และคำนวณช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) สำหรับข้อมูลต่อเนื่องเราคำนวณความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MDs) หรือความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) หากใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันเพื่อวัดผลลัพธ์เดียวกัน เราใช้แบบจำลองแบบสุ่ม (random-effects model) สำหรับการวิเคราะห์ทั้งหมด
เราได้รวมงานวิจัยแบบ RCT ที่เผยแพร่แล้ว 6 รายการซึ่งดำเนินการในสหรัฐอเมริกา (5 RCTs) และอิสราเอล (1 RCT) โดยมีเด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในการทบทวนจำนวน 1097 คน (อายุ 11 ถึง 18 ปี)
เราไม่แน่ใจมากเกี่ยวกับผลของการได้รับข้อมูลการประเมินบริการจากผู้ใช้บริการว่ามีผลต่ออาการที่ดีขึ้นตามที่วัยรุ่นได้ รายงานในระยะสั้นหรือไม่ เนื่องจากเราพิจารณาว่าหลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำมากเนื่องจากมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงและความไม่สอดคล้องกันอย่างมากในผลการประมาณการจากการศึกษาที่แตกต่างกัน ในทำนองเดียวกันเราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใช้ข้อมูลประเมินผลของผู้ใช้บริการต่อการยอมรับการรักษา เนื่องจากมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง ความไม่ชัดเจนในผลลัพธ์และการใช้เครื่องมือประเมินผลลัพธ์ที่ไม่ตรง (RR 1.08, 95% CI 0.73 ถึง 1.61; การศึกษา 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 237 คน; ความเชื่อมั่นต่ำมาก)
โดยรวมแล้วการศึกษาส่วนใหญ่รายงานและดำเนินการสุ่มกลุ่มตัวอย่างและการปกปิดการจัดสรรผู้เข้าร่วมวิจัยเข้ากลุ่มศึกษาอย่างเพียงพอ ไม่มีการศึกษาใดที่ปกปิดหรือพยายามที่จะปกปิดผู้เข้าร่วมวิจัยและบุคลากร และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติในการปฏิบัติงานและมีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่มีการปกปิดผู้ประเมินผลลัพธ์ การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจนในประเด็นเรื่องการติดตามผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย (attrition bias) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการรายงานที่ไม่มีคุณภาพ รายงานการจัดสรรผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่โปร่งใส
ผู้แปล สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11 เมษายน 2021