ยาพุ่งเป้า ไปยังเส้นทาง PI3K/AKT/mTOR สำหรับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลาม ระยะแพร่กระจาย หรือระยะกลับเป็นซ้ำ

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
เพื่อดูว่ายาที่ยับยั้ง PI3K/AKT/mTOR pathway (เรียกว่า PI3K, AKT และ mTOR inhibitors) สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของสตรีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกลุกลามเฉพาะที่ (มะเร็งที่แพร่กระจายเกินมดลูก/มดลูก) ระยะแพร่กระจาย หรือระยะกลับเป็นซ้ำ

ใจความสำคัญ
มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำจากการทดลองทางคลินิก 2 รายการ ที่เกี่ยวกับการใช้ยาพุ่งเป้า ไปที่เส้นทาง PI3K/AKT/mTOR ในสตรีที่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามเฉพาะที่ ระยะแพร่กระจาย หรือระยะกลับเป็นซ้ำ จากการศึกษาที่เสร็จสมบูรณ์จำนวนเล็กน้อย สตรีที่ได้รับการรักษาก่อนหน้านี้สำหรับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามหรือระยะที่โรคกลับเป็นซ้ำและได้รับสารยับยั้ง mTOR อาจมีความเสี่ยงต่อการดำเนินไปของโรคน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด / ฮอร์โมนบำบัดเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามในสตรีที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่มีสารยับยั้ง mTOR เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งระเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามในครั้งแรก การรักษาด้วยตัวยับยั้ง mTOR อาจส่งผลให้โรคดำเนินไปได้เร็วขึ้นและอาจมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัดหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว แม้ว่าสารยับยั้ง mTOR อาจเปลี่ยนระยะเวลาที่มะเร็งจะดำเนินไปได้ แต่อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการยืดระยะเวลาที่สตรีจะมีชีวิตหลังการรักษา (เรียกว่าการรอดชีวิตโดยรวม) เรารอการตีพิมพ์ผลการศึกษาอย่างน้อยห้าชิ้นที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อตรวจสอบบทบาทของสารยับยั้ง PI3K, AKT และ mTOR ในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามหรือระยะกลับเป็นซ้ำ

ในการทบทวนวรรณกรรมนี้สิ่งที่ศึกษาคืออะไร
การรักษาสำหรับสตรีที่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะแพร่กระจายหรือระยะกลับเป็นซ้ำมักเกี่ยวข้องกับการฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การบำบัดทางระบบต่อมไร้ท่อ หรือการรวมกันของสิ่งเหล่านี้เพื่อพยายามลดหรือชะลอการเติบโตของมะเร็ง การตอบสนองของมะเร็งต่อการรักษาเหล่านี้มีความผันแปรแต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างเป็นระดับปานกลาง จำเป็นต้องมีการรักษาใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ของการรักษา เส้นทางของ PI3K/AKT/mTOR ภายในเซลล์มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเติบโตของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และยาหลายชนิดได้รับการพัฒนาเพื่อพุ่งเป้าไปที่เส้นทางนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดการเติบโตของเซลล์มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสารยับยั้ง PI3K, AKT และ mTOR เราพบการศึกษาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับสารยับยั้ง mTOR สารยับยั้ง mTOR สามารถให้ได้ทั้งแบบเป็นการรักษาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยารักษามะเร็งอื่น ๆ อาจได้รับพร้อมกับเคมีบำบัดหรือการบำบัดทางระบบต่อมไร้ท่อ สารยับยั้ง mTOR ทำหน้าที่โดยการปิดกั้นเซลล์มะเร็งไม่ให้แบ่งตัวและแพร่พันธุ์ อาการไม่พึงประสงค์ อาจรวมถึง แผลตามทางเดินอาหาร (เยื่อบุอักเสบ: mucositis) การอักเสบของเนื้อเยื่อปอด (เรียกว่าโรคปอดอักเสบ) และจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำ (โรคโลหิตจาง)

เรารวมการศึกษา 2 รายการ ที่สุ่มตัวอย่างสตรีทั้งหมด 361 คน ในการศึกษา 1 รายการ สตรีได้รับสารยับยั้ง mTOR (temsirolimus) ร่วมกับยาเคมีบำบัดอื่นๆ หรือยาเคมีบำบัดชนิดเดียวกันที่ไม่มีตัวยับยั้ง mTOR ร่วมกับการบำบัดแบบพุ่งเป้าหมายอื่น (bevacizumab) สิ่งนี้ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบ 'ลำดับแรก' หลังจากการวินิจฉัยเบื้องต้นของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลาม ในการศึกษาที่ 2 ประกอบด้วยสตรีที่เป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกกลับเป็นซ้ำ หรือ เคยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนที่จะได้รับตัวยับยั้ง mTOR (ridaforolimus) เมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัดหรือฮอร์โมนบำบัดและไม่มีตัวยับยั้ง mTOR

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
สำหรับสตรีที่ได้รับยายับยั้ง mTOR เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาลำดับแรกอาจมีความเสี่ยงสูงที่โรคจะแย่ลงด้วยตัวยับยั้ง mTOR มากกว่าการรักษาแบบเดิมร่วมกับ bevacizumab อย่างไรก็ตามสำหรับสตรีที่เป็นโรคกำเริบซึ่งเคยได้รับเคมีบำบัดมาก่อนการได้รับยายับยั้ง mTOR อาจลดความเสี่ยงที่โรคจะแย่ลงเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนเพิ่มเติม ผลลัพธ์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการศึกษาเดียวในการรักษาแต่ละแบบเท่านั้น

มีผลข้างเคียงจากสารยับยั้ง mTOR สารยับยั้ง mTOR อาจมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร มากกว่าการที่ได้รับการรักษาโดยไม่ใช้ยาเหล่านี้ อัตราการอักเสบของปอดหรือโรคโลหิตจางอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยระหว่างผู้ที่ได้รับสารยับยั้ง mTOR และผู้ที่ไม่ได้รับ แม้ว่าเราจะมีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำกี่ยวกับผลลัพธ์นี้ ไม่มีการศึกษาใดรายงานคุณภาพชีวิตหรือการใช้ทรัพยากรและค่าใช้จ่าย

ขณะนี้มีการการศึกษาทางคลินิก 5 การศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกสตรีเขา้การศึกษา เราหวังว่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมครั้งต่อไป เมื่อมีข้อมูลจากการศึกษาเหล่านี้ดังที่ได้กล่าวไป

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร
เราค้นหาการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงเดือนมกราคม 2019

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ปัจจุบันมี RCTs 2 รายการ โดยมีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ในกรณีโรคกลับเป็นซ้ำ สารยับยั้ง mTOR อาจส่งผลให้มีการรอดชีวิตที่ปราศจากโรคเพิ่มขึ้น แต่เราไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจนในการรอดชีวิตโดยรวม หรืออัตราการตอบสนองของมะเร็ง เรารอการตีพิมพ์ผลการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ 5 รายการ ที่ตรวจสอบบทบาทของสารยับยั้ง PI3K/AKT/mTOR ในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามหรือระยะกลับเป็นซ้ำก่อนที่จะมีข้อสรุปเกี่ยวกับการใช้งาน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งนรีเวชที่พบมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามเกี่ยวข้องกับการฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัด การบำบัดทางต่อมไร้ท่อหรือการผสมผสานของการรักษาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ผลของการรอดชีวิตไม่ดีในกรณีโรคระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจาย จำเป็นต้องมีทางเลือกในการรักษาตามระบบที่ดีกว่าเพื่อเพิ่มการอยู่รอดและผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยสำหรับสตรีเหล่านี้ PI3K/AKT/mTOR pathway เป็นเส้นทางการส่งสัญญาณที่เกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อยในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การศึกษาแขนเดียว (Single-arm studies) ได้รายงานผลที่น่ายินดีของการยับยั้ง PI3K/AKT/ mTOR ในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามหรือระยะกลับเป็นซ้ำ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาที่มีสารยับยั้ง PI3K/AKT/mTOR ในสตรีที่เป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามระยะกลับเป็นซ้ำ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane Central Register of Controlled Trials, MEDLINE และ Embase ถึงวันที่ 16 มกราคม 2019 และแพลตฟอร์มการลงทะเบียนการทดลองทางคลินิกระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO ICTRP) และ ClinicalTrials.gov ในเดือนกรกฎาคม 2018 นอกจากนี้เรายังตรวจสอบรายการอ้างอิงจากการศึกษาและหลักเกณฑ์แนวทางที่เกี่ยวกับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) เปรียบเทียบสูตรการรักษาที่มีสารยับยั้ง PI3K/ AKT/mTOR (ไม่ว่าจะใช้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่นเคมีบำบัดหรือการรักษาด้วยฮอร์โมน) กับสูตรที่ไม่มีตัวยับยั้ง PI3K/AKT/ mTOR ไม่มีข้อจำกัด ในเรื่องตัวเปรียบเทียบ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราดึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและความเชื่อมั่นของหลักฐาน ผลลัพธ์หลักคือ การรอดชีวิตโดยที่มะเร็งไม่ลุกลาม (progression-free survival) และความเป็นพิษ (ระดับ 3/4 หากมี) เราได้อัตราส่วนความเป็นอันตราย (HR) สำหรับผลลัพธ์ของเวลาจนกระทั้งเกิดเหตุการณ์ และอัตราส่วนความเสี่ยง (RRs) สำหรับผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ทุติยภูมิ ได้แก่ การรอดชีวิตโดยรวม (overall survival) อัตราการตอบสนองของมะเร็งที่เป็นรูปธรรม คุณภาพชีวิตและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการรักษา เราใช้ GRADEproGDT เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุด (โดยการบำบัดอันดับแรกและอันดับที่สอง/สาม เพื่อดูการรอดชีวิตที่ปราศจากโรค และการรอดชีวิตโดยรวม)

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 2 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับสตรี 361 คน การศึกษาแรกประเมินผลของ mTOR inhibitor คือ temsirolimus ร่วมกับ carboplatin/paclitaxel เปรียบเทียบกับ carboplatin/paclitaxel และ bevacizumab ในสตรีที่ได้รับการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามหรือระยะกลับเป็นซ้ำ การศึกษาที่ 2 เปรียบเทียบ mTOR inhibitor คือ ridaforolimus ที่ให้เพียงอย่างเดียว กับ โปรเจสตินหรือการใช้ยาเคมีบำบัด ในสตรีที่เคยได้รับการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะแพร่กระจายหรือระยะกลับเป็นซ้ำมาก่อนหน้านี้ มีการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ 5 การศึกษาที่เกี่ยวกับผลของสารยับยั้ง PI3K และ AKT, metformin ร่วมกับ ตัวยับยั้ง mTOR

สำหรับการบำบัดอันดับแรก สูตรการรักษาที่มีสารยับยั้ง mTOR อาจทำให้อัตราการรอดชีวิตที่ปราศจากโรคลดลง (HR 1.43, 95% CI 1.06 ถึง 1.93; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 231 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) ในขณะที่สำหรับการบำบัดอันดับที่สอง/สาม ตัวยับยั้ง mTOR อาจช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตที่ปราศจากโรค เมื่อเทียบกับ การรักษายาเคมีบำบัดหรือการรักษาทางระบบต่อมไร้ท่อ (HR 0.53, 95% CI 0.31 ถึง 0.91; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 95 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) มีข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษจากทั้งสองการศึกษา: การให้ยายับยั้ง mTOR อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเยื่อเมือกอักเสบระดับ 3/4 (RR 10.42, 95% CI 1.34 ถึง 80.74; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 357 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) แต่อาจส่งผลต่อ ความเสี่ยงของโรคโลหิตจางหรือโรคปอดอักเสบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างกันเลย (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำในความเป็นพิษของทั้งสองอย่างนี้) โดยรวมแล้วอัตราเหตุการณ์อยู่ในระดับต่ำ สำหรับการบำบัดลำดับแรก การใช้ยาที่มีสารยับยั้ง mTOR อาจส่งผลต่อการรอดชีวิตโดยรวมเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างกัน เมื่อเทียบกับ ยาเคมีบำบัด (HR 1.32, 95% CI 0.98 ถึง 1.78; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 231 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) การค้นพบนี้มีความคล้ายคลึงกันสำหรับการบำบัดลำดับที่สอง/สาม (HR 1.06, 95% CI 0.70 ถึง 1.61; 1 การศึกษาม, ผู้เข้าร่วม 130 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) การให้ยาสูตรที่มีสารยับยั้ง mTOR อาจส่งผลให้การตอบสนองของมะเร็งแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลย เมื่อเทียบกับ ยาเคมีบำบัดหรือการบำบัดด้วยฮอร์โมน ในการบำบัดลำดับแรกหรือลำดับที่สอง/สาม (การบำบัดลำดับที่ 1: RR 0.93, 95% CI 0.75 ถึง 1.17; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 231 คน; การบำบัดลำดับที่ 2/3: RR 0.22, 95% CI 0.01 ถึง 4.40; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 61 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิต

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว วันที่ 16 พฤษภาคม 2021

Tools
Information