คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราต้องการค้นหาว่าการบำบัดด้วยการรำลึกความหลัง (RT) มีผลอย่างไรต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราสนใจผลต่อคุณภาพชีวิต การสื่อสาร การรู้คิด (ความสามารถทั่วไปในการคิดและจดจำ) อารมณ์ การทำกิจกรรมประจำวัน และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เราสนใจในผลลัพธ์ต่อผู้ดูแลด้วย
ความเป็นมา
RT เกี่ยวข้องกับการพูดคุยถึงเหตุการณ์และประสบการณ์ในอดีต มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นความทรงจำ กระตุ้นกิจกรรมทางจิตใจ และปรับปรุงความผาสุก การรำลึกความหลังมักจะได้รับความช่วยเหลือในการฟื้นฟูความหลังจากอุปกรณ์ต่างๆ เช่น วิดีโอ รูปภาพ และวัตถุต่างๆ อาจเกิดขึ้นในรูปแบบกลุ่มหรือรูปแบบรายบุคคลที่ผู้สูงอายุเข้าร่วมด้วยตนเอง ส่วนใหญ่แล้วมักใช้รูปแบบที่มีการสร้างหนังสือเรื่องราวชีวิต RT ช่วยผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า อาจมีความเหมาะสมสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ด้วยเหตุผลสองประการคือ ภาวะซึมเศร้าเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและเป็นเพราะผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมักจะมีความทรงจำที่เกิดขึ้นในอดีตที่มีระยะเวลายาวนานมากกว่าเหตุการณ์ล่าสุด
วิธีการ
เราสืบค้นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมซึ่งมีการเปรียบเทียบ RT กับกลุ่มควบคุมที่ไมได้รับการรักษาหรือเปรียบเทียบกับกิจกรรมที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ขอบเขตเวลาที่ใช้ในการสนทนาทั่วไป การสืบค้นของเราครอบคลุมการทดลองทั้งหมดที่มีจนถึงเดือนเมษายน 2017
ผลการศึกษา
การทบทวนนี้รวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ 22 รายการ มีผู้เข้าร่วมวิจัย 1972 คน ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดมีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มีความรุนแรงระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง ผู้เข้าร่วมวิจัยบางคนอาศัยอยู่ที่บ้านและบางคนอยู่ในบ้านพักคนชรา ระยะเวลาของการทดลองแตกต่างกันไปตั้งแต่ 4 สัปดาห์ ถึง 2 ปี และระยะเวลาโดยรวมที่ใช้ในการรักษาแตกต่างกันไปตั้งแต่ 3 ชั่วโมง ถึง 39 ชั่วโมง โดยรวมแล้ว เราคิดว่าการทดลองส่วนใหญ่ดำเนินการได้ดี
เมื่อดูการทดลองทั้งหมดร่วมกัน ดูเหมือนว่า RT จะไม่มีผลต่อคุณภาพชีวิตที่รายงานโดยตัวผู้เข้าร่วมวิจัย อย่างไรก็ตาม การรักษาอาจมีประโยชน์เล็กน้อยในการทดลองที่ทำในบ้านพักคนชรา ซึ่งไม่พบการรายงานประโยชน์ในการทดลองที่ทำในชุมชน
คนที่ได้รับ RT ทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมเล็กน้อยในการทดสอบการรู้คิดในการประเมินผลทันทีหลังการทดลอง แต่ไม่ใช่ประเมินผลในระยะสัปดาห์ถึงเดือนหลังสิ้นสุดการทดลอง ไม่ชัดเจนว่าผลลัพธ์จากการศึกษามีขนาดใหญ่พอที่จะมีความสำคัญต่อการนำไปใช้ ผลการศึกษาที่ชัดเจนที่สุดคือในการศึกษาที่ทำในบ้านพักคนชรา ซึ่งใช้ RTในรูปแบบรายบุคคล แต่ไม่พบในการศึกษาที่จัดกระทำในชุมชนซึ่งใช้ RT รูปแบบกลุ่ม
เราพบว่าการทำ RTแบบกลุ่ม และ RT ในชุมชนอาจมีผลในเชิงบวกต่อการสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ของบุคคลที่มีภาวะสมองเสื่อมในการประเมินทันทีหลังจากสิ้นสุดการทดลอง และอาจนานถึงสัปดาห์ถึงหลายเดือนต่อมา ถึงแม้ว่าอิทธิพลของผลการทดลองจะมีขนาดเล็ก
นอกเหนือจากประโยชน์เล็กน้อยที่น่าจะเป็นไปได้ของ RT ในรูปแบบรายบุคคลต่อค่าคะแนนภาวะซึมเศร้า เราไม่พบหลักฐานผลของ RT ต่อผลลัพธ์อื่นๆ เช่น อาการกระวนกระวาย ความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวัน หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น เราไม่พบหลักฐานของผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายของ RT ต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม
เราไม่พบผลลัพธ์ของ RT ต่อผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวนอกจากข้อเสนอแนะที่พบว่า RT อาจทำให้ผู้ดูแลวิตกกังวลมากขึ้นเล็กน้อยในการศึกษาขนาดใหญ่สองเรื่องเกี่ยวกับการรำลึกความหลังที่ใช้รูปแบบผู้ดูแลเข้าร่วมพร้อมกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ใน RT ประเภทนี้ ผู้ดูแลและผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมต่างก็มีส่วนร่วมโดยตรงในขั้นตอนการรำลึกความหลัง
ข้อสรุป
จากการทบทวนงานวิจัยฉบับนี้เราพบว่าจำนวนและคุณภาพของการวิจัยเกี่ยวกับ RT สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้เพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่การทบทวนครั้งล่าสุด เราสรุปได้ว่าผลของ RT แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวิธีการให้และไม่ว่าจะเกิดขึ้นในบ้านพักคนชราหรือในชุมชน อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่า RT สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิต การรู้คิด การสื่อสาร และอารมณ์ในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้ในบางกรณี แม้ว่าประโยชน์ทั้งหมดจะน้อยก็ตาม จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างเหล่านี้ และเพื่อค้นหาว่าใครน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจาก RT ประเภทใด
ผลลัพธ์ของการทดลองเพื่อรำลึกความหลังมีความไม่สอดคล้องกัน การศึกษาที่อยู่ในการทบทวนมีขนาดเล็กและมีความแตกต่างกันในสถานที่ที่ทำการทดลองและรูปแบบการทำวิธีการรำลึกความหลัง RT มีผลในเชิงบวกบ้างต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในด้านคุณภาพชีวิต การรู้คิด การสื่อสาร และอารมณ์ การศึกษาในบ้านพักคนชราแสดงให้เห็นประโยชน์ที่หลากหลายมาก รวมถึง คุณภาพชีวิต การรู้คิด และการสื่อสาร (ประเมินในระยะติดตามผล) RT ที่ดำเนินการในรูปแบบเป็นรายบุคคลอาจมีผลทางบวกต่อการรู้คิดและอารมณ์ RTที่ดำเนินการในรูปแบบกลุ่มและในชุมชนมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาด้านการสื่อสาร ความแตกต่างอย่างมากเกี่ยวกับรูปแบบ RT จากการศึกษาที่นำมาทบทวนทำให้การเปรียบเทียบและการประเมินผลประโยชน์ของ RTทำได้ยาก ในเอกสารที่เผยแพร่ส่วนใหญ่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดโครงการวิจัยอย่างละเอียดเพียงพอ คุณภาพของการวิจัยเกี่ยวกับ RT มีการพัฒนาการที่ดีขึ้นตั้งแต่การทบทวนครั้งก่อน แม้ว่ายังคงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมมากขึ้นตามระเบียบวิธีการรักษาที่ชัดเจนและมีรายละเอียดของโครงการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปรียบเทียบระว่างผลของ RT แบบง่ายกับแบบบูรณาการ
การทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane Review เกี่ยวกับ การบำบัดด้วยการรำลึกความหลัง (RT) ฉบับนี้เป็นการทำให้ทันสมัยขึ้นไปจากการทบทวนวรรณกรรมที่เคยเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1998 และอัปเดตครั้งล่าสุดในปี 2005 การบำบัดด้วยการรำลึกความหลัง (RT) เกี่ยวข้องกับการสนทนาเกี่ยวกับความทรงจำและประสบการณ์ในอดีตกับผู้อื่นโดยใช้ข้อมูลที่จับต้องได้ เช่น ภาพถ่ายหรือเพลงเพื่อฟื้นฟูความทรงจำและกระตุ้นการสนทนา RTถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในสถานที่ต่างๆ โดยใช้รูปแบบที่หลากหลาย
เพื่อประเมินผลของ RT ต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล โดยคำนึงถึงความแตกต่างในการนำไปปฏิบัติ รวมถึงสถานที่ที่นำไปใช้ (บ้านพักคนชรา ชุมชน) และรูปแบบต่างๆ (เป็นแบบกลุ่ม เป็นแบบรายบุคคล)
เราสืบค้นจาก ALOIS ( The Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group's Specialise Register) ในวันที่ 6 เมษายน 2017 คำที่ใช้คำสืบค้นคือ ‘การรำลึกความหลัง (reminiscence)’
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ศึกษาผลของ RT สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยที่ระยะเวลาของการทดลองคืออย่างน้อย 4 สัปดาห์ (หรือ 6 ครั้ง) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ 'ไม่มีการรักษา' หรือกลุ่มควบคุมแบบ passive ผลลัพธ์ที่สนใจ ได้แก่ คุณภาพชีวิต (QoL) การรู้คิด การสื่อสาร พฤติกรรม อารมณ์ และผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ดูแล
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน (LOP และ EF) ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ อย่างเป็นอิสระต่อกัน เมื่อจำเป็นเราจะติดต่อผู้นิพนธ์การศึกษาเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เรารวบรวมข้อมูลจากการศึกษาที่คล้ายคลึงกันทั้งหมดที่รายงานในแต่ละผลลัพธ์ เราทำการวิเคราะห์กลุ่มย่อยในแต่ละรูปแบบสถานบริการ (ชุมชนหรือ บ้านพักคนชรา) และตามรูปแบบบริการ (รายบุคคล หรือกลุ่ม) และใช้วีธี GRADE เพื่อประเมินคุณภาพของงานวิจัยในแต่ละผลลัพธ์ของการศึกษา
เรารวบรวมได้ทั้งหมด 22 รายการ มีผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเข้าร่วมวิจัยจำนวนทั้งหมด 1972 คน การวิเคราะห์เมตต้ารวมข้อมูลจากการศึกษาทั้งหมด 16 รายการ (ผู้เข้าร่วมวิจัย 1749 คน) นอกเหนือไปจากการศึกษาหกเรื่องที่มีความเสี่ยงของการมีอคติในการคัดเลือก การศึกษาที่นำมาทบทวนมีความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมระดับต่ำ
โดยรวม หลักฐานคุณภาพปานกลางบ่งชี้ว่ากลุ่มที่ได้รับ RT ไม่มีผลสำคัญต่อคุณภาพชีวิตในการประเมินผลทันทีหลังจากสิ้นสุดการทดลองเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) 0.11, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -0.12 ถึง 0.33; I2 = 59% ; 8 การศึกษา ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 1060 คน) ความไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสถานที่ในการศึกษา ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มที่ได้รับ RT ในบ้านพักคนชราอาจได้รับประโยชน์จาก RT หลังการรักษา (SMD 0.46, 95% CI 0.18 ถึง 0.75; การศึกษา 3 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัย 193 คน) แต่พบว่ามีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชน (ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 867 คน จากการศึกษา 5 รายการ)
สำหรับการวัดผลทางการรู้คิด มีหลักฐานที่มีคุณภาพสูงแสดงให้เห็นประโยชน์เพียงเล็กน้อย และมีข้อสงสัยต่อผลลัพธ์ทางคลินิกที่สำคัญหลังจากสิ้นสุดการได้รับ RT (SMD 0.11, 95% CI 0.00 ถึง 0.23; การศึกษา 14 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 1219 คน) แต่พบว่ามความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ในการติดตามผลในระยะยาว เมื่อมีการวิเคราะห์แยกเฉพาะในกลุ่มที่อยู่ในบ้านพักคนชรา ผู้ที่ได้รับการรำลึกความหลังอาจมีผลลัพธ์ดีขึ้นเล็กน้อย แต่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยสำหรับผู้ที่มีภาวะสองเสื่อมในชุมชนหรือการศึกษาในรูปแบบกลุ่ม การศึกษาเก้าเรื่องส่วนใหญ่ใช้การตรวจสอบสภาพจิต MMSEในการประเมินผลลัพธ์การรู้คิด และพบว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลองกลุ่มที่ได้รับ RT มีการพัฒนาผลลัพธ์ด้านการรู้คิดที่ดีขึ้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีคุณภาพสูง (MD) 1.87 คะแนน, 95% CI 0.54 ถึง 3.20 ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 437 คน) มีผลลัพธ์ที่คล้ายกันในการติดตามผลในระยะยาว แต่คุณภาพของหลักฐานสำหรับการวิเคราะห์ในระยะยาวนี้อยู่ในระดับต่ำ (1.8 คะแนน, 95% CI -0.06 ถึง 3.65)
สำหรับการประเมินด้านการสื่อสาร พบว่ากลุ่มที่ได้รับ RT มีผลลัพธ์ดีขึ้นในการประเมินเมื่อสิ้นสุดการรักษา (SMD -0.51 คะแนน, 95% CI -0.97 ถึง -0.05; I2 = 62%; คะแนนเชิงลบบ่งชี้ว่าดีขึ้น; การศึกษา 6 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัย 249 คน) แต่รูปแบบ RT มีความไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษาที่นำมาทบทวน ในระยะการติดตามผล พบว่า RT อาจมีประโยชน์เล็กน้อย (SMD -0.49 คะแนน, 95% CI -0.77 ถึง -0.21; การศึกษา 4 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัย 204 คน) ผลลัพธ์ในกลุ่มที่ได้รับ RT เป็นรายบุคคลมีความไม่แน่นอน จากหลักฐานที่มีคุณภาพในระดับต่ำมาก สำหรับกลุ่มที่ได้รับ RT แบบกลุ่ม หลักฐานคุณภาพระดับปานกลางบ่งชี้ว่าน่าจะมีประโยชน์เล็กน้อยในการประเมินผลหลังสิ้นสุดการทดลองทันที (SMD -0.39, 95% CI -0.71 ถึง -0.06; การศึกษา 4 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 153 คน) และในการติดตามประเมินผลในระยะต่อมา ผู้เข้าร่วมวิจัยที่อยู่ในชุมชนอาจได้รับประโยชน์เมื่อสิ้นสุดการทดลองทันทีและในระยะติดตามประเมินผล สำหรับผู้เข้าร่วมวิจัยในบ้านพักคนชรา ผลลัพธ์ไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษาที่ถูกนำมาทบทวน และอาจมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในระยะการติดตามประเมินผล สำหรับการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดการทดลองทันที คุณภาพของหลักฐานต่ำมากและผลลัพธ์ของการศึกษามีความไม่แน่นอน
สำหรับผลลัพธ์อื่นๆสำหรับผู้ทมีภาวะสมองเสื่อมที่ได้มีการทบทวน ได้แก่ อารมณ์ การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาการกระวนกระวาย/อารมณ์หงุดหงิด และคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ไม่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการประเมินผลลัพธ์เหล่านี้ การรำลึกความหลังเป็นรายบุคคลอาจมีประโยชน์เล็กน้อยในระดับภาวะซึมเศร้า แม้ว่าผลลัพธไม่มีความสำคัญ์ทางคลินิกที่แน่นอน (SMD -0.41, 95% CI -0.76 ถึง -0.06; การศึกษา 4 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 131 คน) เราไม่พบหลักฐานของผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม
นอกจากนี้เรายังได้พิจารณาผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ดูแล เช่น ความเครียด อารมณ์ และคุณภาพของความสัมพันธ์กับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม (จากมุมมองของผู้ดูแล) เราไม่พบหลักฐานของผลกระทบต่อผู้ดูแลนอกจากผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลของผู้ดูแลในการติดตามผลในระยะยาว ข้อมูลจากการศึกษาสองเรื่องที่ผู้ดูแลได้เข้าร่วมกลุ่มรำลึกความหลังแบบกลุ่มร่วมกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ผู้ดูแลที่อยู่ในกลุ่มควบคุมอาจมีความวิตกกังวลน้อยลงเล็กน้อย (MD 0.56 คะแนน, 95% CI -0.17 ถึง 1.30; ผู้เข้าร่วมวิจัย 464 คน) แต่ผลลัพธ์นี้ไม่มีความสำคัญทางคลินิกที่แน่นอน และยังมีความสอดคล้องกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 28 มิถุนายน 2021