Alendronate ช่วยป้องกันกระดูกหักที่เกิดจากโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้หรือไม่

ใจความสำคัญ

• Alendronate ใช้นานถึง 5 ปี อาจป้องกันภาวะกระดูกสันหลังหักในสตรีที่มีความเสี่ยงน้อยต่อภาวะกระดูกหัก หรือในผู้ที่ยังไม่เคยกระดูกสันหลังหักได้

• การใช้ Alendronate นานถึงสามปีในสตรีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ หรือเคยมีกระดูกสันหลังหักมาก่อน อาจช่วยป้องกันกระดูกสันหลังหักได้

โรคกระดูกพรุนคืออะไร

โรคกระดูกพรุนคือโรคที่ทำให้กระดูกอ่อนแอและเปราะบาง กระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่มีชีวิตซึ่งมีการสลายและทดแทนอย่างต่อเนื่อง ในโรคกระดูกพรุน กระดูกเก่าจะสลายเร็วกว่ากระดูกใหม่จะมาแทนที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ กระดูกจะสูญเสียแร่ธาตุ (เช่น แคลเซียม) ซึ่งทำให้กระดูกมีโอกาสแตกหักได้ง่ายขึ้นแม้จะได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น การกระแทกหรือหกล้ม สตรีมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนมากขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน

Alendronate คืออะไร

Alendronate เป็น bisphosphonate ซึ่งเป็นยาชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ชะลอเซลล์ที่ทำลายกระดูกเก่า

เราต้องการค้นหาอะไร

เรามุ่งหวังที่จะค้นหาว่า alendronate ดีกว่ายาหลอก (ยาที่ไม่ออกฤทธิ์หรือยา 'หลอก') หรือยาอื่นหรือไม่ในการป้องกันหรือลดภาวะกระดูกหักในสตรีวัยหมดประจำเดือน

เราทำอะไรไปบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบ alendronate กับยาหลอกหรือยาต้านกระดูกพรุนชนิดอื่นเพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ 119 ฉบับ จากการศึกษาเหล่านี้ มี 102 ฉบับที่ให้ข้อมูลที่สามารถใช้งานได้ และมี 40 การศึกษาเปรียบเทียบ alendronate กับยาหลอก (ยาเม็ดหลอก)

ผลการค้นพบที่สำคัญ

ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักน้อยกว่า เนื่องจากมีความหนาแน่นของกระดูกใกล้เคียงกับปกติ หรืออาจยังไม่มีกระดูกหักที่กระดูกสันหลัง การใช้ alendronate นานถึง 5 ปี:

  • อาจป้องกันภาวะกระดูกสันหลังหักทางคลินิกได้ นั่นคือ ภาวะกระดูกสันหลังหักที่บ่งชี้ด้วยอาการและสัญญาณทางคลินิก โดยไม่มีหลักฐานทางรังสีวิทยา

  • อาจป้องกันกระดูกหักส่วนอื่นนอกจากกระดูกสันหลังได้ อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะในกระดูกสะโพกและข้อมือหัก alendronate อาจไม่ก่อให้เกิดความแตกต่าง

  • อาจไม่มีความแตกต่างกับจำนวนสตรีที่ถอนตัวจากการศึกษาเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ นั่นคือ เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์และเป็นอันตราย

  • อาจไม่มีความแตกต่างกับจำนวนสตรีที่ประสบกับอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง

ในสตรีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ หรือเคยมีกระดูกสันหลังหักแล้ว การใช้ alendronate นานถึง 3 ปี:

  • อาจป้องกันภาวะกระดูกสันหลังหักทางคลินิกได้

  • อาจป้องกันกระดูกหักส่วนอื่นนอกจากกระดูกสันหลังได้

  • อาจป้องกันกระดูกสะโพกและข้อมือหักได้

  • อาจลดการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงได้;

เราไม่ทราบว่า alendronate ช่วยลดการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มสตรีกลุ่มนี้หรือไม่

การประมาณการที่ดีที่สุดสำหรับสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักน้อยที่รับยา alendronate หรือยาหลอกมีดังต่อไปนี้

  • ในกรณีกระดูกสันหลังหักทางคลินิก มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าหากสตรี 3 ใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกเกิดกระดูกหัก จะมีสตรีเพียง 1 ใน 100 คนที่ใช้ยา alendronate เท่านั้นที่จะเกิดกระดูกหัก

  • หากสตรี 10 ใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกมีกระดูกหักบริเวณอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลัง ผู้ที่ใช้ยา alendronate 8 ใน 100 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักดังกล่าว

  • ในกรณีกระดูกสะโพกและข้อมือหัก อาจไม่มีความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มในจำนวนสตรีที่ประสบกับกระดูกหัก

การประมาณการที่ดีที่สุดสำหรับสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงที่รับประทานยา alendronate หรือยาหลอกมีดังต่อไปนี้

  • หากสตรี 5 ใน 100 รายที่ใช้ยาหลอกมีอาการกระดูกสันหลังหักทางคลินิก สตรีที่ใช้ยา alendronate 2 ใน 100 รายเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดอาการดังกล่าว

  • หากสตรี14 คนใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกมีกระดูกหักบริเวณอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลัง ผู้ที่ใช้ยา alendronate เพียง 11 คนใน 100 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักดังกล่าว

  • หากสตรี 2 คนใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกมีอาการกระดูกสะโพกหัก ผู้ที่ใช้ยา alendronate 1 ใน 100 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดอาการดังกล่าว

  • หากสตรี 4 คนใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกมีกระดูกข้อมือหัก ผู้ที่ใช้ยา alendronate 2 ใน 100 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดกระดูกข้อมือหัก

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

สำหรับผลการค้นพบส่วนใหญ่ ความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อหลักฐานนั้นต่ำ เพราะเป็นไปได้ที่สตรีในการศึกษาวิจัยและนักวิจัยที่ประเมินผลลัพธ์จะทราบว่าสตรีเหล่านั้นได้รับการรักษาแบบใด นอกจากนี้ หลักฐานบางส่วนมุ่งเน้นไปที่ขนาดโดยเฉพาะของ alendronate ในขณะที่คำถามที่เราต้องการคำตอบนั้นกว้างกว่านั้น สุดท้าย สำหรับผลลัพธ์ของการเกิดกระดูกหักบางกรณี หลักฐานมาจากเพียงไม่กี่ราย

หลักฐานเป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานมีอยู่ปัจจุบันถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรม Cochrane ที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2008

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

สำหรับการป้องกัน)ปฐมภูมิ เมื่อเทียบกับยาหลอก alendronate 10 มก./วันอาจช่วยลดอาการกระดูกสันหลังหักและไม่ใช่กระดูกสันหลังหักได้ แต่ก็อาจไม่ทำให้เกิดความแตกต่างมากนักหรือแทบไม่มีเลยกับอาการกระดูกสะโพกหักและข้อมือหัก การหยุดยาเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง สำหรับการป้องกันทุติยภูมิ alendronate อาจช่วยลดการหักของกระดูกสันหลังทางคลินิก และอาจลดการเกิดการหักของกระดูกที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพกและกระดูกข้อมือ รวมถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงได้ เมื่อเทียบกับยาหลอก หลักฐานยังคงไม่เชื่อมั่นมากเกี่ยวกับผลของ alendronate ต่อการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของ alendronate ในการป้องกันปฐมภูมิและทุติยภูมิสำหรับภาวะกระดูกหักจากกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีความเสี่ยงต่อกระดูกหักต่ำและสูงตามลำดับ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Evidence-Based Medicine Reviews (ซึ่งรวมถึง CENTRAL), MEDLINE, Embase, ทะเบียนการทดลอง 2 แหล่ง เว็บไซต์ของหน่วยงานอนุมัติยา และบรรณานุกรมของการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ วันที่ค้นหาล่าสุดคือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 เราไม่ได้กำหนดข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับภาษา วันที่ รูปแบบการตีพิมพ์ หรือผลลัพธ์ที่รายงาน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2025

Tools
Information