การฉีดอสุจิเข้าไซโตพลาสซึมกับเทคนิคมาตราฐานสำหรับการผสมเทียมกับฟองไข่ ระหว่างการปฏิสนธินอกร่างกายในคู่ที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่ใช่มีปัจจัยจากเพศชาย

หัวข้อ

การฉีดอสุจิเข้าไซโตพลาสซึม (ICSI) เทียบกับการปฏิสนธินอกร่างกายแบบปกติ (c-IVF) สำหรับการผสมเทียมระหว่างไข่ในระหว่างการปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) ในคู่รักที่ผู้ชายมีจำนวนอสุจิรวมและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ผู้เขียน Cochrane ทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับผลของ ICSI เทียบกับ c-IVF ในคู่รักที่เพศชายมีจำนวนอสุจิรวมและมีการเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

ความเป็นมา

นับตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว การทำเด็กหลอดแก้วได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ กระบวนการผสมเทียมเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นรังไข่มากเพื่อผลิตไข่หลายใบเพื่อเก็บรวบรวม สำหรับ c-IVF ไข่จะถูกฟักด้วยอสุจิในห้องปฏิบัติการเพื่อหวังว่าจะมีการปฏิสนธิ การฉีดเข้าเซลล์ไซโตพลาสซึม (ICSI) ค้นพบครั้งแรกในปี 1992 ถูกนำมาใช้เป็นเทคนิคการปฏิสนธิเพื่อเอาชนะจำนวนอสุจิต่ำ ตอนนี้ ICSI ยังใช้เป็นส่วนเสริมของการทำเด็กหลอดแก้ว และยังใช้ในกรณีที่มีประวัติการปฏิสนธิล้มเหลวต่ำหรือทั้งหมดด้วย c-IVF และมีภาวะมีบุตรยากจากปัจจัยของผู้ชายเล็กน้อย หรือแม้แต่ภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ เราเปรียบเทียบว่า ICSI ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับ c-IVF หรือไม่

ลักษณะของการศึกษา

การทบทวนนี้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) 3 ฉบับ เปรียบเทียบ ICSI กับ c-IVF ในคู่รักทั้งหมด 1539 คู่ที่เข้ารับการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2023

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การศึกษาที่ออกแบบมาอย่างดีสามการศึกษาเปรียบเทียบ ICSI และ c-IVF ถูกรวมไว้ในการวิเคราะห์ การศึกษา 2 ฉบับ รายงานการเกิดมีชีพ และเราไม่แน่ใจถึงผลของ ICSI เมื่อเทียบกับ c-IVF สำหรับอัตราการเกิดมีชีพ หลักฐานแสดงให้เห็นว่าหากโอกาสในการเกิดมีชีพหลังการทำเด็กหลอดแก้ว 32% โอกาสการเกิดมีชีพด้วย ICSI จะอยู่ระหว่าง 30% ถึง 41% เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ รวมถึงการตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะครรภ์เป็นพิษ และการคลอดก่อนกำหนด แสดงให้เห็นว่าเทคนิคทั้งสองนี้อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ไม่มีการศึกษารายงานผลลัพธ์หลักในการคลอดบุตรไม่มีชีพ

การศึกษา 2 ฉบับรายงานการตั้งครรภ์ในมดลูกที่รอดชีวิตสำหรับ ICSI และ c-IVF โดยเสนอว่าหากโอกาสของการตั้งครรภ์มีชีพในมดลูกหลังจาก c-IVF เป็น 33% โอกาสของการตั้งครรภ์มีชีพในมดลูกที่เป็นไปได้ด้วย ICSI จะอยู่ระหว่าง 28% ถึง 38% ผลการวิจัยพบว่าอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยสำหรับการตั้งครรภ์มีชีพในมดลูกของ ICSI เมื่อเทียบกับ c-IVF

อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกและการแท้งยังแสดงให้เห็นว่าเทคนิคเหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ยังคงไม่แน่ใจว่า ICSI เมื่อเทียบกับ c-IVF จะเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพหรือไม่ เนื่องจากขาดการศึกษาที่มีอยู่ ความเชื่อมั่นของหลักฐานระดับต่ำถึงปานกลาง เหตุผลก็คือ การศึกษาบางเรื่องที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการรวมถึงกระบวนการสุ่ม ซึ่งหมายความว่าผลลัพธ์จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างระมัดระวัง และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เปรียบเทียบ ICSI และ c-IVF ในคู่รักที่ชายมีจำนวนอสุจิรวมและการเคลื่อนที่ตามปกติ แสดงให้เห็นว่าไม่มีวิธีการใดที่เหนือกว่าวิธีอื่น ในการบรรลุการเกิดมีชีพ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะครรภ์เป็นพิษ และการคลอดก่อนกำหนด) รวมถึงผลลัพธ์รอง การตั้งครรภ์ทางคลินิก การตั้งครรภ์มีชีพในมดลูก หรือการแท้งบุตร

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของการรักษาเรื่องภาวะเจริญพันธุ์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี 1992 ปาแลร์โมและเพื่อนร่วมงานก็ประสบความสำเร็จในการใช้เทคนิคการฉีดอสุจิเข้าเซลล์ไซโตพลาสซึม (ICSI) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคู่แต่งงาน ซึ่งการปฏิสนธินอกร่างกายแบบปกติ (c-IVF) และการผสมเทียมใต้โซนาเถลลูซิด้า (sub-zonal insemination SUZI) ไม่ประสบผลสำเร็จ หลังจากรายงานกรณีนี้ ICSI ได้กลายเป็นการรักษาทางเลือกสำหรับคู่รักที่มีภาวะมีบุตรยากจากปัจจัยของเพศชายขั้นรุนแรง เมื่อเวลาผ่านไป ICSI ได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาคู่รักที่มีปัจจัยจากเพศชายที่ไม่รุนแรง หรือแม้แต่ภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ การทบทวนนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวน ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในปี 1999 โดยเปรียบเทียบ ICSI กับ c-IVF สำหรับคู่รักที่มีเพศชายซึ่งมีจำนวนอสุจิรวมปกติและเคลื่อนไหวได้ปกติ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ ICSI เทียบกับ c-IVF ในคู่รักที่ผู้ชายมีจำนวนอสุจิรวมปกติและเคลื่อนไหวได้ปกติ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาฐานข้อมูลและทะเบียนการทดลองต่อไปนี้: Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), Embase (excerpta Medica Database), MEDLINE (Medical Literature Analysis and Retrieval System Onlin) และ PsycINFO (ฐานข้อมูลวรรณกรรมทางจิตวิทยา) สำหรับบทความระหว่างเดือนมกราคม 2010 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2023

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่เปรียบเทียบ ICSI กับ c-IVF ในคู่รักที่เพศชายมีจำนวนอสุจิทั้งหมดและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่แนะนำโดย Cochrane ผลลัพธ์หลัก คือ การคลอดมีชีวิต เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การตั้งครรภ์ทางคลินิก การตั้งครรภ์ในมดลูกที่มีชีวิต และการแท้งบุตร

ผลการวิจัย: 

การทบทวนต้นฉบับที่เผยแพร่ในปี 2003 มี RCT 1 ฉบับ ในการอัปเดตปี 2023 นี้ เราพบ RCT เพิ่ม 2 ฉบับ รวมเป็นคู่รัก 1539 คู่ โดยเปรียบเทียบ ICSI กับเทคนิค c-IVF มีการศึกษา 2 ฉบับรายงานอัตราการเกิดมีชีพ โดยใช้วิธี GRADE เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานและรายงานหลักฐานว่ามีความเชื่อมั่นต่ำสำหรับการเกิดมีชีพ

เราไม่แน่ใจถึงผลของ ICSI เทียบกับ c-IVF สำหรับอัตราการเกิดมีชีพ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.11, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI 0.94 ถึง 1.30, I 2 = 0%, การศึกษา 2 ฉบับ, n = 1124, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานแสดงให้เห็นว่าหากโอกาสในการเกิดมีชีพหลังการทำเด็กหลอดแก้ว 32% โอกาสการเกิดมีชีพด้วย ICSI จะอยู่ระหว่าง 30% ถึง 41% สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะครรภ์เป็นพิษ และการคลอดก่อนกำหนด อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างเทคนิคทั้งสอง ไม่มีการศึกษารายงานผลลัพธ์หลักในการคลอดบุตรที่ไม่มีชีพ

สำหรับผลลัพธ์รอง เราไม่แน่ใจถึงผลของ ICSI เทียบกับ c-IVF ต่ออัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก (RR 1.00, 95% CI 0.88 ถึง 1.13, I 2 = 45%, การศึกษา 3 ฉบับ, n = 1539, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การเปรียบเทียบอัตราการตั้งครรภ์มีมีชีพในมดลูกแสดงให้เห็นว่าอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่าง ICSI และ c-IVF (RR 1.00, 95% CI 0.86 ถึง 1.16, I 2 =75%, การศึกษา 2 ฉบับ, n = 1479 คู่, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ความแตกต่างที่สูงนี้อาจเกิดจากการศึกษาเก่า 1 ฉบับ ที่ดำเนินการสมัยที่เกณฑ์วิธีวิจัยมีความเข้มงวดน้อย หลักฐานแสดงให้เห็นว่าหากโอกาสของการตั้งครรภ์มีชีพในมดลูกภายหลัง c-IVF เป็น 33% โอกาสของการตั้งครรภ์ในมดลูกด้วย ICSI จะอยู่ระหว่าง 28% ถึง 38%

อัตราการแท้งบุตรยังแสดงให้เห็นว่าทั้งสองเทคนิคมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พญ.ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 13 กุมภาพันธ์ 2024

Tools
Information