การช่วยหายใจแบบ Nasal intermittent positive pressure ventilation (NIPPV) เทียบกับการช่วยหายใจแบบ Nasal continuous positive airway pressure (NCPAP) สำหรับทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดหลังถอดท่อช่วยหายใจ

ใจความสำคัญ

– เมื่อเปรียบเทียบกับ NCPAP แล้ว พบว่า NIPPV อาจลดความเสี่ยงของภาวะหายใจล้มเหลวหลังจากการถอดท่อช่วยหายใจและการต้องใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ

– เมื่อเทียบกับ NCPAP แล้ว พบว่า NIPPV อาจลดการเกิดลมรั่วในปอดได้

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การช่วยหายใจชนิด NIPPV มีประโยชน์ในระยะสั้นและระยะยาว โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อถอดเครื่องช่วยหายใจหรือไม่ เปรียบเทียบกับการให้ CPAP ผ่านทางจมูก (nasal continuous positive airway pressure (NCPAP)) ได้อย่างไร

NIPPV และ NCPAP คืออะไร และเหตุใดจึงมีความจำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้

ทารกที่เกิดก่อนวันกำหนดคลอด (ทารกคลอดก่อนกำหนด) อาจมีปัญหาในการหายใจเองและไม่ได้รับการช่วยหายใจ และต้องการการช่วยหายใจ หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการใช้ NIPPV จะเพิ่มประสิทธิภาพของ NCPAP ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่ไม่จำเป็นต้องใช้ท่อช่วยหายใจอีกต่อไป (ท่อหายใจในหลอดลม) ทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจบ่อยครั้งที่ต้องการเครื่องช่วย (เครื่องช่วยหายใจ) ซึ่งจะช่วยให้การหายใจสม่ำเสมอขึ้นโดยผ่านท่อช่วยหายใจ กระบวนการถอด (ถอดท่อช่วยหายใจ) ของท่อไม่ได้ราบรื่นเสมอไป และอาจต้องใส่ท่อกลับเข้าไปใหม่หากไม่สามารถช่วยทารกให้หายใจได้ NCPAP และ NIPPV เป็นวิธีช่วยหายใจของทารกในลักษณะที่รุกรานน้อย เนื่องจากใช้ท่อสั้นและเข้าถึงเพียงบริเวณด้านหลังจมูกเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้เกิดความเสียหายต่อปอดน้อย อาจใช้ NCPAP และ NIPPV หลังจากการถอดท่อช่วยหายใจเพื่อลดจำนวนทารกที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำอีกครั้ง NCPAP ให้แรงดันที่สม่ำเสมอที่บริเวณด้านหลังจมูกซึ่งจะส่งไปยังปอด ช่วยให้ทารกหายใจได้สบายยิ่งขึ้น NIPPV ให้การสนับสนุนแบบเดียวกันพร้อมกับการหายใจที่ส่งผ่านแรงดันที่สูงกว่าโดยเครื่องช่วยหายใจ

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่า NIPPV มีประโยชน์ในระยะสั้นและระยะยาวโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อถอดเครื่องช่วยหายใจและเปรียบเทียบกับ NCPAP อย่างไร

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สำหรับการศึกษาเปรียบเทียบ NCPAP กับ NIPPV ในทารกคลอดก่อนกำหนด (เกิดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์) ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ท่อช่วยหายใจอีกต่อไป เราพิจารณาปัญหาการหายใจ ความจำเป็นในการต้องใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ และผลข้างเคียง

ผู้วิจัยค้นพบอะไรบ้าง

เราพบ 19 การทดลอง เปรียบเทียบ NCPAP กับ NIPPV เมื่อรวบรวมผลการทดลอง เราพบว่า NIPPV น่าจะลดความจำเป็นในการต้องใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำสำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก (โดยทารกมีอายุครรภ์ตั้งแต่อายุ 28 สัปดาห์ขึ้นไปโดยนับอายุครรภ์จากวันแรกของรอบประจำเดือนครั้งสุดท้ายของหญิงตั้งครรภ์) NIPPV ยังอาจลดจำนวนการเกิดลมรั่วในปอดลดลง ผลลัพธ์อื่นๆ ที่วัดในการทบทวนวรรณกรรมนี้มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ในการทดลองทางคลินิก แพทย์และผู้วิจัยรู้ถึงวิธีการรักษาที่ทารกแต่ละคนได้รับ (NIPPV หรือ NCPAP) ดังนั้นเราจึงมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางในหลักฐานเกี่ยวกับปัญหาการหายใจและความจำเป็นในการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำอีกครั้ง

การทบทวนนี้มีความทันสมัยแค่ไหน

หลักฐานที่มีอยู่เป็นปัจจุบันจนถึงเดือนมกราคม 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

NIPPV น่าจะลดอุบัติการณ์ของความล้มเหลวในการถอดท่อช่วยหายใจและความจำเป็นในการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำภายใน 48 ชั่วโมงไปจนถึงหนึ่งสัปดาห์หลังการถอดท่อช่วยหายใจอย่างมีประสิทธิผลมากกว่า NCPAP ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก (ตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป) ทารกที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์มีข้อมูลเพียงเล็กน้อย การรั่วของลมในปอดก็อาจลดลงในกลุ่ม NIPPV เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีผลทางคลินิกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การทะลุของระบบทางเดินอาหาร ลำไส้อักเสบเน่าตาย โรคปอดเรื้อรัง หรือการเสียชีวิต NIPPV ที่สร้างจากเครื่องช่วยหายใจพบว่าดีกว่าจากอุปกรณ์สองระดับในการลดอุบัติการณ์ของภาวะการหายใจล้มเหลวหลังการถอดท่อช่วยหายใจและความจำเป็นในการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ การประสานงาน NIPPV อาจมีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนข้อสรุปที่ชัดเจน

การศึกษาทดลองในอนาคตควรรับสมัครทารกในจำนวนที่เพียงพอ โดยเฉพาะทารกที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ เพื่อตรวจหาความแตกต่างในการเสียชีวิตหรือโรคปอดเรื้อรัง และควรเปรียบเทียบอุปกรณ์ประเภทต่างๆ เกี่ยวกับความสำคัญการทำงานประสานของ NIPPV ในแง่ความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเทคนิค รวมถึงการผสมผสานการตั้งค่าที่ดีที่สุดสำหรับ NIPPV (อัตรา แรงดันสูงสุด และแรงดันช่วงหายใจบวก) การศึกษาทดลองควรพยายามจับคู่ระหว่างค่าเฉลี่ยความดันทางเดินหายใจระหว่างกลุ่มได้รับวิธีการทดสอบเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลได้ดียิ่งขึ้น เครื่องช่วยหายใจที่จับสัญญาณจากระบบประสาทจำเป็นต้องได้รับการประเมินเพิ่มเติมด้วยการทดลองแบบสุ่มที่มีอำนาจการทดสอบอย่างเหมาะสม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การช่วยหายใจแบบ Nasal continuous positive airway pressure (NCPAP) เป็นวิธีที่มีประโยชน์ในการช่วยหายใจหลังถอดท่อช่วยหายใจ การช่วยหายใจแบบ Nasal intermittent positive pressure ventilation (NIPPV) สามารถช่วยการช่วยหายใจแบบ Nasal continuous positive airway pressure (NCPAP) ให้สามารถส่งการช่วยหายใจโดยเครื่องช่วยหายใจผ่านทาง nasal prongs

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์หลัก

เพื่อตรวจสอบผลของการใช้ NIPPV เทียบกับ NCPAP ต่อความจำเป็นในการช่วยหายใจเพิ่มเติมในทารกคลอดก่อนกำหนดที่ถอดท่อช่วยหายใจออกเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังการช่วยหายใจด้วยวิธี intermittent positive pressure ventilation

วัตถุประสงค์รอง

เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเกิดท้องอืด ทางเดินอาหารทะลุ ลำไส้อักเสบเน่าตาย โรคปอดเรื้อรัง ลมรั่วในปอด การเสียชีวิต ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล อัตราหยุดหายใจ และพัฒนาการทางระบบประสาทที่ 18 ถึง 24 เดือนสำหรับทารกที่ได้รับ NIPPV และ NCPAP

เพื่อเปรียบเทียบผลของ NIPPV กับ NCPAP ที่ส่งผ่านทางเครื่องช่วยหายใจหรือทางอุปกรณ์สองระดับ (bilevel devices) และประเมินผลการประสานการช่วยหายใจ และจุดแข็งของการใช้เครื่องมือในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

วิธีการสืบค้น: 

เราใช้วิธีการสืบค้นตามแบบมาตรฐานและครอบคลุมของ Cochrane วันที่ค้นหาล่าสุดคือ มกราคม 2023

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มและกึ่งสุ่มของทารกคลอดก่อนกำหนดที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ (GA)) ที่พร้อมสำหรับถอดเครื่องช่วยหายใจเพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่รุกราน วิธีการที่ใช้ทดสอบคือ NIPPV และ NCPAP

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือ 1. ภาวะหายใจล้มเหลว ผลลัพธ์รองของเราคือ 2. การต้องการการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ 3. ท้องอืด 4. ทางเดินอาหารทะลุ 5. ลำไส้อักเสบเน่าตาย (NEC) 6. โรคปอดเรื้อรัง 7. ลมรั่วในปอด 8. การเสียชีวิต 9. การนอนโรงพยาบาล 10. การหยุดหายใจและหัวใจเต้นช้า และ 11. ภาวะพัฒนาการทางระบบประสาท

เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความแน่นอนของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม 19 การทดลอง (ทารก 2,738 คน): เมื่อเปรียบเทียบ NCPAP แล้วพบว่า NIPPV น่าจะลดความเสี่ยงของการหายใจล้มเหลวหลังการถอดท่อช่วยหายใจ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.75, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.67 ถึง 0.84; จำนวนที่ต้องรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม (NNTB) 11, 95% CI 8 ถึง 17 ปี; 19 การทดลอง, ทารก 2738 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และความต้องการการใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำ (RR 0.78, 95% CI 0.70 ถึง 0.87; NNTB 12, 95% CI 9 ถึง 25; 17 การทดลอง, ทารก 2608 คน, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจลดการเกิดลมรั่วในปอด (RR 0.57, 95% CI 0.37 ถึง 0.87; NNTB 50, 95% CI 33 ถึงไม่จำกัด; 13 การทดลอง, ทารก 2404 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) NIPPV น่าจะให้ผลเพียงต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในการเกิดการทะลุของเดินอาหาร (RR 0.89, 95% CI 0.58 ถึง 1.38; 8 การทดลอง, ทารก 1478 ราย, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ), ลำไส้อักเสบเน่าตาย (NEC) (RR 0.86, 95% CI 0.65 ถึง 1.15; 10 การทดลอง, 2069 ทารก; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง), โรคปอดเรื้อรังโดยใช้คำนิยามคือความต้องการออกซิเจนที่อายุ 36 สัปดาห์ (RR 0.93, 95% CI 0.84 ถึง 1.05; 9 การทดลอง, ทารก 2001 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และการเสียชีวิตก่อนจำหน่าย (RR 0.81, 95 % CI 0.61 ถึง 1.07; 11 การทดลอง ทารก 2258 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

เมื่อพิจารณาการวิเคราะห์กลุ่มย่อย NIPPV ที่สร้างด้วยเครื่องช่วยหายใจมีแนวโน้มที่จะลดภาวะการหายใจล้มเหลวหลังการถอดท่อช่วยหายใจ (RR 0.49, 95% CI 0.40 ถึง 0.62; ทารก 1057 คน; I 2 = 47%; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ในขณะที่อุปกรณ์สองระดับ (RR 0.95, 95% CI 0.77 ถึง 1.17; ทารก 716 ราย) หรือทั้งอุปกรณ์ที่สร้างโดยใช้เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์สองระดับจะให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (RR 0.87, 95% CI 0.73 ถึง 1.02; ทารก 965 คน)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย แพทย์หญิงนันท์ธิดา ภัทราประยูร วันที่ 10 ตุลาคม 2023

Tools
Information