บาดทะยักเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Clostridium tetani) ที่พบในดินและอุจจาระ เป็นโรคที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ แต่มันยังคงคร่าชีวิตเด็กและผู้ใหญ่ ทารกแรกเกิดเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะในบังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และปากีสถาน สาเหตุหลักมาจากการตัดสายสะดือที่ไม่ถูกสุขลักษณะ แผลถูกแทง แผลไฟไหม้ การเจาะหูหลายครั้ง การสัก และการขลิบ (ชายและหญิง) อาจทำให้เกิดการติดเชื้อบาดทะยักได้เช่นกัน อาการต่างๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อตึงและกระตุก (หดตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ) ที่คอ ขากรรไกร และหลังอย่างฉับพลัน ซึ่งจะทำให้หลังโก่งแข็งได้ การหดเกร็งของกล่องเสียงและเส้นเสียงอาจส่งผลให้ของเหลวถูกดูดเข้าไปในทางเดินหายใจ (การสำลัก) หรือไม่สามารถหายใจได้ (การขาดอากาศหายใจ) อาการกระตุกจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในสองสัปดาห์และการฟื้นตัวจะใช้เวลา 4 สัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนของโรคหรือการรักษา ได้แก่ การหายใจลำบาก สัญญาณ extrapyramidal ที่เลียนแบบการหดเกร็งของบาดทะยักและการแข็งเกร็ง ร่างกายทำงานผิดปกติ (ระบบอัตโนมัติ) และปอดอักเสบ การพยาบาลแบบประคับประคอง การให้สารอาหาร และกายภาพบำบัดมีความสำคัญ การช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจนั้นหาได้ยากในประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรในการรักษาอาการอัมพาตทั้งตัว จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อลดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อและอาการแข็งเกร็ง ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และอิมมูโนโกลบูลินต่อบาดทะยักเพื่อกำจัดสารพิษในร่างกาย diazepam มีฤทธิ์ต้านการชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากล่อมประสาท และลดความวิตกกังวล การรักษาด้วย diazepam มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตน้อยกว่าการรักษาด้วย phenobarbitone และ chlorpromazine ร่วมกัน การรักษาร่วมกับ diazepamไม่ได้ให้ประโยชน์เพิ่มขึ้น (และอาจก่อให้เกิดอันตราย) ผู้ประพันธ์สืบค้นวรรณกรรมทางการแพทย์และพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 2 ฉบับ โดยมีทารกแรกเกิดและเด็กโตที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 134 รายที่เป็นโรคบาดทะยักจากไนจีเรีย (ทารกแรกเกิด 19 ราย เด็กอายุระหว่าง 1 เดือนถึง 10 ปี จำนวน 7 ราย) และอินโดนีเซีย (ทารกแรกเกิด 74 ราย เด็กอายุระหว่างสามวันถึง 12 ปี จำนวน 34 คน) ยาทั้งหมดเป็นชนิดรับประทานและเช่นเดียวกับอาหารซึ่งมักจะให้ทางสายยางทางจมูกในสถานที่ที่มีภาระโรคสูง การศึกษาทั้ง 2 ฉบับไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสิ่งแทรกแซงหรือผลการติดตามผู้รอดชีวิตหลังออกจากโรงพยาบาล
แม้ว่าการทบทวนนี้แสดงให้เห็นว่ายา diazepam เพียงอย่างเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับ phenobarbitone และ chlorpromazine ร่วมกันอาจมีประสิทธิผลมากกว่าในการรักษาบาดทะยัก แต่ขนาดกลุ่มตัวอย่างที่เล็ก ข้อจำกัดของวิธีการ และการขาดข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของยาจากการทดลองที่มีอยู่ทำให้ไม่สามารถสรุปผลที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในการปฏิบัติทางคลินิกในปัจจุบันได้ จากข้อสังเกตนี้ควรได้รับการประยุกต์ตามความต้องการและสถานการณ์ในท้องถิ่น โดยรอหลักฐานที่ดีกว่า เราขอแนะนำให้เน้นมาตรการป้องกันการติดเชื้อบาดทะยัก และหวังว่าด้วยหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพการป้องกันของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก ควรใช้ความพยายามร่วมกันในเชิงป้องกันและการกำจัดบาดทะยักให้หมดไป จนไม่มีผู้ป่วยเพียงพอสำหรับการทดลอง ในกรณีที่จำเป็นต้องทำการทดลอง การทดลองในอนาคตขนาดใหญ่ แบบหลายศูนย์ การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งเปรียบเทียบDiazepamอย่างเดียวกับยาอื่นๆ ร่วมกัน (ไม่รวมDiazepam) จะเหมาะสมที่สุด
การรักษาอาการของกล้ามเนื้อกระตุกและแข็งเกร็งในผู้ป่วยบาดทะยักเป็นปัญหาที่ยากต่อการรักษาสำหรับแพทย์ทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากร มีสูตรการรักษาที่ใช้กันทั่วไปในทางคลินิกในรูปแบบต่างๆ มากมายเนื่องจากความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาที่ใช้อยู่เดิม ยา diazepam เมื่อเทียบกับยาอื่น ๆ (เช่น phenobarbitone และ chlorpromazine) อาจมีข้อได้เปรียบเนื่องจากออกฤทธ์เป็นยากันชัก ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาระงับประสาท และยาคลายความวิตกกังวล
เพื่อเปรียบเทียบ diazepam กับยาชนิดอื่นในการรักษาอาการกระตุกของกล้ามเนื้อและแข็งเกร็งของบาดทะยักในเด็กและผู้ใหญ่
เราค้นหาใน Cochrane Neonatal Group (มิถุนายน 2004), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL, The Cochrane Library, Issue 2, 2004), MEDLINE (1966 ถึงมิถุนายน 2004), EMBASE (1980 ถึงมิถุนายน 2004), LILACS ( 2004), CINAHL (มิถุนายน 2004), Science Citation Index, African Index Medicus, บทคัดย่อการประชุมและรายการอ้างอิงของบทความ เราติดต่อนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรที่ทำงานในสาขานี้และใช้การติดต่อส่วนบุคคล
การทดลองแบบ randomized controlled trials และ quasi-randomized controlled trials
เราค้นหาการทดลองที่เข้าเกณฑ์ ประเมินคุณภาพของวิธีการทดลอง และดึงข้อมูลโดยอิสระต่อกัน
การศึกษา 2 ฉบับ ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือก วิธีการสร้างลำดับการจัดสรร การปกปิดการจัดสรร และการปิดบัง (blinding) ไม่ค่อยชัดเจนในการศึกษาทั้ง 2 ฉบับ เด็กทั้งหมด 134 คนได้รับการจัดสรรเป็น 3 กลุ่มการรักษา ซึ่งประกอบด้วย diazepam เพียงอย่างเดียว phenobarbitone และ chlorpromazine หรือ phenobarbitone และ chlorpromazine และ diazepam
การวิเคราะห์เมตาของการเสียชีวิตในโรงพยาบาลบ่งชี้ว่าเด็กที่ได้รับยา diazepam เพียงอย่างเดียวมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าเด็กที่ได้รับ phenobarbitone และ chlorpromazineร่วมกัน (ความเสี่ยงสัมพัทธ์ต่อการเสียชีวิต 0.36 ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.15 ถึง 0.86 ความแตกต่างของความเสี่ยง -0.22; 95% CI -0.38 ถึง -0.06)
การให้ diazepam เพียงอย่างเดียวหรือการเสริมยากันชักทั่วไป (phenobarbitone และ chlorpromazine) ร่วมกับ diazepam รายงานในการศึกษา 1 ฉบับ พบว่าช่วยลดอาการทางคลินิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและช่วยลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลอีกด้วย
บันผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร Edit โดย ผกากรอง 18 เมษายน 2023