คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
การทบทวนนี้ดำเนินการโดยผู้เขียนของ Cochrane Oral Health Group ได้รับการจัดทำขึ้นเพื่อประเมินประโยชน์ที่เป็นไปได้ของยาปฏิชีวนะที่รับประทานในขณะที่ใส่รากฟันเทียม เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากแสดงให้เห็นว่ายาปฏิชีวนะมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ การทบทวนวรรณกรรมนี้ยังพยายามหาประเภท ปริมาณ และระยะเวลาของการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางทันตกรรมรากฟันเทียมยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน และมีความจำเป็นต้องตอบคำถามเหล่านี้เพื่อปรับปรุงอัตราความสำเร็จของการปลูกรากฟันเทียม ในขณะเดียวกันก็ลดภาวะแทรกซ้อน ความอันตราย หรือผลข้างเคียงให้เหลือน้อยที่สุด
ความเป็นมา
บางครั้งฟันที่สูญหายไปสามารถทดแทนด้วยรากฟันเทียมที่สามารถใส่ครอบฟัน สะพานฟัน หรือฟันปลอมได้ แบคทีเรียที่เกิดขึ้นระหว่างการใส่รากฟันเทียมอาจนำไปสู่การติดเชื้อ และบางครั้งทำให้กิดความล้มเหลวได้ การติดเชื้อรอบๆ วัสดุชีวภาพ (เช่น รากฟันเทียม) นั้นรักษาได้ยาก และรากฟันเทียมที่ติดเชื้อเกือบทั้งหมดจะต้องถูกนำออก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมการป้องกันการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งสำคัญหากเป็นไปได้
มีคำแนะนำว่าการรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนหรือหลังการใส่รากฟันเทียม (หรือทั้งสองอย่าง) สามารถลดโอกาสการติดเชื้อได้
โดยทั่วไปการใช้ยาปฏิชีวนะในการผ่าตัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อจะแนะนำเฉพาะกับผู้ที่มีความเสี่ยง เมื่อเป็นการผ่าตัดใหญ่ หรือดำเนินการในบริเวณที่ติดเชื้อ และเมื่อมีการฝังสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกขนาดใหญ่เข้าไปในร่างกาย ช่วงที่ผ่านมานี้ มีการแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะในระยะสั้นเมื่อจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะบางครั้งยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ตั้งแต่อาการท้องร่วงไปจนถึงอาการแพ้ที่อันตรายถึงชีวิต ข้อที่ควรคำนึงถึงหลักๆ อีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายคือการปรากฏตัวของแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้น
ลักษณะของการศึกษา
หลักฐานที่ใช้ในการทบทวนวรรณกรรมอัพเดตข้อมูลล่าสุดถึง 17 มิถุนายน 2013 มีการทดลอง 6 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1162 คน
การทดลองทั้ง 6 ฉบับเปรียบเทียบการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ (ความล้มเหลวและภาวะแทรกซ้อน) เทียบกับการไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาด้วยยาหลอก (ยาปลอมที่ไม่มีส่วนผสมที่ออกฤทธิ์) ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการทดลองทั้งหมดคืออะม็อกซีซิลลิน ปริมาณและระยะเวลาในการให้ยาจะแตกต่างกันไป แม้ว่าส่วนใหญ่จะใช้ยาเพียงครั้งเดียวก่อนที่จะใส่รากฟันเทียมก็ตาม หนึ่งในการทดลองที่มีผู้เข้าร่วม 100 คน ยังได้ศึกษาปริมาณของอะม็อกซีซิลลินในปริมาณที่แตกต่างกันในเวลาที่ต่างกัน
ไม่มีการทดลองที่พิจารณายาปฏิชีวนะตัวอื่น
ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ให้ความยินยอมในการเข้าร่วมการทดลองทางการแพทย์ได้ ผู้เข้าร่วมที่มีความเป็นไปได้ว่าจะนำออกจากการศึกษาด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่: หากพวกเขามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ มีข้อต่อเทียม มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวาน ได้รับการรักษาด้วยรังสีบริเวณศีรษะและคอ ต้องการ ขั้นตอนเพิ่มในตอนที่ใส่รากฟันเทียม แพ้ยาเพนิซิลลิน มีการติดเชื้อเรื้อรัง/เฉียบพลันใกล้กับบริเวณที่ปลูกถ่ายที่วางแผนไว้ ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะด้วยเหตุผลอื่นแล้ว (หรือได้รับยานานถึง 6 เดือนก่อนหน้านี้) เคยได้รับการรักษา หรือหรือกำลังได้รับการรักษาด้วยอะมิโนบิสฟอสโฟเนตทางหลอดเลือดดำ, เคยตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร, ได้รับยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ระยะยาว, หรือมีปัญหาการแข็งตัวของเลือด ระยะเวลาติดตามผลในการทดลองทั้งหมดคืออย่างน้อย 3 เดือน
ผลการศึกษาที่สำคัญ
ปรากฏว่าการให้ยาอะม็อกซีซิลลิน 2 กรัมในช่องปากหนึ่งชั่วโมงก่อนการใส่รากฟันเทียมมีประสิทธิภาพในการลดความล้มเหลวของการใส่รากฟันเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ยาปฏิชีวนะ 25 คนจะช่วยหลีกเลี่ยงการสูญเสียรากฟันเทียมตั้งแต่เนิ่นๆ ได้หนึ่งคน ยังไม่ชัดเจนว่าการให้ยาปฏิชีวนะหลังการผ่าตัดมีประโยชน์หรือไม่ หรือยาปฏิชีวนะชนิดใดที่ทำงานได้ดีที่สุด
คุณภาพของหลักฐาน
หลักฐานจากการทดลอง 6 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 1162 คน) ที่เปรียบเทียบการใช้ยาปฏิชีวนะกับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา ถือว่ามีคุณภาพปานกลาง อย่างไรก็ตาม มีการทดลองหนึ่งรายการ (ผู้เข้าร่วม 100 คน) ที่ตรวจสอบยาปฏิชีวนะที่ให้ในระยะเวลาต่างกัน พบว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูง
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า โดยทั่วไปแล้ว ยาปฏิชีวนะมีประโยชน์ในการลดความล้มเหลวของการปลูกรากฟันเทียมในสภาวะปกติ โดยเฉพาะการให้อะม็อกซีซิลลิน 2 กรัมหรือ 3 กรัมทางปากในครั้งเดียว 1 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัดจะช่วยลดความล้มเหลวของการปลูกรากฟันเทียมได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีนัยสำคัญ อาจสมเหตุสมผลที่จะแนะนำให้ใช้อะม็อกซีซิลลินเพื่อป้องกันโรคขนาด 2 กรัม 1 ครั้งก่อนการใส่รากฟันเทียม ยังคงไม่ทราบแน่ชัดว่ายาปฏิชีวนะหลังผ่าตัดมีประโยชน์หรือไม่ และยาปฏิชีวนะชนิดใดมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ความล้มเหลวของรากฟันเทียมอาจเกิดจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียเมื่อใส่รากฟันเทียม การติดเชื้อบริเวณวัสดุชีวภาพนั้นรักษาได้ยาก และรากฟันเทียมที่ติดเชื้อเกือบทั้งหมดจะต้องถูกถอนออก โดยทั่วไป การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในการผ่าตัดมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเยื่อบุหัวใจอักเสบเท่านั้น ด้วยการตอบสนองต่อโฮสต์ลดลง เมื่อทำการผ่าตัดในบริเวณที่ติดเชื้อ ในกรณีที่มีการผ่าตัดเป็นบริเวณกว้างและนาน และเมื่อมีการฝังวัตถุแปลกปลอมขนาดใหญ่ มีการเสนอแนะให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคหลายชนิดเพื่อลดการติดเชื้อหลังการใส่รากฟันเทียม แนวทางปฏิบัติล่าสุดแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคในระยะสั้น หากต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้เมื่อใช้ยาปฏิชีวนะ และอาจมีอาการตั้งแต่ท้องร่วงไปจนถึงอาการแพ้ยาที่คุกคามถึงชีวิต ข้อที่น่ากังวลหลักอีกประการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายคือการเลือก antibiotic-resistant bacteria การใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคในทางทันตกรรมรากฟันเทียมเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่
เพื่อประเมินผลประโยชน์หรือผลเสียของยาปฏิชีวนะป้องกันโรคแบบทั่วร่างกาย ที่ตำแหน่งการใส่รากฟันเทียม เทียบกับการให้ยาปฏิชีวนะหรือยาหลอก และหากยาปฏิชีวนะมีประโยชน์ เพื่อระบุชนิดของยา ขนาดยา และระยะเวลาที่ใช้ใดมีประสิทธิผลมากที่สุด
เราสืบค้นใน Cochrane Oral Health's Trials Register (ถึง 17 มิถุนายน 2013), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) ( The Cochrane Library 2013, ฉบับที่ 5), MEDLINE via OVID (1946 ถึง 17 มิถุนายน 2013) และ EMBASE via OVID ( 1980 ถึง 17 มิถุนายน 2013) ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาหรือวันที่ในการค้นหาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่มีการติดตามผลอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งเปรียบเทียบการให้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคต่างๆ หลายแบบ กับการไม่ให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ที่เข้ารับการปลูกรากฟันเทียม มาตรการผลลัพธ์รวมถึง อวัยวะเทียมผิดพลาด การปลูกถ่ายล้มเหลว การติดเชื้อหลังการผ่าตัด และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (ระบบทางเดินอาหาร ภูมิไวเกิน ฯลฯ)
การคัดกรองการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ การประเมินความเสี่ยงของอคติของการทดลอง และการดึงข้อมูลได้ดำเนินการซ้ำและเป็นอิสระกันโดยผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ผลลัพธ์ถูกแสดงเป็นอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) โดยใช้random-effects model สำหรับผลลัพธ์แบบสองตัวเลือกกับช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) จะต้องมีความหลากหลายทั้งปัจจัยทางคลินิกและระเบียบวิธีวิจัยก็จะถูกตรวจสอบ
RCTs 6 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 1162 คน: การทดลอง 3 ฉบับ เปรียบเทียบยาปริมาณ 2 กรัมของ อะม็อกซีซิลลินก่อนการผ่าตัดเทียบกับยาหลอก (ผู้เข้าร่วม 927 คน) การทดลอง 1 ฉบับ เปรียบเทียบยาปริมาณ 3 กรัมของอะม็อกซีซิลลินก่อนผ่าตัด เทียบกับยาหลอก (ผู้เข้าร่วม 55 คน) การทดลอง 1 ฉบับ เปรียบเทียบยาปริมาณ 1 กรัมของอะม็อกซีซิลลินก่อนผ่าตัด ร่วมกับ 500 มก. 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 2 วันเทียบกับไม่ให้ยาปฏิชีวนะ (ผู้เข้าร่วม 80 คน) และการทดลอง 1 ฉบับ เปรียบเทียบ 4 กลุ่ม: (1) ยาอะม็อกซีซิลลินก่อนการผ่าตัด 2 กรัม; (2) อะม็อกซีซิลลินก่อนผ่าตัด 2 กรัมร่วมกับ 1 กรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน; (3) รับประทานอะม็อกซีซิลลินหลังผ่าตัด 1 กรัม วันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน และ (4) ไม่ให้ยาปฏิชีวนะ (ผู้เข้าร่วม 100 คน) หลักฐานโดยรวมถือว่ามีคุณภาพระดับปานกลาง การวิเคราะห์เมตต้าของการทดลองทั้ง 6 ฉบับแสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมที่ประสบปัญหาความล้มเหลวของการปลูกถ่ายรากฟันเทียมในกลุ่มที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (RR 0.33; 95% CI 0.16 ถึง 0.67, ค่า P-value 0.002, ความแตกต่าง: Tau 2 0.00; Chi 2 2.87, df = 5 (P value 0.57); I 2 0%) จำนวนที่ต้องการการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม (NNTB) 1 รายเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลหนึ่งประสบควากับมล้มเหลวของการปลูกถ่ายรากฟันเทียมคือ 25 (95% CI 14 ถึง 100) โดยอิงตามอัตราความล้มเหลวของการปลูกถ่ายที่ 6% ในผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะ มีนัยสำคัญทางสถิติที่เส้นขอบสำหรับความล้มเหลวของอวัยวะรากฟันเทียม (RR 0.44; 95% CI 0.19 ถึง 1.00) โดยไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับการติดเชื้อ (RR 0.69; 95% CI 0.36 ถึง 1.35) หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (RR 1; 95% CI 0.06 ถึง 15.85) (เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 2 เหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้ หนึ่งในนั้นเกิดที่กลุ่มยาหลอก) ไม่มีข้อมูลที่สรุปได้จากเฉพาะการทดลองที่เปรียบเทียบระยะเวลาการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันโรคตั้งแต่ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ (ความล้มเหลวของการใส่รากฟังเทียม/อวัยวะเทียม การติดเชื้อ หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์) เกิดขึ้นในผู้เข้าร่วมคนใดคนหนึ่งใน 25 คนในแต่ละกลุ่มการศึกษา ไม่มีการทดลองใดที่ประเมินยาปฏิชีวนะที่ต่างกันหรือขนาดยาปฏิชีวนะ
แปลโดย นายฎลกร จำปาหวาย วันที่ 25 เมษายน 2024