การทบทวนวรรณกรรมฉบับปรับปรุงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการบรรเทาอาการปวดแบบที่ใช้ยาและแบบที่ไม่ใช้ยาในสตรีที่มีอาการปวดหลังคลอดทางช่องคลอด การให้สารเพื่อบรรเทาอาการปวดถูกเปรียบเทียบกับยาหลอกที่ไม่มีฤทธิ์ หรือการไม่ได้รับวิธีการรักษา หรือเทียบกับสารประเภทอื่นในการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ
เรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร
สตรีอาจมีอาการปวดจากการหดรัดตัวของมดลูกและรู้สึกไม่สบายตัวหลังคลอดเนื่องจากมดลูกหดตัวและพยายามกลับสู่ขนาดปกติก่อนตั้งครรภ์ อาการปวดเหล่านี้มักจะอยู่ในช่วงสองถึงสามวันหลังคลอด สตรีที่เคยมีลูกมาก่อนมีแนวโน้มที่จะมีอาการปวดหลังคลอด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดตัวและเพิ่มความรุนแรงของอาการปวด
ประเภทของการบรรเทาอาการปวดที่ใช้ในการรักษาอาการปวด ได้แก่ พาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ibuprofen และ naproxen, opioids รวมทั้งโคเดอีนและวิธีการแก้ปวดแบบไม่ใช้ยา เช่น การใช้สมุนไพร และการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (TENS)
ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ
การจัดการความเจ็บปวดหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากความเจ็บปวดอาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมารดา ตลอดจนความผูกพันและการดูแลลูกของเธอ อาการปวดหลังคลอดเป็นสาเหตุที่รบกวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ผู้ทบทวนวรรณกรรมพบหลักฐานอะไรบ้าง
เราค้นหาหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (ตุลาคม 2019) และพบการศึกษาจำนวน 28 เรื่อง (มารดา 2749 คน) ที่อยู่ในโรงพยาบาลหลังจากการคลอดบุตรครรภ์เดี่ยวที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน หลักฐานส่วนใหญ่มีความน่าเชื่อถือต่ำเนื่องจากการศึกษามีจำนวนสตรีที่ไม่เพียงพอ การศึกษาจำนวนมากที่ไม่คัดสตรีที่ให้นมบุตรเข้าในการศึกษา สิ่งนี้ทำให้หลักฐานที่มีไม่ครอบคลุมกลุ่มสตรีในวงกว้าง ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในทารกแรกเกิด
การได้รับยา NSAIDs น่าจะให้ผลดีกว่ายาหลอก (การรักษาแบบหลอก) ในการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวจากผู้หญิงหลังคลอด (11 การศึกษา, สตรี 946 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจลดความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม (4 การศึกษา, สตรี 375 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่าง NSAIDs และยาหลอกในความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในมารดา (9 การศึกษา, สตรี 598 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)
NSAIDs น่าจะดีกว่า opioids ในการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวจากผู้หญิงหลังคลอด (5 การศึกษา, สตรี 560 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจลดความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในมารดา (3 การศึกษา, สตรี 255 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ ) NSAIDs อาจลดความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติมในระดับเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ opioids (2 การศึกษา, สตรี 232 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)
Opioids อาจดีกว่ายาหลอก ในการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวจากสตรีหลังคลอด (5 การศึกษา, สตรี 299 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) และอาจลดความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม (3 การศึกษา, สตรี 273 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) Opioids อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในมารดาเมื่อเทียบกับยาหลอก (3 การศึกษา, สตรี 188 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากทำให้เราไม่แน่ใจว่าพาราเซตามอลดีกว่ายาหลอกสำหรับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวจากสตรีหลังคลอด รวมถึงความจำเป็นในการใช้ยาระงับปวดเพิ่มเติม หรือความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา (2 การศึกษา, สตรี 123 คน)
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากทำให้เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างผลของการใช้ยาพาราเซตามอลและ NSAIDs สำหรับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวจากสตรีหลังคลอด หรือความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา (2 การศึกษา, สตรี 112 คน)
หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำมากทำให้เราไม่แน่ใจว่า NSAIDs ดีกว่าการบรรเทาอาการปวดด้วยสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวจากผู้หญิงหลังคลอด (4 การศึกษา, สตรี 394 คน) ความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม (1 การศึกษา, สตรี 90 คน) หรือความเสี่ยงของอาการไม่พึงประสงค์ของมารดา (1 การศึกษา, สตรี 108 คน)
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากทำให้เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างการได้รับการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนังเพื่อลดความปวด (TENS) และการไม่ได้รับ TENS สำหรับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวจากสตรีหลังคลอด (1 การศึกษา, สตรี 32 คน)
หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร
การได้รับยา NSAIDs อาจดีกว่ายาหลอกและน่าจะดีกว่า opioids ในการบรรเทาอาการปวดหลังคลอดทางช่องคลอด คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับไม่ดีและเราไม่แน่ใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบรรเทาอาการปวดในรูปแบบอื่น ๆ การทดลองในอนาคตควรมีจำนวนสตรีในการศึกษาที่เพียงพอและควรคัดเลือกสตรีที่ให้นมบุตรเข้าร่วมในการศึกษาด้วย การวิจัยในอนาคตอาจมีการศึกษาเชิงสำรวจเพื่อสอบถามผู้หญิงหลังคลอดเกี่ยวกับประสบการณ์ความเจ็บปวดหลังการคลอดทางช่องคลอด
NSAIDs อาจดีกว่ายาหลอกและน่าจะดีกว่า opioids ในการบรรเทาอาการปวดจากการหดรัดตัวของมดลูก / มดลูกเข้าอู่ ภายหลังการคลอดทางช่องคลอด NSAIDs และพาราเซตามอล อาจมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากันในขณะที่ opioids อาจมีประสิทธิภาพมากกว่ายาหลอก เนื่องจากมีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ เราจึงไม่แน่ใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบรรเทาอาการปวดในรูปแบบอื่น ๆ การวิจัยในอนาคตควรมีจำนวนของสตรีที่เข้าร่วมการศึกษาให้เพียงพอและควรมีสตรีที่ให้นมบุตรเข้าร่วมในการศึกษาด้วย นอกจากนี้มีความจำเป็นที่ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงสำรวจ ที่ทำการสำรวจสตรีหลังคลอดเพื่อสอบถามอาการปวดที่เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกหรือมดลูกเข้าอู เราพบการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่จำนวน 9 การศึกษา ซึ่งอาจช่วยเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานเกี่ยวกับการบรรเทาอาการปวดเนื่องจากมดลูกหดรัดตัวหลังคลอดในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้ในอนาคต
สตรีอาจมีอาการปวดและความรู้สึกไม่สบายที่แตกต่างกันหลังคลอด รวมถึงอาการปวดเหมือนถูกบีบรัด (มักเรียกว่าอาการปวดหลังคลอด) ซึ่งอาการปวดสัมพันธ์กับภาวะมดลูกเข้าอู่ ซึ่งก็คือการที่มดลูกเกิดการหดตัวเพื่อลดการสูญเสียเลือดและทำให้มดลูกกลับสู่ขนาดปกติเหมือนเดิมกับตอนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ การทบทวนวรรณกรรมนี้คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2011
เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาบรรเทาปวด / ยาระงับปวดทั้งทางเภสัชวิทยาและที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังคลอดทางช่องคลอด
ในการปรับปรุงนี้เราสืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูล Cochrane Pregnancy and Childbirth’s Trials Register, ClinicalTrials.gov, WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (31 ตุลาคม 2019) และเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่สืบค้นมาได้
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบโดยเปรียบเทียบระหว่างการใช้ยาแก้ปวด 2 ชนิดที่แตกต่างกัน หรือ ยาแก้ปวดเปรียบเทียบกับยาหลอก หรือยาแก้ปวดเมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังคลอดทางช่องคลอด ประเภทของยาระงับปวด ได้แก่ ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และยาแก้ปวดที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา เราไม่รวมการศึกษาแบ quasi RCT เข้ามาในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้
ผู้ทบทวนวรณกรรม 2 คน ทำการประเมินการทดลองเพื่อคัดเข้าการศึกษา และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ การคัดลอกข้อมูล แล้วประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE อย่างอิสระต่อกัน
ในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้เราพบการศึกษาจำนวน 28 เรื่อง (มีสตรีทั้งหมด 2749 คน) หลักฐานที่ระบุในการทบทวนนี้มาจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง โดยทั่วไปการทดลองมีความเสี่ยงต่ำต่อการมีอคติในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการศึกษา (selection bias) อคติในการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมการศึกษา (performance bias) และอคติในการติดตามผู้เข้าร่วมการศึกษา (attrition bias) แต่ในบางการทดลองมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติ เนื่องจากความคลาดเคลื่อนในการรายงานผล (reporting bias) และไม่มีการปกปิด (blinding) ผลการประเมิน GRADE พบหลักฐานมีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับปานกลางจนถึงระดับต่ำมาก มีการลดระดับคุณภาพเนื่องจากข้อจำกัดในการออกแบบการศึกษา, ผลการศึกษาที่ยังไม่ชัดเจน (imprecision) และความไม่คล้ายคลึงกันของผลการศึกษา (indirectness)
การศึกษาส่วนใหญ่รายงานผลลัพธ์หลักที่ผู้ทบทวนวรรรกรรมกำหนดไว้ คือ การบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวของสตรีหลังคลอด ไม่มีการศึกษาใดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของทารกแรกเกิด ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล หรืออัตราการให้นมบุตร เกือบครึ่งหนึ่งของการศึกษาที่คัดเข้าในการทบทวน (จำนวน 11/28) ไม่คัดสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เข้าในการศึกษา ทำให้หลักฐานที่ได้ไม่สามารถเป็นตัวแทนสำหรับกลุ่มสตรีทั่วไปในวงกว้าง
ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เปรียบเทียบกับ ยาหลอก
NSAIDs น่าจะดีกว่ายาหลอกสำหรับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวของผู้หญิงหลังคลอด (risk ratio (RR) 1.66, 95% confidence interval (CI) 1.45 ถึง 1.91; 11 การศึกษา, สตรี 946 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) NSAIDs อาจลดความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติมเมื่อเทียบกับยาหลอก (RR 0.15, 95% CI 0.07 ถึง 0.33; 4 การศึกษา, สตรี 375 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) อาจมีความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกันในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในมารดา (RR 1.05, 95% CI 0.78 ถึง 1.41; 9 การศึกษา, สตรี 598 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)
NSAIDs เปรียบเทียบกับ opioids
NSAIDs น่าจะดีกว่า opioids ในการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวของสตรีหลังคลอด (RR 1.33, 95% CI 1.13 ถึง 1.57; 5 การศึกษา, สตรี 560 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจลดความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา (RR 0.62, 95% CI 0.43 ถึง 0.89; 3 การศึกษา, สตรี 255 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) NSAIDs อาจดีกว่า opioids สำหรับความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม แต่ช่วงความเชื่อมั่นของค่าประมาณที่ได้ (CIs) กว้าง อาจมีความเป็นไปได้ที่ยาทั้งสองประเภทมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันหรือ opioids ดีกว่า (RR 0.37, 95% CI 0.12 ถึง 1.12; 2 การศึกษา, สตรี 232 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)
Opioids เปรียบเทียบกับ ยาหลอก
Opioids อาจดีกว่ายาหลอกเพื่อบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวของสตรีหลังคลอด (RR 1.26, 95% CI 0.99 ถึง 1.61; 5 การศึกษา, สตรี 299 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) Opioids อาจลดความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติมเมื่อเทียบกับยาหลอก (RR 0.48, 95% CI 0.28 ถึง 0.82; 3 การศึกษา, สตรี 273 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) Opioids อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดาเมื่อเทียบกับยาหลอก แม้ว่าความแน่นอนของหลักฐานจะต่ำ (RR 1.59, 95% CI 0.99 ถึง 2.55; 3 การศึกษา, สตรี 188 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)
พาราเซตามอล เปรียบเทียบกับ ยาหลอก
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก ทำให้เราไม่แน่ใจว่าพาราเซตามอล ดีกว่า ยาหลอก สำหรับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวของสตรีหลังคลอด ความจำเป็นในการใช้ยาระงับปวดเพิ่มเติม หรือความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา (2 การศึกษา, สตรี 123 คน)
พาราเซตามอล เปรียบเทียบกับ NSAIDs
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก ทำให้เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่างพาราเซตามอลและ NSAIDs สำหรับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามที่สตรีหลังคลอดรายงานหรือไม่ หรือความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา ไม่มีข้อมูลที่รายงานเกี่ยวกับความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม ในการเปรียบเทียบระหว่างพาราเซตามอลและ NSAIDs (2 การศึกษา, สตรี 112 คน)
NSAIDs เปรียบเทียบกับ สมุนไพรที่ช่วยลดปวด
เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่าง NSAIDs และสมุนไพรที่ช่วยลดปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวของสตรีหลังคลอด ความจำเป็นในการบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม หรือความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของมารดา เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก (4 การศึกษา, สตรี 394 คน)
การกระตุ้นเส้นประสาทผ่านผิวหนัง (TENS) เปรียบเทียบกับการไม่ทำ TENS
หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำมาก ทำให้เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่าง TENS และการไม่ทำ TENS สำหรับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอตามการบอกกล่าวของสตรีหลังคลอด ไม่มีการรายงานข้อมูลอื่นๆ ที่เปรียบเทียบ TENS กับ การไม่ทำ TENS (1 การศึกษา, สตรี 32 คน)
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น