การให้มารดาใหม่และทารกอยู่ด้วยกันเปรียบเทียบกับการแยกดูแลสำหรับการเพิ่มระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ประเด็นคืออะไร

การให้มารดาและทารกอยู่ด้วยกันตลอดหรือแยกทั้งสองคนออกจากกันหลังคลอด ทั้งสองอย่างนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พบได้ในหลากหลายวัฒนธรรม ในช่วงต้นศตวรรที่ 20 เมื่อโรงพยาบาลกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับการคลอดบุตรในประเทศอุตสาหกรรม การดูแลแยกระหว่างมารดาและทารกเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทารกแรกเกิดไดรับการดูแลในสถานบริบาลทารกซึ่งแยกออกจากมารดา และจะนำทารกมาพบมารดาเพื่อการให้นมทารกเท่านั้น การให้มารดาและทารกอยู่ด้วยกันหลังคลอดเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันน้อยลง ความใกล้ชิดระหว่างมารดาและทารกในช่วงต้นของระยะหลังคลอดอาจจะมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกโดยตรง ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวอาจจะส่งผลกระะทบต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ

การแยกทารกออกจากมารดาหลังการคลอดอาจจะลดความถี่ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งผลต่อปริมาณน้ำนมที่มารดาผลิตได้ ในขณะที่ทารกอยู่ด้วยกันกับมารดาตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล ทารกจะมีการดูดนมแม่บ่อยมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงความสัมพันธ์และความใกล้ชิดระหว่างมารดาและทารก การแยกดูแลอาจจะทำให้มารดาได้พักฟื้นแและลดความตึงเครียด ซึ่งอาจจะช่วยเรื่องการผลิตน้ำนมของมารดาให้ดีขึ้น ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งได้เริ่มให้มารดาและทารกได้อยู่ในห้องเดียวกัน โดยเฉพาะตั้งแต่มีการจัดตั้งโครงการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์มารดา-ทารก ขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานยูนิเซฟในปี ค.ศ. 1991 การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาจากรายงานวิจัยที่เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ว่าการให้มารดาและทารกอยู่ด้วยกันหรือการแยกดูแลหลังการคลอดจะมีผลต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่ยาวนานกว่าหรือไม่ทันทีที่พวกเขากลับไปอยู่บ้าน

เราพบหลักฐานอะไร

การสืบค้นล่าสุดเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ 2559 ไม่พบการศึกษาใหม่ มีเพียงการศึกษาเดียวที่นำเข้าในการทบทวนเรื่องนี้

มีหนึ่งการทดลอง (เกี่ยวข้องกับจำนวนสตรี 176 คน) ที่นำมาวิเคราะห์ซึ่งให้ข้อมูลอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ณเวลาที่อออกจากโรงพยาบาล เราพบว่าหลักฐานที่ได้มีคุณภาพต่ำ ซึ่งพบว่าการให้มารดาและทารกอยู่ในห้องเดียวกันหลังการคลอดจนกระทั้งพวกเขาออกจากโรงพยาบาล เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ที่ 4 วันหลังการคลอด    สัดส่วนทารกที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ที่อายุ 6 เดือนไม่มีความแตกต่างกัระหว่างกลุ่ม

สิ่งนี้หมายถึงอะไร

เราพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยไม่ว่าจะสนับสนุนหรือปฏิเสธการปฏิบัติที่ให้มารดาละทารกอยู่ด้วยกันหลังการคลอด การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรมีการรายงานทุกผลลัพธ์ที่สำคัญ รวมทั้งระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนหรือปฏิเสธการปฏิบัติที่ให้มารดาและทารกอยู่ด้วยกันเปรียบเทียบกับการแยกดูแลมารดาและทารกหลังการคลอด การออกแบบการทดลอง RCTs ที่ดีเพื่อเปรียบเทียบระหว่างการให้แม่และทารกอยู่ด้วยกันตลอดเวลา (full rooming-in) กับการให้แม่และทารกอยู่ด้วยกันเป็นบางเวลา (partial rooming-in) หรือการแยกดูแล (separate care) โดยมีการรายงานทุกผลลัพธ์ที่สำคัญมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในอนาคต

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ความใกล้ชิดและปฏิสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารกหลังการคลอด และในช่วงต้นของระยะหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญต่อการผลิตน้ำนมของมารดาและความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งการให้มารดาและทารกอยู่ด้วยกันตลอดหลังคลอด หรือการแยกดูแลหลังการคลอดเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา Rooming-in เป็นการให้มารดาและทารกอยู่ด้วยกันในห้องเดียวกันหลังการคลอดในช่วงที่ไดรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ขณะที่การแยกดูแลหลังการคลอด ทารกจะได้รับการดูแลในสถานบริบาลทารก และอาจจะนำทารกมาพบมารดาเมื่อต้องการให้ได้รับนมแม่ หรือมารดาอาจจะเดินไปหาทารกที่สถานบริบาลทารกก็ได้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการที่มารดาและทารกอยู่ด้วยกันเปรียบเทียบกับการแยกดูแลหลังการคลอดที่มีต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และระยะเวลาทั้งหมดของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่)

วิธีการสืบค้น: 

เราได้สืบค้นฐานข้อมูลการทดลองของกลุ่มการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรของ Cochrane (30 พฤษภาคม 2559) และสืบค้นจากรายการเอกสารอ้างอิงของรายงานการศึกษาที่ค้นได้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม หรือการวิจัยกึ่งทดลองเกี่ยวกับการค้นคว้าผลของมารดาและทารกที่อยู่ด้วยกันเปรียบเทียบกับการแยกดูแลหลังการคลอดทั้งที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านที่มีต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัดส่วนของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ทารกอายุครบ 6 เดือน และผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของทารกแรกเกิดและของมารดา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

นักวิจัย 2 คนประเมินรายงานการวิจัยเพื่อนำเข้ามาทบทวนและประเมินคุณภาพของการทดลองอย่างอิสระต่อกัน นักวิจัย 2 คนดึงข้อมูล มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เราได้ประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด (GRADE)

ผลการวิจัย: 

เรานำเข้ารายงานการวิจัยจำนวน 1 เรื่อง (เกี่ยวข้องกับสตรีจำนวน 176 คน) ในการทบทวนฯนี้ การวิจัยเชิงทดลองนี้เป็นรูปแบบแฟคทอเรียลมีจำนวนกลุ่ม 4 กลุ่ม รูปแบบแฟคทอเรียลนี้เป็นไปตาม 2 ปัจจัย ที่ประกอบด้วยตำแหน่งของทารกที่สัมพันธ์กับมารดาและลักษณะการห่อหุ้มทารก (infant apparel) เราได้รวม 3 กลุ่มไว้ด้วยกันเป็นกลุ่มทดลอง (rooming-in) และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มควบคุม (separate care) และเราได้วิเคราะห์ผลโดยการเปรียบเทียบเป็นคู่เดียว

ผลลัพธ์หลัก

ผลลัพธ์หลักคือ ระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นักวิจัยรายงานเป็นค่ามัธยฐาน เนื่องจากข้อมูลมีการกระจายแบบเบ้ นักวิจัยได้รายงานค่ามัธยฐานระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยภาพรวมคือ 4 เดือน ซึ่งไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และ สัดส่วนของทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวที่อายุ 6 เดือน ในการทดลองไม่มีการรายงานไว้ ไม่พบความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มของ สัดส่วนทารกที่ได้รับนมแม่ที่อายุ 6 เดือน (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.84 ช่วงเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ (CI) 0.51 ถึง 1.39 จากหนึ่งการทดลองที่มีจำนวนสตรีในการทดลอง 137 คน หลักฐานที่พบมีคุณภาพต่ำ)

ผลลัพธ์รอง

ค่า ความถี่เฉลี่ยของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อวัน ในช่วง 4 วันหลังคลอดสำหรับกลุ่มที่ให้แม่และลูกอยู่ด้วยกันหลังการคลอด (rooming-in group) คือ 8.3 ครั้งต่อวัน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.2) ซึ่งมีค่าความถี่เฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มที่แยกดูแล (separate care group) เพียงเล็กน้อย กล่าวคือมีความถี่เฉลี่ย7 ครั้งต่อวัน อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มของผลลัพธ์นี้ไม่มีความเหมาะสมเนื่องจากทารกทุกคนในกลุ่มที่แยกดูแลนั้นมีการกำหนดตารางการให้ลูกกินนมแม่ที่คงที่คือ 7 ครั้งต่อวัน (SD=0) ดังนั้นจึงไม่มีการเปรียบเทียบค่าประมาณ อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 4 วันหลังการคลอด ก่อนออกจากโรงพยาบาลในกลุ่มที่ให้มารดาและลูกอยู่ด้วยกันการหลังคลอด 86% (99 ใน 115 คน) สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่แยกดูแล 45% (17 คนใน 38 คน) (RR 1.92; 95% CI 1.34 ถึง 2.76; จากการทดลองหนึ่งเรื่อง มีสตรีในการทดลองจำนวน 153 คน หลักฐานที่พบมีคุณภาพต่ำ) ไม่มีการรายงานผลลัพธ์รองอื่นๆที่ระบุล่วงหน้าไว้

บันทึกการแปล: 

บทคัดย่อและบทสรุปในภาษาธรรมดาเรื่องนี้แปลโดย นางสาวน้ำเพชร จำปาทอง และ ตรวจสอบการแปลโดย นางมาลินี เหล่าไพบูลย์ ภาควิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tools
Information