นี่คือข้อสรุปของงานวิจัยเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการผ่าตัดเมื่อเทียบกับวิธีการรักษาที่ไม่ผ่าตัด (แบบประคับประคอง) เพื่อรักษาการเคลื่อนหลุดของข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบัก (acromioclavicular joint)
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
ข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบัก (acromioclavicular joint) อยู่ที่ตำแหน่งส่วนบนของไหล่ ซึ่งเป็นข้อที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกไหปลาร้า และ กระดูกส่วนที่ยื่นออกมาจากกระดูกสะบักซึ่งอยู่บริเวณเหลี่ยมของไหล่ (acromion) อาการข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบักเคลื่อนหลุดเป็นหนึ่งในการบาดเจ็บของไหล่ที่พบมากที่สุดที่ได้รับการรักษาในคนที่เล่นกีฬา และเป็นการบาดเจ็บของข้อไหล่ที่พบได้บ่อยในนักปั่นจักรยาน และในนักกีฬาที่เล่นกีฬาประเภทที่ต้องมีการปะทะกันระหว่างผู้เล่น เช่น นักฟุตบอล นักมวย และนักกีฬาศิลปะการต่อสู้ การเคลื่อนหลุดมักจะเกิดขึ้นในเด็กผู้ชายที่ล้มและมีแรงกระทบโดยตรงไปที่บริเวณด้านบนของไหล่ การเคลื่อนหลุดของข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบักส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการรักษาโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการแยกระหว่างกระดูกในระดับที่ไม่รุนแรงมาก การรักษาโดยไม่ผ่าตัด หรือ การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การดามแขนให้อยู่นิ่ง อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาที่อาจไม่ดีนักหากใช้ในการรักษาการเคลื่อนหลุดของข้อต่อที่มีอาการรุนแรง การรักษาด้วยการผ่าตัดช่วยทำให้ข้อกลับไปอยู่ที่จุดเดิมและซ่อมแซมหรือสร้างเอ็นยึดระหว่างกระดูกขึ้นมาใหม่
ผลลัพธ์ของการค้นหา
เราทำการสืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์จนถึงเดือนมิถุนายน 2019 และได้รวมผลการศึกษาของงานวิจัยเชิงทดลองจำนวน 6 งานวิจัย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 357 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่เพศชาย เข้ามาในการทบทวนด้วย จากการสืบค้นหลักฐานพบว่า การศึกษาทั้งหมดเป็นการเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดตรึง (โดยใช้สกรู, แผ่นโลหะ, หมุดหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อทำให้ข้อที่เคลื่อนหลุดอยู่กับที่) กับ การรักษาแบบประคับประคอง (การดามด้วยผ้าคล้องแขนโดยใช้หนึ่งในสามประเภทของผ้าคล้องแขนที่มีอยู่ หรืออุปกรณ์ดามที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ) ในการทดลองทั้งหมดนี้ แขนยังได้รับการพยุงในผ้าคล้องแขนหรืออุปกรณ์ที่คล้ายกันหลังการผ่าตัดด้วย งานวิจัยที่กล่าวมานั้น คู่เปรียบเทียบทั้งสองกลุ่มมีการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยการออกกำลังกาย
ผลการศึกษาที่สำคัญ
เราพบว่า การผ่าตัดเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบประคับประคองอาจไม่ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานที่อาศัยข้อไหล่ การกลับไปทำกิจกรรมเดิมก่อนผ่าตัด (เช่น การเล่นกีฬาและการทำงาน) หรือคุณภาพชีวิตในหนึ่งปี เราพบหลักฐานที่ประเมินผลลัพธ์หลังจากที่ได้รับการรักษาหกสัปดาห์ว่า ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองอาจมีผลลัพธ์การรักษาดังที่กล่าวมาดีกว่า โดยพบว่ามีการฟื้นตัวที่เร็วกว่า หลักฐานที่พบยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า มีความแตกต่างระหว่างการผ่าตัด และ การรักษาแบบประคับประคอง ด้านความปวดในช่วงหนึ่งปี ความล้มเหลวในการรักษามักจะส่งผลให้มีการผ่าตัดซ้ำ หรือ ผู้ป่วยรู้สึกไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ของไหล่ การทบทวนวรรณกรรมพบภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นในกลุ่มผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ยึดตรึงหรือการติดเชื้อจากการผ่าตัด ในทางกลับกัน ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มที่รักษาแบบประคับประคอง คือ ส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่สุขสบาย ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่พบจากงานวิจัยจำนวน 6 งานวิจัยมีความหลากหลายแตกต่างกัน และมีแนวโน้มที่ภาวะแทรกซ้อนที่พบจะขึ้นอยู่กับวิธีการของการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดพบได้บ่อยกว่าในงานวิจัยที่ค่อนข้างเก่าแล้ว ซึ่งใช้วิธีการผ่าตัดที่ไม่ค่อยมีการใช้ในปัจจุบัน
คุณภาพของหลักฐาน
ทั้งหกการศึกษามีจุดอ่อนที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผลลัพธ์ เราพิจารณาหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดไม่ว่าจะมีคุณภาพต่ำหรือต่ำมาก
บทสรุป
หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำบ่งชี้ว่าการผ่าตัดอาจจะไม่ให้ประโยชน์ที่เหนือกว่าหลังผ่านไปหนึ่งปีเมื่อเทียบกับการรักษาแบบประคับประคองสำหรับอาการข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบักเคลื่อนหลุดในผู้ใหญ่ การศึกษาที่มีคุณภาพดีในอนาคตอาจช่วยแก้ไขความคลุมเครือและเปลี่ยนข้อสรุปเหล่านี้
มีหลักฐานคุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่า การผ่าตัดรักษาไม่มีประโยชน์เพิ่มเติมในแง่ความสามารถในการทำงานที่อาศัยข้อไหล่ การกลับไปทำกิจกรรมเดิม และคุณภาพชีวิตที่หนึ่งปีเมื่อเทียบกับการรักษาแบบประคับประคอง อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานคุณภาพต่ำที่แสดงให้เห็นว่า คนที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองมีความสามารถในการทำงานที่อาศัยข้อไหลที่ดีกว่าที่หกสัปดาห์เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่รักษาโดยการผ่าตัด มีหลักฐานคุณภาพต่ำมากที่แสดงให้เห็นว่า มีความแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างวิธีการรักษา 2 วิธี ในแง่ความเจ็บปวดที่หนึ่งปี ความล้มเหลวของการรักษาที่มักก่อให้เกิดการผ่าตัดซ้ำ หรือ ความพึงพอใจของผู้ป่วยในเรื่องความสวยงามของแผล แม้ว่าการผ่าตัดอาจส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ แต่มีความหลากหลายมากในแต่ละการทดลองซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับเทคนิคต่าง ๆ เช่นการตรึงด้วย K-wire ซึ่งไม่ค่อยมีผู้ใช้ในปัจจุบัน ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละผลลัพธ์ของการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการผ่าตัด ได้แก่ การติดเชื้อของบาดแผล หรือ การแยกของแผล และ ผลแทรกซ้อนจากอุปกรณ์ผ่าตัด กับความเสี่ยงที่จะเกิดผลการรักษาที่ไม่พึงประสงค์จากการรักษาแบบประคับประคอง เช่น อาการที่ยังเหลืออยู่ หรือ ความไม่สุขสบาย หรือ ทั้งสองอย่าง
มีความจำเป็นที่จะต้องมีการทดลองแบบสุ่มที่มีจำนวนขนาดตัวอย่างที่เพียงพอ มีคุณภาพที่ดี และมีการรายงานที่ดี ที่ศึกษาเปรียบเทียบวิธีการผ่าตัดที่ใช้ในปัจจุบันกับการรักษาแบบประคับประคองสำหรับการรักษาการบาดเจ็บซึ่งผู้วิจัยต้องกำหนดคำนิยามของการบาดเจ็บเอาไว้อย่างชัดเจน
ข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบัก (acromioclavicular joint) เคลื่อนหลุดเป็นหนึ่งในการบาดเจ็บของไหล่ที่พบมากที่สุดในคนที่เล่นกีฬา ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าควรทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขอาการนี้ด้วยวิธีใด การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้เป็นการปรับปรุงข้อมูลของการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2010 ให้มีความทันสมัยมากขึ้น
เพื่อประเมินผลกระทบ (ทั้งประโยชน์และอันตราย) ของการผ่าตัดเมื่อเทียบกับการรักษาแบบประคับประคอง (ไม่ผ่าตัด) สำหรับการรักษาข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบักเคลื่อนหลุดในผู้ใหญ่
เราสืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูล Cochrane Bone, Joint and Muscle Trauma Group Specialised Register (ถึงเดือนมิถุนายน 2019), the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (the Cochrane Library 2019, Issue 6), MEDLINE (1946 ถึงเดือนมิถุนายน 2019), Embase (1980 ถึงเดือนมิถุนายน 2019), and LILACS (1982 ถึงเดือนมิถุนายน 2019) นอกจากนี้ยังได้ทำการสืบค้นหลักฐานจากการขึ้นทะเบียนของงานวิจัยเชิงทดลองและรายการอ้างอิงของบทความ ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดด้านภาษาหรือสถานะการตีพิมพ์ในการสืบค้นหลักฐาน
เรารวบรวมงานวิจัยเชิงทดลองที่มีการสุ่มและไม่มีการสุ่ม (quasi) ให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับสิ่งทดลอง ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เปรียบเทียบการผ่าตัดกับการรักษาแบบประคับประคองในการรักษาข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบักเคลื่อนหลุดในผู้ใหญ่
ผู้ทบทวนอย่างน้อย 2 คน ทำการคัดกรองและคัดเลือกงานวิจัย รวมถึงประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติของงานวิจัย และสกัดข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน เรารวมข้อมูลที่เหมาะสมและใช้ GRADE เพื่อประเมินคุณภาพของหลักฐานในแต่ละผลลัพธ์ของการทดลอง
เราคัดเลือกงานวิจัยเชิงทดลองที่มีการสุ่มจำนวน 5 การทดลองและงานวิจัยเชิงทดลองที่ไม่มีการสุ่มจำนวน 1 การทดลอง จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาของงานวิจัยที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกทั้งหมดมีจำนวน 357 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและเป็นผู้ชายที่มีอาการข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบักเคลื่อนหลุดแบบเฉียบพลัน ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของข้อค้นพบจากงานวิจัยที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเนื่องจากการมีความเสี่ยงในการเกิดอคติอย่างสูงในด้านการออกแบบงานวิจัย และการขาดการปกปิดอย่างสม่ำเสมอ อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรึงข้อต่อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบัก ได้แก่ การใช้แผ่นโลหะแบบตะขอ (Hook plate), วัสดุที่ร้อยแขวนผ่านรูที่ทำขึ้นเพื่อยึดตรึง, สกรู, หมุด หรือลวด (ปกติเป็นแบบเกลียว) เปรียบเทียบกับการใช้ผ้าคล้องแขนหรืออุปกรณ์ที่คล้ายกัน ในทุกการวิจัยพบว่า หลังการผ่าตัดแล้ว แขนข้างที่ถูกผ่าก็ได้รับการพยุงด้วยผ้าคล้องแขนหรืออุปกรณ์ที่คล้ายกันหลังการผ่าตัด มีการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยการออกกำลังกายที่เหมือนกันทั้งสองกลุ่ม เราปรับลดระดับของหลักฐานลงอย่างน้อยสองระดับในทุกผลลัพธ์ สำหรับความเสี่ยงในการเกิดอคติขั้นร้ายแรงในเรื่องการปกปิดและข้อค้นพบที่ยังไม่ชัดเจน
หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำจากงานวิจัยจำนวน 2 ชิ้น แสดงให้เห็นว่า ยังไม่มีหลักฐานที่จะยืนยันถึงความแตกต่างระหว่างคู่เปรียบเทียบในแง่ของความสามารถในการทำงานที่อาศัยข้อไหล่ในหนึ่งปี ซึ่งประเมินโดยใช้แบบสอบถาม Disability of the Arm,Shoulder, and Hand (DASH) (0 (สามารถทำงานได้เป็นอย่างดี) ถึง 100 (ขาดความสามารถในการทำงาน)) ซึ่งพบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนของแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน 0.73 คะแนน, 95% CI อยู่ระหว่าง -2.70 ถึง 4.16; จำนวนตัวอย่าง 112 คน ผลลัพธ์เหล่านี้ได้ผลสอดคล้องกับการวัดความสามารถในการทำงานด้วยวิธีการประเมินแบบอื่น ๆ ที่ติดตามผลจนถึงหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น ซึ่งรวมถึงผลจากงานวิจัยจำนวน 3 งานวิจัย ซึ่งใช้เครื่องมือประเมินคะแนนความสามารถที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำรายงานว่า การรักษาแบบประคับประคองอาจให้ผลการรักษาที่ดีหลังได้รับการรักษาไปแล้ว 6 สัปดาห์ ซึ่งประเมินได้ว่ามีการฟื้นตัวที่เร็วกว่า หลักฐานคุณภาพต่ำมากจากงานวิจัยจำนวน 1 งานวิจัย พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างคู่เปรียบเทียบในเรื่องอาการปวดที่หนึ่งปี: อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.32, 95% CI 0.54 ถึง 3.19; ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 79 คน มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากรายงานว่า การผ่าตัดอาจไม่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดความล้มเหลวในการรักษา ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดการผ่าตัดซ้ำได้ โดยมีจำนวนคนที่เกิดความล้มเหลวในการรักษาของแต่ละกลุ่มดังนี้ 14 จากทั้งหมด 168 คน เปรียบเทียบกับ 15 จากทั้งหมด 174 คน; RR 0.99, 95% CI 0.51 ถึง 1.94; ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 342 คน, การศึกษาจำนวน 6 การศึกษา สาเหตุหลักของความล้มเหลวในการรักษาคือภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดปลูกถ่ายในกลุ่มที่รักษาด้วยการผ่าตัด และอาการที่ยังเหลืออยู่ซึ่งส่วนใหญ่คือความรู้สึกไม่สุขสบายเนื่องจากการเคลื่อนหลุดของข้อระหว่างปลายกระดูกไหปลาร้ากับกระดูกสะบักในกลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง
มีหลักฐานคุณภาพต่ำจากการศึกษา 2 การศึกษาว่า อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในการกลับไปทำกิจกรรมเดิมก่อนการผ่าตัด (เช่น การเล่นกีฬา หรือ การทำงาน) ที่หนึ่งปี: โดยมีจำนวนคนที่สามารถกลับไปทำกิจกรรมเดิมก่อนการผ่าตัดดังนี้ 57 จากทั้งหมด 67 คน เปรียบเทียบกับ 62 จากทั้งหมด 70 คน; RR 0.96, 95% CI 0.85 ถึง 1.10; ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 137 คน, การศึกษาจำนวน2 การศึกษา ผลการศึกษาจากหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำจำนวน 4 การศึกษา ซึ่งให้ผลสอดคล้องกัน แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่เร็วกว่าในผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคองเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับการผ่าตัด มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำพบว่ามีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางคลินิกระหว่างกลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบค่าคะแนนคุณภาพชีวิตที่ 1 ปี ซึ่งประเมินโดยใช้แบบประเมินจำนวน 36 ข้อ และ 12 ข้อ ของ Short Form Health Survey (SF-36 หรือ SF-12) (ซึ่งมีค่าคะแนน 0 ถึง 100 คะแนน โดยที่คะแนนเท่ากับ 100 หมายถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด) ทั้งในองค์ประกอบทางกายภาพ (ผลต่างค่าเฉลี่ย (MD) เท่ากับ −0.63 คะแนน, 95% CI −2.63 ถึง 1.37; ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 122 คน, การศึกษาจำนวน 2 การศึกษา) หรือองค์ประกอบทางจิตใจ (ผลต่างค่าเฉลี่ย (MD) เท่ากับ 0.47 คะแนน, 95% CI −1.51 ถึง 2.44; ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 122 คน) มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากและมีความแตกต่างกันทางคลินิกในแง่การเกิดความเสี่ยงของผลลัพธ์การรักษาที่ไม่พึงประสงค์หลังการผ่าตัดที่มากขึ้น: 45/168 เปรียบเทียบกับ 16/174; RR 2.82, 95% CI 1.65 ถึง 4.82; ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 342 คน, การศึกษาจำนวน 6 การศึกษา; I2 = 48% ผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ภาวะแทรกซ้อนจากอุปกรณ์ที่ใช้ยึดตรึง หรือ ความรู้สึกไม่สบาย (18.5%) และการติดเชื้อ (8.7%) ในกลุ่มที่รับการผ่าตัดและอาการที่เหลืออยู่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความไม่สุขสบาย (7.1%) ในกลุ่มที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในการศึกษาเก่า ๆ ที่ทำการศึกษาโดยใช้อุปกรณ์ที่ถือว่าล้าสมัยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หลักฐานคุณภาพต่ำมากจากการศึกษาจำนวน 1 การศึกษา (ผู้เข้าร่วมวิจัย 70 คน) รายงานว่า น่าสงสัยว่ามีความแตกต่างระหว่างกลุ่มเกี่ยวกับความไม่พอใจของผู้ป่วยเรื่องความสวยงามของแผล
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักฐานที่เรื่องของความสามารถในการทำงานที่อาศัยข้อไหล่ เช่น การกลับไปทำกิจกรรมเดิมก่อนผ่าตัด และคุณภาพชีวิต ที่มาจากการศึกษาที่พึ่งมีการเผยแพร่จำนวน 2 การศึกษา ซึ่งเปรียบเทียบผลของอุปกรณ์ที่ใช้ในปัจจุบันในกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาซึ่งมีการกำหนดคำนิยามไว้อย่างชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชากรโดยทั่วไปซึ่งมีความไม่ชัดเจนว่าจะเลือกรับการรักษาโดยการผ่าตัดมากกว่ มีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการวิเคราะห์กลุ่มย่อยเพื่อทดสอบว่าประเภทของการบาดเจ็บเกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของเอ็นหรือไม่
แปลโดย พญ. วิชชาภรณ์ วิทยาคม ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 24 มิถุนายน 2020