โยคะเป็นทางเลือกในการรักษาเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด

ความเป็นมา

โรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อย ซึ่งมีผลกระทบต่อคนประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก โยคะซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก มีศักยภาพในการบรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคหอบหืดได้ อย่างไรก็ตามผลของโยคะสำหรับโรคหอบหืดจำเป็นต้องได้รับการยืนยันเนื่องจากผลการศึกษาที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกัน

ลักษณะของการศึกษา

เราได้ทบทวนการศึกษา 15 รายการที่เปรียบเทียบผลของโยคะกับการรักษาตามปกติหรือโยคะแบบ 'หลอก' ในผู้เข้าร่วม 1,048 คน

ผลการศึกษา

เราพบว่าโยคะอาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและลดอาการหอบหืดได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามความมั่นใจในผลลัพธ์ของเราอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่มีข้อบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน ผลของโยคะต่อการทำงานของปอดไม่สอดคล้องกัน และเราพบหลักฐานเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่าโยคะสามารถลดการใช้ยาได้ ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการมีจำกัดมาก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินสิ่งนี้ จำเป็นต้องมีการศึกษาคุณภาพสูงที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมจำนวนมากเพื่อให้สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลของโยคะสำหรับโรคหอบหืด

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราพบหลักฐานคุณภาพปานกลางว่าโยคะอาจนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตและอาการดีขึ้นเล็กน้อย ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเกี่ยวกับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากโยคะและผลกระทบต่อการทำงานของปอด และการใช้ยา จำเป็นต้องมี RCT ที่มีขนาดตัวอย่างมากและมีระเบียบวิธีและคุณภาพการรายงานสูงเพื่อยืนยันผลของโยคะสำหรับโรคหอบหืด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคหอบหืดเป็นโรคอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อย ซึ่งมีผลกระทบต่อคนประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก ในฐานะที่เป็นการบำบัดแบบองค์รวม โยคะมีศักยภาพในการบรรเทาความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่เป็นโรคหอบหืด และความนิยมได้ขยายไปทั่วโลก มีการทดลองทางคลินิกหลายครั้ง เพื่อประเมินผลของการฝึกโยคะโดยให้ผลที่ไม่สอดคล้องกัน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของโยคะในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane Airways Group Register of Trials อย่างเป็นระบบซึ่งได้มาจากการค้นหาฐานข้อมูลบรรณานุกรมอย่างเป็นระบบรวมถึง Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, EMBASE, CINAHL, AMED และ PsycINFO และการค้นหาวารสารเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและการประชุมด้วยมือและบทคัดย่อของการประชุม เราสืบค้น PEDro ด้วย เราค้นหา ClinicalTrials.gov และ the WHO ICTRP search portal. เราค้นหาฐานข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2015 และไม่ได้ใช้การจำกัดภาษาในการเผยแพร่ เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เข้าเกณฑ์และการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม เราพยายามติดต่อผู้วิจัยของการศึกษาที่เข้าเกณฑ์และผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้เพื่อหาการศึกษาอื่น ๆ ที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCTs) ซึ่งเปรียบเทียบการฝึกโยคะกับการดูแลตามปกติ (หรือไม่มีการดูแล) หรือวิธีการหลอก ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด และรายงานผลลัพธ์อย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อไปนี้: คุณภาพชีวิต คะแนนอาการของโรคหอบหืด การควบคุมโรคหอบหืด การวัดการทำงานของปอด การใช้ยารักษาโรคหอบหืด และอาการไม่พึงประสงค์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราดึงข้อมูลบรรณานุกรม ลักษณะของผู้เข้าร่วม ลักษณะของวิธีการและการควบคุม ลักษณะของวิธีการวิจัยและผลลัพธ์สำหรับผลที่เราสนใจจากการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ สำหรับผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องเราใช้ค่าเฉลี่ยความแตกต่าง (MD) กับช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) เพื่อแสดงถึงผลการรักษาหากผลลัพธ์ถูกวัดโดยมาตราส่วนเดียวกันในการศึกษาต่างๆ อีกทางเลือกหนึ่ง หากผลลัพธ์ถูกวัดโดยสเกลที่แตกต่างกันในการศึกษาเราใช้ความแตกต่างค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) กับ 95% CI สำหรับผลลัพธ์ที่แบบ dichotomous เราใช้ risk ratio (RR) กับ 95% CI เพื่อวัดผลการรักษา เราทำ meta-analysis ด้วย Review Manager 5.3 เราใช้ fixed-effect model เพื่อรวมข้อมูล เว้นแต่จะมีความแตกต่างกันมากระหว่างการศึกษา ซึ่งในกรณีนี้เราใช้ random-effects mode แทน สำหรับผลลัพธ์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สามารถรวมข้อมูลเชิงปริมาณได้ เราวิเคราะห์เชิงพรรณนาและนำเสนอข้อมูลสาระสำคัญโดยสรุป (narrative summary)

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 15 รายการโดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1048 คน การทดลองส่วนใหญ่ดำเนินการในอินเดีย ตามด้วยยุโรปและสหรัฐอเมริกา ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ทั้งสองเพศ ที่มีอาการหอบหืดเล็กน้อยถึงปานกลางเป็นเวลา 6 เดือนถึงมากกว่า 23 ปี การศึกษา 5 รายการรวมถึงการหายใจด้วยโยคะเพียงอย่างเดียวในขณะที่การศึกษาอื่น ๆ ประเมินวิธีการของโยคะซึ่งรวมถึงการหายใจ ท่าทาง และการทำสมาธิ วิธีการใช้เวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 54 เดือน เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนในการศึกษาส่วนใหญ่ ความเสี่ยงของอคติอยู่ในระดับต่ำในทุกโดเมนในการศึกษา 1 รายการ และไม่ชัดเจนหรือสูงในอย่างน้อยหนึ่งโดเมนสำหรับส่วนที่เหลือ

มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าโยคะอาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ (คะแนน MD in Asthma Quality of Life Questionnaire (AQLQ) ต่อข้อ 0.57 หน่วยในมาตรวัด 7 จุด 95% CI 0.37 ถึง 0.77 การศึกษา 5 รายการผู้เข้าร่วม 375 คน) อาการดีขึ้น (SMD 0.37, 95% CI 0.09 ถึง 0.65; 3 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 243 คน) และลดการใช้ยา (RR 5.35, 95% CI 1.29 ถึง 22.11; 2 การศึกษา) ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด คะแนน MD สำหรับ AQLQ เกินความแตกต่างที่สำคัญทางคลินิกขั้นต่ำ (MCID) ที่ 0.5 แต่การเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยเกิน MCID สำหรับอาการหอบหืดนั้นไม่แน่นอนเนื่องจากไม่มี MCID ที่กำหนดไว้ในคะแนนความรุนแรงที่ใช้ในการศึกษาที่รวมอยู่ ผลของโยคะต่อการเปลี่ยนแปลงของ forced expiratory volume in one second จากระดับพื้นฐาน (MD 0.04 ลิตร, 95% CI -0.10 ถึง 0.19; 7 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 340 คน; I 2 = 68%) ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษา 2 รายการแสดงให้เห็นว่าการควบคุมโรคหอบหืดดีขึ้น แต่เนื่องจากความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญมาก (I 2 = 98%) เราจึงไม่ได้รวมข้อมูล ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับโยคะ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์นี้มีจำกัด

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 10 เมษายน 2021

Tools
Information