การจำกัดปริมาณสารน้ำที่ให้ทางการกินหรือทางหลอดเลือดดำในทารกแรกเกิดที่มีอาการหายใจลำบาก (ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด)

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การจำกัดปริมาณสารน้ำ (เช่น สารน้ำที่ให้ทางการกินหรือทางหลอดเลือดดำ) ในทารกที่หายใจเร็วตั้งแต่แรกเกิดเนื่องจากกลไกการระบายของเหลวในปอดล่าช้า (ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด หรือ "transient tachypnea of the newborn") สามารถลดระยะเวลาที่ต้องใช้ออกซิเจนหรือไม่

ความเป็นมา

ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด (transient tachypnea of the newborn; TTN) จะมีอาการหายใจเร็ว (มากกว่า 60 ครั้งต่อนาที) ร่วมกับอาการแสดงของการหายใจลำบาก ซึ่งมักพบภายในสองชั่วโมงแรกหลังคลอดของทารกที่คลอดเมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ขึ้นไป แม้ว่าภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดมักจะดีขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการหลอดลมตีบ (wheezing syndromes) ในวัยเด็กตอนปลาย ที่มาของการจำกัดปริมาณสารน้ำในภาวะนี้เพื่อให้ลดของเหลวในถุงลมปอดและช่วยให้การหายใจดีขึ้น ซึ่งในวันแรกๆ หลังคลอด ทารกกลุ่มนี้อาจได้รับสารน้ำทางการกิน (น้ำนม colostrum หรือนมชง), ทางสายให้อาหาร (นมหรือสารน้ำที่มีน้ำตาล), หรือทางหลอดเลือดดำ (สารน้ำที่มีน้ำตาล) การทบทวนนี้จึงได้รายงานและวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงหลักฐานที่เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของการจำกัดปริมาณสารน้ำในการดูแลภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

ลักษณะของการศึกษา

ผู้วิจัยได้ค้นหาและรวบรวมการศึกษาได้ 4 รายการ (รวมทารก 317 คน) ที่เปรียบเทียบการจำกัดสารน้ำกับการให้สารน้ำตามปกติ ผู้วิจัยไม่พบการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ดีมีการศึกษาหนึ่งที่กำลังรอการจำแนกประเภท หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2019

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

หลักฐานที่มีอยู่ค่อนข้างน้อยยังไม่สามารถตอบคำถามของผู้วิจัยได้ มีการศึกษาขนาดเล็ก 2 ฉบับ (ทารก 172 คน) ที่รายงานระยะเวลาการให้ออกซิเจนซึ่งเป็นผลลัพธ์หลักของการทบทวนนี้ แต่ผู้วิจัยยังไม่มั่นใจว่าการจำกัดสารน้ำจะลดหรือเพิ่มระยะเวลาในการรักษาหรือไม่, มีการศึกษา 3 ฉบับที่รายงานอุบัติการณ์ของการใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ผู้วิจัยยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการจำกัดสารน้ำและการให้สารน้ำตามปกติ, มีรายงานว่าระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นลง 22 ชั่วโมงในทารกที่มีการจำกัดสารน้ำ อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้มาจากการศึกษาเพียงฉบับเดียว (ทารก 80 คน) ที่มีคุณภาพของระเบียบวิธีวิจัยต่ำและผู้วิจัยยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับข้อมูลนี้

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมากสำหรับการวิเคราะห์ทั้งหมด เนื่องจากมีการศึกษาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ศึกษาวิธีการรักษานี้, มีจำนวนทารกเพียงไม่กี่คนที่รวมอยู่ในการศึกษา, และรูปแบบการศึกษาทั้งหมดสามารถวางแผนให้ดีกว่านี้ได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงยังไม่มั่นใจว่าการจำกัดปริมาณสารน้ำจะมีผลดีต่อทารกที่มีภาวะ TTN หรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ผู้วิจัยพบหลักฐานจำนวนน้อยที่ศึกษาข้อดีข้อเสียของการจำกัดปริมาณสารน้ำในภาวะ TTN และจากหลักฐานเท่าที่มี่ซึ่งมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการจำกัดสารน้ำนั้นปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพในภาวะ TTN หรือไม่ อย่างไรก็ดี ด้วยความเรียบง่ายของวิธีการรักษา จึงควรมีการทดลองที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อศึกษาผลลัพธ์นี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด (transient tachypnea of the newborn; TTN) เกิดจากการระบายของเหลวในปอดที่ล่าช้าหลังคลอด โดยทั่วไปมักมีอาการหายใจเร็วร่วมกับหายใจลำบาก และเกิดขึ้นภายในสองชั่วโมงแรกหลังคลอดในทารกคลอดครบกำหนดหรือก่อนกำหนดเล็กน้อย (late preterm) แม้ว่าภาวะนี้มักดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องการการรักษา แต่การย้ายทารกเข้าไปดูแลในหน่วยทารกแรกเกิดมักจำเป็นสำหรับการติดตามและให้การช่วยเหลือการหายใจอย่างใกล้ชิด การจำกัดปริมาณสารน้ำที่ให้กับทารกกลุ่มนี้ในวันแรกๆ อาจช่วยให้การระบายของเหลวในปอดดีขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยลดการออกแรงในการหายใจ, ลดอาการหายใจลำบาก, และอาจลดระยะเวลาที่หายใจเร็วได้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการจำกัดปริมาณสารน้ำเมื่อเทียบกับการให้สารน้ำตามปกติ ในการลดระยะเวลาการให้ออกซิเจนและความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบ noninvasive หรือ invasive ในทารกแรกเกิดที่มี TTN

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยใช้วิธีการสืบค้นตามมาตรฐานของ Cochrane Neonatal เพื่อค้นหาใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2019, Issue 12), ใน Cochrane Library; Ovid MEDLINE และการศึกษาที่เผยแพร่ออนไลน์, In-Process & Other Non-Indexed Citations, Daily and Versions(R); และ the Cumulative Index to Nursing and Allied Health Literatue (CINAHL) ในวันที่ 6 ธันวาคม 2019 นอกจากนี้ยังสืบค้นฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิก และรายการอ้างอิงของบทความที่คัดเลือกเพื่อหาการทดลองแบบ randomized controlled trials และ quasi-randomized trials

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยรวบรวมการทดลองแบบ randomized controlled trials (RCTs), quasi-RCTs, และ cluster trials ที่ศึกษาเกี่ยวกับการจำกัดสารน้ำในทารกแรกเกิดที่คลอดครบกำหนดหรือก่อนกำหนดที่มีภาวะ TTN หรือการปรับตัวช้าในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ในแต่ละการศึกษาที่ถูกคัดเลือก ผู้วิจัยสองคนได้ทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกันในการดึงข้อมูล (เช่น จำนวนผู้เข้าร่วม, น้ำหนักแรกเกิด, อายุครรภ์, ระยะเวลาที่ให้ออกซิเจน, ความต้องการที่ต้องใช้ความดันทางเดินหายใจเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง [continuous positive airway pressure; CPAP], ความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ, ระยะเวลาในการใช้เครื่องช่วยหายใจ) และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ (เช่น ความเพียงพอในการสุ่มตัวอย่าง, การอำพราง, ความสมบูรณ์ของการติดตามผล) ผลลัพธ์หลักที่พิจารณาในการทบทวนนี้คือ ระยะเวลาในการให้ออกซิเจนเสริมในหน่วยชั่วโมงหรือวัน และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

มีการศึกษา 4 ฉบับซึ่งมีทารก 317 คนที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือก มี 3 การศึกษาที่รวมเอาทารกคลอดก่อนกำหนดเล็กน้อยและทารกคลอดครบกำหนดที่มี TTN และอีกหนึ่งการศึกษาที่รวมเอาเฉพาะทารกคลอดครบกำหนดที่มี TTN, การศึกษาเหล่านี้มีความหลากหลายของวิธีการช่วยหายใจทารกในช่วงเริ่มคัดเข้าสู่การศึกษา เช่น หายใจอากาศปกติ, ให้ออกซิเจน หรือให้ CPAP ทางจมูก, ทารกในกลุ่มจำกัดสารน้ำจะได้รับสารน้ำน้อยกว่ากลุ่มควบคุม 15-20 มล./กก./วัน แต่ด้วยระยะเวลาที่แตกต่างกันไปตามแต่ละการศึกษา มีการศึกษา 2 ฉบับที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมี selection bias และ 3 ใน 4 มีความเสี่ยงสูงที่จะมี performance bias มีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่มีความเสี่ยงต่ำใน detection bias ส่วนอีก 2 ฉบับมีความเสี่ยงสูงและอีกหนึ่งฉบับมีความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจน

ความน่าเชื่อถือของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำมากเนื่องจากความไม่แม่นยำของผลลัพธ์และความเสี่ยงในการเกิดอคติที่ยังไม่ชัดเจน มีเพียง 2 การศึกษาที่รายงานผลลัพธ์หลักเกี่ยวกับระยะเวลาที่ให้ออกซิเจนเสริม ผู้วิจัยจึงยังไม่แน่ใจว่าการจำกัดสารน้ำจะลดหรือเพิ่มระยะเวลาที่ให้ออกซิเจนเสริม (mean difference [MD] -12.95 ชั่วโมง, 95% confidence interval [CI] -32.82 ถึง 6.92; I² = 98%; ทารก 172 คน) ในทำนองเดียวกัน ยังมีความไม่แน่นอนสำหรับผลลัพธ์รองต่างๆ ได้แก่ ภาวะโซเดียมในเลือดสูง (โซเดียมในเลือด > 145 mEq/L, risk ratio [RR] 4.0, 95% CI 0.46 ถึง 34.54; ไม่สามารถทดสอบ heterogeneity ได้; 1 การศึกษา, ทารก 100 คน), ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (ระดับน้ำตาลในเลือด < 40 mg/dL, RR 1.0, 95% CI 0.15 ถึง 6.82; ไม่สามารถทดสอบ heterogeneity ได้; 2 การศึกษา, ทารก 164 คน), การช่วยหายใจทางท่อช่วยหายใจ (RR 0.73, 95% CI 0.24 ถึง 2.23; I² = 0%; 3 การศึกษา,ทารก 242 คน), ความจำเป็นที่ต้องช่วยหายใจแบบ noninvasive (RR 0.40, 95% CI 0.14 ถึง 1.17; ไม่สามารถทดสอบ heterogeneity ได้; 2 การศึกษา, ทารก 150 คน), ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล (MD -0.92 วัน, 95% CI -1.53 ถึง -0.31; ไม่สามารถทดสอบ heterogeneity ได้; 1 การศึกษา, ทารก 80 คน), และน้ำหนักที่ลดลงสะสมที่อายุ 72 ชั่วโมง (%) (MD 0.24, 95% CI -1.60 ถึง 2.08; I² = 89%; 2 การศึกษา,ทารก 156 คน) ผู้วิจัยไม่พบการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่ อย่างไรก็ตามยังมีหนึ่งการศึกษาที่กำลังรอการจำแนกประเภท

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ แปลเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2021

Tools
Information