ประเด็นที่น่าสนใจ
เทคโนโลยีที่หลากหลายได้รับการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงผู้ที่เป็นโรคหอบหืดกับบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างการตรวจร่างกายตามปกติ การศึกษาที่ได้ทดสอบกลยุทธ์เหล่านี้พิสูจน์ไม่ได้ว่า 'การติดตามสุขภาพระยะไกล' ส่งผลต่อการควบคุมอาการที่ดีขึ้นหรืออาการกำเริบที่น้อยลง และไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่มันอาจก่อให้เกิดอันตรายโดยไม่ได้ตั้งใจโดยการทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสน้อยที่จะลงมือปฏิบัติเมื่อจำเป็น การติดตามสุขภาพระยะไกลอาจมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยต่อคุณภาพชีวิตและการทำงานของปอด แต่ผลลัพธ์เหล่านี้มีความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง
ที่มาและความสำคัญ
การติดต่อกับแพทย์หรือพยาบาลโรคหอบหืดเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาอาการของโรคหอบหืดและเปลี่ยนยาพ่นหากจำเป็น ปัจจุบันเทคโนโลยีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตถูกใช้สำหรับสภาวะสุขภาพระยะยาวจำนวนมากเพื่อติดตามอาการระหว่างการมาคลินิก สำหรับโรคหอบหืด การทำงานของปอดและอาการหอบหืดอื่นๆ สามารถวัดได้ที่บ้านและส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังแพทย์หรือพยาบาล ซึ่งสามารถตัดสินใจได้ว่าต้องดำเนินการใดๆ ก่อนที่บุคคลนั้นจะถึงกำหนดจะกลับมาที่คลินิกหรือไม่
คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราต้องการทราบว่าการติดตามสุขภาพระยะไกลที่บ้าน รวมถึงการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสามารถเพิ่มประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดหรือไม่ เมื่อเทียบกับการเฝ้าสังเกตตามปกติ
ลักษณะของการศึกษา
เราพบการศึกษา 18 รายการที่มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 2268 คน การศึกษา 12 รายการ ศึกษาในผู้ใหญ่, การศึกษา 5 รายการ ศึกษาในเด็ก และการศึกษาอีก 1 รายการ ศึกษาในบุคคลจากทั้งสองกลุ่มอายุ การศึกษาส่วนใหญ่คัดเลือกผู้ที่เป็นโรคหอบหืดเรื้อรังระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และติดตามพวกเขาเป็นเวลา 3 ถึง 12 เดือน ผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มที่ได้รับหนึ่งในเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อบันทึกและแบ่งปันอาการของพวกเขา (การส่งข้อความ ระบบเว็บ หรือโทรศัพท์) เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ได้รับการดูแลตามปกติหรือกลุ่มควบคุม
ผลลัพธ์ที่สำคัญและคุณภาพของหลักฐาน
เราไม่สามารถบอกได้ว่าคนในกลุ่มการติดตามสุขภาพระยะไกลมีโอกาสสูงหรือต่ำกว่ากลุ่มควบคุมที่จะมีอาการกำเริบซึ่งต้องใช้ยา oral steroids, การไปรักษาที่แผนกฉุกเฉิน หรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล ไม่มีรายงานใดที่อธิบายถึงอันตรายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการติดตามสุขภาพที่บ้าน การศึกษาใช้เทคโนโลยีประเภทต่างๆ มากมาย และเราไม่สามารถบอกได้ว่าบางอย่างดีกว่าแบบอื่นหรือไม่ ความเชื่อมั่นในผลลัพธ์ของเรามีตั้งแต่ปานกลางถึงต่ำมาก ซึ่งหมายความว่าการศึกษาเพิ่มเติมมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์เหล่านี้บางส่วน และอาจอิทธิผลต่อเราที่จะเชื่อพวกเขา
การใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามผู้ป่วยโรคหอบหืดจากบ้านอาจให้ประโยชน์มากกว่าการดูแลตามปกติสำหรับการคุณภาพชีวิตโดยภาพรวม แต่ผลที่ได้ก็น้อย และแต่ละการศึกษาก็ขัดแย้งกัน วิธีการเหล่านี้อาจให้ประโยชน์ต่อการทำงานของปอด แต่ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวนมากออกจากการศึกษา เราจึงไม่แน่ใจนัก
หลักฐานปัจจุบันไม่สนับสนุนการนำไปใช้อย่างแพร่หลายของการติดตามสุขภาพทางไกลพร้อมข้อเสนอแนะของผู้ให้บริการด้านสุขภาพระหว่างการตรวจที่คลินิกโรคหอบหืด การศึกษายังพิสูจน์ไม่ได้ว่ากลยุทธ์การเพิ่มการติดตามสุขภาพทางไกลทำให้ควบคุมอาการได้ดีขึ้นหรือลดความจำเป็นในการใช้สเตียรอยด์ในช่องปากได้เหนือกว่าการดูแลโรคหอบหืดตามปกติ อีกทั้งไม่มีการแยกอันตรายที่ไม่คาดคิดออก นักวิจัยสังเกตเห็นประโยชน์เพียงเล็กน้อยสำหรับคุณภาพชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงของการมีอคติ เนื่องจากการศึกษาไม่ได้ทำการปกปิด (unblinded) ในทำนองเดียวกัน ประโยชน์บางประการสำหรับการทำงานของปอดนั้นยังไม่แน่นอนเนื่องจากอาจมีอคติในการลดลงของจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษา (attrition bias)
การศึกษาเชิงปฏิบัติที่ใหญ่ขึ้นในเด็กและผู้ใหญ่สามารถระบุประโยชน์ในโลกแห่งความเป็นจริงของวิธีการเหล่านี้ได้ดีขึ้นในการป้องกันอาการกำเริบและหลีกเลี่ยงอันตราย เป็นการยากที่จะสรุปผลลัพธ์จากการทบทวนวรรณกรรมนี้ เพราะประโยชน์อาจอธิบายได้อย่างน้อยบางส่วนในการเพิ่มความสนใจของผู้เข้าร่วมการศึกษาจากการมีส่วนร่วมในการทดลองทางคลินิก การศึกษาเชิงคุณภาพสามารถยืนยันการวิจัยในอนาคตได้โดยเน้นที่ความต้องการของผู้ป่วยและผู้ให้บริการ หรือโดยการระบุกลุ่มย่อยของผู้ป่วยที่มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด เช่น ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดบ่อยครั้ง
โรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้ทางเดินหายใจตีบตันจากการหดเกร็งของหลอดลม (bronchoconstriction) เกิดการอักเสบและผลิตเมือก โรคหอบหืดยังคงมีความเกี่ยวข้องกับการป่วยและการตายสำคัญที่หลีกเลี่ยงได้ การอำนวยความสะดวกในการดูแลตนเองของโรคหอบหืดโดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมอาการและป้องกันการกำเริบ
ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพื่อวัดการทำงานของปอดและอาการหอบหืดที่บ้านได้ ผู้ป่วยสามารถแบ่งปันข้อมูลนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ให้บริการสุขภาพ ซึ่งสามารถให้ข้อเสนอแนะระหว่างการเข้ารับการตรวจที่คลินิกได้ เทคโนโลยีสามารถนำมาใช้ในรูปแบบนี้เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพและป้องกันความจำเป็นในการรักษาฉุกเฉินสำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและภาวะสุขภาพอื่น ๆ ในระยะยาว
เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการติดตามสุขภาพทางไกลที่บ้านกับการให้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระหว่างการตรวจรักษาที่คลินิกเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ
เราสืบค้นการทดลองจาก Cochrane Airways Review Group Specialized Register (CAGR) จนถึงเดือนพฤษภาคม 2016 นอกจากนี้เรายังสืบค้น www.clinicaltrials.gov the World Health Organization (WHO) trials portal และรายการอ้างอิงของการทบทวนวรรณกรรมอื่น ๆ และเราติดต่อผู้เขียนการทดลองเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
เรารวบรวมนำเข้าการศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมแบบคู่ขนาน (RCTs) ในผู้ใหญ่หรือเด็กที่เป็นโรคหอบหืด โดยใช้เทคโนโลยีทุกรูปแบบในการวัดและแบ่งปันข้อมูลการเฝ้าติดตามโรคหอบหืดกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพระหว่างการเข้ารับการตรวจที่คลินิกเปรียบเทียบกับการเฝ้าสังเกตแบบอื่นหรือการดูแลตามปกติ เราคัดการทดลองที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเฝ้าติดตามโดยไม่มีข้อมูลจากแพทย์หรือพยาบาลออก เรานำเข้าการศึกษาที่รายงานเป็นบทความฉบับเต็ม การศึกษาที่ตีพิมพ์เป็นเฉพาะบทคัดย่อ และข้อมูลที่ไม่ได้เผยแพร่
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนคัดกรองการค้นหาและดึงข้อมูลความเสี่ยงของการมีอคติ และข้อมูลตัวเลขโดยอิสระต่อกัน แก้ไขข้อขัดแย้งด้วยความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่
เราวิเคราะห์ข้อมูล dichotomous ด้วยค่า odds ratios (ORs) โดยที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาเป็นหน่วยการวิเคราะห์ (unit of analysis) เราวิเคราะห์ข้อมูลต่อเนื่องด้วยค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (mean differences: MDs) โดยใช้ random-effects models เราให้คะแนนหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดโดยใช้แนวทาง GRADE (Grades of Recommendation, Assessment, Development and Evaluation Working Group)
เราพบการศึกษา 18 รายการที่มีผู้เข้าร่วมโครงการ 2268 คน มีการศึกษา 12 รายการศึกษาในผู้ใหญ่, การศึกษา 5 รายการ ศึกษาในเด็ก และการศึกษาอีก 1 รายการ ศึกษาในบุคคลจากทั้งสองกลุ่มอายุ การศึกษาส่วนใหญ่คัดเลือกผู้ที่เป็นโรคหอบหืดเรื้อรังระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และติดตามพวกเขาเป็นเวลา 3 ถึง 12 เดือน ผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มที่ได้รับหนึ่งในเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อบันทึกและแบ่งปันอาการของพวกเขา (การส่งข้อความ ระบบเว็บ หรือโทรศัพท์) เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ได้รับการดูแลตามปกติหรือกลุ่มควบคุม
หลักฐานจากการศึกษาเหล่านี้ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการติดตามสุขภาพทางไกลพร้อมคำแนะนำจากจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เพิ่มหรือลดโอกาสของการกำเริบที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ในช่องปากหรือไม่ (OR 0.93, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.60 ถึง 1.44; ผู้เข้าร่วมโครงการ 466 คน; 4 การศึกษา), การเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉิน (OR 0.75, 95% CI 0.36 ถึง 1.58; ผู้เข้าร่วมโครงการ 1018 คน; 8 การศึกษา) หรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล (OR 0.56, 95% CI 0.21 ถึง 1.49; ผู้เข้าร่วมโครงการ 1042 คน; 10 การศึกษา) เปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ ความมั่นใจของเราถูกจำกัด เนื่องจากความไม่แม่นยำในทั้ง 3 ผลลัพธ์หลัก คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก ไม่มีการศึกษาใดที่บันทึกเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงแยกจากอาการกำเริบของโรคหอบหืด
หลักฐานสำหรับการวัดการควบคุมโรคหอบหืดไม่ชัดเจนและไม่สอดคล้องกัน หลักฐานเผยให้เห็นประโยชน์ที่เป็นไปได้มากกว่าการดูแลตามปกติสำหรับด้านคุณภาพชีวิต (MD 0.23, 95% CI 0.01 ถึง 0.45; ผู้เข้าร่วมโครงการ 796 คน; 6 การศึกษา; I2 = 54%) แต่มีประสิทธิผลเพียงเล็กน้อย และเป็นผลการศึกษาที่หลากหลาย วิธีการติดตามสุขภาพทางไกลอาจให้ประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการวัดการทำงานของปอด 2 วิธี
แปลโดย นายอนุวัตน์ เพ็งพุฒ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ 17 กรกฎาคม 2021