ความเป็นมา
การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารเกี่ยวข้องกับการให้สารอาหารเหลวทางท่อเข้าสู่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กโดยตรง แนวทางปฏิบัติทางคลินิกในปัจจุบัน แนะนำให้มีการเริ่มให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากได้รับบาดเจ็บหรือเข้าห้องผู้ป่วยหนัก (ICU) วิธีการนี้ถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญในการจัดการผู้ป่วยหนักและอาจช่วยสนับสนุนการทำงานของลำไส้ หากไม่สามารถให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารได้อย่างเต็มที่สามารถให้สารอาหารผ่านทางสายสวนเข้าสู่หลอดเลือดดำเรียกว่าอาหารเสริมทางหลอดเลือด (supplemental parenteral nutrition: SPN) จำเป็นต้องมีหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) เพื่อสนับสนุนคำแนะนำแนวทางเหล่านี้
คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
ผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยไอซียูซึ่งได้รับสารอาหารผ่านระบบทางเดินอาหารภายใน 48 ชั่วโมงมีผลการรักษาทางคลินิกที่ดีกว่าผู้ที่ได้รับสารอาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้า (หลังจาก 48 ชั่วโมง หลังการบาดเจ็บครั้งแรก หรือการเข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วย ICU) และ SPN เพิ่มเติมมีประโยชน์เพิ่มเติมหรือไม่?
ลักษณะของการศึกษา
เราสืบค้นวรรณกรรมจนถึงเดือนเมษายน 2019 สำหรับ RCTs ที่เปรียบเทียบการให้สารอาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วกับแบบช้า โดยมีหรือไม่มี SPN ในผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก การศึกษาแบบ RCTs หากได้รับการออกแบบและดำเนินการอย่างเหมาะสมจะเป็นระเบียบวิธีที่มีมาตรฐานสูงสุดในการวิจัยทางคลินิก เราได้รวม RCTs 7 รายการ กับผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 345 คน ผู้เข้าร่วมได้รับการรักษาในห้องไอซียูนานมากกว่า 72 ชั่วโมงด้วยการวินิจฉัยทางอายุรกรรม ศัลยกรรม หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การทดลอง 6 รายการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 318 คน เปรียบเทียบการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วกับการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้า การทดลอง 1 รายการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 27 คน เปรียบเทียบการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วร่วมกับ SPN เปรียบเทียบการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้าร่วมกับ SPN
ผลลัพธ์ที่สำคัญ
โดยรวมแล้ว ผลลัพธ์ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนในจำนวนผู้เสียชีวิตภายใน 30 วัน (การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 38 คน) การไม่สามารถรับอาหารได้ (การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 59 คน) หรือการเกิดโรคปอดบวม (การศึกษา 4 รายการ, ผู้เข้าร่วม 192 คน) ระหว่างผู้ที่ได้รับอาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วกับการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้า เราประเมินว่าหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก ซึ่งหมายความว่าการค้นพบนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีการศึกษาเพิ่มเติม
ในการทดลองขนาดเล็ก 1 รายการ ที่ให้ SPN ด้วย จำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ และระยะเวลาของการใช้เครื่องช่วยหายใจไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างผู้ที่ได้รับอาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วกับการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้า (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)
การทดลองในอนาคต ควรพิจารณาถึงผลกระทบของการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารในระยะเริ่มต้นโดยมีหรือไม่มี SPN ต่อผลลัพธ์ทางคลินิกที่สำคัญในผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วย ICU
คุณภาพของหลักฐาน
เราประเมินคุณภาพของหลักฐานว่าต่ำมาก ซึ่งหมายความว่าเราไม่แน่ใจเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบ เนื่องจากการศึกษาที่รวมไว้มีจำนวนน้อย และให้คำอธิบายที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการที่ใช้ ผู้เข้าร่วมการศึกษามีสาเหตุของการเจ็บป่วยที่สำคัญแตกต่างกัน ผลลัพธ์ไม่ได้ถูกวัดด้วยวิธีเดียวกัน หรือในเวลาเดียวกันในแต่ละการทดลอง การทดลองบางอย่างไม่ได้รายงานวิธีการวัดหรือระยะเวลาที่ทำการวัดข้อมูล
เนื่องจากหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมาก เราจึงไม่แน่ใจว่าการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็ว เมื่อเทียบกับการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้า มีผลต่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตภายใน 30 วัน การไม่สามารถรับสารอาหาร หรือภาวะแทรกซ้อนทางเดินอาหาร หรือโรคปอดบวมหรือไม่
เนื่องจากหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมาก เราจึงไม่แน่ใจว่า การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วร่วมกับการให้อาหารเสริมทางหลอดเลือด เมื่อเทียบกับการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้าร่วมกับการให้อาหารเสริมทางหลอดเลือด ช่วยลดอัตราการตาย ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ หรือระยะเวลาการใช้เครื่องช่วยหายใจ
ขณะนี้มีหลักฐานไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการศึกษาขนาดใหญ่ที่ทำการศึกษาในหลายโรงพยาบาล ดำเนินการด้วยวิธีการที่เข้มงวด ซึ่งวัดผลลัพธ์ทางคลินิกที่สำคัญ
การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็ว (ภายใน 48 ชั่วโมงหลังการเข้ารับการรักษาหรือการบาดเจ็บ) ได้รับการแนะนำสำหรับการจัดการผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหนัก (intensive care units: ICU) การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วถูกแนะนำให้เป็นแนวทางปฏิบัติทางคลินิกหลายฉบับ แม้ว่าดูเหมือนจะไม่มีหลักฐานในการใช้และประโยชน์ก็ตาม
เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็ว (เริ่มต้นภายใน 48 ชั่วโมงของการบาดเจ็บครั้งแรกหรือการเข้า ICU) เทียบกับ การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้า (เริ่มต้นช้ากว่า 48 ชั่วโมงหลังจากการบาดเจ็บครั้งแรกหรือการเข้า ICU) โดยมีหรือไม่มีการให้อาหารเสริมทางหลอดเลือดในผู้ป่วยหนักวัยผู้ใหญ่.
เราค้นหาหลักฐานจาก CENTRAL (2019, Issue 4), MEDLINE Ovid (1946 ถึงเมษายน 2019), Embase Ovid SP (1974 ถึงเมษายน 2019), CINAHL EBSCO (1982 ถึงเมษายน 2019) และ ISI Web of Science (1945 ถึงเมษายน 2019) นอกจากนี้เรายังค้นหา Turning Research Into Practice (TRIP) ทะเบียนการทดลอง (ClinicalTrials.gov, ISRCTN Registry) และรายงานการประชุมทางวิทยาศาสตร์ รวมถึง American Society for Parenteral and Enteral Nutrition และ European Society for Clinical Nutrition and Metabolism เราไม่ใช้ข้อจำกัดด้านภาษาหรือสถานะการเผยแพร่
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมทั้งหมด (RCTs) ที่เปรียบเทียบการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วกับช้า โดยมีหรือไม่มีสารอาหารเสริมทางหลอดเลือดในผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย ICU นานมากกว่า 72 ชั่วโมง ซึ่งรวมถึงบุคคลที่เข้ารับการรักษาด้วยการวินิจฉัยทางอายุรกรรม ศัลยกรรม และการบาดเจ็บ และเป็นผู้ที่ต้องการการได้รับอาหารทางทางเดินอาหารประเภทใดก็ได้
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน สกัดข้อมูลและประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอคติ อย่างเป็นอิสระต่อกัน เราแสดงผลลัพธ์เป็นอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) สำหรับข้อมูล dichotomous และนำเสนอเป็นผลต่างของค่าเฉลี่ย (MD) สำหรับข้อมูลต่อเนื่องและช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) เราได้ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด GRADE
เรารวม RCTs 7 รายการ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 345 คน ข้อมูลผลลัพธ์มีจำกัด และเราตัดสินว่าการทดลองหลายรายการมีความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจนของอคติในหลายโดเมน
การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วเปรียบเทียบกับแบบช้า
การทดลอง 6 รายการ (ผู้เข้าร่วม 318 คน) ประเมินการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วเปรียบเทียบกับแบบช้า ในหอผู้ป่วย ICU ทั่วไป, หอผู้ป่วย ICU อายุรกรรม, และหอผู้ป่วย ICU การบาดเจ็บ ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย กรีซ อินเดีย และรัสเซีย
ผลลัพธ์หลัก
การศึกษา 5 รายการ (ผู้เข้าร่วม 259 คน) วัดอัตราการตาย ไม่แน่ใจว่า การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็ว มีผลต่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตภายใน 30 วันหรือไม่ (RR 1.00, 95% CI 0.16 ถึง 6.38; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 38 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) การศึกษา 4 รายการ (ผู้เข้าร่วม 221 คน) รายงานการเสียชีวิตโดยไม่ได้อธิบายกรอบเวลา เราไม่ได้รวบรวมผลลัพธ์เหล่านี้ ไม่มีการศึกษาใดรายงานความแตกต่างที่ชัดเจนในการตายระหว่างกลุ่ม
การศึกษา 3 รายการ (ผู้เข้าร่วม 156 คน) รายงานภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ เราไม่สามารถรวมผลลัพธ์ได้เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ได้มีการรายงานและความแตกต่างทางคลินิกที่สำคัญ ผลลัพธ์ไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษา
การทดลอง 1 รายการ วัดการไม่สามารถรับสารอาหารได้หรือภาวะแทรกซ้อนทางเดินอาหาร ไม่แน่ใจว่าการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็ว มีผลต่อผลลัพธ์นี้หรือไม่ (RR 0.84, 95% CI 0.35 ถึง 2.01; ผู้เข้าร่วม 59 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)
ผลลัพธ์รอง
การทดลอง 1 รายการ ประเมินระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและรายงานการพักรักษาตัวนานขึ้นในกลุ่มการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็ว (ค่ามัธยฐาน 15 วัน (ช่วงระหว่างควอไทล์ (IQR) 9.5 ถึง 20) เทียบกับ 12 วัน (IQR 7.5 ถึง 15); P = 0.05; ผู้เข้าร่วม 59 คน, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)
การศึกษา 3 รายการ (ผู้เข้าร่วม 125 คน) รายงานระยะเวลาของการใช้เครื่องช่วยหายใจ เราไม่ได้รวมผลลัพธ์เนื่องจากความแตกต่างทางคลินิกและทางสถิติ ผลลัพธ์ไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษา
ไม่แน่ใจว่าการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็ว มีผลต่อความเสี่ยงของโรคปอดบวมหรือไม่ (RR 0.77, 95% CI 0.55 ถึง 1.06; 4 การศึกษาผู้เข้าร่วม 192 ราย; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)
การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วร่วมกับการให้อาหารเสริมทางหลอดเลือด เทียบกับการให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบช้าร่วมกับการให้อาหารเสริมทางหลอดเลือด
เราพบการทดลอง 1 รายการ ทำการศึกษาในหอผู้ป่วย ICU สำหรับผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ในสหรัฐอเมริกา (ผู้เข้าร่วม 27 คน)
ผลลัพธ์หลัก
ไม่แน่ใจว่า การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วร่วมกับการให้อาหารเสริมทางหลอดเลือดมีผลต่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (RR 0.74, 95% CI 0.25 ถึง 2.18; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรือภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ (MD 0.00, 95% CI -1.94 ถึง 1.94; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีข้อมูลสำหรับการไม่สามารถรับสารอาหารหรือภาวะแทรกซ้อนทางเดินอาหาร
ผลลัพธ์รอง
ไม่แน่ใจว่า การให้อาหารผ่านระบบทางเดินอาหารแบบเร็วร่วมกับการให้อาหารเสริมทางหลอดเลือดช่วยลดระยะเวลาในการใช้เครื่องช่วยหายใจ (MD 9.00, 95% CI -10.99 ถึง 28.99; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีข้อมูลสำหรับระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือโรคปอดบวม
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2021