ทำไมการทบทวนวรรณกรรมนี้จึงมีความสำคัญ
เด็กและวัยรุ่นที่มีประสบการณ์บอบช้ำทางจิตใจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรค PTSD และมีผลทางลบต่อจิตใจและสังคม
ใครที่จะมีความสนใจในการทบทวนวรรณกรรมนี้
เด็กและวัยรุ่นที่ได้รับบาดเจ็บทางใจและครอบครัวและผู้ดูแลจะสนใจในการทบทวนนี้ ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในบริการด้านสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น
การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามอะไร
เพื่อประเมินผลของการบำบัดทางจิตในการป้องกัน PTSD และผลด้านลบทางอารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องในเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
• การบำบัดทางจิตวิทยารูปแบบใดมีประสิทธิผลมากที่สุด
• การบำบัดทางจิตมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาด้วยยาหรือการรักษารูปแบบอื่นๆ หรือไม่
การศึกษาใดที่นำเข้าในการทบทวนวรรณกรรม
ผู้วิจัยสืบค้นจากฐานข้อมูลจนถึงเดือนพฤษภาคม 2015 เพื่อค้นหาการทดลองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาจะต้องเป็นแบบ randomized controlled trials และต้องรวมทั้งเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับบาดเจ็บทางใจ
เรารวมการทดลอง 51 รายการ มีผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 6201 คน ผู้เข้าร่วมการศึกษามีประสบการณ์ ได้รับบาดแผลทางใจหลายรูปแบบ ดังนี้ มีการศึกษาจำนวน 12 รายการ ที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาถูกล่วงละเมิดทางเพศ, มีการศึกษาจำนวน 10 รายการ ผู้เข้าร่วมการศึกษาเผชิญกับสงครามหรือความรุนแรงในชุมชน มีผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เผชิญกับการบาดเจ็บทางร่างกายและภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างละ 6 การศึกษา และมีการศึกษา 3 รายการที่ผู้ร่วมการศึกษาได้รับความรุนแรงจากการมีสัมพันธ์ภาพระหว่างบุคคล ในการศึกษาแต่ละรายการมีผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับความทรมานจากการเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต หรือผู้เข้าร่วมวิจัยมีประสบการณ์ถูกทารุณกรรมทางร่างกายหรือถูกทารุณกรรม ผู้เข้าร่วมการศึกษาในการศึกษาที่นำมาทบทวนเผชิญกับความบอบช้ำทางใจหลายอย่าง
การทดลองส่วนใหญ่เปรียบเทียบการบำบัดทางจิตกับกลุ่มควบคุม เช่น การรักษาตามปกติ กลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการรักษาหรือกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา หรือเปรียบเทียบกับการบำบัดทางจิตวิทยาในรูปแบบที่แตกต่างกัน
การศึกษาทั้งหมด 43 รายการ รายงานผลลัพธ์ที่มีการติดตามประเมินผลภายในเดือนแรกหลังการรักษา; การศึกษา 27 รายการ รายงานผลลัพธ์ตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 1 ปี และการศึกษา 8 รายการ รายงานข้อมูลหลังการรักษาเป็นเวลา 1 ปีหรือนานกว่านั้น
หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมบอกอะไรเราบ้าง
เด็กและวัยรุ่นที่ได้รับการบำบัดทางจิตวิทยามีโอกาสน้อยที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD และมีอาการของ PTSD ลดน้อยลงจนถึง 1 เดือนหลังการรักษา เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา การรักษาตามปกติ หรืออยู่ในรายการรอรับการรักษา ความเชื่อมั่นของเราในการค้นพบนี้มีจำกัด เนื่องจากคุณภาพโดยรวมของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ไม่มีหลักฐานว่าการรักษาทางจิตวิทยามีประสิทธิผลนานเกิน 1 เดือน มีหลักฐานที่มีคุณภาพระดับปานกลางรายงานว่าการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) อาจมีประสิทธิภาพในการลดอาการของ PTSD มากกว่าการรักษาทางจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ นานถึงหนึ่งเดือน ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ ไม่มีการศึกษาที่เปรียบเทียบการบำบัดทางจิตกับการรักษาด้วยยา
อะไรที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไป
นักวิจัยควรทำการทดลองออกแบบงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงเพื่อประเมินประสิทธิผลของการบำบัดทางจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับบาดแผลทางใจต่อไป การทดลองเหล่านี้ควรได้รับการออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เข้าร่วมวิจัยและครอบครัวไม่รู้ว่าพวกเขาได้รับการรักษาทางจิตวิทยา หรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยหรือผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมเป็นผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด นอกจากนี้ ควรมีความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่ามีอัตราการติดตามประเมินผลที่สูงเกิน 1 เดือน หลังจากเสร็จสิ้นการรักษา
นอกจากนี้ การศึกษาควรเปรียบเทียบการบำบัดทางจิตวิทยาประเภทต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลได้ดีขึ้นว่าเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับบาดเจ็บทางใจประเภทต่างๆ มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อการรักษาเหล่านี้มากหรือน้อย
การวิเคราะห์เมตต้าในการทบทวนนี้ให้หลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับประสิทธิผลของการบำบัดทางจิตในการป้องกันการเกิด PTSD และการลดอาการในเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับบาดเจ็บนานสูงถึง 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของเราในการค้นพบนี้ถูกจำกัดโดยคุณภาพของการศึกษาที่รวบรวมมาและโดยความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการศึกษา จำเป็นต้องมีหลักฐานอีกมากเพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการบำบัดทางจิตรูปแบบต่างๆ สำหรับเด็กที่ได้รับบาดแผลทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการติดตามประเมินผลระยะยาว ควรทำการศึกษาที่มีคุณภาพสูงเพื่อเปรียบเทียบรูปแบบการบำบัดเหล่านี้
เด็กและวัยรุ่นที่มีประสบการณ์บอบช้ำทางจิตใจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรค PTSD และผลกระทบด้านอารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพจิตด้านลบอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและค่าใช้จ่ายทางสุขภาพที่สูง การรักษาทางจิตวิทยาที่หลากหลายถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันผลลัพธ์ด้านลบที่เกี่ยวข้องกับการมีบาดแผลทางใจในเด็กและวัยรุ่น
เพื่อประเมินผลของการบำบัดทางจิตในการป้องกัน PTSD และผลด้านลบทางอารมณ์ พฤติกรรม และสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องในเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
เราสืบค้นข้อมูลจาก the Cochrane Common Mental Disorders Group's Specialised Register จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2015 ทะเบียนนี้มีรายงานของการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่เกี่ยวข้องจาก The Cochrane Library ( ทุกปี), EMBASE (1974 จนถึงปัจจุบัน), MEDLINE (1950 จนถึงปัจจุบัน) และ PsycINFO (1967 จนถึงปัจจุบัน) เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและจากงานวิจัยที่นำมาทบทวน ในการสืบค้นไม่จำกัดภาษาและสถานะการตีพิมพ์
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมของการบำบัดทางจิตวิทยาเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เช่น การรักษาตามปกติ กลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการบำบัด หรือกลุ่มที่ไม่มีการรักษา การรักษาด้วยยาหรือการรักษาอื่นๆ ในเด็กหรือวัยรุ่นที่เคยผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
สมาชิก 2 คนของทีมที่ทบทวนวรรณกรรมตรวจสอบแยกข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราคำนวณ odds ratios สำหรับผลลัพธ์ binary และความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐานสำหรับผลลัพธ์ต่อเนื่องโดยใช้ random- effects model เราวิเคราะห์ข้อมูลที่ติดตามประเมินผลในระยะสั้น (สูงสุดถึง 1 เดือนหลังการรักษา) ระยะกลาง (1 เดือน ถึง 1 ปีหลังการรักษา) และระยะยาว (1 ปีหรือนานกว่านั้น)
ผู้วิจัยรวมผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวน 6201 คนจากงานวิจัยเชิงทดลองจำนวน 51 รายการ งานวิจัยจำนวน 20 รายการ ทำการศึกษาเฉพาะเด็ก มีการศึกษา 2 รายการ ทำการศึกษาในเด็กก่อนวัยเรียน และการศึกษา 10 รายการศึกษาเฉพาะในวัยรุ่น การศึกษาที่เหลือทำการศึกษาทั้งในเด็กและวัยรุ่น มีการศึกษาจำนวน 12 รายการ ที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาถูกล่วงละเมิดทางเพศ การศึกษาจำนวน 10 รายการ ผู้เข้าร่วมการศึกษาเผชิญกับสงครามหรือความรุนแรงในชุมชน มีผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เผชิญกับการบาดเจ็บทางร่างกายและภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างละ 6 การศึกษา และมีการศึกษา 3 รายการที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับความรุนแรงจากการมีสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ผู้เข้าร่วมการศึกษาได้รับความทรมานจากการเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต และถูกทารุณกรรมทางร่างกายหรือถูกทารุณกรรม จำนวน 1 การศึกษา ผู้เข้าร่วมการศึกษาต้องเผชิญกับความบอบช้ำทางใจหลายอย่าง
การทดลองส่วนใหญ่เปรียบเทียบการบำบัดทางจิตวิทยากับกลุ่มควบคุม เช่น การรักษาตามปกติ กลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการรักษา หรือกลุ่มที่ไม่มีการรักษา การทดลอง 17 รายการใช้การบำบัดด้านการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT); การทดลอง 4 รายการใช้ครอบครัวบำบัด; การทดลอง 3 รายการใช้ debriefing (การซักถามเกี่ยวกับจิตวิทยา); การทดลอง 2 รายการ ใช้การให้มีการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของดวงตาและการประมวลผลซ้ำ (EMDR), การบำบัดด้วยการเล่าเรื่อง, สุขภาพจิตศึกษา และการบำบัดด้วยการสนับสนุน และมีการทดลอง 1 รายการที่ใช้การให้เผชิญกับเหตุการณ์รุนแรง และ CBT ร่วมกับการให้เล่าเรื่อง การทดลอง 8 รายการ เปรียบเทียบ CBT กับการรักษาแบบประคับประคอง, การทดลอง 2 รายการ เปรียบเทียบ CBT กับ EMDR และการทดลอง 1 รายการ เปรียบเทียบ CBT กับการบำบัดทางจิตพลศาสตร์ (psychodynamic), การเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงร่วมกับการบำบัดแบบประคับประคองเปรียบเทียบกับการรักษาแบบประคับประคองอย่างเดียว และการบำบัดด้วยการเล่าเรื่องร่วมกับ CBT เปรียบเทียบกับ CBT เพียงอย่างเดียว มีการศึกษา 4 รายการ เปรียบเทียบการให้การบำบัดทางจิตวิทยาเป็นรายบุคคลเปรียบเทียบกับการรักษาแบบเดียวกันแต่เป็นรูปแบบกลุ่มบำบัด และการทดลอง 1 รายการ เปรียบเทียบ CBT สำหรับเด็กเปรียบเทียบกับ CBT สำหรับทั้งแม่และเด็ก
เด็กและวัยรุ่น ที่ได้รับการบำบัดทางจิตวิทยามีโอกาสได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PTSD ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา หรือได้การรักษาตามปกติ หรืออยู่ในกลุ่มมีรายชื่อรอรับการรักษานานสูงสุดถึง 1 เดือนหลังการรักษา (odds ratio (OR) 0.51 , ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.34 ถึง 0.77; จำนวนที่จำเป็นในการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม (NNTB) 6.25, 95% CI 3.70 ถึง 16.67; การศึกษา 5 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 874 คน) อย่างไรก็ตาม คุณภาพโดยรวมของหลักฐานสำหรับการวินิจฉัย PTSD ถูกจัดอยู่ในระดับต่ำมาก อาการ PTSD ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการรักษาเป็นระยะเวลา 1 เดือน (standardised mean Difference (SMD) -0.42, 95% CI -0.61 ถึง -0.24; การศึกษา 15 รายการ; ผู้เข้าร่วมการศึกษา 2051 คน) และคุณภาพของหลักฐานถูกจัดอยู่ในระดับต่ำ ผลกระทบของการบำบัดทางจิตวิทยาเหล่านี้ไม่ปรากฏให้เห็นในการติดตามประเมินผลในระยะยาว
พบว่า CBT มีประสิทธิผลไม่มากหรือน้อยกว่า EMDR และการรักษาแบบประคับประคองในการลดการวินิจฉัยการเป็น PTSD ในการติดตามประเมินผลระยะสั้น (OR 0.74, 95% CI 0.29 ถึง 1.91; 2 การศึกษา; ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 160 คน) อย่างไรก็ตามผลการศึกษานี้มาจากหลักฐานที่มีคุณภาพระดับต่ำ สำหรับการลดอาการ PTSD ในการติดตามประเมินผลระยะสั้น พบว่า CBT มีผลต่อการลดอาการ PTSD มากกว่าการรักษาแบบ EMDR, การเล่นบำบัด และการรักษาแบบประคับประคอง ในระดับเล็กน้อย (SMD -0.24, 95% CI -0.42 ถึง -0.05; การศึกษา 7 รายการ; ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 466 คน) คุณภาพของหลักฐาน สำหรับผลลัพธ์นี้อยู่ในระดับต่ำมาก
เราไม่พบการศึกษาใดๆ ที่เปรียบเทียบการบำบัดทางเภสัชวิทยากับการบำบัดทางจิต
แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 24 มิถุนายน 2021