วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรม
ผู้วิจัยต้องการประเมินประสิทธิผลของ ivabradine (ไม่ว่าจะเป็นในการรักษาระยะสั้น (<6 เดือน) หรือระยะยาว (≥ 6 เดือน) ในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดที่มีการบีบตัวของหัวใจปกติ (Heart failure with preserved ejection fraction (HFpEF), ค่าการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricular ejection fraction) มากกว่าหรือเท่ากับ 50%) หรือผู้ที่มีการบีบตัวของหัวใจลดลง (Heart failure with reduced ejection fraction (HFrEF), ค่าการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายน้อยกว่า 40%)
ใจความสำคัญ
ผู้วิจัยพบว่าการใช้ ivabradine ในระยะยาวไม่ช่วยลดอัตราเสียชีวิตจากสาเหตุโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วย HFrEF นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับ ivabradine ในระยะยาวเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก/การดูแลตามปกติ/การไม่ได้รับยา ในแง่ของอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงในผู้ป่วย HFrEF
การทบทวนวรรณกรรมนี้ศึกษาอะไร
ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอเกินไปที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอได้ ซึ่งจะนำไปสู่อาการต่างๆ เช่น หายใจถี่, เหนื่อยง่าย, ขาบวม, และความสามารถในการออกกำลังกายที่ลดลง ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวจะเสียชีวิตภายในห้าปีหลังได้รับการวินิจฉัย ในปัจจุบันยาหลายชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว อย่างไรก็ตามผู้วิจัยต้องการทราบว่า ivabradine สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้หรือไม่ การศึกษาเจ็ดชิ้นมุ่งเน้นไปที่ผลการรักษาด้วย ivabradine ในระยะสั้น (<6 เดือน) และการศึกษาสิบเอ็ดชิ้นที่มุ่งเน้นผลการรักษาด้วย ivabradine ในระยะยาว (≥ 6 เดือน) การศึกษาจำนวน 1 การศึกษา ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาในการให้ยา ivabradine
ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรม
ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs, การศึกษาที่ผู้เข้าร่วมจะถูกแบ่งออกเป็นหนึ่งหรือสองกลุ่มหรือมากกว่า โดยใช้วิธีการสุ่ม) จำนวน 19 การศึกษา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 19,628 คน ที่ได้รับยา ivabradine การศึกษาสิบเอ็ดชิ้นมุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วย HFrEF, การศึกษาสามชิ้นมุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วย HFpEF และการศึกษาหนึ่งชิ้นที่ศึกษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีการบีบตัวของหัวใจในช่วงตรงกลาง (Heart failure with mid-range ejection fraction (HFmrEF)) ทว่าในการศึกษาที่เหลือไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลวแต่อย่างใด
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้
ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020
ผู้วิจัยพบว่าไม่มีความแตกต่างในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงระหว่างการรักษาด้วยยา ivabradine ในระยะยาวเมื่อเทียบกับการได้รับยาหลอก/การดูแลตามปกติ/การไม่ได้รับยา ในผู้ป่วย HFrEF อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาจเป็นผลจากเหตุทางอ้อม (ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) ความน่าเชื่อถือของหลักฐานที่มีอยู่จึงถูกจัดให้อยู่ในระดับปานกลาง
ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 23 ล้านคนทั่วโลก และแม้ว่าจะมีการใช้ยาหลายขนานตาม guideline ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังยังคงเป็นสาเหตุของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยครั้งและประมาณ 50% ของผู้ป่วยเสียชีวิตภายในห้าปีหลังการวินิจฉัย
เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของ ivabradine ในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
ผู้วิจัยสืบค้นในฐานข้อมูล CENTRAL, MEDLINE, Embase และ CPCI-S Web of Science จนถึงเดือนมีนาคม 2020 รวมทั้งที่ ClinicalTrials.gov และ WHO ICTRP และยังค้นหาจากรายการอ้างอิง (reference lists) ของการศึกษาที่รวบรวมด้วย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาหรือเวลา
ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษาแบบ RCTs ซึ่งผู้เข้าร่วมเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังซึ่งได้รับการสุ่มให้รับยา ivabradine หรือยาหลอก/การดูแลตามปกติ/ไม่ได้รับยา อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยแยกเป็นกลุ่มตามชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว (ภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีการบีบตัวของหัวใจลดลง (HFrEF) หรือภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีการบีบตัวของหัวใจเป็นปกติ (HFpEF)) และตามระยะเวลาในการได้รับยา ivabradine (ระยะสั้น (<6 เดือน) หรือระยะยาว (≥ 6 เดือน))
ผู้วิจัย 2 คนได้ประเมินการศึกษาที่เข้าเกณฑ์คัดเลือก, ดึงข้อมูล, และตรวจสอบความถูกต้องอย่างเป็นอิสระต่อกัน มีการคำนวณ risk ratios (RR) โดยใช้แบบจำลอง random-effects model และมีการประเมิน 'Risk of bias' ในการศึกษาทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้ติดต่อคณะผู้วิจัยของการศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเพื่อขอข้อมูลที่ขาดหายไป ผลลัพธ์หลักที่สนใจ (primary endpoint) ได้แก่ การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด; คุณภาพชีวิต; ระยะเวลาจนกระทั่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลครั้งแรกเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วง follow-up; และจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาลเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วง follow-up ผลลัพธ์รองที่สนใจ (secondary endpoint) ได้แก่ อัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง; ความสามารถในการออกกำลังกาย; และต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ (รายงานแบบบรรยาย) ผู้วิจัยได้ประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานที่ได้โดย GRADE approach
ผู้วิจัยรวบรวมการวิจัยได้ 19 การศึกษา (76 รายงาน) และมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 19,628 คน (อายุเฉลี่ย 60.76 ปี, ชาย 69%) อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาบางส่วนเท่านั้นที่ถูกนำมาวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) เนื่องจากความไม่สอดคล้องกันในการรูปแบบการทดลอง (ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว) และการรายงานผลและการวัดผล และการศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงในการเกิดอคติตั้งแต่ต่ำไปจนถึงสูงแตกต่างกันไป และมีบางการศึกษาที่ข้อมูลไม่เพียงพอในการตัดสินการมีอคติได้
ผู้วิจัยสามารถทำการวิเคราะห์อภิมานได้จำนวน 2 การวิเคราะห์ โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วย HFrEF และการรักษาด้วย ivabradine ในระยะยาว จากการศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับยา ivabradine และกลุ่มยาหลอก/การดูแลตามปกติ/ไม่ได้รับยา ในแง่ของอัตราการเสียชีวิตจากสาเหตุโรคหัวใจและหลอดเลือด (RR 0.99, 95% confidence interval (CI) 0.88 ถึง 1.11; 3 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 17,676 คน; I 2 = 33%; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่มีความแตกต่างในอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงในกลุ่มผู้ป่วย HFrEF ที่ได้รับ ivabradine ในระยะยาว เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก/การดูแลตามปกติ/ไม่ได้รับยา (RR 0.96, 95% CI 0.92 ถึง 1.00; 2 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 17,399 คน; I 2 = 12%; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) ผู้วิจัยไม่สามารถทำการวิเคราะห์อภิมานสำหรับผลลัพธ์อื่นๆ ได้ และมีความเชื่อมั่นต่ำในผลการวิจัยจากการศึกษาแต่ละชิ้น
ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ 14 ธันวาคม 2020