ใจความสำคัญ
-
หลักฐานยังไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับผลของ caesarean myomectomy (การผ่าตัดเอาเนื้องอกมดลูกซึ่งเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้ายออก) เกี่ยวกับความต้องการการถ่ายเลือด ความเสี่ยงในการตกเลือด ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล ระยะเวลาในการผ่าตัด ความเสี่ยงในการผ่าตัดใหญ่ และความเสี่ยงต่อไข้หลังคลอด (อุณหภูมิสูงในช่วงไม่หลังการคลอดบุตร) จึงไม่สามารถสรุปผลที่เป็นสาระสำคัญใด ๆ ได้
-
ผู้ประพันธ์ไม่ทราบผลของ caesarean myomectomy ต่อการเปลี่ยนแปลงของฮีโมโกลบิน (โปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่ช่วยนำออกซิเจนไปทั่วร่างกาย) หรือการเจริญพันธุ์ในอนาคต
ภาวะตกเลือดหลังคลอดคืออะไร
ภาวะตกเลือดหลังคลอด หมายถึง การมีเลือดออกมากและมีการสูญเสียเลือด 500 มล. หรือมากกว่าภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของมารดาทั่วโลก ภาวะตกเลือดหลังคลอดเป็นสาเหตุทำให้มารดาเสียชีวิต 1 รายทุก ๆ 7 นาที
เราต้องการค้นหาอะไร
เนื้องอกในมดลูก (เนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในหรือรอบมดลูก) ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอดีตแพทย์หลีกเลี่ยงการเอาเนื้องอกในมดลูกออก (หรือที่เรียกว่า การตัดเนื้องอกมดลูก) ในระหว่างการคลอดแบบผ่าตัดคลอด (ขั้นตอนการผ่าตัดที่ทารกจะถูกคลอดผ่านแผลที่หน้าท้องของมารดา) เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกมากหรือหนัก การตัดเนื้องอกออกในระหว่างการคลอดบุตรเชื่อว่าจะทำให้ต้องใช้เวลาผ่าตัดและอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น อย่างไรก็ตาม การตัดเนื้องอกมดลูกออกอาจมีประโยชน์ต่อผู้หญิงในการรักษาการเจริญพันธุ์ในอนาคต สำหรับผู้หญิงที่กำลังผ่าคลอด การทำขั้นตอนนี้อาจเป็นโอกาสพิเศษ เราต้องการค้นหาประโยชน์และอันตรายของการทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกในมดลูกออกเมื่อเทียบกับการไม่ทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกในมดลูกในหญิงตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกในมดลูกที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดคลอด
เราทำอะไรไปบ้าง
เราได้ค้นหาการศึกษาที่ศึกษาการใช้ caesarean myomectomy และการผ่าตัดคลอดเพียงอย่างเดียวในหญิงตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดคลอด เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นของเราในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด
เราพบอะไร
เราพบการศึกษา 23 ฉบับ มีผู้หญิงเข้าร่วม 7504 ราย การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดรวมผู้หญิงจำนวน 2565 คน และการศึกษาที่เล็กที่สุดมีผู้หญิงเข้าร่วม 50 คน การศึกษาดังกล่าวได้ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้สูงหรือรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงทั่วโลก (หมายถึงว่ามีสถานพยาบาลที่ดีหรือยอดเยี่ยม) โดยส่วนใหญ่ดำเนินการในประเทศตุรกี การศึกษา 5 ฉบับ ศึกษาเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เดี่ยว และการศึกษา 1 ฉบับ ศึกษาเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แฝดเท่านั้น การศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุว่าผู้หญิงเป็นคนเลือกผ่าตัดคลอดเองหรือทำแบบฉุกเฉิน มีการศึกษาเพียง 4 ฉบับที่รายงานว่าพวกเขาได้รับเงินทุนอย่างไร
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
เราไม่เชื่อมั่นอย่างมากถึงผลของ caesarean myomectomy ต่อความจำเป็นในการถ่ายเลือด ความเสี่ยงในการมีเลือดออก ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล ระยะเวลาในการผ่าตัด ความเสี่ยงในการผ่าตัดใหญ่ในขณะทำหัตถการ และความเสี่ยงต่อการเกิดไข้ในช่วงหลังคลอด ปัจจัยหลายประการส่งผลต่อความเชื่อมั่นของเราต่อหลักฐาน ประการแรก ความแตกต่างระหว่างกลุ่มอาจเกิดจากความแตกต่างระหว่างผู้หญิง มากกว่าความแตกต่างระหว่างการรักษา ประการที่สอง การศึกษาจำนวนมากมีผู้หญิงจำนวนน้อย ประการที่สาม ผลลัพธ์บางประการแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา ไม่มีผลลัพธ์สำหรับฮีโมโกลบิน (โปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่ช่วยนำออกซิเจนไปทั่วร่างกาย) หรือการเจริญพันธุ์ในอนาคต
โดยรวมแล้ว หมายความว่าไม่สามารถสรุปผลของประโยชน์หรืออันตรายจาก caesarean myomectomy ได้อย่างเชื่อมั่น เนื่องจากการศึกษาไม่ได้รายงานข้อมูลที่เราสามารถใช้ได้ หรือให้ผลลัพธ์ที่เรามีความเชื่อมั่นน้อยมาก จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมจากการศึกษาที่มีการออกแบบที่ดีเกี่ยวกับการใช้ caesarean myomectomy โดยเฉพาะในประเทศยากจน
หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานมีความทันสมัยถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2024
หลักฐานที่มีอยู่สำหรับผลลัพธ์ที่สำคัญมาก (critical outcomes) ทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ดังนั้น จึงไม่สามารถสรุปผลเกี่ยวกับผลของ caesarean myomectomy ต่อความเสี่ยงในการต้องรับเลือด ความเสี่ยงต่อการตกเลือด ระยะเวลาในการรักษาในโรงพยาบาล ระยะเวลาในการผ่าตัด ความเสี่ยงของการผ่าตัดใหญ่ในขณะทำหัตถการ และความเสี่ยงต่อไข้หลังคลอดได้ ข้อมูลที่รวบรวมได้จากการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยของฮีโมโกลบินมีความหลากหลายเกินกว่าที่จะนำมารวมกันได้ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ด้านการเจริญพันธุ์
เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของ caesarean myomectomy ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีเนื้องอกมดลูกที่ต้องได้รับการผ่าตัดคลอด
เราค้นหาในเว็บไซต์ CENTRAL, MEDLINE, Embase, Global Index Medicus, พอร์ทัล ICTRP และ ClinicalTrials.gov รวมถึงค้นหาข้อมูลอ้างอิงและการอ้างอิงเพิ่มเติม และติดต่อกับผู้เขียนการศึกษาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2024
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 18 กุมภาพันธ์ 2025