การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในโลกตะวันตก ใช้เวลาประมาณ 20 ปีในการพัฒนาและการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทราบกันดี มะเร็งปอดส่วนใหญ่ไม่พบในระยะเริ่มต้นของโรค การตรวจคัดกรองประจำจะถูกแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรค มีการศึกษาทดลองวิธีการตรวจหาตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น การตรวจเสมหะ การเอ็กซเรย์ และการสแกนทรวงอกด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT) เพื่อดูว่าวิธีการเหล่านี้สร้างความแตกต่างต่อจำนวนผู้ที่รับการรักษาโดยการผ่าตัด และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้หรือไม่ การทบทวนวรรณกรรมนี้ตรวจสอบหลักฐานจากการศึกษาทดลอง 9 ฉบับ (มีผู้เข้าร่วมในการศึกษาทั้งหมด 453,965 ราย) และพบว่าการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะแรกด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกหรือการตรวจเสมหะไม่ได้ลดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด การตรวจคัดกรองด้วย CT สแกนทรวงอกปริมาณรังสีต่ำในการศึกษาทดลองขนาดใหญ่ 1 ฉบับเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอด แต่การศึกษาทดลองนี้มีแต่เฉพาะผู้สูบบุหรี่ที่มีความเสี่ยงสูงมากและผู้ที่เคยสูบบุหรี่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรอง CT แสกนสัมพันธ์กับผลบวกลวงสูง และยังมีบางคนที่ตรวจพบและได้รับการรักษามะเร็งปอด แต่มะเร็งเหล่านั้นอาจไม่พัฒนาจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษาก็ตาม (ภาวะนี้เรียกว่าการวินิจฉัยเกินจริง) จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับอันตรายและประโยชน์ของการตรวจคัดกรอง CT แสกนในบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำต่อโรคมะเร็งปอด

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

จากหลักฐานในปัจจุบันไม่ส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอกหรือเซลล์วิทยาเสมหะ การตรวจคัดกรอง CT สแกนปริมาณรังสีต่ำเป็นประจำทุกปีมีความสัมพันธ์กับการลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่มีความเสี่ยงสูง แต่จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการคัดกรอง ตลอดจนความอันตรายและประโยชน์ของการตรวจคัดกรองในกลุ่มความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมต่างๆ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

นี่เป็นฉบับปรับปรุงของการทบทวนวรรณกรรมต้นฉบับที่เผยแพร่ใน Cochrane Libarry ปี 1999 และ ปรับปรุงในปี 2004 และ 2010 การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในระดับประชากรยังไม่ถูกนำมาใช้ในประเทศส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าการตรวจเสมหะ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือวิธีการใหม่ๆ เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) มีประสิทธิภาพในการลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดหรือไม่

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดโดยใช้การตรวจเสมหะอย่างสม่ำเสมอ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือการสแกน CT ทรวงอก จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดได้หรือไม่

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นในฐานข้อมูลต่อไปนี้: Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL)(The Cochrane Library, 2012, ฉบับที่ 5), MEDLINE (1966 ถึง 2012) PREMEDLINE และ EMBASE (ถึง 2012) และ รายการเอกสารอ้างอิง เราค้นหาวารสาร มะเร็งปอด ด้วยตนเอง (ถึงปี 2000) และติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นเพื่อระบุการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์และยังไม่ได้ตีพิมพ์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองควบคุมการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดโดยใช้การตรวจเสมหะ การถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือ ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Chest CT)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราทำการวิเคราะห์ความตั้งใจในการเข้ามารับการตรวจคัดกรอง ในกรณีที่มีความแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ เรารายงานอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) โดยใช้ random-effects model สำหรับผลลัพธ์อื่นๆ เราใช้ fixed-effect model

ผลการวิจัย: 

เรารวมการทดลอง 9 ฉบับในการทบทวนวรรณกรรม (การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 8 ฉบับและการทดลองที่มีกลุ่มควบคุม 1 ฉบับ) รวมอาสาสมัครทั้งหมด 453,965 ราย ในการศึกษาขนาดใหญ่ 1 ฉบับที่มีทั้งผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่ เปรียบเทียบการตรวจคัดกรองด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกทุกปีกับการดูแลตามปกติ ไม่พบว่าอัตราการเสียชีวิตลดลงจากโรคมะเร็งปอด (RR 0.99, 95% CI 0.91 ถึง 1.07) ในการวิเคราะห์เมตต้าของการศึกษาเปรียบเทียบความถี่ของการคัดกรองด้วยเอ็กซเรย์ทรวงอก การตรวจคัดกรองด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกบ่อยๆ มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับการตรวจคัดกรองที่มีความถี่น้อยกว่า (RR 1.11, 95% CI 1.00 ถึง 1.23); อย่างไรก็ตาม การทดลองหลายฉบับที่รวมอยู่ในการวิเคราะห์เมตต้านี้มีจุดอ่อนด้านระเบียบวิธีการวิจัยที่อาจเกิดขึ้นได้ เราสังเกตเห็นแนวโน้มที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในการลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด เมื่อเปรียบเทียบการตรวจคัดกรองด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกและเซลล์วิทยาเสมหะเทียบกับการเอ็กซเรย์ทรวงอกเพียงอย่างเดียว (RR 0.88, 95% CI 0.74 ถึง 1.03) มีการศึกษาทดลองขนาดใหญ่ 1 ฉบับที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่เข้มงวด ศึกษาในผู้สูบบุหรี่ที่มีความเสี่ยงสูงและผู้ที่เคยสูบบุหรี่ (กลุ่มคนเหล่านี้มีอายุ 55 ถึง 74 ปีและสูบบุหรี่เกิน 30 ซองต่อปี และผู้ที่เลิกบุหรี่แล้วน้อยกว่า 15 ปี ก่อนเข้ามาในการศึกษาหากเคยสูบบุหรี่) เปรียบเทียบการตรวจคัดกรองด้วย CT แสกนปริมาณรังสีต่ำประจำปีเทียบกับการตรวจคัดกรองเอ็กซเรย์ทรวงอกประจำปี ในการศึกษานี้ ความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่ม CT แสกนปริมาณรังสีต่ำ (RR 0.80, 95% CI 0.70 ถึง 0.92)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นายฎลกร จำปาหวาย วันที่ 29 เมษายน 2024

Tools
Information