คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
ห่วงพยุงทางช่องคลอด (อุปกรณ์เชิงกล) มีประสิทธิผลเพียงใดในการจัดการอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานในสตรี
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้อาจโผล่ยื่นออกมาในช่องคลอดเนื่องจากความอ่อนแอของเนื้อเยื่อที่รองรับ การยื่นออกมานี้เรียกว่าอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกราน สตรีที่มีอาการหย่อนยานของอวัยวะจะมีอาการต่างๆ มากมายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การเลือกการรักษาสำหรับอาการหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานนั้นส่วนใหญ่กำหนดโดยการเลือกของผู้ป่วยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT) การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด และการผ่าตัดมีความแตกต่างกันมากโดยมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นแตกต่างกัน การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะที่มักใช้เพื่อฟื้นฟูอวัยวะที่หย่อนยานให้กลับสู่ตำแหน่งปกติและบรรเทาอาการได้ ห่วงพยุงทางช่องคลอดสามารถใช้เพื่อรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะได้ทั้ง 4 ระดับ
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร
เราค้นหาการศึกษาที่เผยแพร่ถึง 28 มกราคม 2020
ลักษณะการศึกษา
เราพบการศึกษา 4 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับสตรี 478 คนที่มีอาการหย่อนยานของอวัยวะในระยะต่างๆ การศึกษาทั้ง 4 รายการ ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้สูง
ผลลัพธ์ที่สำคัญ
ไม่มีการศึกษาใดรายงานว่าอาการหย่อนยานของสตรีได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์หรือไม่ เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของห่วงพยุงทางช่องคลอดเมื่อเทียบกับการไม่รักษา ในการรักษาอาการหย่อนยานหรือปัญหาทางเพศที่ดีขึ้น เราไม่พบหลักฐานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของการมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือปัสสาวะลำบากในการศึกษาเปรียบเทียบ การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอดกับการไม่รักษา
เราไม่แน่ใจว่าห่วงพยุงทางช่องคลอดมีผลต่อการทำให้อาการหย่อนยานของสตรีดีขึ้นหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบการใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอดกับ PFMT หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด เมื่อเทียบกับ PFMT ต่อคุณภาพชีวิตเนื่องจากอาการหย่อนยานของอวัยวะและปัญหาทางเพศ การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากขึ้นรวมถึงการตกขาว การกลั้นปัสสาวะ และแผลของผนังช่องคลอด เมื่อเทียบกับ PFMT
Pessary ร่วมกับ PFMT อาจทำให้สตรีจำนวนมากรู้สึกว่าอาการหย่อนยานของอวัยวะและคุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว เมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว พบว่า pessary และ PFMT อาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเล็กน้อย และความเสี่ยงในการปัสสาวะลำบากสำหรับสตรีที่ไม่มีปัญหานี้ก่อนเริ่มการรักษาอาการห้อยยานของอวัยวะ แต่หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมาก
ความเชื่อมั่นของหลักฐาน
เราประเมินหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ pessary เทียบกับไม่มีการรักษาว่ามีความเชื่อมั่นต่ำมาก เนื่องจากมีสตรีจำนวนน้อยที่เข้าร่วมในการศึกษาและเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับวิธีการทดลอง เราประเมินหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ pessary เทียบกับ PFMT และ pessary ร่วมกับ PFMT เทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว โดยหลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากมีสตรีจำนวนน้อยในการศึกษา
ข้อสรุปของผู้เขียน
แต่ละการทดลองมีสตรีจำนวนน้อย ซึ่งทำให้ลดความเชื่อมั่นในข้อสรุป เราไม่แน่ใจว่า pessaries ช่วยทำให้อาการหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานดีขึ้นหรือไม่ เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา หรือเมื่อเทียบกับการรักษาแบบอื่น เช่น PFMT แต่การใส่ pessaries เพิ่มจาก PFMT อาจช่วยให้อาการของสตรีและคุณภาพชีวิตที่เฉพาะเจาะจงต่ออาการหย่อนยานของอวัยวะดีขึ้น อย่างไรก็ตามอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จาก pessaries เมื่อเทียบกับการไม่รักษา หรือ PFMT
การทบทวนพบการศึกษาการประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์ 2 รายการ ที่เปรียบเทียบการรักษาด้วย pessary กับวิธีการทางเลือก (PFMT, การสังเกตอาการ, และการผ่าตัด)
สามารถดูภาพสรุปของผลลัพธ์บางส่วนจากบทวิจารณ์นี้ได้ ที่นี่
เราไม่แน่ใจว่า Pessaries ช่วยทำให้อาการหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานดีขึ้น เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา หรือเมื่อเทียบกับการรักษาแบบอื่น เช่น PFMT แต่ การใส่ Pessaries เพิ่มเติมจาก PFMT อาจช่วยทำให้อาการหย่อนยานของสตรีและคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จาก Pessaries เมื่อเทียบกับ PFMT การทดลองในอนาคตควรคัดเลือกให้มีจำนวนสตรีเพียงพอและวัดผลที่สำคัญทางการแพทย์ เช่น คุณภาพชีวิตที่เฉพาะเจาะจงต่ออาการห้อยยานของอวัยวะและการแก้ไขอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานสตรี
การทบทวนพบการประเมินทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง 2 รายการ ในจำนวนการศึกษาเหล่านี้ มีการศึกษา 1 รายการ ประเมินความคุ้มทุนของการรักษาโดย Pessary, การรักษาแบบประคับประคอง และการผ่าตัด และอื่นๆ เปรียบเทียบ pessary treatment กับ PFMT
อาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสตรี สตรีประมาณ 40% จะมีอาการหย่อนเกิดขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น สตรีมีอาการลำบากหลายอย่างอันเป็นผลมาจากอาการหย่อนยานของอวัยวะ รวมถึงความรู้สึกที่ 'มีบางอย่างตกลงมา' ในช่องคลอด ความเจ็บปวด ปัญหาการปัสสาวะ อาการทางลำไส้ และปัญหาทางเพศ การรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะ ได้แก่ การผ่าตัด การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT) และการใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด (vaginal pessaries) การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด (vaginal pessaries) เป็นอุปกรณ์เชิงกลที่ออกแบบมาเพื่อรองรับช่องคลอดและยึดอวัยวะที่หย่อนยานให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาค Pessaries ที่ใช้กันมากที่สุดทำจาก polyvinyl-chloride, polythene, silicone หรือ latex Pessaries มักใช้โดยแพทย์สำหรับรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะ
การศึกษานี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของ Cochrane หลังจากเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2003 และมีการปรับปรุงล่าสุดในปี 2013
เพื่อประเมินผลของห่วงพยุงทางช่องคลอด (อุปกรณ์เชิงกล) ในการจัดการอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานในสตรี และสรุปข้อค้นพบหลักของการประเมินทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับวิธีการรักษาเหล่านี้
เราสืบค้นหลักฐานจาก Cochrane Incontinence Specialized Register ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาที่ระบุจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials(CENTRAL), MEDLINE, MEDLINE In-Process, MEDLINE Epub Ahead of Print, CINAHL, ClinicalTrials.gov, WHO ICTRP และงานวิจัยจากการค้นหาเองและการดำเนินการประชุม (สืบค้นวันที่ 28 มกราคม 2020) นอกจากนี้ เราค้นหารายการอ้างอิงของบทความที่เกี่ยวข้องและติดต่อผู้เขียนของการศึกษาที่รวบรวมเข้ามา
เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมและแบบ quasi-randomised controlled trials ซึ่งศึกษาอาการหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอย่างน้อย 1 กลุ่มของการศึกษา
ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนประเมินบทคัดย่อ ดึงข้อมูล ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและดำเนินการประเมินตาม GRADE และมีผู้ทบทวนวรรณกรรมคนที่ 3 หากจำเป็น
เราได้รวมการศึกษา 4 รายการ ซึ่งมีสตรีทั้งหมด 478 คน ที่มีอาการจากการหย่อนยานของอวัยวะในระยะต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูง ในการศึกษา 1 รายการ มีสตรีที่ได้รับคัดเลือกเพียง 6 ใน 113 คนเท่านั้นที่ยินยอมให้มีการสุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับการรักษา (intevention) และไม่มีข้อมูลของสตรี 6 คนนั้น เราไม่สามารถทำการวิเคราะห์เมตต้าได้เนื่องจากการทดลองแต่ละเรื่องมีการเปรียบเทียบที่แตกต่างกัน ไม่มีการทดลองใดที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ถึงการแก้ปัญหาของอาการหย่อนยานของอวัยวะ หรือผลลัพธ์ทางด้านจิตวิทยา การศึกษาทั้งหมดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้อาการหย่อนยานที่ดีขึ้น
โดยทั่วไปการทดลองนี้มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในด้านการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากไม่มีการปกปิด และมีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในด้านการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ความเชื่อมั่นของหลักฐานถูกลดระดับลง เนื่องจากความไม่แม่นยำ เป็นผลเนื่องมาจากมีสตรีจำนวนน้อยที่เข้าร่วมในการทดลอง
ห่วงพยุงทางช่องคลอด (Pessary) เทียบกับ ไม่ได้รับการรักษา: ในการติดตามผล 12 เดือน เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของ Pessaries เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา ในการรับรู้ว่าอาการหย่อนยานของอวัยวะดีขึ้น (mean difference (MD) ของ questionnaire scores -0.03, 95% confidence interval (CI) -0.61 ถึง 0.55; สตรี 27 คน; การศึกษา 1 รายการ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำมาก) และการรักษาหรือปรับปรุงปัญหาทางเพศ (MD -0.29, 95% CI -1.67 ถึง 1.09; ผู้หญิง 27 คน; 1 การศึกษา; หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำมาก) ในการเปรียบเทียบนี้เราไม่พบหลักฐานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตอันเนื่องมาจากอาการหย่อนยานของอวัยวะหรือจำนวนสตรีที่ประสบกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือความยากลำบากในการปัสสาวะ)
ห่วงพยุงทางช่องคลอด (Pessary) เทียบกับการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT): ในการติดตามผล 12 เดือน เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่าง Pessaries และ PFMT หรือไม่ในแง่ของการรับรู้อาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานของสตรีที่ดีขึ้น (MD -9.60, 95% CI -22.53 ถึง 3.33; สตรี 137 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ), คุณภาพชีวิตอันเนื่องมาจากอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกราน (MD -3.30, 95% CI -8.70 ถึง 15.30; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 116 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) หรือการรักษาหรือปรับปรุงปัญหาทางเพศ (MD -2.30, 95% -5.20 ถึง 0.60; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 48 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) Pessaries อาจส่งผลให้ความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ PFMT (RR 75.25, 95% CI 4.70 ถึง 1205.45; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 97 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ การมีตกขาวที่เพิ่มขึ้นและ / หรือการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และ / หรือการสึกกร่อนหรือการระคายเคืองของผนังช่องคลอด
Pessary ร่วมกับ PFMT เทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว: ในการติดตามผล 12 เดือน Pessary ร่วมกับ PFMT อาจทำให้สตรีจำนวนมากรับรู้ว่าอาการหย่อนยานของตนดีขึ้นเมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว (RR 2.15, 95% CI 1.58 ถึง 2.94; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 260 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) เมื่อติดตามผล 12 เดือน Pessary ร่วมกับ PFMT อาจช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสตรีที่มีอาการหย่อนยานของอวัยวะเมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว (interquartile range (IQR)) POPIQ score: Pessary ร่วมกับ PFMT 0.3 (0 ถึง 22.2); สตรี 132 คน; PFMT เพียง 8.9 (0 ถึง 64.9); สตรี 128 คน; P = 0.02; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) Pessary ร่วมกับ PFMT อาจเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยของการมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติเมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว (RR 2.18, 95% CI 0.69 ถึง 6.91; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 260 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) หลักฐานไม่แน่นอนว่า Pessary ร่วมกับ PFMT มีผลต่อความเสี่ยงของความยากลำบากในการปัสสาวะลำบากเมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว (RR 1.32, 95% CI 0.54 ถึง 3.19; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 189 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ)
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว