ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) และเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) คืออะไร
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) เป็นภาวะที่ทำให้การหายใจถูกขัดจังหวะระหว่างการนอนหลับ ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ใช้เวลาในการนอนหลับพักผ่อนมากขึ้นและมีเวลาในการนอนหลับลึกน้อยลงและส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวันซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา
การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) เป็นการรักษาที่ให้อากาศที่มีแรงดันเพื่อทำให้ทางเดินหายใจเปิด การรักษาด้วยเครื่อง CPAP เกี่ยวข้องกับเครื่องที่มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คืออุปกรณ์ที่ครอบพอดีกับจมูกและปาก ท่อที่เชื่อมต่อหน้ากากกับเครื่องที่สร้างแรงดันลม และเครื่องสร้างแรงดันลมที่เป่าลมเข้าไปในท่อ
คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราทราบกันดีแล้วว่าเครื่อง CPAP ใช้รักษา OSA ได้อย่างมีประสิทธิภาพในคนส่วนใหญ่โดยทำให้อาการที่เป็นผลจาก OSA ดีขึ้น อย่างไรก็ตามหลายๆ คนก็ไม่ได้ใช้เครื่อง CPAP มากเท่าที่ได้รับคำแนะนำให้ใช้ เราต้องการดูการทดลองที่ออกแบบมาเพื่อให้ความรู้และแรงจูงใจให้กับผู้ที่มีภาวะ OSA ให้ใช้เครื่อง CPAP มากขึ้น
ลักษณะของการศึกษา
เราตรวจสอบหลักฐานจากการศึกษาแบบ randomised, parallel-group, controlled studies จากการสืบค้นวรรณกรรมที่ครอบคลุมและการประเมินการทดลอง เรารวบรวมการศึกษาได้ 41 เรื่อง (จำนวนผู้เข้าร่วม = 9005 คน) คนส่วนใหญ่ที่ประสบกับอาการง่วงนอนตอนกลางวันมากเกินไปและเพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ OSA ระยะเวลาของการศึกษาอยู่ระหว่าง 28 วันจนถึงสองปี
ผลการศึกษา
เราจัดกลุ่มการทดลองดังนี้ a)กลุ่มที่ได้รับการสอน b) กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุน c) กลุ่มที่ได้รับพฤติกรรมบำบัด และ d) กลุ่มที่ได้รับกิจกรรมแบบผสมผสาน (ใช้ทั้ง 3 เทคนิค)
เราพบว่าการทดลองที่ให้ทุกประเภทเพิ่มการใช้เครื่อง CPAP โดยมีระดับความน่าเชื่อถือที่แตกต่างกัน พฤติกรรมบำบัดช่วยเพิ่มการใช้เครื่องได้ 79 นาทีต่อคืน และการให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องอาจทำให้การใช้เครื่องเพิ่มขึ้นประมาณ 42 นาทีต่อคืน การให้ความรู้และการทดลองแบบผสมอาจเพิ่มการใช้เครื่อง CPAPได ้อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของหลักฐานนี้ต่ำมาก
นอกจากนี้เรายังต้องการดูผลลัพธ์ตัวอื่น ๆ เช่น การง่วงนอนตอนกลางวันโดยใช้ Epworth Sleepiness Scale (ESS) คุณภาพชีวิต ภาวะซึมเศร้า และดัชนีภาวะหยุดหายใจและหายใจแผ่วขณะหลับ (การวัดการหยุดหายใจชั่วขณะและการหายใจช้าหรือหายใจตื้น) การศึกษาทั้งหมดไม่ได้รวมถึงการตรวจสอบผลลัพธ์อื่นๆ เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมบำบัดอาจลดการง่วงนอนในตอนกลางวันได้
โดยทั่วไป การศึกษาคัดเลือกคนที่เพิ่งเริ่มใช้เครื่อง CPAP
คุณภาพของหลักฐาน
คุณภาพของหลักฐานสำหรับการใช้เครื่อง CPAP อย่างสม่ำเสมอที่เพิ่มขึ้นมีความแตกต่างกันอย่างมากในการศึกษาและประเภทการศึกษา เรามั่นใจว่ากิจกรรมที่ให้ด้านพฤติกรรมช่วยเพิ่มความสม่ำเสมอในการใช้เครื่องได้ประมาณ 70 นาทีต่อคืน คุณภาพของหลักฐานสำหรับการให้ความรู้ การช่วยเหลือสนับสนุนและการให้กิจกรรมแบบผสมยังไม่น่าเชื่อถือ คุณภาพของหลักฐานสำหรับอาการที่เกี่ยวข้องกับ OSA ได้แก่ การง่วงนอนตอนกลางวัน คุณภาพชีวิต ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าได้รับผลกระทบจากจำนวนการศึกษาที่น้อยที่วัดผลลัพธ์เหล่านี้
ในผู้ที่มีการหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกลั้น (OSA) และยังใหม่ต่อการใช้เครื่อง CPAP หลักฐานมีความเชื่อมั่นสูง ซึ่งบ่งชี้ว่าพฤติกรรมบำบัดทำให้การใช้อุปกรณ์รายชั่วโมงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ หลักฐานมีความเชื่อมั่นระดับปานกลางแสดงให้เห็นว่าการให้การสนับสนุนเพิ่มการใช้เครื่อง CPAP ได้เพียงเล็กน้อย หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากแสดงให้เห็นว่าการให้ความรู้และวิธีการแบบผสมอาจเพิ่มการใช้เครื่อง CPAP ได้เพียงเล็กน้อย ผลกระทบจากการใช้เครื่อง CPAP ที่ดีขึ้นต่อการง่วงนอนตอนกลางวัน คุณภาพชีวิต และคะแนนด้านอารมณ์และความวิตกกังวลยังไม่ชัดเจน เนื่องจากผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ได้รับการประเมินไว้ในการศึกษาที่รวบรวมได้ หลายๆ การศึกษาได้กล่าวถึงตัวเลือกของกิจกรรมการทดลองที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละรายที่ดีที่สุด ดังนั้นผลของการบำบัดที่ประสบความสำเร็จและคุ้มค่าที่สุดจึงเป็นที่ต้องการ
แม้ว่าการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) จะมีประสิทธิภาพสูง แต่ผู้ใช้ยังไม่ยอมรับเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) ในระดับสากล การให้ความรู้ การสนับสนุนและพฤติกรรมบำบัด อาจช่วยให้ผู้ที่มี OSA เริ่มต้นใช้เครื่อง CPAP และยังคงใช้เครื่องอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
เพื่อประเมินประสิทธิผลของกลยุทธ์ด้านการให้ความรู้ ด้านการสนับสนุน และด้านพฤติกรรมบำบัด หรือแบบผสม (การรวมกันของประเภทการทดลองที่ให้ตั้งแต่ 2 ประเภทขึ้นไป) เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใหญ่ที่ถูกกำหนดให้ใช้เครื่อง CPAP ให้ใช้อุปกรณ์ของตนเองได้
การสืบค้นได้ดำเนินการใน the Cochrane Airways Group Specialised Register of trials การสืบค้นหลักฐานที่มีจนถึงวันที่ 29 เมษายน 2019
เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) ที่ประเมินการทดลองที่ถูกออกแบบมาเพื่อแจ้งให้ผู้เข้าร่วมทราบเกี่ยวกับ CPAP / OSA ว่าเป็นการสนับสนุนพวกเขาในการใช้เครื่อง CPAP หรือเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาเพื่อเพิ่มการใช้เครื่อง CPAP
เราประเมินการศึกษาเพื่อพิจารณาความเหมาะสมที่จะรวบรวมเอาไว้ในการทบทวนวรรณกรรม ข้อมูลถูกดึงออกมาอย่างเป็นอิสระและถูกป้อนเข้าสู่ โปรแกรม RevMan เพื่อการวิเคราะห์ มีการประเมิน 'ความเสี่ยงของการมีอคติ' โดยใช้เครื่องมือ 'Risk of bias 2' ที่ปรับปรุงแล้วสำหรับผลลัพธ์หลักคือ การใช้เครื่อง CPAP การประเมิน 'ความเสี่ยงของการมีอคติ' ดำเนินการโดยใช้เครื่องมือประเมิน 'ความเสี่ยงของการมีอคติ' ดั้งเดิม การประเมิน GRADE ดำเนินการโดยใช้ GRADEpro
การศึกษา 41 เรื่อง (ผู้เข้าร่วมจำนวน 9005 คน) รวมอยู่ในการทบทวนนี้ การศึกษาใหม่จำนวน 16 เรื่องได้จากการสืบค้นใหม่ที่ทันสมัย คะแนน Baseline Epworth Sleepiness Scale (ESS) ระบุว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีปัญหาจากการง่วงนอนตอนกลางวันมากเกินไป ผู้เข้าร่วมที่ได้รับคัดเลือกส่วนใหญ่ไม่เคยใช้เครื่อง CPAP มาก่อน เมื่อตรวจสอบความเสี่ยงของการมีอคติสำหรับผลลัพธ์หลักของการใช้เครื่อง CPAP รายชั่วโมง / คืน พบว่า 58.3% ของการศึกษามีความเสี่ยงโดยรวมสูง (การศึกษา 24 เรื่องใน 41 เรื่อง) 39.0% ความเสี่ยงโดยรวมยังต้องนำมาพิจารณา (การศึกษา 16 เรื่องใน 41 เรื่อง) และ 2.4% มีความเสี่ยงโดยรวมต่ำ (การศึกษา 1 เรื่องใน 41 เรื่อง)
เราไม่แน่ใจว่าการให้ความรู้จะช่วยให้การใช้อุปกรณ์ดีขึ้นหรือไม่เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานได้รับการประเมินว่าต่ำมาก เราไม่สามารถทำการวิเคราะห์เมตต้าสำหรับจำนวนการถอนตัวออกจากการวิจัยและคะแนนอาการเนื่องจากมีความแตกต่างในการศึกษาสูง
การให้การสนับสนุนอาจเพิ่มการใช้งานอุปกรณ์ได้ 0.70 ชั่วโมง / คืน (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.36 ถึง 1.05, จำนวนผู้เข้าร่วม 1426 คน, การศึกษา 13 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำบ่งชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้เข้าร่วมที่ใช้อุปกรณ์ ≥ 4 ชั่วโมง/คืน อาจเพิ่มขึ้นจาก 601 เป็น 717 ต่อ 1000 (OR 1.68, 95% CI 1.08 ถึง 2.60, ผู้เข้าร่วม 376 คน, การศึกษา 2 เรื่อง) อย่างไรก็ตามจำนวนการถอนออกจากการวิจัยอาจเพิ่มขึ้นจาก 136 เป็น 167 ต่อ 1000 (OR 1.27, 95% CI 0.97 เป็น 1.66, จำนวนผู้เข้าร่วม 1702 คน, การศึกษา 11 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) ผู้เข้าร่วมอาจรู้สึกว่าอาการดีขึ้นเล็กน้อย (คะแนน ESS -0.32 คะแนน, 95% CI -1.19 ถึง 0.56, จำนวนผู้เข้าร่วม 470 คน, การศึกษา 5 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) และเราไม่แน่ใจว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นหรือไม่ด้วยการให้การสนับสนุนเนื่องจากความน่าเชื่อถือของหลักฐานถูกประเมินว่าต่ำมาก
เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ พบว่าพฤติกรรมบำบัดทำให้การใช้อุปกรณ์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกเป็น 1.31 ชั่วโมง/คืน (95% CI 0.95 ถึง 1.66, จำนวนผู้เข้าร่วม 578 คน, การศึกษา 8 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นสูง) จำนวนผู้เข้าร่วมที่ใช้เครื่อง CPAP ≥ 4 ชั่วโมง/คืน เพิ่มจาก 371 เป็น 501 ต่อ 1000 (OR 1.70, 95% CI 1.20 ถึง 2.41, จำนวนผู้เข้าร่วม 549 คน, การศึกษา 6 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นสูง) และลดจำนวนการถอนตัวออกจากการวิจัยจาก 146 เป็น 101 ต่อ 1000 (OR 0.66, 95% CI 0.44 ถึง 0.98, จำนวนผู้เข้าร่วม 939 คน, การศึกษา 10 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นสูง) พฤติกรรมบำบัดอาจลดอาการ (คะแนน ESS -2.42 คะแนน, 95% CI -4.27 ถึง -0.57, จำนวนผู้เข้าร่วม 272 คน, การศึกษา 5 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) แต่อาจไม่มีผลต่อคุณภาพชีวิต (แบบสอบถามผลลัพธ์การทำงานของการนอนหลับ (FOSQ), ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) 0.00, 0.95% CI -0.26 ถึง 0.26, จำนวนผู้เข้าร่วม 228 คน, การศึกษา 3 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) เราไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมบำบัดจะช่วยเพิ่มดัชนีภาวะหยุดหายใจและหายใจแผ่วขณะหลับ (AHI) หรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานได้รับการประเมินว่าต่ำมาก
เราไม่แน่ใจว่าวิธีการแบบผสมจะช่วยเพิ่มการใช้อุปกรณ์ เพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมที่ใช้เครื่อง CPAP ≥ 4 ชั่วโมง/คืน ลดการถอนตัวออกจากการวิจัย เพิ่มคุณภาพชีวิต หรือลดอาการวิตกกังวลหรือไม่ เนื่องจากมีการประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้ว่าต่ำมาก ไม่สามารถประเมินคะแนนอาการผ่าน ESS ได้เนื่องจากการศึกษามีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา
วราลักษณ์ กิตติวัฒน์ไพศาล วันที่ 26 มีนาคม 2021