บทนำและเป้าหมายของการศึกษา
อาการเคล็ด ขัดยอก และแผลฟกช้ำ เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย และผู้บาดเจ็บเหล่านั้นมักต้องการการบรรเทาอาการปวดด้วยยาชนิดรับประทาน ซึ่งอาจมีรูปแบบเป็นเม็ด หรือแคปซูล ยาบรรเทาอาการปวดในรูปแบบรับประทานนั้นอยู่หลายชนิดที่สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บในรูปแบบดังกล่าวได้ ผู้วิจัยจึงต้องการทราบความแตกต่างของระดับความปวด ระดับอาการบวม ประสิทธิภาพการใช้งานของอวัยวะที่บาดเจ็บ หรือ ผลข้างเคียงภายหลังการได้รับยา ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเฉียบพลันของเนื้อเยื่ออ่อน (เช่นแผลฟกช้ำ เคล็ด ขัดยอก) ระหว่างผู้บาดเจ็บที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ในรูปแบบรับประทาน (NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน, Ibuprofen) เปรียบเทียบกับ ผู้บาดเจ็บที่ได้รับการรักษาด้วยยาบรรเทาอาการปวดรูปแบบรับประทานชนิดอื่น ได้แก่ยาพาราเซตามอล และ กลุ่มยาซึ่งมีอนุพันธ์จากฝิ่น (opioids) (เช่น Codeine) หรือผู้บาดเจ็บที่ได้รับการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน (Complimentary medicine) หรือผู้บาดเจ็บที่ได้รับการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบัน (Alternative medicine) หรือการรักษาด้วยยาและวิธีต่างๆที่กล่าวมาร่วมกัน
บทความนี้เป็นบทความที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจาก Cochrane review ซึ่งได้รับการเผยแพร่ไปแล้วในปี ค.ศ. 2015
ผู้วิจัยได้ทำอะไร
ผู้วิจัยได้ทำการสืบค้นฐานข้อมูลทางการแพทย์จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 เพื่อรวบรวมงานวิจัยที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผลการใช้ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) กับยาบรรเทาอาการปวดชนิดอื่นๆ ในผู้ที่มีอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อน เช่นแผลฟกช้ำ เคล็ด ขัดยอก โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยสามารถมาได้จากทุกช่วงอายุ ผู้วิจัยได้วิเคราะห์หลักฐานการศึกษาที่รวบรวมไว้เพื่อตัดสินระบุถึงความน่าเชื่อถือ (ความเชื่อมั่น) ของหลักฐาน และได้จัดหมวดหมู่หลักฐานการศึกษาไว้ว่ามีความน่าเชื่อถือในระดับใดโดยแบ่งเป็นระดับความน่าเชื่อถือ สูง ปานกลาง ต่ำหรือต่ำมาก ระดับความน่าเชื่อถือสูงหมายความว่าผู้วิจัยมีความมั่นใจในหลักฐานการศึกษานั้นๆ ระดับความน่าเชื่อถือปานกลางหมายความว่าผู้วิจัยค่อนข้างมีความมั่นใจในหลักฐาน ระดับความน่าเชื่อถือต่ำหรือต่ำมากหมายความว่าผู้วิจัยไม่แน่ใจหรือไม่แน่ใจอย่างยิ่งในความน่าเชื่อถือของหลักฐานนั้นๆ
ผลการสืบค้น และรายละเอียดของการศึกษา
ผู้วิจัยได้ทำการรวบรวมการศึกษาวิจัยได้ทั้งหมด 20 เรื่อง มีจำนวนผู้เข้าร่วมในการศึกษาทั้งหมด 3305 คน มีการศึกษา 7 เรื่อง ที่ผู้เข้าร่วมในงานวิจัยเป็นผู้ที่มีอาการข้อเท้าแพลงเท่านั้น มีการศึกษา 3 เรื่องที่ผู้เข้าร่วมเป็นเด็กเท่านั้น สำหรับการศึกษาอื่นๆ ที่ผู้วิจัยได้รวมรวมไว้ ผู้เข้าร่วมในการศึกษาส่วนใหญเป็นคนในวัยหนุ่มสาว และเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย จากหลักฐานการศึกษาที่ผู้วิจัยรวบรวมมาพบว่ามีผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเป็นส่วนน้อย มีการศึกษา 11 เรื่อง เปรียบเทียบการใช้ยากลุ่ม NSAIDs กับยาพาราเซตามอล มีการศึกษา 6 เรื่อง เปรียบเทียบการใช้ยา NSAIDs กับยากลุ่ม Opioids และมีการศึกษา 4 เรื่องที่เปรียบเทียบการใช้ยากลุ่ม NSAIDs กับการใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยากลุ่ม Opioid การศึกษาที่รวบรวมมาทั้งหมดนั้นกล่าวถึงผลลัพธ์หลังการได้รับยาตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ไปจนถึงช่วงเวลา 10 ถึง 14 วันหลังการได้รับยา
ผลลัพธ์ของการศึกษา
จากการศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างของระดับความปวดที่เวลา 1-2 ชั่วโมง และ ที่เวลา 2-3 วัน ในผู้ใช้ยากลุ่ม NSAIDs และผู้ใช้ยายาพาราเซตามอล (หลักฐานมีความเชื่อมั่นสูง) และอาจไม่มีความแตกต่างกันหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ขึ้นไปเช่นกัน (มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) มีหลักฐานว่ายากลุ่ม NSAIDs อาจสร้างความแตกต่างเล็กน้อยกับอาการบวมหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ผู้วิจัยยังไม่พบชัดเจนว่ายากลุ่ม NSAIDs จะสร้างความแตกต่างในการฟื้นตัวกลับมาใช้งานได้ของอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) มีหลักฐานว่ายากลุ่ม NSAIDs อาจเพิ่มผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เล็กน้อยเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)
ผู้วิจัยยังพบว่าอาจไม่มีความแตกต่างระหว่างยากลุ่ม NSAIDs และยากลุ่ม Opioids ในเรื่องระดับความปวดที่เวลา 1 ชั่วโมง (หลักฐานความเชื่อมั่นระดับปานกลาง) และอาจไม่มีความแตกต่างที่เวลา 4 หรือ 7 วัน (หลักฐานความความเชื่อมั่นต่ำ) และไม่พบอย่างชัดเจนว่ายากลุ่ม NSAIDs จะสร้างความแตกต่างของอาการบวมหลังผ่านไป 10 วัน (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) มีหลักฐานความเชื่อมั่นตว่า ยากลุ่ม NSAIDs อาจช่วยเพิ่มการฟื้นตัวกลับมาใช้งานได้ของอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บใน 7 ถึง 10 วัน มีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางว่า ยากลุ่ม NSAIDs อาจส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เช่นคลื่นไส้ และเวียนศีรษะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยากลุ่ม opioids
จากหลักฐานการศึกษาแสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างการใช้ยายากลุ่ม NSAIDs เปรียบเทียบกับการใช้ยาพาราเซตามอลรวมกับยากลุ่ม Opioids ในเรื่องระดับความปวด อาการบวม ประสิทธิภาพการฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ของอวัยวะที่บาดเจ็บ หรือผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตามหลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก เราจึงไม่สามารถแน่ใจในผลการศึกษาเหล่านี้ได้
ไม่มีหลักฐานการศึกษาใดรายงานเรื่องความเสี่ยงของการบาดเจ็บซ้ำหลังการรักษา
ผู้วิจัยไม่พบหลักฐานการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยากลุ่ม NSAIDs กับการรักษาทางเลือกอื่นๆ (Complimenntary หรือ alternative medicines)
สรุปผลการศึกษา
จากการรวบรวมหลักฐานการศึกษาจนถึงปัจจุบันนั้น ยังไม่พบความแตกต่างระหว่างการใช้ยากลุ่ม NSAIDs กับยาบรรเทาปวดชนิดอื่น ๆ เพื่อรักษาอาการปวด เคล็ด ขัดยอก และแผลฟกช้ำในผู้บาดเจ็บที่มีอายุน้อย อย่างไรก็ตามผู้วิจัยยังคงต้องการหลักฐานการศึกษาที่ดีกว่านี้เพิ่มเติมในเรื่องประสิทธิภาพการฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ของอวัยวะที่บาดเจ็บ และผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ในทุกกลุ่มอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ
เมื่อเทียบกับยาพาราเซตามอลแล้ว ยากลุ่ม NSAIDs ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องระดับความปวด ที่เวลา 1-2 ชั่วโมง และ 2-3 วัน และยังอาจไม่มีความแตกต่างกันที่เวลา 7 วันหรือเกินกว่านั้น ยากลุ่ม NSAIDs อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และอาจไม่แตกต่างกันในเรื่องผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของระบบประสาทเมื่อเทียบกับยาพาราเซตามอล
เมื่อเทียบกับยากลุ่ม Opioids แล้วยากลุ่ม NSAIDs อาจไม่มีความแตกต่างกันเรื่องระดับความปวด ใน 1 ชั่วโมงและอาจไม่มีความแตกต่างเช่นกันของระดับความปวดในวันที่ 4 หรือ 7 และยากลุ่ม NSAIDs อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยากลุ่ม Opioids
หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากในเรื่องการเปรียบเทียบผลลัพธ์การใช้ยากลุ่ม NSAIDs เทียบกับการใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยากลุ่ม Opioids ทำให้ผู้วิจัยไม่สามารถเชื่อมั่นในผลการวิจัยว่าไม่มีความแตกต่างในเรื่องความเจ็บปวดหรือผลข้างเคียง
ด้วยหลักฐานการศึกษาในปัจจุบันนั้น ไม่ควรนำผลการศึกษาไปอนุมานปรับใช้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเนื่องจากผู้บาดเจ็บกลุ่มอายุนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนประชากรที่เหมาะสมในของหลักฐานศึกษาต่างๆที่รวบรวมมา
การบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย และมีค่าใช่จ่ายในการรักษาสูง แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการใช้ยาชนิดใดจะให้ผลการรักษาได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) มักเป็นยากลุ่มที่ถูกแนะนำให้ใช้ในการรักษา สำหรับการใช้กลุ่มยาซึ่งมีอนุพันธ์จากฝิ่น (โอปิออยด์,Opioids) ในรูปแบบรับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดเฉียบพลันนั้นยังมีความกังวลว่าอาจนำไปสู่การเสพติดได้ บทความนี้เป็นบทความที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดจาก Cochrane Review ซึ่งได้รับการเผยแพร่ไปแล้วในปีค.ศ. 2015
เพื่อประเมินผลดี หรือผลเสียของการใช้ยาด้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เปรียบเทียบกับการใช้ยาบรรเทาอาการปวดชนิดต่างๆในรูปแบบรับประทาน สำหรับการรักษาอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนเฉียบพลัน
ผู้วิจัยได้ค้นหาข้อมูลจากวารสาร CENTRAL ค.ศ.2020 ฉบับที่ 1, MEDLINE (ตั้งแต่ปีค.ศ.1946) และ Embase (ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980) ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 ในส่วนของฐานข้อมูลอื่น ๆ ได้รับการสืบค้นจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2019
ผู้วิจัยได้รวบรวมงานวิจัยชนิดการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (Randomised Controlled Trials, RCT) หรือ ชนิดการวิจัยแบบ Quasi-Randomised Controlled Trials ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออ่อนเฉียบพลัน (อาการเคล็ด ขัดยอก อาการบาดเจ็บฟกช้ำของข้อ เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อ) ที่เกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง รวมไว้ในการศึกษานี้ และเป็นการศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ชนิดรับประทาน กับ ยาพาราเซตามอล (Acetaminophen), กลุ่มยาซึ่งมีอนุพันธ์ของฝิ่น (โอปิออยด์, Opioids), ยาพาราเซตามอลร่วมกับ Opioids หรือการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน (Complimentary medicine) หรือการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบัน (Alternative medicine) ผลลัพธ์ที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบคือ ระดับความปวด ระดับอาการบวม ประสิทธิภาพการฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ของอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ และการบาดเจ็บซ้ำในระยะแรก
ผู้วิจัย 2 คน ทำการประเมินการศึกษาที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้า ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ อย่างอิสระต่อกัน และประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของ GRADE (Grading of Recommendations, Assessment, Development and Evaluations)
ผู้วิจัยได้ทำการรวบรวมการศึกษาวิจัยได้ทั้งหมด 20 เรื่อง มีจำนวนผู้เข้าร่วมในการศึกษาทั้งหมด 3305 คน มีการศึกษา 3 เรื่องที่ผู้เข้าร่วมเป็นเด็กเท่านั้น ส่วนในหลักฐานงานวิจัยอื่นๆพบว่า ผู้เข้าร่วมในงานวิจัยจะประกอบไปด้วยผู้บาดเจ็บในวัยหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่ และประมาณ 60% เป็นเพศชาย มีการศึกษา 7 เรื่องที่ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ที่มีอาการข้อเท้าแพลงเท่านั้น หลักฐานการศึกษาส่วนใหญ่ที่ถูกรวบรวมเข้ามาพบว่ามีความเสี่ยงในการมีอคติของการศึกษาต่ำหรือไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามมีการศึกษา 2 เรื่องที่ผู้วิจัยพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติจากการเลือกตัวอย่าง (Selection bias), มีการศึกษา 3 เรื่อง ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติซึ่งเกิดความไม่สมบูรณ์ในกระบวนปกปิดในการวิจัย (Bias from lack of binding) และ มีการศึกษา 5 เรื่อง ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติจากความเอนเอียงในการรายงานผลลัพธ์ (Reporting bias) มีหลักฐานการศึกษาบางเรื่องเกี่ยวกับการบรรเทาอาการปวดที่มีความเชื่อมั่นสูง ในส่วนของหลักฐานการศึกษาอื่นๆ นั้นพบว่ามีทั้งหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง ต่ำ หรือต่ำมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการศึกษา, ความไม่เที่ยงตรงของการศึกษา หรือปัจจัยต่างๆ ร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงมีความเชื่อมั่น หรือมีความเชื่อมั่นปานกลางในหลักฐานการศึกษาที่ถูกรวบรวมมาในบางส่วน และยังมีความไม่มั่นใจ หรือไม่มั่นใจอย่างมากในหลักฐานการศึกษาอื่นๆ ที่ถูกรวบรวมมานอกจากนั้น
จากการรวบรวมหลักฐานการศึกษา ผู้วิจัยพบว่ามี 11 เรื่อง รวมผู้เข้าร่วมวิจัย 1853 คน ทำการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยากลุ่ม NSAIDs กับยาพาราเซตามอล ซึ่งผู้วิจัยไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องระดับความปวดของผู้บาดเจ็บทั้งสองกลุ่ม ที่เวลา 1-2 ชั่วโมง (ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 1178 คน จากการศึกษา 6 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นสูง), ในวันที่ 1-3 (ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 1232 คนจากการศึกษา 6 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นสูง) และในวันที่ 7 หรือมากกว่านั้น (ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 467 คนจากการศึกษา 4 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) สำหรับเรื่องระดับอาการบวม พบความแตกต่างของระดับความบวมเพียงเล็กน้อยในวันที่ 7 หรือมากกว่านั้น ในแต่ละกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา (ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 77 คนจากการศึกษา 1 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก จากการศึกษา 3 เรื่อง (ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 386 คน) พบว่าไม่สามารถแน่ใจได้ถึงผลลัพธ์ความแตกต่างระหว่างผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งสองกลุ่มในเรื่องการฟื้นคืนของประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะที่บาดเจ็บในวันที่ 7 หรือ มากกว่านั้น มีหลักฐานว่ายา NSAIDs อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ในระบบทางเดินอาหารเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพาราเซตามอล (ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 1504 คนจากการศึกษา 10 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ จากการศึกษา 9 เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 1679 คน) เกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาพบว่า มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยระหว่างผู้ใช้ยากลุ่ม NSAIDs และผู้ใช้ยาพาราเซตามอล
การศึกษา 6 เรื่อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 1212 คน ได้ศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยากลุ่ม NSAIDs กับ การใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยากลุ่ม Opioids โดยจากหลักฐานการศึกษาที่มีความเชื่อมั่นปานกลางพบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มการศึกษาในเรื่องระดับความปวดที่ 1 ชั่วโมง (ผู้เข้าร่วม 1058 คน จากการศึกษา 4 เรื่อง) และหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำพบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มการศึกษาในเรื่องระดับความปวดในวันที่ 4 หรือ วันที่ 7 (ผู้เข้าร่วม 706 คน จากการศึกษา 1 เรื่อง) ไม่พบว่ามีความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งสองกลุ่มในเรื่องระดับอาการบวม (ผู้เข้าร่วม 84 คนจากการศึกษา 1 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) กลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่ใช้ยา NSAIDs มีแนวโน้มของอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บจะฟื้นฟูกลับมาใช้การได้ ภายใน 7 ถึง 10 วัน (ผู้เข้าร่วม 542 คนจากการศึกษา 2 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) และมีหลักฐานว่าในกลุ่มผู้ใช้ยา NSAIDs มีโอกาสน้อยที่จะส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ของระบบทางเดินอาหารหรือระบบประสาทเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใช้ยา Opioids (ผู้เข้าร่วมง 1143 คนจากการศึกษา 5 เรื่อง, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)
จากหลักฐานการศึกษาที่รวบรวมเข้ามา มีการศึกษา 4 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 240 คน เปรียบเทียบผลการใช้ยากลุ่ม NSAIDs กับ การใช่ยาพาราเซตามอล ร่วมกับยากลุ่ม Opioids นั้นยังมีความกังขาในการนำผลการศึกษาเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้จริงเนื่องจากยาบรรเทาอาการปวดที่มีตัวยา Dextropropoxyphene รวมอยู่ด้วยนั้นไม่ถูกใช้สำหรับการรักษาในปัจจุบันแล้ว หลักฐานดังกล่าวถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากโดยจากหลักฐานบ่งชี้ว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างการใช้ยาทั้งสองกลุ่ม ในเรื่องระดับความปวด ซึ่งแทบจะไม่มีหรือไม่มีเลยในผู้บาดเจ็บทั้ง 2 กลุ่ม ในวันแรก (ผู้เข้าร่วม 51 คนจาก การศึกษา 1 เรื่อง), ในวันที่ 3 (ผู้เข้าร่วม 149 คนจากการศึกษา 2 เรื่อง) หรือในวันที่ 7 (ผู้เข้าร่วม 138 คนจากการศึกษา 2 เรื่อง) ในเรื่องระดับอาการบวม (ผู้เข้าร่วม 230 คนจากการศึกษา 3 เรื่อง) ในเรื่องการฟื้นฟูอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บจนสามารถกลับมาใช้งานได้ (ผู้เข้าร่วม 89 คนจากการศึกษา 1 เรื่อง) และในเรื่องอาการไม่พึงประสงค์ของระบบทางเดินอาหาร หรือระบบประสาท (ผู้เข้าร่วม 141 คนจากการศึกษา 3 เรื่อง)
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงเรื่องอัตราการบาดเจ็บซ้ำ
ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยากลุ่ม NSAIDs ชนิดรับประทานกับการรักษาทางเลือกอื่นๆ (Complimenntary หรือ alternative medicines)
ในเรื่องการเปรียบเทียบผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของระบบทางเดินอาหาร ระหว่างยากลุ่ม NSAIDs และยากลุ่ม Opioids งานวิจัยนี้จะกล่าวถึงเรื่อง อาการคลื่นไส้