คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เพื่อที่จะประเมินว่าการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระเสริมเมื่อเทียบกับยาหลอก การไม่รักษา/การรักษามาตรฐาน หรือสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆนั้น จะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากหรือไม่ 'การรักษามาตรฐาน' ประกอบด้วยการให้กรดโฟลิกปริมาณน้อยกว่า 1 มก.
ความเป็นมา
สตรีที่มีภาวะมีบุตรยากจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาภาวะเจริญพันธุ์ยังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คู่สมรสนั้นจะมีความตึงเครียดอย่างมาก จึงมีความสำคัญที่คู่สมรสเหล่านี้ควรจะได้รับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีมาตรฐานสูงเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระเสริมในขณะที่รับการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้นจะช่วยให้การรักษาสำเร็จหรือก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน นอกจากนั้นแล้วยังมีความสำคัญเนื่องจากสารต้านอนุมูลอิสระส่วนใหญ่จำหน่ายได้โดยไม่มีการควบคุม การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินว่าการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์และมีลูกในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยาก
ช่วงเวลาที่สืบค้น
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนกันยายน 2019
ลักษณะของการศึกษา
การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้รวบรวมถึงการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ 63 การศึกษา ที่เปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระกับยาหลอกหรือการไม่มีการรักษา/ การรักษามาตรฐานหรือกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ ในสตรีทั้งหมด 7760 คน
แหล่งทุน
แหล่งเงินทุนได้รับการรายงานจากการทดลองเพียง 27 ครั้งจาก 63 การศึกษาที่รวบรวม
ผลการศึกษาที่สำคัญ
เราไม่แน่ใจว่าการใช้สารต้านอนุมูลอิสระจะเพิ่มการเกิดมีชีพหรือไม่เนื่องจากหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก เมื่ออ้างอิงผลการศึกษาเหล่านี้ พบว่าในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากซึ่งไม่ได้รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระทุกๆ 100 คน จะมี 20 คนที่มีบุตรได้ ในขณะที่สตรีที่มีภาวะมีบุตรยากซึ่งรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระจะมีบุตรได้ในอัตรา 26 ถึง 43 คนต่อ 100 คนซึ่งรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ หลักฐานคุณภาพต่ำชี้ให้เห็นว่าสารต้านอนุมูลอิสระอาจเกี่ยวข้องกับอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกที่เพิ่มขึ้น การรายงานผลข้างเคียงไม่ค่อยเป็นระบบ แต่การใช้สารต้านอนุมูลอิสระไม่ได้นำไปสู่การแท้งบุตร การตั้งครรภ์แฝด ผลต่อระบบอาหารหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกมากขึ้น
หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างในการเกิดมีชีพหรืออัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกเมื่อเปรียบเทียบเมลาโทนินขนาดที่ต่ำกว่ากับขนาดที่สูงขึ้น เราคาดการณ์ว่าจากสตรีที่มีบุตรยาก 100 คนที่ไม่ได้รับเมลาโทนินในขนาดต่ำ 24 คนจะมีลูก เมื่อเทียบกับสตรี 12 ถึง 40 คนต่อ 100 คนที่จะมีลูกหากรับประทานเมลาโทนินในขนาดที่สูงขึ้น
สามการทดลองที่รายงานเกี่ยวกับการแท้งบุตรในการเปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระ (เมลาโทนินที่ใช้สองขนาดและการเปรียบเทียบ N-acetylcysteine เทียบกับ L-carnitine) ไม่มีการแท้งบุตรในการทดลองโดยใช้เมลาโทนิน ไม่มีรายงานการตั้งครรภ์แฝดและการรบกวนระบบทางเดินอาหาร มีรายงานการตั้งครรภ์นอกมดลูกโดยการศึกษาเดียวโดยไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
การศึกษาเปรียบเทียบ N-acetylcysteine กับ L-carnitine ไม่ได้รายงานผลอัตราการเกิดมีชีพ หลักฐานคุณภาพต่ำมากแสดงว่าไม่มีความแตกต่างในการตั้งครรภ์ทางคลินิก หลักฐานคุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างในการแท้งบุตร การศึกษาไม่ได้รายงานการตั้งครรภ์แฝด การรบกวนระบบทางเดินอาหาร หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก
คุณภาพของหลักฐาน:
คุณภาพโดยรวมของงานหลักฐานถูกจำกัดโดย ความเสี่ยงของอคติที่รุนแรงเกี่ยวกับการรายงานรูปแบบงานวิจัย ความไม่แม่นยำ และความไม่สอดคล้องกัน
ในการทบทวนวรรณกรรมนี้มีหลักฐานคุณภาพต่ำถึงต่ำมากที่แสดงให้เห็นว่าการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระอาจเป็นประโยชน์ต่อสตรีที่มีบุตรยาก โดยรวมแล้วไม่มีหลักฐานที่แสดงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการแท้งบุตร การเตั้งครรภ์แฝด ผลกระทบของระบบทางเดินอาหารหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก ในขณะนี้ มีหลักฐานที่จำกัดในการสนับสนุนว่าให้รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระเสริมสำหรับสตรีที่มีบุตรยาก
คู่สมรสที่อาจจะจัดได้ว่ามีปัญหาในแง่ของการเจริญพันธ์คือ คู่ที่พยายามมีบุตรมากว่าหนึ่งปีแต่ยังไม่สำเร็จ ปัญหานี้อาจพบได้ถึงหนึ่งในสี่ของคู่สมรสที่วางแผนมีบุตร ประมาณร้อยละ 40 ถึงร้อยละ 50 ของคู่สมรส ภาวะมีบุตรยากอาจเกิดจากหลายปัจจัยของฝ่ายหญิง สารต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยลดภาวะ oxidative stress ในสตรีเหล่านี้ ในปัจจุบัน มีหลักฐานงานวิจัยที่จำกัด บ่งชี้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ และผลการศึกษายังค่อนข้างแตกต่างกัน การทบทวนวรรณกรรมนี้เพื่อประเมินประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันในภาวะมีบุตรยากของสตรี
เพื่อที่จะประเมินว่าการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระเสริมเมื่อเทียบกับยาหลอก การไม่รักษา/การรักษาตามมาตรฐาน หรือสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆนั้น จะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ในสตรีที่มีบุตรยากหรือไม่
เราค้นหาฐานข้อมูลต่อไปนี้ (ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงกันยายน 2019) โดยไม่มีการจำกัดภาษาหรือวันที่: ผู้วิจัยได้สืบค้นข้อมูลใน Cochrane Gynaecology and Fertility Group (CGFG) specialised register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL และ AMED เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้องและค้นหาทะเบียนการทดลอง
การทบทวนวรรณกรรมนี้รวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ซึ่งเปรียบเทียบ ชนิด ปริมาณ หรือการรวมกันของอาหารเสริมต้านอนุมูลอิสระแบบรับประทานกับยาหลอก ไม่มีการรักษาหรือการรักษาด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ในสตรีที่เข้ารับการรักษาในคลินิกการเจริญพันธุ์ เราไม่รวมการทดลองเปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระกับยารักษาภาวะเจริญพันธุ์เพียงอย่างเดียวและการทดลองที่รวมเฉพาะสตรีที่มีภาวะเจริญพันธุ์ปกติที่เข้ารับการรักษาในคลินิกการเจริญพันธุ์เนื่องจากปัญหาเพศชายมีบุตรยาก
ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane ผลการตรวจสอบหลักคือการเกิดมีชีพ ผลลัพธ์ทุติยภูมิ ได้แก่ อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
เราได้รวม 63 การทดลองที่เกี่ยวข้องกับสตรี 7760 คน นักวิจัยเปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระแบบรับประทาน ได้แก่ สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด N -acetylcysteine เมลาโทนิน L-arginine ไมโออิโนซิทอล คาร์นิทีน ซีลีเนียม วิตามินอี วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินดีร่วมกับแคลเซียม CoQ10 และโอเมก้า 3 - กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เทียบกับยาหลอก ไม่มีการรักษา/การรักษาตามมาตรฐาน หรือสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ มีการรายงานแหล่งเงินทุนที่ได้รับจากเพียง 27 จาก 63 การทดลอง
เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานที่ต่ำมากทำให้เราไม่แน่ใจว่าสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา/การรักษามาตรฐาน (odds ratio (OR) 1.81, 95% confidence interval (CI) 1.36 ถึง 2.43; P <0.001 , I 2 = 29%; 13 RCTs, สตรี 1227 คน) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีบุตรยากที่มีอัตราการเกิดมีชีพอยู่ที่ ร้อยละ 19 อัตราของผู้หญิงที่ใช้สารต้านอนุมูลอิสระจะอยู่ระหว่างร้อยละ 24 ถึงร้อยละ 36
จากหลักฐานคุณภาพต่ำมากพบว่า สารต้านอนุมูลอิสระอาจจะสัมพันธ์กับอัตราการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือการไม่รักษา/การรักษาตามมาตรฐาน (OR 1.65, 95% CI 1.43 ถึง 1.89; P < 0.001, I2 = 63%; 35 RCTs, สตรี 5165 คน) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีบุตรยากมีอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 19 อัตราของผู้หญิงที่ใช้สารต้านอนุมูลอิสระจะอยู่ระหว่างร้อยละ 25 ถึงร้อยละ 30 ความแตกต่างของแต่ละงานวิจัย (Heterogeneity) อยู่ในระดับสูงพอสมควร
โดยรวม 28 การทดลอง รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆในการวิเคราะห์อภิมาน หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการใช้สารต้านอนุมูลอิสระไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในเรื่องอัตราการแท้งบุตร ((OR 1.13, 95% CI 0.82 ถึง 1.55; P = 0.46, I 2 = 0%; 24 RCTs, สตรี 3229 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) . ไม่มีหลักฐานงานวิจัยเพียงพอที่จะตัดสินได้ว่า มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในแง่ของอัตราการตั้งครรภ์แฝด (OR 1.00, 95% CI 0.63 ถึง 1.56; P = 0.99, I2 = 0%; 9 RCTs, สตรี 1886 คน;หลักฐานคุณภาพต่ำ) นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่มีอัตราการรบกวนระบบทางเดินอาหาร (OR 1.55, 95% CI 0.47 ถึง 5.10; P = 0.47, I 2 = 0%; 3 RCTs, ผู้หญิง 343 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในอัตราการตั้งครรภ์นอกมดลูก (OR 1.40, 95% CI 0.27 ถึง 7.20; P = 0.69, I 2 = 0%; 4 RCTs, สตรี 404 คน)
ในการเปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระ หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างของอัตราการเกิดมีชีวิตที่เพิ่มขึ้นในเมลาโทนินขนาดต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเมลาโทนินในขนาดที่สูงขึ้น (OR 0.94, 95% CI 0.41 ถึง 2.15; P = 0.89, I 2 = 0%; 2 RCTs, สตรี 140 คน) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีบุตรยากที่มีอัตราการเกิดมีชีพอยู่ที่ ร้อยละ 24 อัตราของผู้หญิงที่ใช้เมลาโทนินในขนาดต่ำกว่าเมื่อเทียบกับขนาดที่สูงขึ้นจะอยู่ระหว่างร้อยละ 12 ถึง ร้อยละ 40 ในทำนองเดียวกันกับการตั้งครรภ์ทางคลินิก ไม่มีหลักฐานความแตกต่างระหว่างกลุ่มในอัตราระหว่างเมลาโทนินขนาดที่ต่ำกว่าและสูงกว่า (OR 0.94, 95% CI 0.41 ถึง 2.15; P = 0.89, I 2 = 0%; 2 RCTs, สตรี 140 คน)
สามการทดลองที่รายงานเกี่ยวกับการแท้งบุตรในการเปรียบเทียบสารต้านอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระ (เมลาโทนินที่ใช้สองขนาดและการเปรียบเทียบ N-acetylcysteine เทียบกับ L-carnitine) ไม่มีการแท้งบุตรในการทดลองโดยใช้เมลาโทนิน ไม่มีรายงานการตั้งครรภ์แฝดและการรบกวนระบบทางเดินอาหาร มีรายงานการตั้งครรภ์นอกมดลูกโดยการศึกษาเดียวโดยไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น การศึกษาเปรียบเทียบ N-acetylcysteine กับ L-carnitine ไม่ได้รายงานผลอัตราการเกิดมีชีพ หลักฐานคุณภาพต่ำมากแสดงว่าไม่มีความแตกต่างในการตั้งครรภ์ทางคลินิก (OR 0.81, 95% CI 0.33 ถึง 2.00; 1 RCT, สตรี 164 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) หลักฐานคุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างในการแท้งบุตร (OR 1.54, 95% CI 0.42 ถึง 5.67; 1 RCT, สตรี 164 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) การศึกษาไม่ได้รายงานการตั้งครรภ์แฝด การรบกวนระบบทางเดินอาหาร หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก
คุณภาพโดยรวมของงานวิจัยถูกจำกัดโดย อคติของงานวิจัยที่เกี่ยวกับการรายงานรูปแบบงานวิจัย ความไม่แม่นยำ และความไม่สอดคล้องกันของงานวิจัย
ผู้แปล พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Translation notes CD007807.pub4