คำถามของการทบทวน
เราทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับผลของยาทาเฉพาะที่ (ทาบนพื้นผิวของผิวหนัง) สำหรับการรักษาแผลไหม้บนใบหน้าหรือลำคอ เราต้องการค้นหาว่าการรักษาใดมีประสิทธิผลที่สุดต่อการหายของแผลเหล่านี้และแก้ไขลักษณะของแผลเป็น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บจากการไหม้ที่ใบหน้า นอกจากนี้เรายังต้องการค้นหาการรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ส่งผลอย่างไรต่อความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ ความเจ็บปวด และส่งผลอย่างไรต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ความเป็นมา
การบาดเจ็บจากการไหม้เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และเป็นสาเหตุทั่วโลกที่สำคัญของความพิการและการทำให้เสียโฉมทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ สตรีและเด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะ แผลไหม้ก่อให้เกิดปัญหาเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นที่ศีรษะหรือคอ ใบหน้าเป็นศูนย์กลางของตัวตนของบุคคลและมีบทบาทสำคัญในการสื่อสาร หน้าที่พื้นฐานอื่น ๆ เช่น การได้ยิน การรับกลิ่น และการหายใจ อาจได้รับผลกระทบซึ่งเป็นผลโดยตรงของการไหม้ที่ใบหน้า การรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ เช่น ยาครีมต้านจุลชีพ/ไม่ต้านจุลชีพ และสิ่งทดแทนผิวหนังถูกใช้บ่อยที่สุดเพื่อรักษาแผลไหม้ที่ใบหน้า เราต้องการเปรียบเทียบประสิทธิผลของการรักษาเหล่านี้เพื่อประเมินประโยชน์และอันตราย
ลักษณะของการศึกษา
ในเดือนธันวาคม ปี 2019 เราค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (randomised controlled trials; RCTs) ที่ศึกษายาทาเฉพาะที่สำหรับแผลไหม้ที่ใบหน้า RCTs เป็นการศึกษาทางการแพทย์ซึ่งเลือกการรักษาหรือการดูแลแก่ประชาชนโดยการสุ่ม การออกแบบการศึกษาประเภทนี้ให้หลักฐานด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือที่สุดว่าวิธีการรักษาหรือการดูแลที่แตกต่างกันสามารถสร้างความแตกต่างได้หรือไม่ เราพบการศึกษา 12 เรื่อง งานที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้าในการปรับปรุงการทบทวน (review update) นี้ โดยมีผู้เข้าร่วม 507 คน ที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 5.3 ถึง 41.9 ปี โดยการศึกษา 3 เรื่อง เปรียบเทียบระหว่างยาต้านจุลชีพกับยาที่ไม่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีการศึกษา 2 เรื่อง เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างยาต้านจุลชีพที่แตกต่างกัน และการศึกษา 4 เรื่อง เปรียบเทียบสิ่งทดแทนผิวหนังกับยาต้านจุลชีพ ขณะที่การศึกษา 4 เรื่อง เปรียบเทียบยาทาเฉพาะที่ชนิดหลากหลายชนิด มีการศึกษา 1 เรื่อง ที่มีสองการเปรียบเทียบ การศึกษา 8 เรื่อง มีขนาดเล็ก (ผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 40 คน) และการศึกษาเกือบทั้งหมดมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง เนื่องจากขาดการปกปิดหรือ blinding (ซึ่งผู้เข้าร่วมงานวิจัยกับผู้ประเมินอาจรู้ว่าผู้เข้าร่วมงานวิจัยจัดอยู่กลุ่มใด และการแปลผลอาจเปลี่ยนไป)
ผลลัพธ์หลัก
โดยภาพรวม มีหลักฐานที่ความแน่นอนในระดับต่ำถึงต่ำมากต่อผลลัพธ์ของการใช้ยาทาเฉพาะที่ต่อการหายของแผลหรือการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีแผลไหม้ที่ใบหน้า นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่มีความแน่นอนในระดับต่ำถึงต่ำมากต่อผลของการรักษาที่รวบรวมมาบนความจำเป็นเพื่อการผ่าตัด ความเจ็บปวด คุณภาพของแผลเป็น ความพึงพอใจของผู้ป่วย ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล และผลข้างเคียง
ผลลัพธ์ทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติและมีความหลากหลายซึ่งอาจทำให้ให้ผลเกินจริง
ความเชื่อมั่นของหลักฐาน
โดยภาพรวม ความแน่นอนของหลักฐานที่เกี่ยวกับประสิทธิผลของการรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่สำหรับแผลไหม้บนใบหน้าอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ไม่เพียงพอว่าการรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ช่วยปรับปรุงผลลัพธ์สำหรับผู้ที่มีแผลไหม้บนใบหน้ารวมถึงเพิ่มการหายของแผล หรือ ลดอัตราการติดเชื้อ การออกแบบการทดลองและการรายงานการศึกษาที่ดีขึ้นมีความจำเป็นเพื่อให้เกิดการดูแลแผลไหม้ตามหลักฐานที่มี
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้
เราค้นหาการศึกษาที่ตีพิมพ์จนถึงเดือนธันวาคม 2019
ส่วนใหญ่มีหลักฐานที่มีความแน่นอนในระดับต่ำถึงต่ำมากเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ต่อการหายของแผลในผู้ที่มีแผลไหม้ที่ใบหน้า จำนวน RCTs ในการดูแลแผลไหม้กำลังเพิ่มขึ้น แต่เนื้อหาของหลักฐานยังคงมีอุปสรรค เนื่องจากจำนวนของการศึกษาไม่เพียงพอซึ่งควรเป็นไปตามมาตรฐานเชิงหลักฐานที่เหมาะสมในการทำวิจัยและรายงานการวิจัยแบบ RCTs
การบาดเจ็บจากแผลไหม้เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ แผลเหล่านี้เกิดขึ้นได้บ่อยในบริเวณศีรษะและลำคอ ใบหน้าเป็นส่วนสำคัญศูนย์กลางของอัตลักษณ์บุคคลซึ่งส่งวิธีการสื่อสารที่แสดงออกมากที่สุดของพวกเรา การรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่เป็นหัวใจของการรักษาของแผลไหม้ที่ใบหน้าในปัจจุบัน
เพื่อประเมินผลลัพธ์ของการรักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ต่อการหายของแผลในผู้ป่วยที่มีแผลไหมที่ใบหน้าในทุกระดับความลึก
ในเดือนธันวาคม 2019 เราได้สืบค้นใน the Cochrane Wounds Specialised Register; the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL); Ovid MEDLINE (including In-Process & Other Non-Indexed Citations); Ovid Embase และ EBSCO CINAHL Plus นอกจากนี้เรายังได้สืบค้นทะเบียนการศึกษาทางคลินิกเพื่อหาการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ และการศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์ และรายการเอกสารอ้างอิงจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องรวมถึงการทบทวน (reviews) การวิเคราะห์เมตต้า (meta-analyses) และรายงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสุขภาพ (health technology reports) เพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม ไม่มีการจำกัดทั้งในด้านภาษา วันที่ตีพิมพ์ หรือสถานที่ที่ทำวิจัย
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (randomised controlled trial; RCTs) ซึ่งประเมินผลของการรักษาของยาทาเฉพาะที่สำหรับแผลไหม้ที่ใบหน้าซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้าในการทบทวนนี้
ผู้ประพันธ์การทบทวน 2 คน ได้ทำการเลือกการศึกษา การดึงข้อมูล การประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และการใช้ GRADE เพื่อประเมินความแน่นอนของหลักฐาน อย่างเป็นอิสระต่อกัน
ในการปรับปรุงให้ทันต่อปัจจุบันครั้งแรกนี้ เราได้รวบรวม RCTs 12 เรื่อง ซึ่งประกอบด้วยผู้มีเข้าร่วม 507 คน
การศึกษาส่วนใหญ่รวมผู้ใหญ่ที่รักษาในศูนย์รักษาผู้ป่วยแผลไหม้ (burn centres) หลังจากบาดเจ็บจากการไหม้มาไม่นาน
ยาทาเฉพาะที่ประกอบด้วยยาต้านจุลชีพ (silver sulfadiazine (SSD), Aquacel-Ag, cerium-sulphadiazine, gentamicin cream, mafenide acetate cream, bacitracin) ยาไม่ต้านจุลชีพ (Moist Exposed Burn Ointment (MEBO), saline-soaked dressings, skin substitutes (including bioengineered skin substitute (TransCyte), allograft, และ xenograft (porcine Xenoderm), และการรักษาอื่น ๆ (growth hormone therapy, recombinant human granulocyte-macrophage colony-stimulating factor hydrogel (rhGMCS)), enzymatic debridement, และ cream with Helix Aspersa extract)
หลักฐานเกือบทั้งหมดที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้ได้รับการประเมินว่ามีความแน่นอนในระดับต่ำหรือต่ำมาก มักเป็นเพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติเนื่องจากขั้นตอนการสุ่มตัวอย่างที่ไม่ชัดเจน (เช่น การสร้างลำดับ (sequence generation) และการปกปิดการจัดสรร (allocation concealment)) ขาดการปกปิด (blinding) ของผู้เข้าร่วมวิจัย ผู้ให้บริการและในบางครั้งพบในผู้ประเมินผลลัพธ์ และความไม่แม่นยำที่เป็นผลจากผู้เข้าร่วมมีจำนวนน้อย อัตราการเกิดเหตุการณ์ต่ำหรือทั้งสองอย่าง มักเกิดในการศึกษาเดียว
ยาทาเฉพาะที่ต้านจุลชีพเทียบ กับ ยาทาเฉพาะที่ที่ไม่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ
หลักฐานมีความแน่นอนในระดับปานกลางว่าอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างระหว่างยาต้านจุลชีพและยาที่ไม่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ (SSD และ MEBO) ในระยะเวลาที่รักษาบาดแผลให้หายโดยสมบูรณ์ (hazard ratio (HR) 0.84 (95% CI 0.78 ถึง 1.85, การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 39 คน) ยาทาเฉพาะที่ต้านจุลชีพที่อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างต่อสัดส่วนของบาดแผลที่หายสนิทเทียบกับยาทาเฉพาะที่ที่ไม่มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ (เปรียบเทียบ SSD และ MEBO, risk ratio (RR) 0.94, 95% CI 0.68 ถึง 1.29; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 39 คน; หลักฐานมีความแน่นอนในระดับต่ำ) เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างของการติดเชื้อที่บาดแผล (เปรียบเทียบยาทาเฉพาะที่ต้านจุลชีพ (Aquacel-Ag) กับ MEBO; RR 0.38, 95% CI 0.12 ถึง 1.21; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 40 คน; หลักฐานมีความแน่นอนในระดับต่ำมาก) ไม่มีการทดลองรายงานการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผิวของบาดแผลเมื่อเวลาผ่านไปหรือการหายของแผลบางส่วน มีหลักฐานที่มีความแน่นอนในระดับต่ำสำหรับผลลัพธ์รอง คุณภาพของแผลเป็น และความพึงพอใจของผู้ป่วย มีการศึกษา 2 เรื่องประเมินความปวด แต่รายงานโดยไม่สมบูรณ์
ยาทาต้านจุลชีพ กับ ยาทาต้านจุลชีพอื่น ๆ
ยังไม่มีความชัดเจนว่ายาทาเฉพาะที่ต้านจุลชีพสร้างความแตกต่างในผลลัพธ์หรือไม่ ตามหลักฐานมีความแน่นอนในระดับต่ำถึงต่ำมาก สำหรับผลลัพธ์หลักมีหลักฐานที่มีความแน่นอนในระดับต่ำสำหรับการหายของแผลบางส่วน (มากกว่า 90%) (การเปรียบเทียบระหว่าง SSD กับ cerium SSD: ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (mean difference; MD) –7.10 วัน 95% CI –16.43 ถึง 2.23; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 142 คน) มีหลักฐานที่มีความแน่นอนในระดับต่ำมาก ว่ายาทาเฉพาะที่ต้านจุลชีพสร้างความแตกต่างให้กับการติดเชื้อที่บาดแผลหรือไม่ (RR 0.73, 95% CI 0.46 ถึง 1.17; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 15 คน) มีหลักฐานความแน่นอนในระดับต่ำถึงต่ำมากสำหรับสัดส่วนของแผลไหม้ที่ใบหน้าซึ่งต้องได้รับการผ่าตัด ความเจ็บปวด คุณภาพของแผลเป็น ผลข้างเคียง และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล
สิ่งทดแทนผิวหนัง เทียบกับ ยาทาเฉพาะที่ต้านจุลชีพ
มีหลักฐานที่มีความแน่นอนในระดับต่ำว่าสารทดแทนผิวหนังอาจช่วยลดเวลาในการรักษาบาดแผลบางส่วน (มากกว่า 90%) ได้เล็กน้อย เมื่อเทียบกับสารต้านเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ระบุชนิด (MD –6.00 วัน, 95% CI –8.69 ถึง –3.31; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 34 คน)
เราไม่มั่นใจว่าสิ่งทดแทนผิวหนังสร้างความแตกต่างใด ๆ ในผลลัพธ์ จากหลักฐานมีความแน่นอนในระดับต่ำมาก ผลลัพธ์รวมถึงการติดเชื้อของแผล ความเจ็บปวดคุณภาพของแผลเป็น ผลข้างเคียงของการรักษา และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล
จากการศึกษา 1 เรื่อง แสดงให้เห็นถึงหลักฐานที่มีความแน่นอนต่ำ สิ่งทดแทนผิวหนังชนิดวิศวกรรมชีวภาพอาจช่วยลดความเจ็บปวดจากการรักษาได้เล็กน้อย (MD –4.00, 95% CI –5.05 ถึง –2.95; ผู้เข้าร่วม 34 คน) และลดอาการปวด (MD –2.00, 95% CI –3.05 ถึง –0.95; ผู้เข้าร่วม 34 คน) เมื่อเทียบกับที่ไม่ระบุสารต้านจุลชีพ ในทางตรงกันข้ามการการทำแผลทางชีวภาพ (porcine Xenoderm) อาจเพิ่มความเจ็บปวดเล็กน้อยจากแผลไหม้ชนิด superficial (MD 1.20, 95% CI 0.65 ถึง 1.75; ผู้เข้าร่วม 15 คน (30 แผล)) รวมทั้งแผลไหม้ชนิด deep partial thickness (MD 3.00, 95% CI 2.34 ถึง 3.66; ผู้เข้าร่วม 10 คน (20 แผล)) เทียบกับยาต้านจุลชีพ (Physiotulle Ag (Coloplast))
การรักษาชนิดอื่น กับ การรักษาชนิดอื่นที่แตกต่างกัน
การศึกษาหนึ่งแสดงผลลัพธ์ของการรักษาในระดับต่ำถึงต่ำมาก หลักฐานที่มีความแน่นอนในระดับต่ำแสดงให้เห็นว่า MEBO อาจลดเวลาได้เล็กน้อยในการรักษาบาดแผลจนหายสนิทเมื่อเทียบกับการล้างแผลด้วยน้ำเกลือ (MD –1.7 วัน, 95% CI –3.32 ถึง –0.08; ผู้เข้าร่วม 40 คน) นอกจากนี้ครีมที่มีส่วนผสมของ Helix Aspersa อาจเพิ่มสัดส่วนของบาดแผลที่หายสนิทใน 14 วันเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ MEBO (RR 4.77, 95% CI 1.87 ถึง 12.15; ผู้เข้าร่วม 43 คน) เราไม่แน่ใจว่าการรักษาอื่นใด ๆ ในการศึกษาที่รวมไว้นี้จะสร้างความแตกต่างในผลของผลลัพธ์การติดเชื้อของแผล คุณภาพของแผลเป็น ความเจ็บปวด และความพึงพอใจของผู้ป่วย จากหลักฐานมีความแน่นอนในระดับต่ำถึงต่ำมาก
แปลโดย อ.นพ.ฐปนวงศ์ มิตรสูงเนิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 17 กันยายน 2020