คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
การบำบัดทางจิตวิทยาได้ผลและปลอดภัยสำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคจิตหรือไม่ มีความแตกต่างระหว่างการบำบัดทางจิตวิทยาที่แตกต่างกันหรือไม่
ความเป็นมา
โรคจิตเป็นความเจ็บป่วยทางจิตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการรับรู้เป็นอาการหลงผิด (ความเชื่อผิด ๆ ) ภาพหลอน (เห็นหรือได้ยินสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นหรือได้ยิน) และสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงวัยรุ่น เมื่อมีการเจ็บป่วยวัยรุ่นต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตซึ่งมักจะสั่งจ่ายยาให้ อย่างไรก็ตามควบคู่ไปกับการใช้ยาวัยรุ่นที่เป็นโรคจิตมักจะได้รับประโยชน์จากการบำบัดทางจิตวิทยาที่เหมาะสมกับวัย (การบำบัดด้วยการพูดคุย) เช่น การฟื้นฟูทักษะการรู้คิด การให้สุขภาพจิตศึกษา ครอบครัวบำบัดและจิตบำบัดแบบกลุ่ม การบำบัดเหล่านี้สามารถตอบสนองความต้องการทางสังคมและจิตใจ เช่นการรวมกลุ่มกับเพื่อน และจัดการกับการถูกตีตราและการถูกกีดกัน เราได้ตรวจสอบผลของการบำบัดเหล่านี้สำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคจิตโดยใช้ข้อมูลจากการทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม
วิธีสืบค้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของ Cochrane Schizophrenia สืบค้นการทดลองที่ได้ลงทะเบียนการทดลองในฐานข้อมูลของพวกเขาในเดือนพฤษภาคม 2016 และมีนาคม 2019 ที่มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นที่เป็นโรคจิตเข้ากลุ่มการบำบัดรูปแบบต่างๆ กลุ่มการรักษาอาจรวมถึงการบำบัดทางจิตใจ (ได้รับหรือไม่ได้การรักษาตามปกติ) การรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว การรักษาตามปกติหรือการบำบัดทางจิตใจอื่น ๆ (ได้รับหรือไม่ได้รับการรักษาตามปกติ)
ผลการทดลอง
บทวิจารณ์นี้ประกอบด้วยการทดลองเพียง 7 รายการ ที่ดำเนินการวิจัยในส่วนต่างๆ ของโลก การทดลองเปรียบเทียบการบำบัดทางจิตวิทยาที่แตกต่างกันหลายอย่างกับการรักษาตามปกติหรือกับการบำบัดทางจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ และพวกเขารายงานการประเมินผลลัพธ์ที่แตกต่างกันทำให้เราเปรียบเทียบการศึกษาหนึ่งกับอีกการศึกษาหนึ่งได้ยาก เราสนใจผลของการรักษาเหล่านี้ที่มีต่อผลลัพธ์หลัก 7 ประการ ได้แก่ สภาวะทั่วไป (global state) สภาพจิต ผลข้างเคียงการรักษา การทำหน้าที่การรู้คิด การทำหน้าที่ทั่วไป การใช้บริการและการออกจากการศึกษาก่อนกำหนด ไม่มีการศึกษาที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการบำบัด
ผลการศึกษา
ผลเฉพาะของการบำบัดทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียว (PIs เปรียบเทียบกับ การบำบัดทางจิตวิทยาร่วมกับการรักษาตามปกติ (TAU))
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยที่เรารวบรวมมาแสดงให้เห็นว่าสามารถช่วยปรับปรุงความจำระยะสั้น (การรู้คิด) แต่การรักษาตามปกติอาจได้ผลดีกว่าการบำบัดแบบการฟื้นฟูการรู้คิด (CRT) ในการพัฒนาสภาพจิต การบำบัดแบบกลุ่มอาจมีประโยชน์ในการปรับปรุงสภาวะทั่วไป (global state) การวิเคราะห์อื่น ๆ ทั้งหมดสำหรับผลลัพธ์หลักแสดงให้เห็นว่า การบำบัดทางจิตวิทยามีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเปรียบเทียบกับ การได้รับการรักษาตามปกติ
ผลกระทบสัมพัทธ์ (relative effects) ของ PI (เปรียบเทียบ PI ประเภทหนึ่งกับ PI ประเภทอื่น)
การวิเคราะห์ของเราไม่พบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างการบำบัดทางจิตวิทยาประเภทต่างๆ
บทสรุป
การบำบัดทางจิตวิทยาบางประเภทอาจส่งผลดีต่อผลลัพธ์ที่เลือกศึกษา แต่โดยรวมแล้วการศึกษาส่วนใหญ่ให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ทั้งหมดของเรามาจากข้อมูลจากการศึกษาจำนวนน้อยที่มีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนน้อย นอกจากนี้เรายังมีความกังวลเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่การศึกษาเหล่านี้ใช้ ดังนั้นจึงมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลการวิจัยเหล่านี้ เราไม่สามารถสรุปได้อย่างมั่นใจตามหลักฐานนี้ การศึกษาต่อไปในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ระเบียบการวิจัยในรูปแบบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม
การประมาณการผลลัพธ์หลักของการศึกษาส่วนใหญ่มีความเท่าเทียมกัน เราเสนอผลลัพธ์ของการศึกษาไว้ 4 รายการและได้นำเสนอไว้ในตาราง SOF เมื่อเทียบกับการรักษาตามปกติ กลุ่มที่ได้รับ CRT อาจมีผลในเชิงบวกต่อการทำหน้าที่การรู้คิด อย่างไรก็ตามในการศึกษาเดียวกันนี้ก็รายงานว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติ ก็ได้รับผลเชิงบวกต่อสภาพจิต การศึกษาอื่นที่เปรียบเทียบ GPT กับ TAU รายงานผลว่า กลุ่มที่ได้รับ GPT อาจมีผลเชิงบวกต่อ Global state อย่างไรก็ตามการประมาณผลลัพธ์การศึกษาสำหรับผลลัพธ์หลักทั้งหมดในการทบทวนของเราควรได้รับการพิจารณาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมากเนื่องจากข้อมูลอ้างอิงมาจากการศึกษาจำนวนน้อยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตสามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์เหล่านี้และจำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่และมีคุณภาพการวิจัยที่ดีขึ้นก่อนที่จะมีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของการบำบัดทางจิตวิทยาสำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคจิต
โรคจิตเป็นความเจ็บป่วยที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการรับรู้ส่งผลให้เกิดอาการหลงผิดและภาพหลอน โรคจิตพบค่อนข้างน้อยในวัยรุ่น แต่อาจส่งผลร้ายแรงได้ ยารักษาโรคจิตเป็นแนวทางหลักในการรักษาและได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผล อย่างไรก็ตามมีหลักฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับการบำบัดทางจิตวิทยาเช่น การบำบัดด้วยการฟื้นฟูการรู้คิด สุขภาพจิตศึกษา ครอบครัวบำบัด และจิตบำบัดแบบกลุ่มที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคจิต
การบำบัดทางจิตวิทยาได้ผลและปลอดภัยสำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคจิตหรือไม่
เราสืบค้นจากฐานข้อมูลการศึกษาโรคจิตเภทที่อยู่ในทะเบียนงานวิจัยแบบทดลองของ Cochrane รวมถึงทะเบียนการทดลองทางคลินิก (งานวิจัยล่าสุด วันที่ 8 มีนาคม 2019)
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมทั้งหมดเปรียบเทียบการบำบัดทางจิตวิทยากับการรักษาตามปกติหรือการบำบัดทางจิตวิทยารูปแบบอื่น ๆ สำหรับวัยรุ่นที่เป็นโรคจิต สำหรับการวิเคราะห์เราได้รวมการทดลองที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้าและรายงานบนฐานข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์
เราคัดกรองการศึกษาอย่างเป็นอิสระและเชื่อถือได้และเราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาที่นำเข้ามาในการทบทวน สำหรับข้อมูลที่มีสองกลุ่มเราคำนวณอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) บนฐานข้อมูลของจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มการทดลอง ข้อมูลต่อเนื่องนำเสนอด้วยผลต่างของค่าเฉลี่ย (MD) และช่วงความเชื่อมั่น 95% CIs เราใช้แบบจำลองแบบสุ่ม (random-effects model) สำหรับการวิเคราะห์ทั้งหมด เรารายงานตารางสรุปผลการวิจัยโดยใช้ GRADE
การทบทวนในการศึกษานี้นำมาจากการศึกษา 7 เรื่อง (n = 319) ที่ประเมินการบำบัดทางจิตวิทยาที่แตกต่างกันที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติ ไม่มีการรายงานของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการศึกษาใดเลย ไม่มีการศึกษาใดที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากภาคอุตสาหกรรม ด้านล่างนี้เราสรุปผลลัพธ์หลักจากการเปรียบเทียบจากผลการศึกษา 4 เรื่องจาก 6 เรื่องและความเชื่อมั่นของผลลัพธ์เหล่านี้ (อิงตาม GRADE) การให้ค่าคะแนนทั้งหมดใช้การประเมินค่าเฉลี่ยของค่าคะแนนที่ประเมินครั้งสุดท้าย
Cognitive Remediation Therapy (CRT) + Treatment-as-Usual (TAU) เทียบกับ TAU
การศึกษา 2 เรื่องเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับการเพิ่ม CRT ให้กับผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่ได้รับการรักษาตามปกติ (TAU) กับ กลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติ (TAU) เพียงอย่างเดียว มีการศึกษา 1 เรื่องที่รายงาน Global state (CGAS, ค่าคะแนนสูง = ดี) ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสองกลุ่มที่ศึกษา (MD -4.90, 95% CI -11.05 ถึง 1.25; ผู้เข้าร่วมวิจัย = 50 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง, ความเชื่อมั่นต่ำมาก) การศึกษา 1 เรื่องที่รายงานสภาพจิต (PANSS, ค่าคะแนนสูง = ไม่ดี) ค่าคะแนนในกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติ (TAU) ลดลงอย่างชัดเจน (MD 8.30, 95% CI 0.46 ถึง 16.14; ผู้เข้าร่วมวิจัย = 50 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง; ความเชื่อมั่นต่ำมาก) ผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่ม CRT มีจำนวนมากกว่าที่มีค่าคะแนนการพัฒนาการทำหน้าที่การรู้คิดดีขึ้นมากขึ้นอย่างชัดเจน (ใช้การทดสอบ Memory digit span) เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนอาสาสมัครที่มีการพัฒนาขึ้นในกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติ (TAU) (1 การศึกษา, n = 31, RR 0.58, 95% CI 0.37 ถึง 0.89; ความเชื่อมั่นต่ำมาก) สำหรับการทำหน้าที่ทั่วไป (VABS, ค่าคะแนนสูง = ดี) ผลการวิเคราะห์ของเราไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษา (MD 5.90, 95% CI -3.03 ถึง 14.83; ผู้เข้าร่วม = 50; การศึกษา = 1; ความเชื่อมั่นต่ำมาก) จำนวนผู้เข้าร่วมที่ออกจากการศึกษาก่อนกำหนดจากแต่ละกลุ่มมีความใกล้เคียงกัน (RR 0.93, 95% CI 0.32 ถึง 2.71; ผู้เข้าร่วม = 91; การศึกษา = 2; ความเชื่อมั่นต่ำ)
กลุ่มจิตสังคมบำบัด (GPT) ร่วมกับการรักษาตามปกติ (TAU) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติอย่างเดียว
มีการศึกษา 1 เรื่อง ประเมินผลของการเพิ่ม GPT ในกลุ่มผู้ร่วมวิจัยที่ได้รับการรักษาด้วยยาตามปกติ คะแนนของ Global state (CGAS, ค่าคะแนนสูง = ดี) ในกลุ่ม GPT สูงกว่าอย่างชัดเจน (MD 5.10, 95% CI 1.35 ถึง 8.85; ผู้เข้าร่วม = 56 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง; ความเชื่อมั่นต่ำมาก) แต่ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มสำหรับคะแนนสภาพจิต (PANSS, ค่าคะแนนสูง = แย่, MD -4.10, 95% CI -8.28 ถึง 0.08; ผู้เข้าร่วม = 56 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง, ความเชื่อมั่นต่ำมาก) และไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มในเรื่องจำนวนผู้เข้าร่วมที่ออกจากการศึกษาก่อนกำหนด (RR 0.43, 95% CI 0.15 ถึง 1.28; ผู้เข้าร่วม = 56 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง; ความเชื่อมั่นต่ำมาก)
โปรแกรมการฟื้นฟูการรู้คิด (CRP) ร่วมกับโปรแกรมการให้สุขภาพจิตศึกษา (PTP) เปรียบเทียบกับ PTP อย่างเดียว
มีการศึกษา 1 เรื่อง ประเมินผลของการรวมการบำบัดทางจิตวิทยาสองประเภท (CRP + PTP) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ PTP เพียงอย่างเดียว คะแนน Global state (GAS ค่าคะแนนสูง = ดี) ไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจน (MD 1.60, 95% CI -6.48 ถึง 9.68; ผู้เข้าร่วม = 25 คน; การศึกษา = 1 คน; ความเชื่อมั่นต่ำมาก) เช่นเดียวกับคะแนนสภาพจิต (รวม BPRS ค่าคะแนนสูง = ไม่ดี, MD -5.40, 95% CI -16.42 ถึง 5.62; ผู้เข้าร่วม = 24 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง; ความเชื่อมั่นต่ำมาก) และคะแนนการทำงานของการรู้คิด (SPAN-12, คะแนนสูง = ดี, MD 2.40, 95% CI -2.67 ถึง 7.47; ผู้เข้าร่วม = 25 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง; ความเชื่อมั่นต่ำมาก)
กลุ่มที่ได้รับสุขภาพจิตศึกษา (PE) ร่วมกับครอบครัวบำบัดแบบหลายครอบครัว (MFT) เปรียบเทียบกับ กลุ่มบำบัดแบบไม่มีโครงสร้าง (NSGT) ( NSGT , การประเมินผลระยะยาว)
มีการศึกษา 1 เรื่อง เปรียบเทียบ (PE + MFT) กับ NSGT การวิเคราะห์คะแนน Global state (CGAS, ค่าคะแนนสูง = ดี, MD 3.38, 95% CI -4.87 ถึง 11.63; ผู้เข้าร่วม = 49 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง; ความเชื่อมั่นต่ำมาก) และคะแนนสภาพจิต (รวม PANSS, ค่าคะแนนสูง = แย่, MD -8.23, 95% CI -17.51 ถึง 1.05; ผู้เข้าร่วม = 49 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง; ความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจน จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (RR 0.84, 95% CI 0.36 ถึง 1.96; ผู้เข้าร่วม = 49 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง) และจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่ออกจากการศึกษาก่อนกำหนดจากแต่ละกลุ่มมีความใกล้เคียงกัน (RR 0.52, 95% CI 0.10 ถึง 2.60; ผู้เข้าร่วม = 55 คน; การศึกษา = 1 เรื่อง; ความเชื่อมั่นต่ำ)
แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15 เมษายน 2021