วิธีการที่จะส่งเสริมให้พนักงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการหายใจเอาสารที่เป็นอันตรายเข้าไป

มันเป็นเรื่องธรรมดาของสถานที่ทำงานหลายแห่งที่อากาศจะปนเปื้อนสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งอาจรวมถึงเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสต่างๆ ไอควัน เขม่า ฝุ่นและอนุภาคเช่นใยหินหรือเมล็ดพืช ผลกระทบต่อสุขภาพอาจแตกต่างกันไปเริ่มตั้งแต่ระดับเล็กน้อยถึงขั้นคุกคามชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สูดดมและปริมาณที่สูดดมเข้าไป ผลกระทบเหล่านี้เริ่มตั้งแต่มีความรู้สึกระคายเคืองจนถึงการเจ็บป่วยระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงโรคมะเร็ง ในสถานที่ทำงานหลายแห่ง อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจใช้เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานสูดดมสารที่เป็นอันตราย มีวิธีการต่างๆที่แนะนำให้สอนแก่พนักงานถึงวิธีการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าวิธีการเหล่านั้นจะมีประสิทธิภาพหรือไม่อย่างไร ดังนั้นเราต้องการทราบว่ามีสิ่งแทรกแซงที่สามารถส่งเสริมให้พนักงานใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจอย่างถูกต้องหรือบ่อยขึ้นหรือไม่

ผลการศึกษา
เราได้ค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2016 เราพบ 14 การศึกษาที่วิเคราะห์ประสิทธิผลของสิ่งแทรกแซงทางพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังมีหนึ่งการศึกษาที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ การศึกษาที่รวบรวมได้ดำเนินการใน 2052 คน ซึ่งเป็นพนักงานในฟาร์ม สถานสุขภาพ สายการผลิต สำนักงานและพนักงานเผาถ่านโค๊ก รวมทั้งนักศึกษาพยาบาลและผู้ที่มีหลากหลายอาชีพ เราไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่นักวิจัยดำเนินการและประเมินสิ่งแทรกแซงในระดับทั้งองค์กร

สิ่งที่งานวิจัยกล่าวไว้
การศึกษาที่นำเข้าทั้งหมดเปรียบเทียบความแตกต่างของการให้ความรู้และการฝึกอบรมซึ่งเป็นสิ่งแทรกแซงเพื่อส่งเสริมให้พนักงานใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจได้ถูกต้องหรือมีการใช้มากขึ้น เราพบหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมาก รายงานว่าสิ่งแทรกแซงทางพฤติกรรมเช่น การให้ความรู้และการฝึกอบรมไม่เพิ่มจำนวนพนักงานที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจได้อย่างถูกต้อง

บทสรุปคืออะไร
เราสรุปได้ว่า มีหลักฐานคุณภาพต่ำถึงต่ำมากพบว่าสิ่งแทรกแซงทางพฤติกรรมไม่ช่วยส่งเสริมให้พนักงานใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจได้ถูกต้องหรือมีการใช้บ่อยมากขึ้น มีแนวโน้มว่าข้อสรุปของเราจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการศึกษาใหม่ตีพิมพ์ เราจำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพดีกว่านี้่ศึกษาประสิทธิภาพของสิ่งแทรกแซงหลายชนิดแตกต่างกัน สิ่งแทรกแซงเหล่านี้ควรจะกำหนดเป้าหมายการใช้ทั้งในระดับบุคคลและองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ในการศึกษาต่อไปควรพิจารณาอุปสรรคของความสำเร็จในการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ เช่นประสบการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพ ประเภทของอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ และทัศนคติของนายจ้างต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

พบหลักฐานมีคุณภาพต่ำมากว่า สิ่งแทรกแซงทางพฤติกรรม กล่าวคือการให้ความรู้และการอบรม ไม่มีผลมากมายต่อความถี่และความถูกต้องในการใช้ RPE ในพนักงาน ไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งจูงใจหรือการให้สิ่งแทรกแซงในระดับองค์กร การศึกษาที่นำเข้ามีข้อจำกัดด้านระเบียบวิธีวิจัย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมี RCT ขนาดใหญ่ที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ชัดเจน ทั้งในขั้นตอนของการสร้างลำดับเลขสุ่ม การจัดสรร และการปกปิดผู้ประเมินในขั้นตอนการประเมินประสิทธิผลของการให้สิ่งแทรกแซงทางพฤติกรรมเพื่อปรับปรุงการใช้ RPE ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล นอกจากนี้ในการศึกษาต่อไปควรพิจารณาอุปสรรคของความสำเร็จในการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ เช่นประสบการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพ ประเภทของอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ และทัศนคติของนายจ้างต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ความเสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจเป็นเรื่องปกติในสถานที่ทำงาน ขึ้นอยู่กับความอันตรายและสิ่งที่ได้สัมผัส ผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมาอาจรวมถึง ความเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงต่อชีวิตจากการติดเชื้อก่อโรค ผลกระทบแบบเฉียบพลันตั้งแต่มีอาการระคายเคืองทางเดินหายใจจนถึงภาวะโรคปอดเรื้อรัง หรือแม้แต่โรคมะเร็งจากการสัมผัสสารเคมีหรือสารพิษ การใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ (RPE) เป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญในสถานประกอบการหลายแห่ง อุปกรณ์ RPE จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันเมื่อมีการสวมใส่ที่เหมาะสม มีการถอดออกอย่างปลอดภัย และมีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ประสิทธิภาพของสิ่งแทรกแทรงทางพฤติกรรมที่ให้ทั้งโดยตรงในระดับนายจ้าง หรือระดับองค์กร หรือให้โดยตรงต่อพนักงานแต่ละคนเพื่อส่งเสริมการใช้ RPE ในพนักงานยังคงเป็นคำถามสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการให้สิ่งแทรกแซงทางพฤติกรรมทั้งการให้โดยตรงในระดับองค์กร หรือระดับพนักงานแต่ละบุคคล เกี่ยวกับการใช้ RPE โดยการสังเกต หรือการรายงานด้วยตัวพนักงานเองเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้ให้สิ่งแทรกแซง หรือการให้สิ่งแทรกแซงประเภทอื่น

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นใน the Cochrane Work Group Specialised Register, the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL 2016, Issue 07), MEDLINE (1980 ถึง 12 สิงหาคม 2016), EMBASE (1980 ถึง 20 สิงหาคม 2016) and CINAHL (1980 ถึง 12 สิงหาคม 2016)

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรานำเข้าการศึกษาที่เป็น randomised controlled trials (RCTs), controlled before and after (CBA) และ interrupted time-series (ITS) ที่เปรียบเทียบการให้สิ่งแทรกแซงทางพฤติกรรมกับการไม่ได้รับสิ่งแทรกแซง หรือสิ่งแทรกแซงทางพฤติกรรมอื่นๆเพื่อส่งเสริมการใช้ RPE ในพนักงาน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยสี่คน คัดเลือกการศึกษา ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและดึงข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่รวบรวมได้อย่างเป็นอิสระต่อกัน เราติดต่อผู้วิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น เรารวมข้อมูลผลลัพธ์จากการศึกษาที่นำเข้า ซึ่งรายงานการศึกษามีความคล้ายคลึงกัน

ผลการวิจัย: 

เรานำเข้า 14 การศึกษาที่ประเมินผลของการอบรมและการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ RPE ในผู้เข้าร่วมศึกษาจำนวน 2052 คน การศึกษาที่นำเข้าได้ดำเนินการในฟาร์ม สถานสุขภาพ สายการผลิต สำนักงานและพนักงานเผาถ่านโค๊ก รวมถึงนักศึกษาพยาบาล และผู้ที่มีหลากหลายอาชีพ การศึกษาที่นำเข้าทั้งหมดรายงานผลของการให้สิ่งแทรกแซง เช่นการใช้ RPE การใช้ RPE อย่างถูกต้อง หรือการวัดการใช้ RPE โดยอ้อม เราไม่พบการศึกษาใดๆที่ให้สิ่งแทรกแซงและประเมินผลในระดับทั้งองค์กรหรือที่มุ่งเน้นหลักคือสิ่งจูงใจเชิงบวกหรือเชิงลบ เราจัดอันดับคุณภาพของหลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบทั้งหมดไว้ตั้งแต่ต่ำจนต่ำมาก

การอบรมกับการไม่ได้รับการอบรม

การศึกษารูปแบบ CBA หนึ่งเรื่องในบุคลากรทางการแพทย์เปรียบเทียบการอบรมร่วมกับ การทดสอบความแนบสนิทของเครื่องช่วยหายใจ และการได้รับการอบรมแต่ไม่มีการทดสอบความแนบสนิทของเครื่องช่วยหายใจ เทียบกับการไม่ได้รับสิ่งแทรกแซงใดๆ การศึกษาพบว่า อัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจที่เหมาะสมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในพนักงานที่ได้รับการอบรมร่วมกับการทดสอบความแนบสนิทของเครื่องช่วยหายใจ (RR 1.17, ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.97 ถึง 1.10) หรือผู้ที่ได้รับการอบรมแต่ไม่มีการทดสอบความแนบสนิทของเครื่องช่วยหายใจ (RR 1.16, ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.95 ถึง 1.42) เปรียบเทียบกับพนักงานที่ไม่ได้รับการอบรม สองการศึกษาที่เป็น RCTs ที่ประเมินผลการอบรมไม่ได้นำไปร่วมวิเคราะห์เนื่องจากขาดข้อมูล

การอบรมตามปกติร่วมกับการให้สิ่งอื่นเสริม กับการอบรมตามปกติเพียงอย่างเดียว

หนึ่งการศึกษาแบบ cluster-randomised trial เปรียบเทียบการอบรมแบบปกติร่วมกับการสาธิตการใช้ RPE กับการอบรมเพียงอย่างเดียว พบว่าการใช้ RPE ได้อย่างเหมาะสมระหว่างสองกลุ่ม แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ (RR 1.41 ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.96 ถึง 2.07)

หนึ่งการศึกษาแบบ RCT เปรียบเทียบการฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์ (interactive training) กับการอบรมแบบบรรยาย (passive training) การอบรมด้วยจอแสดงข้อมูล และหนังสือให้สาระความรู้ ค่าคะแนนความสามารถเฉลี่ยในการใช้ RPE สำหรับกลุ่มที่ได้รับการฝึกอบรมด้วยระบบมวลชนสัมพันธ์ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับการอบรมแบบบรรยาย (MD 2.10, ช่วงความเชื่อมั่น 95% -0.76 ถึง 4.96). อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับการอบรมแบบมวลชนสัมพันธ์มีคะแนนสูงกว่ากลุ่มที่ได้หนังสือ (MD 4.20, 95% CI 0.89 to 7.51) และจอแสดงข้อมูลสาระความรู้ (MD 7.00, 95% CI 4.06 to 9.94) อย่างมีนัยสำคัญ

การศึกษาแบบ RCT หนึ่งเรื่อง เปรียบเทียบการอบรมด้วยการใช้คอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์เสมือนจริง กับการอบรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลตามปกติ (PPE) แต่รายงานผลเฉพาะการสวมและการถอด PPE ชนิดเต็มตัว

การให้ความรู้กับการไม่ได้ให้ความรู้

การศึกษาแบบ RCT หนึ่งเรื่อง พบว่าการให้สิ่งแทรกแซงความรู้แบบหลายๆด้านเพิ่มการใช้ RPE (RR 1.69 ช่วงความเชื่อมั่น 95% 1.10 ถึง 2.58) ที่ระยะเวลาการติดตามสามปี เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับสิ่งแทรกแซง อย่างไรก็ตาม ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับสิ่งแทรกแซงกับกลุ่มควบคุมที่ระยะเวลาการติดตาม หนึ่งปี สองปี หรือสี่ปี การศึกษาแบบ RCT สองเรื่อง รายงานข้อมูลไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์

การศึกษาแบบ CBA สี่เรื่อง ประเมินประสิทธิผลของการให้สิ่งแทรกแทรงทางด้านความรู้และพบว่า ไม่มีผลต่อความถี่และความถูกต้องในการใช้ RPE ยกเว้นหนึ่งการศึกษาที่เป็นการใช้หน้ากาก N95 ในพนักงาน (RR 4.56 ช่วงความเชื่อมั่น 95% 1.84 ถึง 11.33, การศึกษาแบบ CBA 1 เรื่อง)

การสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจกับการบรรยายแบบดั้งเดิม

การศึกษาแบบ CBA หนึ่งเรื่อง พบว่า ผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อกระตุ้นพฤติกรรมความปลอดภัยมีคะแนนความรู้ด้านความปลอดภัยจากบัญชีตรวจวัดการใช้ PPE (MD 2.95 ช่วงความเชื่อมั่น 95% 1.93 ถึง 3.97) สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ได้รับการบรรยายเพื่อให้ความรู้แบบดั้งเดิม

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นางสาวน้ำเพชร จำปาทอง และ ตรวจสอบการแปลโดย ศ.ดร. มาลินี เหล่าไพบูลย์ ภาควิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Cochrane Thailand แปลเมื่อ 7 กันยายน 2017

Tools
Information