กิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง

ความเป็นมา

คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองมักไม่ค่อยมีกิจกรรมทำ หากบุคคลที่มีภาวะสมองเสื่อมมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจและความชอบส่วนตัวของเขาหรือของเธอ การได้ทำกิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เช่นการอยู่ไม่นิ่ง หรือความก้าวร้าว และมีผลในเชิงบวกอื่นๆ

วัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้

เราได้ตรวจสอบผลของการนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกปรับให้มีความสอดคล้องกับความสนใจของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง

การศึกษาที่ถูกเลือกมาทบทวนวรรณกรรมนี้

ในเดือนกันยายน 2019 เราได้สืบค้นการทดลองที่มีการนำเสนอการปรับแต่งกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านของตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ดูแล เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านของตนเองแต่ไม่ได้รับการเสนอกิจกรรมเหล่านี้หรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ดูแลแต่ไม่ได้รับการฝึกอบรมในการทำกิจกรรมดังกล่าว (เป็นกลุ่มควบคุม)

เราพบการศึกษา 5 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านของตนเองจำนวนทั้งหมด 262 คน อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ระหว่าง 71 ถึง 83 ปี การศึกษาทั้งหมดเป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม คือผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับการสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุม มีการศึกษา 1 เรื่อง ที่มีการออกแบบโดยมีการกำหนดเวลาไว้ว่าให้ผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มที่ศึกษาสลับเปลี่ยนไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่งหลังจากช่วงเวลาที่กำหนดไว้ (กล่าวคือผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มควบคุมได้รับโปรแกรมที่มีการออกแบบกิจกรรม และผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มทดลองไม่ได้รับโปรแกรมที่มีการออกแบบกิจกรรม) ผู้เข้าร่วมวิจัยมีภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อยถึงปานกลางและการศึกษาใช้เวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 4 เดือน

ใน 4 การศึกษา ผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวได้รับการฝึกอบรมให้ทำกิจกรรมตามแผนการดูแลของแต่ละบุคคลและในอีก 1 การศึกษา กิจกรรมได้ถูกนำเสนอให้กับผู้เข้าร่วมวิจัยคือตัวผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมโดยตรง กิจกรรมที่นำเสนอในการศึกษาทั้งหมดไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก มี 2 การศึกษา กลุ่มควบคุมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทางโทรศัพท์หรือการพบกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงและในอีก 3 การศึกษา กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติที่เกิดขึ้นในบ้านของผู้เข้าร่วมวิจัยเท่านั้น คุณภาพของการทดลองและคุณภาพของการรายงานมีความหลากหลายซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผลลัพธ์ที่เราศึกษา

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การเสนอกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลอาจช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านของตนเองได้เล็กน้อย แต่อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อภาวะซึมเศร้า การแสดงออกของอารมณ์ การไม่กระตือรือร้น/เฉื่อยชาและการมีส่วนร่วม (การมีส่วนร่วมกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว) ของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม กิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลอาจช่วยลดความทุกข์ใจของผู้ดูแลได้เล็กน้อย แต่อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อภาระของผู้ดูแล คุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้า ไม่มีการศึกษาใดที่ศึกษาผลกระทบที่เป็นอันตรายและไม่มีการศึกษาใดที่อธิบายว่ามีผลกระทบที่เป็นอันตรายเกิดขึ้น

บทสรุป

เราสรุปได้ว่าการเสนอกิจกรรมในแต่ละครั้งให้กับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่อาศัยอยู่ในบ้านของตนเองได้ทำ อาจช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายและอาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้เล็กน้อย

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การนำเสนอกิจกรรมที่ปรับแต่งให้เหมาะกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในชุมชนอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเป็นปัญหาและอาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การตีความหรือการนำผลการวิจัยไปใช้ต้องทำด้วยความระมัดระวังเนื่องจากหลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ สำหรับภาวะซึมเศร้าและการแสดงอารมณ์ของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมตลอดจนคุณภาพชีวิตและภาระของผู้ดูแล เราไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจนของกิจกรรมที่ปรับแต่งให้เหมาะกับตัวเอง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในชุมชนซึ่งอยู่ในบ้านของตนเองมักไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีความหมาย กิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับความสนใจและความชอบของแต่ละบุคคลอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพชีวิตและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเป็นอันตราย

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลต่อผลลัพธ์ทางจิตสังคมสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในชุมชนและผู้ดูแล

เพื่ออธิบายองค์ประกอบของการทดลอง

เพื่ออธิบายเงื่อนไขที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลในบริบทชุมชน

วิธีการสืบค้น: 

เราทำการสืบค้นจาก ALOIS: Dementia and Cognitive Improvement Group’s Specialized Register เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2019 โดยใช้คำสืบค้นดังนี้: activity OR activities OR occupation* OR “psychosocial intervention" OR "non-pharmacological intervention" OR "personally-tailored" OR "individually-tailored" OR individual OR meaning OR involvement OR engagement OR occupational OR personhood OR "person-centred" OR identity OR Montessori OR community OR ambulatory OR "home care" OR "geriatric day hospital" OR "day care" OR "behavioural and psychological symptoms of dementia" OR "BPSD" OR "neuropsychiatric symptoms" OR "challenging behaviour" OR "quality of life" OR depression ALOIS รวบรวมการทดลองทางคลินิกของฐานข้อมูลที่มีการสืบค้นงานวิจัยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่สำคัญๆ เป็นรายเดือน เป็นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์และเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่ในวงจำกัด หรือเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม และการศึกษาแบบกึ่งทดลอง รวมถึงการศึกษาที่กลุ่มควบคุมได้รับการนำเสนอกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคล กิจกรรมทั้งหมดประกอบด้วย การประเมินความสนใจในปัจจุบันหรือในอดีตของผู้เข้าร่วมวิจัย หรือกิจกรรมที่ผู้ร่วมวิจัยทุกคนชอบมาเป็นพื้นฐานสำหรับวางแผนกิจกรรมของแต่ละบุคคล เราไม่ได้รวมการทดลองที่นำเสนอเพียงกิจกรรมเดียว (เช่นดนตรีหรือการรำลึกความหลัง) หรือกิจกรรมที่ไม่ได้ปรับให้เข้ากับความสนใจหรือความชอบของแต่ละบุคคล กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติหรือได้รับการให้ทำกิจกรรมที่ไม่ได้มีการปรับแต่งให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 2 คน ตรวจสอบบทความวิจัยเพื่อนำเข้า ดึงข้อมูลและประเมินคุณภาพระเบียบวิธีการวิจัยของบทความวิจัยที่นำเข้าทั้งหมดในการทบทวนนี้อย่างอิสระต่อกัน เราได้ประเมินความเสี่ยงของอคติในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง อคติในการดำเนินการวิจัย อคติจากการที่กลุ่มตัวอย่างออกจากการศึกษากลางคัน และอคติจากวิธีการประเมินผลลัพธ์ ในกรณีที่ข้อมูลขาดหายเราติดต่อผู้เขียนบทความ

ผลการวิจัย: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมไว้ 5 การศึกษา (การศึกษาแบบ parallel-group 4 เรื่อง และการศึกษาแบบ cross-over 1 เรื่อง) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 262 คนที่อยู่ในโครงการวิจัยจนเสร็จสิ้นการศึกษา จำนวนของผู้เข้าร่วมการศึกษามีตั้งแต่ 30 ถึง 160 คน อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมวิจัยอยู่ระหว่าง 71 ถึง 83 ปีและค่าเฉลี่ยคะแนน Mini-Mental State Examination (MMSE) อยู่ระหว่าง 11 ถึง 24 มี 1 การศึกษาที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึกเพศชาย; ในการศึกษาอื่น ๆ สัดส่วนของผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นเพศหญิง มีจำนวนระหว่าง 40% ถึง 60% ผู้ดูแลที่ไม่เป็นทางการส่วนใหญ่เป็นคู่สมรส

ในการศึกษา 4 เรื่อง ผู้ดูแลที่เป็นสมาชิกครอบครัวได้รับการฝึกอบรมให้ทำกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลโดยพิจารณาจากการประเมินความสนใจและความชอบของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเป็นรายบุคคล และมีการศึกษา 1 เรื่อง ที่ได้เสนอกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีภาวะสมองเสื่อมโดยตรง การเลือกกิจกรรมดำเนินการด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน การศึกษา 2 เรื่องเปรียบเทียบกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้มีความเฉพาะกับความสนใจของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม และมีการศึกษา 3 เรื่อง ที่เปรียบเทียบกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ ระยะเวลาติดตามผลอยู่ระหว่าง 2 สัปดาห์ถึง 4 เดือน

เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำที่บ่งชี้ว่ากิจกรรมที่ปรับแต่งให้มีความเฉพาะกับบุคคลอาจลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเป็นอันตราย (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) −0.44, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −0.77 ถึง −0.10; I2 = 44%; การศึกษา 4 เรื่อง; ผู้เข้าร่วมวิจัย 305 คน) และอาจเพิ่มคุณภาพชีวิตเล็กน้อย (สมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ดูแลเป็นผู้ประเมินผล) สำหรับผลลัพธ์ที่รองที่ศึกษาผลต่อภาวะซึมเศร้า (การศึกษา 2 เรื่อง) การแสดงออกของอารมณ์ (การศึกษา 1 เรื่อง) เฉื่อยชา/ไม่กระตือรือร้น (การศึกษา 1 เรื่อง) และการมีส่วนร่วม (การศึกษา 2 เรื่อง) เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำว่า กิจกรรมที่ปรับแต่งให้เหมาะสมเฉพาะกับผที่มีภาวะสมองเสื่อมแต่ละคนอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลย เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำว่า กิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลอาจช่วยลดความทุกข์ใจของผู้ดูแลได้เล็กน้อย (การศึกษา 2 เรื่อง) และอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อภาระของผู้ดูแล (MD −0.62, 95% CI −3.08 ถึง 1.83; I 2 = 0%; การศึกษา 3 เรื่อง; ผู้เข้าร่วม 246 คน) คุณภาพชีวิตของผู้ดูแลและภาวะซึมเศร้าของผู้ดูแล ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินผลข้างเคียงและไม่มีการศึกษาใดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงในการศึกษาใด ๆ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ

Tools
Information