วิธีการรักษาสำหรับอาการตะคริวที่ขาในขณะตั้งครรภ์

เรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร

อาการตะคริวที่ขาเป็นอาการที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อขาอย่างกะทันหันและรุนแรงโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในการตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสที่สาม สตรีตั้งครรภ์จะมีอาการเจ็บปวดและอาจรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน รบกวนการนอนหลับ และส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง มีการใช้วิธีต่างๆ ในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อรักษาอาการตะคริวที่ขา เช่น ยา, เกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) ต่างๆ (แมกนีเซียม แคลเซียม โซเดียม) และวิตามิน, และการบำบัดที่ไม่ใช้ยา เช่น การยืดกล้ามเนื้อ

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

เป้าหมายของการทบทวนนี้คือเพื่อค้นหาว่าวิธีการใดที่จะมีประสิทธิผลและมีความปลอดภัยในการรักษาอาการตะคริวที่ขาในระหว่างตั้งครรภ์

ผู้วิจัยพบหลักฐานอะไรบ้าง

เราค้นหาหลักฐานจนถึงเดือนกันยายน 2019 และพบการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 8 การศึกษา โดยมีสตรีตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมการศึกษาทั้งหทด 576 คน อายุครรภ์อยู่ระหว่าง 14 ถึง 36 สัปดาห์ การศึกษาเหล่านี้เปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างแมกนีเซียม, แคลเซียม, แคลเซียมร่วมกับวิตามินดี หรือ วิตามินบี กับยาหลอก หรือ ไม่ได้รับการรักษา และเปรียบเทียบวิตามินซี กับ แคลเซียม การรักษาทั้งหมดให้ในรูปแบบเม็ดสำหรับใช้เคี้ยวหรือกลืน

อาหารเสริมแมกนีเซียมอาจช่วยลดความถี่ของอาการตะคริวที่ขาของสตรีเมื่อเทียบกับยาหลอก หรือ การไม่ได้รับการรักษา แม้ว่าผลการวิจัยนี้จะไม่สอดคล้องกัน การศึกษาวัดผลลัพธ์ในการเกิดอาการตะคริวในวิธีการที่แตกต่างกัน ผลการศึกษาในบางครั้งแสดงให้เห็นว่าแมกนีเซียมช่วยลดจำนวนครั้งของการเกิดอาการตะคริวที่ขา แต่ในบางครั้งผลการศึกษาก็แสดงให้เห็นว่าแมกนีเซียมทำให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการเกิดอาการตะคริวที่ขา ในทำนองเดียวกัน หลักฐานที่ศึกษาว่าผลของแมกนีเซียมช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดนั้นก็ยังไม่ได้ข้อสรุป มีหนึ่งการศึกษาที่พบว่าแมกนีเซียมช่วยลดอาการปวดในขณะที่การศึกษาอีกจำนวนหนึ่งไม่พบความแตกต่าง ผลข้างเคียง เช่น อาการคลื่นไส้และท้องร่วงมีความแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

แคลเซียมไม่ได้ช่วยลดความถี่ในการเป็นตะคริวที่ขาของสตรีหลังการที่รับประทานแคลเซียมอย่างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่ได้รับการรักษาใด ๆ นอกจากนี้ยังพบว่าหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถมั่นใจในผลการศึกษานี้ได้

สตรีจำนวนมากที่ได้รับอาหารเสริมวิตามินบีฟื้นตัวเต็มที่เมื่อเทียบกับสตรีที่ไม่ได้รับการรักษา อย่างไรก็ตามผลการศึกษาเหล่านี้มาจากงานวิจัยที่มีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กและมาจากการศึกษาที่มีข้อจำกัดในด้านการออกแบบวิธีการวิจัย

ความถี่ของการเป็นตะคริวที่ขาไม่แตกต่างกันระหว่างสตรีที่ได้รับแคลเซียมและสตรีที่ได้รับวิตามินซี

การใช้แคลเซียมร่วมกับวิตามินดี และ อาหารเสริมวิตามินดี ไม่มีผลต่อความถี่ ระยะเวลา และความรุนแรงของอาการปวดจากการเป็นตะคริวหลังได้รับการรักษาเมื่อเทียบกับสตรีที่ได้รับยาหลอก

หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร

ระดับของหลักฐานพบว่ามีคุณภาพต่ำหรือต่ำมาก สาเหตุหลักมาจากการทบทวนวรรณกรรมนี้รวบรวมผลการศึกษามาจากการศึกษาที่มีขนาดตัวอย่างขนาดเล็กและได้รับการออกแบบวิธีการศึกษาที่ไม่ดี การศึกษาจำนวน 4 รายการ ได้รับการจัดทำและรายงานเป็นอย่างดี การศึกษาอีก 4 รายการ มีข้อจำกัดในการออกแบบวิธีการศึกษา: ในหลายๆ การศึกษา สตรีไม่ได้รับการจัดสรรให้เข้าร่วมกลุ่มการรักษาที่แตกต่างกันด้วยวิธีที่ดีที่สุด และในสองการศึกษาสตรีรู้ว่าพวกเขาได้รับการรักษาหรือไม่ ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียง เช่น ผลของวิธีการรักษาที่ส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ การเจ็บครรภ์ และภาวะแทรกซ้อนต่อทารก งานวิจัยหลายฉบับมุ่งเน้นไปที่ระดับของแคลเซียมและแมกนีเซียมในเลือดเป็นหลัก ความถี่และความรุนแรงของอาการตะคริว และระยะเวลาของความเจ็บปวดไม่ได้รับการรายงานอย่างสม่ำเสมอ และมักไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการวัดทั้งในระหว่างการรักษา เมื่อสิ้นสุดการรักษา หรือ หลังจากหยุดการรักษา

ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่จะแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเสริม (แมกนีเซียม แคลเซียม แคลเซียมร่วมกับวิตามินดี วิตามินบี วิตามินดี หรือวิตามินซี) ให้ประสิทธิภาพที่ดีและความปลอดภัยสำหรับการรักษาอาการตะคริวที่ขาในระหว่างการตั้งครรภ์ อาหารเสริมอาจมีผลแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการบริโภคสารเหล่านี้ตามปกติของสตรี ไม่มีการศึกษาใดเลยที่พิจารณาผลของการใช้วิธีการบำบัด เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การนวด การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือ การบำบัดด้วยความร้อน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานที่พบยังไม่มีความชัดเจนว่าการใช้วิธีการใดจะมีประสิทธิผลที่ดีสำหรับการรักษาอาการตะคริวที่ขา สาเหตุหลักมาจากการวัดและรายงานผลลัพธ์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบและทำการรวมผลข้อมูลเข้าด้วยกันได้ คุณภาพของหลักฐานพบว่าอยู่ในระดับต่ำหรือต่ำมาก เนื่องจากข้อจำกัด ในการออกแบบวิธีการวิจัยและการทดลองมีขนาดตัวอย่างเล็กเกินไปที่จะตอบคำถามได้อย่างน่าพอใจ

ไม่มีการรายงานผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ นอกเหนือจากผลข้างเคียงของแมกนีเซียมเปรียบเทียบกับยาหลอก/ไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะประเมินความปลอดภัยของวิธีการที่ใช้เหล่านี้

ความไม่สอดคล้องกันในการวัดและการรายงานผลลัพธ์ทำให้ไม่สามารถดำเนินการวิเคราะห์เมตต้าได้ การพัฒนาชุดผลลัพธ์หลัก (core outcome set) ที่กำหนดไว้สำหรับการวัดความถี่ ความรุนแรง และระยะเวลาของการเป็นตะคริวที่ขา จะช่วยแก้ปัญหาที่ไม่สอดคล้องกันเหล่านี้และจะทำให้ผลลัพธ์เหล่านี้สามารถได้รับการตรวจสอบถึงประสิทธิผลในอนาคตได้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อาการตะคริวที่ขาเป็นปัญหาที่พบบ่อยในการตั้งครรภ์ มีการใช้วิธีการต่าง ๆ ในการรักษา เช่น การบำบัดด้วยยา การรับประทานเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์) และวิตามิน และการบำบัดแบบไม่ใช้ยา การทบทวนครั้งนี้เป็นการปรับปรุงข้อมูลของการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อปี 2015

วัตถุประสงค์: 

มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของวิธีการต่างๆในการรักษาอาการตะคริวที่ขาในช่วงตั้งครรภ์

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยได้สืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูล Pregnancy and Childbirth'sTrials Register, ClinicalTrials.gov, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (25 กันยายน 2019) และสืบค้นเอกสารอ้างอิงของรายงานการศึกษาที่สืบค้นได้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีควบคุม (RCTs) ของวิธีการใด ๆ ที่ใช้สำหรับรักษาอาการตะคริวที่ขาในช่วงตั้งครรภ์เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก การไม่ได้รับการรักษา หรือการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ Quinine จะไม่ถูกคัดเข้าในการทบทวนวรรณกรรมนี้เนื่องจากผลข้างเคียงของยา การศึกษาแบบ Cluster trials อยู่ในเกณฑ์การคัดเข้าของการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาแบบ Quasi-RCTs และ cross-over trials ไม่ได้ถูกพิจารณาคัดเข้าในการทบทวรวรรรกรรมนี้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยสองคนได้ทำการประเมินงานวิจัยอย่างเป็นอิสระต่อกันในการคัดเข้าการศึกษา และการประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ การดึงข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด (GRADE)

ผลการวิจัย: 

เราได้รวบรวมการศึกษาขนาดเล็กจำนวน 8 รายการ (สตรี 576 คน) ความถี่ของการเกิดตะคริวที่ขาเป็นผลลัพธ์หลักของเราและผลลัพธ์รอง ได้แก่ ความรุนแรง และระยะเวลาของการเป็นตะคริวที่ขา ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์สำหรับมารดาและทารก และคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยรวมแล้วการศึกษามีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติต่ำหรือไม่ชัดเจน ผลลัพธ์ได้รับการรายงานในวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เมตต้าและนำเสนอผลการศึกษาแยกตามแต่ละการศึกษา คุณภาพของหลักฐานได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับต่ำหรือต่ำมากเนื่องจากข้อจำกัดที่ร้ายแรงในด้านการออกแบบวิธีการศึกษาและความไม่แน่ชัดของผลการศึกษา

การให้แมกนีเซียมทางช่องปาก เปรียบเทียบกับ ยาหลอก/ไม่ได้รับการรักษา

ผลการศึกษาในด้านความถี่ของอาการตะคริวที่ขาให้ผลไม่สอดคล้องกัน ในการศึกษาหนึ่ง พบว่าสตรีอาจมีแนวโน้มที่จะรายงานว่าไม่เคยมีอาการตะคริวที่ขาหลังการรักษา (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 5.66 ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 1.35 ถึง 23.68, การศึกษา 1 รายการ, สตรี 69 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); ในขณะที่สตรีอีกจำนวนหนึ่งอาจรายงานว่ามีอาการตะคริวที่ขาสัปดาห์ละสองครั้ง (RR 0.29, 95% CI 0.11 ถึง 0.80, การศึกษา 1 รายการ, สตรี 69 คน); และสตรีจำนวนมากอาจรายงานว่าจำนวนครั้งของการเกิดตะคริวที่ขาลดลงร้อยละ 50 หลังการรักษา (RR 1.42, 95% CI 1.09 ถึง 1.86, การศึกษา 1 รายการ, สตรี 86 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยอื่น ๆ ระบุว่าแมกนีเซียมอาจทำให้ความถี่ของการเป็นตะคริวที่ขาแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างกันในช่วงเวลาการรักษาที่ต่างกัน

สำหรับความรุนแรงของอาการปวดก็ให้ผลการศึกษาไม่สอดคล้องกันเช่นกัน ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าแมกนีเซียมอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย: คะแนนเฉลี่ยของความปวดโดยรวม (MD 1.80, 95% CI -3.10 ถึง 6.70, การศึกษา 1 รายการ, สตรี 38 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) ในการศึกษาอื่นพบว่าหลักฐานมีความไม่น่าเชื่อถืออย่างมากเกี่ยวกับผลของแมกนีเซียมต่อความรุนแรงของอาการปวดซึ่งวัดได้ว่าอาการปวดลดลงมากถึงร้อยละ 50 ผลการศึกษาจากการศึกษาอื่นระบุว่าแมกนีเซียมอาจลดความรุนแรงของอาการปวดซึ่งประเมินจาก visual analogue scale ได้ (MD -17.50, 95% CI -34.68 ถึง -0.32, การศึกษา 1 รายการ, สตรี 69 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) สำหรับผลลัพธ์อื่น ๆ ที่ตรวจสอบอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย: ระยะเวลาของอาการตะคริวที่ขา (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำถึงต่ำมาก); ผลลัพธ์ที่ประกอบด้วยผลลัพธ์หลายๆ ตัวรวมกัน (composite outcome) - อาการของการเป็นตะคริวที่ขา (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); และสำหรับผลข้างเคียงใด ๆ เช่น คลื่นไส้และท้องร่วง (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

การให้แคลเซียมทางช่องปาก เปรียบเทียบกับ ยาหลอก/ไม่ได้รับการรักษา

หลักฐานที่พบยังมีความไม่ชัดเจนว่า ผลของอาหารเสริมแคลเซียมต่อความถี่ของการเป็นตะคริวที่ขาเนื่องจากหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก: ไม่มีอาการตะคริวที่ขาหลังการรักษา (RR 8.59, 95% CI 1.19 ถึง 62.07, การศึกษา 1 รายการ, สตรี 43 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ในการศึกษาเล็ก ๆ อีกฉบับหนึ่ง ผลการวิจัยพบว่าความถี่เฉลี่ยของการเป็นตะคริวที่ขาอาจลดลงเล็กน้อยเมื่อได้รับแคลเซียมทางช่องปาก (MD -0.53, 95% CI -0.72 ถึง -0.34; การศึกษา 1 รายการ, สตรี 60 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

การให้วิตามินบีทางช่องปาก เปรียบเทียบกับ การไม่ได้รับการรักษา

การศึกษาขนาดเล็ก 1 รายการ ไม่ได้รายงานความถี่ของการเกิดตะคริวที่ขาเป็นรายบุคคล แต่แสดงให้เห็นว่าการให้อาหารเสริมวิตามินบีทางช่องปากอาจลดความถี่และความรุนแรง (composite outcome) ของอาการตะคริวที่ขา (RR 0.29, 95% CI 0.11 ถึง 0.73; การศึกษา 1 รายการ, สตรี 42 คน) ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์

การให้แคลเซียมทางช่องปาก เปรียบเทียบกับ การให้วิตามินซีทางช่องปาก

หลักฐานที่พบยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของแคลเซียมต่อความถี่ของการเป็นตะคริวที่ขาหลังการรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินซี (RR 1.33, 95% CI 0.53 ถึง 3.38, การศึกษา 1 รายการ, สตรี 60 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การให้วิตามินดีทางช่องปาก เปรียบเทียบกับ ยาหลอก

การศึกษาจำนวน 1 รายการ (สตรี 84 คน) พบว่าวิตามินดีอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความถี่ของการเกิดอาการตะคริวที่ขาเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ณ สัปดาห์ที่ 3 (MD 2.06, 95% CI 0.58 ถึง 3.54); หรือสัปดาห์ที่ 6 หลังได้รับการรักษา (MD 1.53, 95% CI 0.12 ถึง 2.94)

การให้แคลเซียมร่วมกับวิตามินดีทางช่องปาก เปรียบเทียบกับ ยาหลอก

การศึกษาจำนวน 1 รายการ (สตรี 84 คน) พบว่าการให้แคลเซียมร่วมกับวิตามินดีทางช่องปากอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความถี่ของการเกิดอาการตะคริวที่ขาเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ณ สัปดาห์ที่ 3 (MD -0.30, 95% CI -1.55 ถึง 0.95); หรือสัปดาห์ที่ 6 หลังได้รับการรักษา (MD 0.03, 95% CI -1.3 ถึง 1.36)

การให้แคลเซียมร่วมกับวิตามินดีทางช่องปาก เปรียบเทียบกับ วิตามินดี

การศึกษาจำนวน 1 รายการ (สตรี 84 คน) พบว่าการให้แคลเซียมร่วมกับวิตามินดีทางช่องปากอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความถี่ของการเกิดอาการตะคริวที่ขาเมื่อเปรียบเทียบกับวิตามินดี ณ สัปดาห์ที่ 3 (MD -1.35, 95% CI -2.84 ถึง 0.14); หรือสัปดาห์ที่ 6 หลังได้รับการรักษา (MD -1.10, 95% CI -2.69 ถึง 0.49)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย อ.ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย สาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 18 ธันวาคม 2563

Tools
Information