การตรวจ ABeta42 มีความแม่นยำเพียงใดในการแยกโรคอัลไซเมอร์ออกจากภาวะสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ ในผู้ป่วยที่ตรวจในคลินิกเฉพาะทาง

เหตุใดการพัฒนาการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจึงมีความสำคัญ

ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ความจำและกระบวนการคิดเริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจเกิดจากหลายสภาวะ (เช่น โรคอัลไซเมอร์) และการรักษาที่ดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ระดับของโปรตีน ABeta42 ในเลือดหรือน้ำไขสันหลังอาจช่วยบ่งบอกสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมได้ และช่วยให้แพทย์ตัดสินใจเลือกการรักษาที่ดีที่สุดได้

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

จุดมุ่งหมายของการทบทวนนี้คือเพื่อค้นหาว่าระดับ ABeta42 ในเลือดหรือน้ำไขสันหลังมีความแม่นยำเพียงใดในการระบุสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาอะไร

ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษาที่ตรวจสอบระดับของ ABeta42 จากเลือดหรือน้ำไขสันหลัง ในปัจจุบันการทดสอบนี้ทำในคลินิกเฉพาะทางเท่านั้น โดยระดับของ ABeta42 อาจต่ำกว่าในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เมื่อเทียบกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมประเภทอื่น

อะไรคือผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้

ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษา 39 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 5000 คน การศึกษาทั้งหมดใช้การตรวจ ABeta42 จากน้ำไขสันหลัง และไม่มีการศึกษาใดที่ใช้การตรวจ ABeta42 จากเลือด

ในทางทฤษฎีแล้ว ผลการศึกษาเหล่านี้ระบุว่าหากตรวจค่า ABeta42 ในคลินิกเฉพาะทางในผู้ป่วย 1000 คนโดยที่ 520 คน (52%) มีภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ จะพบว่ามีประมาณ 602 คนที่มีผลบวกของ ABeta42 ซึ่งจะบ่งบอกว่ามีภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ในจำนวนนี้ 192 คน (32%) ถูกแปลผลผิดว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ และจาก 398 คนที่ผลตรวจบ่งชี้ว่าไม่มีโรคอัลไซเมอร์ จะมี 110 คน (28%) ที่ถูกแปลผลผิดว่าไม่มีโรคอัลไซเมอร์ทั้งๆ ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ การศึกษาที่รวบรวมมาใช้ค่า cut-off ของ ABeta42 ที่ระดับต่างกันในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์และความแม่นยำของการทดสอบขึ้นอยู่กับค่า cut-off ของ ABeta42 ที่ใช้

ผลของการศึกษาในการทบทวนนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างไร

ในการศึกษาส่วนใหญ่ การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ทำโดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยมาตรฐานในการประเมินผู้เข้าร่วมทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้ในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย ซึ่งอาจส่งผลให้ ABeta42 มีความแม่นยำมากกว่าที่เป็นจริง

ผลการตรวจสอบนี้นำไปใช้กับใคร

ผลลัพธ์จะนำไปใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการประเมินภาวะสมองเสื่อมในคลินิกเฉพาะทาง

การประยุกต์ใช้ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

การวัดระดับของ ABeta42 ในน้ำไขสันหลังอาจช่วยแยกโรคอัลไซเมอร์จากภาวะสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ ได้ แต่การทดสอบนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ จึงไม่ควรใช้ ABeta42 เพียงอย่างเดียวในการวินิจฉัยโรค แต่การตรวจนี้อาจมีประโยชน์อย่างมากเมื่อใช้ร่วมกับการประเมินและการทดสอบอื่นๆ ในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้เป็นอย่างไร

ผู้ทบทวนได้สืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงกุมภาพันธ์ 2020

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนของผู้วิจัยพบว่าการวัดระดับ ABeta42 ใน CSF อาจช่วยแยกภาวะ ADD ออกจากภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ ได้ แต่การทดสอบยังไม่สมบูรณ์และมีแนวโน้มที่จะวินิจฉัยผู้ที่ไม่ได้เป็น ADD ว่ามี ADD จึงไม่แนะนำให้ใช้การตรวจ CSF ABeta42 เพียงอย่างเดียวในการจำแนกภาวะสมองเสื่อม อย่างไรก็ตาม ABeta42 อาจเป็นการตรวจที่เสริมกับการประเมินทางคลินิกเต็มรูปแบบเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคสมองเสื่อม (dementia) เป็นกลุ่มอาการที่ประกอบด้วยพยาธิสภาพหลายอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease dementia; ADD), ภาวะสมองเสื่อมจากหลอดเลือด (vascular dementia; VaD), และภาวะสมองเสื่อมที่สมองส่วน frontotemporal lobe (frontotemporal dementia; FTD) ผู้ป่วยอาจได้รับประโยชน์จากการทราบชนิดของโรคสมองเสื่อมที่พวกเขาเป็นอยู่ เนื่องจากจะบ่งชี้ถึงการพยากรณ์โรคและการรักษาที่เหมาะกับสาเหตุของโรค, โปรตีน Beta-amyloid (1-42) (ABeta42) เป็นโปรตีนที่พบว่ามีค่าลดลงทั้งในพลาสมาและน้ำไขสันหลัง (cerebrospinal fluid; CSF) ของผู้ป่วย ADD เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าการลดลงของ ABeta42 มีความจำเพาะกับ ADD หรือไม่หรือก็พบในภาวะสมองเสื่อมประเภทอื่นๆ ได้เช่นกัน แต่เป็นไปได้ว่า ABeta42 สามารถช่วยแยก ADD จากชนิดย่อยอื่นๆ ของโรคสมองเสื่อมได้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบความแม่นยำของการตรวจ ABeta42 ในพลาสมาและ CSF สำหรับการแยก ADD จากชนิดย่อยอื่นๆ ของโรคสมองเสื่อมในผู้ที่มีอาการเข้าเกณฑ์สมองเสื่อม

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นใน MEDLINE และฐานข้อมูลอื่นๆ อีก 9 แหล่งจนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2020 และตรวจสอบรายการอ้างอิงของบทวิจารณ์ที่เป็นระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยสนใจการศึกษาแบบ cross-sectional studies ที่แยกผู้ป่วย ADD ออกจากชนิดย่อยอื่นๆ ของโรคสมองเสื่อม การศึกษาที่เข้าเกณฑ์จักต้องมีการวัดระดับ ABeta42 ในพลาสมาหรือ CSF ของผู้เข้าร่วมและมีการประเมินทางคลินิกเพื่อหาชนิดของภาวะสมองเสื่อม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 7 คนได้ทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกันในการคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อที่พบจากการสืบค้น ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการศึกษาและความแม่นยำของการทดสอบ ผู้วิจัยใช้เครื่องมือ 'Quality Assessment of Diagnostic Accuracy Studies' (QUADAS-2) เวอร์ชันที่สองเพื่อประเมินความถูกต้องของผลลัพธ์ทั้งภายในและภายนอก และแยกข้อมูลออกเป็นตาราง 2 x 2 และวิเคราะห์ cross-tabulating index (ABeta42) กับมาตรฐานอ้างอิง (คือเกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับโรคสมองเสื่อมแต่ละชนิด) นอกจากนี้ยังทำการวิเคราะห์เมตต้าโดยใช้แบบจำลอง bivariate, random-effects model เพื่อหาค่าโดยรวมของ sensitivity, specificity, positive predictive values, positive และ negative likelihood ratios และ 95% confidence intervals (CIs) ของแต่ละค่า

ในการวิเคราะห์เบื้องต้น ผู้วิจัยได้ประเมินความแม่นยำของการใช้ ABeta42 ในเลือดหรือ CSF สำหรับการแยก ADD ออกจากภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อัลไซเมอร์ (non-ADD) จากนั้นจะประเมินความแม่นยำของ ABeta42 ในการแยก ADD จากโรคสมองเสื่อมชนิดต่างๆ แบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่: VaD, FTD, dementia with Lewy bodies (DLB), alcohol-related cognitive disorder (ARCD), Creutzfeldt-Jakob disease (CJD) และ normal pressure hydrocephalus (NPH) ในการบ่งชี้ว่าผลตรวจเป็นบวก ผู้วิจัยจะใช้เกณฑ์ตัดสินค่า ABeta42 ที่ใช้ในแต่ละการศึกษาขั้นต้น จากนั้นจะทำการวิเคราะห์ sensitivity analyses เฉพาะการศึกษาที่ใช้เกณฑ์ตัดสิน ABeta42 ที่ใช้กันทั่วไป

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยค้นพบการศึกษา 39 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 5,000 คน) ที่ใช้ค่าของ CSF ABeta42 เพื่อแยกภาวะ ADD ออกจากภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ โดยไม่มีการศึกษาใดใช้ค่า ABeta42 จากเลือด ไม่มีการศึกษาใดที่ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำในการเกิดอคติในโดเมน QUADAS-2 ทั้งหมด แต่มีความเสี่ยงสูงของการเกิดอคติในโดเมนของการคัดเลือกผู้ป่วย (การศึกษา 28 ฉบับ) และ index test (การศึกษา 25 ฉบับ)

ผลลัพธ์รวมจากการศึกษาที่จำแนก ADD ออกจากภาวะสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ มีดังนี้: ADD แยกกับ non-ADD: ความไว 79% (95% CI 0.73 ถึง 0.85) ความจำเพาะ 60% (95% CI 0.52 ถึง 0.67), การศึกษา 13 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1704 คน, ผู้เข้าร่วม 880 คนที่มี ADD; ADD แยกกับ VaD: ความไว 79% (95% CI 0.75 ถึง 0.83), ความจำเพาะ 69% (95% CI 0.55 ถึง 0.81), การศึกษา 11 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1151 คน, ผู้เข้าร่วม 941 คนที่มี ADD; ADD แยกกับ FTD: ความไว 85% (95% CI 0.79 ถึง 0.89), ความจำเพาะ 72% (95% CI 0.55 ถึง 0.84), การศึกษา 17 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1948 คน, ผู้เข้าร่วม 1371 คนที่มี ADD; ADD แยกกับ DLB: ความไว 76% (95% CI 0.69 ถึง 0.82), ความจำเพาะ 67% (95% CI 0.52 ถึง 0.79), การศึกษา 9 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1929 คน, ผู้เข้าร่วม 1521 คนที่มี ADD, โดยรวมแล้วความไวมีค่ามากกว่าความจำเพาะเมื่อเทียบกับภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด และความสมดุลของความไวและความจำเพาะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ cut-off ของผลบวกในแต่ละการตรวจ

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2021

Tools
Information