เหตุใดการตระหนักถึงภาวะสมองเสื่อมจึงมีความสำคัญ
ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญ และผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจำนวนมากไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ การวินิจฉัยเปิดโอกาสให้ได้รับการช่วยเหลือทางสังคม การวางแผนการดูแลล่วงหน้า และการรักษาด้วยยาในโรคบางประเภท อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอย่างไม่ถูกต้องเมื่อไม่มี (ผลบวกลวง) อาจเป็นเรื่องน่าวิตกสำหรับบุคคลและครอบครัว และทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรในการตรวจวินิจฉัย
จุดประสงค์ของการทบทวนคืออะไร
จุดมุ่งหมายของ Cochrane Review นี้คือการค้นหาว่าการทดสอบ Mini-Cog นั้นแม่นยำเพียงใดในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยในโรงพยาบาลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก นักวิจัยรวม 3 การศึกษาเพื่อตอบคำถามนี้
การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาอะไร
Mini-Cog เป็นการทดสอบความจำและทักษะการคิดสั้น ๆ ที่ทดสอบความสามารถของบุคคลในการจดจำวัตถุเฉพาะ 3 อย่าง ซึ่งตั้งชื่อไว้ที่จุดเริ่มต้นของการประเมินสั้นๆ ทำซ้ำในเวลานั้น และเรียกกลับในภายหลัง นอกจากนี้ บุคคลที่ได้รับการประเมินจะต้องวาดหน้าปัดนาฬิกาในเวลาที่กำหนด คะแนนจะให้คะแนนตามความสามารถในการเรียกกลับ 3 รายการและความสมบูรณ์ของนาฬิกา Mini-Cog เป็นการทดสอบสั้นๆ ที่โดยทั่วไปแล้วจะใช้เพื่อตรวจสอบว่ามีคนมีปัญหาด้านความจำและทักษะการคิด ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินรายละเอียดเพิ่มเติมหรือไม่
อะไรคือผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้
การทบทวนวรรณกรรมนี้รวมข้อมูลจาก 3 การศึกษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2560 คน อย่างไรก็ตาม ผู้ทำการศึกษาไม่ได้ใช้ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่พวกเขาประเมิน เหลือผลลัพธ์จากผู้เข้าร่วม 1415 คนเท่านั้นที่ให้ข้อมูลที่สมบูรณ์และเป็นประโยชน์สำหรับการตอบคำถามในการทบทวนวรรณกรรม
ทั้ง 3 การศึกษาให้คะแนนผลลัพธ์ของ Mini-Cog ในลักษณะที่นักพัฒนาเครื่องมือแนะนำ ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนในผลลัพธ์ของความหมายของผลบวกของการทดสอบ Mini-Cog ในทั้ง 3 การศึกษา ซึ่งทำให้ยากต่อการสรุปผล การใช้การศึกษาที่มีผล Mini-Cog สูงสุดและต่ำสุด พบว่า หากใช้ Mini-Cog ในการดูแลระดับทุติยภูมิในกลุ่มคน 1000 คน โดยที่ 640 คน (64%) มีภาวะสมองเสื่อม ประมาณ 510 ถึง 557 คนจะมีผล Mini-Cog เป็นบวก ซึ่ง 0 ถึง 126 จะถูกจำแนกอย่างไม่ถูกต้องว่าเป็นโรคสมองเสื่อม จากจำนวน 443 ถึง 490 คนที่มีผลการบ่งชี้ว่าไม่มีภาวะสมองเสื่อม 83 ถึง 256 คนจะถูกจำแนกอย่างไม่ถูกต้องว่าไม่มีภาวะสมองเสื่อม
ผลของการศึกษาในการทบทวนนี้มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างไร
ในการศึกษาที่รวบรวมมา การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมทำได้โดยการประเมินผู้ป่วยทุกรายด้วยการประเมินทางคลินิกโดยละเอียด การประเมินทางคลินิกโดยละเอียดเป็นมาตรฐานอ้างอิงที่ใช้เปรียบเทียบ Mini-Cog วิธีการนี้่น่าจะเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้ในการพิจารณาว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีปัญหาบางประการเกี่ยวกับวิธีการทำการศึกษาในแง่ของบุคคลที่ถูกรวมเข้า และวิธีคำนวณ Mini-Cog ซึ่งอาจส่งผลให้ Mini-Cog ปรากฏว่ามีความแม่นยำมากกว่าที่เป็นจริง เราตัดสินใจว่าไม่ควรรวมการศึกษาร่วมกันเพื่ออธิบายประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยของ Mini-Cog เนื่องจากมีความแตกต่างกัน
ผลการทบทวนวรรณกรรมนี้สามารถนำไปใช้กับใครได้
การศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมดำเนินการในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และบราซิล มี 2 การศึกษารวมผู้ป่วยที่ส่งต่อถึงผู้เชี่ยวชาญในการประเมินความจำและทักษะการคิด และ 1 การศึกษาคัดเลือกผู้เข้าร่วมจากคลินิกผู้ป่วยนอกทางการแพทย์ เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมขั้นสุดท้ายอยู่ระหว่าง 32% ถึง 87% (เฉลี่ย 64%)
การประยุกต์ใช้ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
การศึกษาจำนวนน้อยที่พบ และรูปแบบต่างๆ ในการใช้ Mini-Cog ได้จำกัดหลักฐานในการให้คำแนะนำ และแนะนำว่า Mini-Cog อาจไม่ใช่การทดสอบที่ดีที่สุดที่จะแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกของสถานพยาบาลทุติยภูมิ
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้เป็นอย่างไร
ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมสืบค้นและพิจารณาการศึกษาที่ตีพิมพ์จนถึงเดือนมีนาคม 2019
การทบทวนวรรณกรรมนี้พบการศึกษาความแม่นยำในการทดสอบวินิจฉัยที่ใช้ Mini-Cog จำนวนจำกัดในสถานบริการทุติยภูมิ การศึกษาที่พบมีความเสี่ยงสูงของอคติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกผู้ป่วย และความกังวลสูงเกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบดัชนีและการบังคับใช้ หลักฐานเป็นทางอ้อม เนื่องจากการศึกษาทั้งหมดประเมิน Mini-Cog แตกต่างไปจากคำถามการทบทวนวรรณกรรม ซึ่งคาดว่าการศึกษาจะดำเนินการ Mini-Cog และดำเนินการประเมินมาตรฐานอ้างอิงเพื่อวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอย่างเป็นอิสระในเวลาเดียวกัน รูปแบบของความแม่นยำในการทดสอบแตกต่างกันไปใน 3 การศึกษา การวิจัยในอนาคตควรประเมิน Mini-Cog เป็นการทดสอบในตัวเอง มากกว่าที่จะได้มาจากการประเมินทางประสาทจิตวิทยาอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นในการประเมินความเป็นไปได้ของ Mini-Cog ในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อม เพื่อช่วยกำหนดบทบาทในวิถีทางคลินิกอย่างเพียงพอ
การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการประเมินทางคลินิก มีความชุกสูงของความผิดปกติของความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งภาวะสมองเสื่อมที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยในสถานดูแลทุติยภูมิ การทดสอบความรู้ความเข้าใจสั้น ๆ จะเป็นประโยชน์ในการค้นหาผู้ที่ต้องการการประเมินการวินิจฉัยจากผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้ในการปฏิบัติทางคลินิก Mini-Cog เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจสั้น ๆ ซึ่งประกอบด้วยความจำ 3 รายการ และการทดสอบการวาดนาฬิกาที่ใช้ในสถานดูแลทุติยภูมิ
วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อประเมินความแม่นยำของ Mini-Cog ในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมในสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ วัตถุประสงค์รองรวมถึงการตรวจสอบความแตกต่างของความแม่นยำในการทดสอบในการศึกษาที่รวบรวมมาและแหล่งที่มาของความแตกต่าง แหล่งที่มาที่เป็นไปได้ของความแตกต่างเหล่านี้รวมถึงความชุกของภาวะสมองเสื่อมในตัวอย่างการศึกษา เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาผลการทดสอบที่เป็นบวก ประเภทของภาวะสมองเสื่อม (ภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์หรือสาเหตุทั้งหมดของภาวะสมองเสื่อม) และแง่มุมของการออกแบบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการศึกษา
เราสืบค้นแหล่งข้อมูลต่อไปนี้ในเดือนกันยายน 2012 โดยมีการปรับปรุงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2019: Cochrane Dementia Group Register of Diagnostic Test Accuracy Studies, MEDLINE (OvidSP), Embase (OvidSP), BIOSIS Previews (Web of Knowledge), Science Citation Index (ISI Web of Knowledge), PsycINFO (OvidSP) และ LILACS (BIREME) เราไม่ได้ยกเว้นเกี่ยวกับภาษาของการใช้ Mini-Cog หรือภาษาของสิ่งพิมพ์ โดยใช้บริการแปลในกรณีที่จำเป็น
เรารวมการศึกษาแบบ cross-sectional และไม่รวม case-control designs เนื่องจากความเสี่ยงของการมีอคติ เราเลือกการศึกษาที่รวม Mini-Cog เป็นการทดสอบดัชนีเพื่อวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม โดยที่การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมได้รับการยืนยันด้วยการประเมินทางคลินิกมาตรฐานอ้างอิงโดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมที่ได้มาตรฐาน เรารวมเฉพาะการศึกษาในสถานบริการทุติยภูมิ (รวมถึงผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก)
เราคัดกรองชื่อและบทคัดย่อทั้งหมดที่ได้จากการสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คนตรวจสอบเอกสารฉบับเต็มเพื่อดูความเหมาะสมและคัดลอกข้อมูลอย่างอิสระ เรากำหนดการประเมินคุณภาพ (ความเสี่ยงของอคติและการบังคับใช้) โดยใช้เครื่องมือ QUADAS-2 เราคัดลอกข้อมูลเป็น ตาราง two‐by‐two เพื่อให้สามารถคำนวณความแม่นยำสำหรับแต่ละการศึกษา รายงานความไว ความจำเพาะ และช่วงความเชื่อมั่น 95% ของการวัดเหล่านี้ สรุปเป็นภาพกราฟิกโดยใช้ forest plot
มี 3 การศึกษาที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2560 คนมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งกำหนดไว้ในการส่งต่อผู้ป่วยนอกด้านประสาทจิตวิทยา ผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาในคลินิกเวชศาสตร์ทั่วไป และการส่งต่อไปยังคลินิกความจำ มีเพียง n = 1415 (55.3%) ของผู้เข้าร่วมในการวิเคราะห์เพื่อการประเมินความถูกต้องของการทดสอบ Mini-Cog เนื่องจากการเลือกใช้ข้อมูลที่มีอยู่โดยผู้ประพันธ์การศึกษา มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงสูงของการเกิดอคติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกผู้ป่วย และความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจนของอคติและความกังวลสูงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทดสอบดัชนีและการบังคับใช้ ในการศึกษาทั้งหมด Mini-Cog ได้มาจากชุดข้อมูลในอดีตย้อนหลัง ไม่มีการศึกษาใดที่รวมผู้ป่วยเฉียบพลันทั่วไปในโรงพยาบาล ความชุกของภาวะสมองเสื่อมอยู่ระหว่าง 32.2% ถึง 87.3% ความไวของ Mini-Cog ในการศึกษาแต่ละรายการถูกรายงานเป็น 0.67 (95% ความเชื่อมั่นช่วง (CI) 0.63 ถึง 0.71), 0.60 (95% CI 0.48 ถึง 0.72) และ 0.87 (95% CI 0.83 ถึง 0.90) ความจำเพาะของ Mini-Cog สำหรับแต่ละการศึกษาคือ 0.87 (95% CI 0.81 ถึง 0.92), 0.65 (95% CI 0.57 ถึง 0.73) และ 1.00 (95% CI 0.94 ถึง 1.00) เราไม่ได้ทำ meta-analysis เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของการมีอคติและความแตกต่าง
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 26 กรกฎาคม 2021