การผ่าตัดหรือการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดสำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2

ประเด็นสำคัญ
การรักษามะเร็งปากมดลูกที่มีรอยโรคขนาดใหญ่กว่า 4 ซม. ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ (จัดเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2) แพทย์บางคนเชื่อว่าการร่วมกันของรังสีรักษา (รังสีพลังงานสูง) และเคมีบำบัด (ยาต้านมะเร็ง) ที่เรียกว่า การฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด (chemoradiotherapy หรือ chemoradiation) จะดีกว่าเมื่อเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่า 4 ซม. ทั้งนี้อยู่บนข้อโต้แย้งที่ว่า โอกาสที่มะเร็งระยะนี้จะกลับมาเป็นซ้ำหลังการผ่าตัดมีสูง ดังนั้นสตรีส่วนใหญ่จึงต้องได้รับฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด แม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดไปในตอนแรกแล้วก็ตาม ความคิดเห็นอื่นๆ คือเนื้องอกเหล่านี้มีขนาดใหญ่มากจนไม่ตอบสนองต่อการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด และสตรีที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะนี้จะได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องได้รับการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดก็ตาม อย่างไรก็ตามมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นผลเสียและภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการได้รับการรักษาทั้งการผ่าตัดและการรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดในสตรีที่เป็นมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากการได้รับการรักษาทั้งสองแบบสามารถเพิ่มความเจ็บป่วยได้ ดังนั้นมีสถาบันหลายแห่งหันไปให้การรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่ใจว่าการรักษาแบบใด (การผ่าตัดหรือการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด) ดีกว่าสำหรับสตรีที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 เราจึงได้ทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อพยายามตอบคำถามนี้

เราดำเนินการตรวจสอบอย่างไร
เราค้นหาหลักฐานที่เปรียบเทียบการรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดกับการผ่าตัด (การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน type II หรือ type III ร่วมกับการตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน) ตั้งแต่ ปี 1946 ถึง เดือนเมษายน 2018 เราค้นหาทั้งการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (โดยที่ผู้ที่เข้าร่วมจะถูกจัดกลุ่มโดยการสุ่ม) และการศึกษาที่ไม่สุ่มตัวอย่าง (ซึ่งมีการติดตามกลุ่มคนที่กำหนด (กลุ่มประชากรตามรุ่น) เมื่อเวลาผ่านไป)

สิ่งที่เราพบ
เราพบเพียงการศึกษาแบบไม่สุ่มตัวอย่าง เพียงการศึกษาเดียวที่เปรียบเทียบการผ่าตัดกับการฉายแสงร่วมกับกาารให้ยาเคมีบำบัด แต่การศึกษานี้ได้รวมข้อมูลของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งระยะ IB2 ถึง IIA แม้ว่าจะเป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือก แต่เราไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้เนื่องจากเราไม่สามารถดึงข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงสำหรับมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 ได้ ดังนั้นเราจึงถือว่าผลการศึกษานี้มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับคำถามในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้

สรุปผลการศึกษา
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือสูงที่จะชี้ให้เห็นว่าตัวเลือกการรักษาในปัจจุบัน (การฉายแสงร่วมกับกาารให้ยาเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดแบบถอนรากถอนโคน) แบบใดดีกว่าสำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 สตรีที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 ควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับความไม่แน่นอนและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นนี้และการเลือกการรักษาควรคำนึงถึงความพร้อมของการรักษาในทรัพยากรด้านสุขภาพเฉพาะและความต้องการของผู้ป่วย

ตามหลักการแล้วจำเป็นต้องมีการทดลองจากหลายแห่งของการรักษา เพื่อพิจารณาว่าการรักษาทั้งสองแบบ แบบใดดีกว่าสำหรับการรักษาสตรีที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 อย่างไรก็ ตามเนื่องจากความพบได้น้อยของมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1B2 และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการร่วมรักษาของการผ่าตัดและการรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับกาารให้ยาเคมีบำบัด แพทย์อาจให้การรักษาสตรีส่วนใหญ่ด้วยการฉายแสงร่วมกับกาารให้ยาเคมีบำบัดต่อไป และการทดลองในลักษณะนี้อาจไม่สามารถทำได้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงเกี่ยวกับประโยชน์และอันตรายของการผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคนเป็นหลักเมื่อเปรียบเทียบกับการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลักสำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเลือกการรักษาที่แตกต่างกันในมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรอดชีวิต ผลข้างเคียง และคุณภาพชีวิต เพื่อช่วยในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดและการดูแลเป็นรายบุคคล

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 4 ในสตรี โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 528,000 รายทั่วโลกในปี 2012 ภาระโรคส่วนใหญ่ (ประมาณ 85%) เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (LMICs) ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 12% ของมะเร็งในสตรีทั้งหมด การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 ซึ่งอยู่ระหว่างโรคระยะเริ่มต้นและระยะลุกลามเป็นที่ถกเถียงกัน บางแห่งต้องการรักษามะเร็งเหล่านี้โดยการผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน โดยการรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดสงวนไว้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลับเป็นซ้ำ ในสหราชอาณาจักรเรารักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 ด้วยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด โดยพิจารณาจากเหตุผลที่ว่าผู้ป่วยรายนั้นมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสสูงที่จะได้รับการรักษาเพิ่มเติมโดยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดต่อจากการผ่าตัดด้วย ยังไม่มีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อหาหลักฐานที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหานี้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบว่าการผ่าตัดเป็นหลักสำหรับมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 (การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน type II หรือ type III ร่วมกับการตัดต่อมน้ำเหลือง) ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดเป็นการรกษาหลัก

เพื่อตรวจสอบว่าถ้าทำการผ่าตัดหลักร่วมกับการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดเสริมหลังการผ่าตัดในมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 จะเพิ่มความเจ็บป่วยของผู้ป่วยในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 เมื่อเทียบกับการรักษาโดยการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาหลัก

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2018, Issue 3), MEDLINE ผ่าน Ovid (1946 ถึง เมษายน สัปดาห์ที่ 2, 2018) และ Embase ผ่าน Ovid (1980 ถึง 2018 สัปดาห์ที่ 16) นอกจากนี้เรายังค้นหาทะเบียนการทดลองทางคลินิก บทคัดย่อของการประชุมทางวิทยาศาสตร ์และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวมไว้จนถึง เดือนเมษายน 2018

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs), quasi-RCTs หรือ non-randomized studies (NRSs) เปรียบเทียบการผ่าตัดกับการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ที่ทำการทบทวนวรรรกรรมสองคนประเมินการวิจัยโดยอิสระต่อกัน ว่าการศึกษาที่อาจเกี่ยวข้องเป็นไปตามเกณฑ์การรวมข้อมูลจากบทคัดย่อ ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้กระบวนการระเบียบวิธีมาตรฐานว่าเป็นไปตามที่ Cochrane กำหนดไว้หรือไม่

ผลการวิจัย: 

เราพบบันทึก 4968 รายการ จากการค้นหาวรรณกรรม แต่เราไม่สามารถระบุ RCT ที่เปรียบเทียบการผ่าตัดหลักเทียบกับการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะ IB2

เราพบ NRS หนึ่งรายการที่เปรียบเทียบการผ่าตัดกับการฉายแสงร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดในการรักษามะเร็งปากมดลูก IB2 และ IIA2 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกเข้ามาทบทวนวรรรกรรมครั้งนี้ อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถรับข้อมูลสำหรับมะเร็งปากมดลูกระยะ IB2 ได้เท่านั้นและถือว่าผลการวิจัยมีความไม่แน่นอนอย่างมากเนื่องจากมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการเลือก

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว วันที่ 13 พฤษภาคม 2021

Tools
Information