การควบคุมแมลงวันเพื่อป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก

อะไรคือวัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้

เพื่อศึกษาว่าการควบคุมแมลงวันสามารถป้องกันโรคท้องร่วงในเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีได้หรือไม่

ใจความสำคัญ

ผลของการทบทวนนี้มีจำกัด เนื่องจากเราพบการศึกษาเพียง 1 เรื่องซึ่งแนะนำว่า การควบคุมแมลงวันด้วยการใช้การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงอาจลดการเกิดโรคท้องร่วงในเด็กได้ในช่วงฤดูกาลของแมลงวันเมื่อทั้งแมลงวันและโรคท้องร่วงมีอุบัติการณ์สูงสุด ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในสถานทีอื่น ๆ รวมถึงศึกษาถึงวิธีการต่าง ๆ ในการควบคุมแมลงวัน การนำไปใช้ ผลที่ได้ และค่าใช้จ่าย

การทบทวนวรรณกรรมนี้ต้องการศึกษาอะไร

โรคท้องร่วงหรืออุจจาระร่วง เป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยในประเทศยากจน แม้ว่าเราจะทราบว่าแมลงวันเป็นพาหะทำให้เกิดอาการท้องร่วง แต่ในโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพส่วนใหญ่ยังไม่พบการศึกษาผลของโปรแกรมควบคุมแมลงวัน

ผู้ประพันธ์การทบทวนสืบค้นหลักฐานที่มีอยู่จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 และพบการศึกษาจำนวน 1 เรื่อง (เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 491 ราย) การศึกษาดังกล่าวดำเนินการใน 8 หมู่บ้านของประเทศปากีสถาน และศึกษาผลของการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและการใช้กับดักแมลงวันต่อจำนวนประชากรแมลงวันและอุบัตการณ์การเกิดโรคท้องร่วงในเด็ก

ผลการศึกษาหลักจากการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร

การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงกำจัดแมลงวันได้เกือบทั้งหมด และในหมู่บ้านที่การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงมีเด็กท้องร่วงน้อยกว่าร้อยละ 23 เมื่อเปรียบเทียบกับหมู่บ้านที่ไม่มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ผลการศึกษาดังกล่าวศึกษาในช่วงฤดูกาลของแมลงวัน (หลักฐานคุณภาพต่ำ) กับดักแมลงวันอาจไม่ได้ผลในการควบคุมแมลงวันและโรคท้องร่วงเมื่อเปรียบเทียบกับหมู่บ้านที่ไม่มีการใช้กับดักแมลงวัน (หลักฐานคุณภาพต่ำ)

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้

ผู้ประพันธ์การทบทวนสืบค้นการศึกษาจนถึง 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การศึกษาที่พบได้ดำเนินการในช่วงฤดูกาลที่มีแมลงวันและโรคท้องร่วงสูง และพบว่าการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงอาจลดโรคท้องร่วงในเด็กได้ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าผลการศึกษาที่ได้นี้สามารถนำไปใช้กับสถานที่อื่น ๆ ได้หรือไม่ รวมถึงควรศึกษาถึงวิธีการต่าง ๆ เพื่อควบคุมแมลงวัน ผลที่ได้ ค่าใช้จ่าย และการนำไปใช้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคอุจจาระร่วงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กหลายล้านคนในแต่ละปี แม้เป็นที่ทราบดีว่าแมลงวันเป็นพาหะของโรคท้องร่วง แต่การควบคุมแมลงวันมักไม่ถูกกล่าวถึงนักว่าเป็นวิธีการที่ช่วยลดอาการท้องร่วงในวัยเด็ก ในทางทฤษฎีการควบคุมแมลงวันเพื่อลดอุบัติการณ์โรคท้องร่วงสามารถทำได้โดยการแทรกแซง 4 ระดับที่แตกต่างกัน ได้แก่ การลดหรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน, การลดแหล่งที่ดึงดูดแมลงวัน, การป้องกันการสัมผัสระหว่างแมลงวันและสิ่งมีชีวิตที่ก่อให้เกิดโรค, และการป้องกันผู้คน อาหารและพาชนะจากการสัมผัสกับแมลงวัน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อศึกษาผลของวิธีการควบคุมแมลงวันต่ออุบัติการณ์โรคท้องร่วงและการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

วิธีการสืบค้น: 

เราทำการสืบค้นจากแหล่งต่อไปนี้ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึง 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ได้แก่ the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), the Cochrane Library, MEDLINE, Embase, CINAHL, และ LILACS รวมถึงสืบค้นจาก Trial registries เพื่อค้นหาเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่ในวงจำกัด หรือเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ (Grey literature) และงานวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (Ongoing trials) และสืบค้นจากการอ้างอิงของการศึกษาที่ค้นได้ เราไม่มีข้อจำกัดสำหรับภาษา สถานะการเผยแพร่ หรือวันที่เผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราวางแผนรวบรวมการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมโดยการสุ่ม (RCTs) แบบกึ่ง RCTs และแบบก่อน-หลัง ที่ศึกษาผลของการควบคุมแมลงวันต่อโรคท้องร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คน ดึงข้อมูลและประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราวางแผนติดต่อผู้ที่ทำการศึกษาเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อมีความจำเป็น เราประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

เราพบหนึ่งการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมโดยการสุ่มเป็นกลุ่ม (Cluster-RCT) (ผู้เข้าร่วมโครงการ 491 ราย) ที่ดำเนินการในประเทศปากีสถาน ซึ่งศึกษาผลการการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงใน 2 ปีแรกและใช้กับดักแมลงวันในปีที่ 3 การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงช่วยลดจำนวนประชากรแมลงวัน (ค่าดัชนีเอชไอ (House Index: HI)) ในกลุ่มฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในช่วง 4 เดือนของปีเมื่อทั้งแมลงวันและผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงพบได้บ่อย แต่ไม่เป็นเช่นนั้นในช่วงเวลาอื่น โดยเฉลี่ยพบว่า การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงมีความสัมพันธ์กับการลดอุบัติการณ์ของโรคท้องร่วงในช่วงปีแรก (พบโรคท้องร่วงโดยเฉลี่ย 6.3 ครั้ง/คนปีในกลุ่มศึกษา และพบ 7.1 ในกลุ่มควบคุม) และในปีที่ 2 ของการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง (พบโรคท้องร่วงโดยเฉลี่ย 4.4 ครั้ง/คนปีในกลุ่มศึกษา และพบ 6.5 ในกลุ่มควบคุม); Rate ratio (RaR) 0.77, 95%CI 0.67 ถึง 0.89; หลักฐานคุณภาพต่ำ) ในปีที่ 3 ของการให้สิ่งแทรกแซง กับดักแมลงวันไม่มีผลต่อจำนวนประชากรแมลงวันหรืออุบัติการณ์ท้องร่วง Rate ratio (RaR) 1.15, 95%CI 0.90 ถึง 1.47; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล รศ.ดร.พอใจ พัทธนิตย์ธรรม สาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tools
Information