วัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้คืออะไร
จุดประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คือการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการลดความดันตาในผู้ป่วยที่ได้รับ mitomycin C (MMC) ระหว่างการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในลูกตาและผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ MMC ระหว่างการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในลูกตา
ข้อความสำคัญ
ผู้วิจัยไม่ทราบว่า MMC ช่วยลดความดันตาในผู้ป่วยโรคต้อหินที่ผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตาหรือไม่ พบการทดลองไม่มากเกี่ยวกับการผ่าตัดนี้และยังมีข้อมูลด้านการดำเนินการวิจัยที่เล็กน้อย ความแตกต่างของความดันตาระหว่างกลุ่มที่ใช้ MMC และกลุ่มที่ไม่ใช้ MMC ที่ 12 เดือนหลังผ่าตัดนั้นมีความไม่แน่นอน จึงสรุปไม่ได้ว่า MMC ช่วยลดความดันตา
การทบทวนนี้ศึกษาอะไร
โรคต้อหินคือโรคที่เส้นประสาทตาถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง การที่เส้นประสาทตาถูกทำลายส่งผลให้การมองเห็นลดลงและอาจทำให้เกิดตาบอดได้หากได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม การมีความดันในลูกตาที่สูงหรือเรียกว่าความดันตาสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวที่สามารถรักษาได้ในโรคต้อหิน มีความคิดว่าการลดความดันตาจะลดการทำลายของเส้นประสาทในผู้ป่วยโรคต้อหิน การรักษาที่ลดความดันตา ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา การใช้เลเซอร์ (trabeculoplasty) การผ่าตัด trabeculectomy (การตัดส่วนหนึ่งของ trabecular meshwork) และการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา (การใส่อุปกรณ์ขนาดเล็กในลูกตาเพื่อช่วยระบายน้ำทำให้ความดันลดลง) การผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตามักจะทำในตาที่ได้รับการรักษาด้วยยาและเลเซอร์แล้วความดันตาไม่ลดลง
ในบางครั้งยาบางชนิด เช่น MMC ถูกนำมาใช้ร่วมกับการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา ยาชนิดนี้เรียกว่า antifibrotic agents ถูกใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของเนื้อเยื่อรอบอุปกรณ์ที่ใส่ในตาซึ่งอาจปิดกั้นการระบายของน้ำจากลูกตาได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ายาชนิดนี้มีประสิทธิผลหรือไม่ และทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาหรือไม่ จุดประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คือเพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา MMC เมื่อใช้ร่วมกับการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา
ผลลัพธ์หลักของการทบทวนคืออะไร
ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษา 5 เรื่องโดยมีจำนวนตาทั้งหมด 333 ตาที่เป็นโรคต้อหิน การศึกษาทั้ง 5 รายงานถึงการออกแบบการวิจัย การดำเนินการวิจัยและผลเกี่ยวกับความดันตาด้วยรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ผู้วิจัยจึงไม่ทราบว่า MMC มีข้อได้เปรียบกว่าเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ ผู้วิจัยพบว่าการใช้ MMC หรือไม่ใช้ MMC ระหว่างการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตาไม่มีประโยชน์หรือโทษที่ชัดเจน
การทบทวนนี้ทันสมัยอย่างไร
ผู้วิจัย Cochrane สืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2018
ผู้วิจัยพบว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการศึกษานี้ที่จะบ่งว่า MMC มีประโยชน์ใด ๆ หลังผ่าตัดในผู้ป่วยโรคต้อหินที่ได้รับการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในลูกตา ข้อมูลจากการศึกษาทั้ง 5 เรื่องนั้นมีความกระจัดกระจายและการรายงานวิธีการวิจัยเพื่อใช้ในการประเมินอคติยังไม่เพียงพอ การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบในอนาคตควรรายงานวิธีการวิจัยที่มีข้อมูลเพียงพอต่อการทำการประเมินอคติและการประมาณขนาดตัวอย่างเป้าหมายเพื่อให้ได้ขนาดของผลทางคลินิกที่มีความสำคัญ
โรคต้อหินพบในประชากรกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และพบว่ามีตาบอดสองข้างประมาณ 10% จึงทำให้โรคนี้เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดตาบอดถาวรทั่วโลก ในผู้ป่วยที่เป็นต้อหินขั้นรุนแรงหรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาแล้วคุมความดันตาไม่ได้นั้น การผ่าตัด trabeculectomy (คือการผ่าตัดในโรคต้อหินโดยที่มีการเลาะ partial thickness scleral flap จากนั้น สร้างช่องใต้ flap เข้าไปจนถึงช่องหน้าลูกตาเพื่อให้น้ำในลูกตาระบายจากช่องหน้าลูกตาเข้ามายังช่องว่างใต้เยื่อบุตาและกลายเป็น filtering blab) และ การผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตาสำหรับรายที่ซับซ้อนและรักษายากถือเป็นการรักษาหลัก การเจริญของเนื้อเยื่อพังผืดรอบท่อระบายน้ำอาจอุดกั้นการระบายของน้ำจากในลูกตา Mitomycin C (MMC) เป็นหนึ่งใน antifibrotic agent 2 ตัวที่ใช้บ่อยระหว่างการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา โดยใช้เพื่อป้องกันการเจริญของเนื้อเยื่อพังผืด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ MMC ในขณะผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา
เพื่อทำการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ MMC เทียบกับการไม่ใช้ MMC ระหว่างการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตาเพื่อลดความดันตาในผู้ป่วยต้อหินปฐมภูมิและทุติยภูมิ
ผู้วิจัยสืบค้นจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (ประกอบด้วย Cochrane Eyes and Vision Trials Register) (ปี 2018 ฉบับที่ 2), Ovid MEDLINE, Embase.com, PubMed, Latin American and Caribbean Health Sciences Literature Database (LILACS), ClinicalTrials.gov และ World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) ผู้วิจัยไม่ได้จำกัดวันหรือภาษาในการสืบค้นทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้วิจัยสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2018
ผู้วิจัยรวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) โดยผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งได้รับ MMC ระหว่างการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตาและอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับยา ผู้วิจัยไม่ได้คัดการศึกษาออกโดยการดูผลการศึกษา
ผู้วิจัย 2 คนทบทวนชื่อเรื่องและบทคัดย่อหลังจากการสืบค้นวรรณกรรมโดยเป็นอิสระต่อกัน ผู้วิจัยได้มาซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์ของงานวิจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการศึกษาและประเมินงานวิจัยเหล่านั้นเพื่อคัดเข้าการศึกษา ผู้วิจัย 2 คนคัดลอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของการศึกษา ความเสี่ยงของการเกิดอคติและผลการศึกษาโดยอิสระต่อกัน ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane
ผู้วิจัยรวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมบทั้งหมด 5 เรื่อง โดยมีทั้งหมด 333 ตาที่เป็นโรคต้อหินและพบว่ามีการศึกษาต่อเนื่อง 2 เรื่อง การศึกษาที่รวบรวมเข้ามาทั้งหมดนั้นทดสอบผลของการใช้ MMC เทียบกับการไม่ใช้ MMC ระหว่างการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตาสำหรับผู้ป่วยโรคต้อหิน การศึกษาดังกล่าวได้รวบรวมผู้ป่วยต้อหินชนิดต่างๆ ที่คุมความดันตาไม่ได้ มีการศึกษาจากประเทศจีน 1 เรื่อง ประเทศซาอุดิอาระเบีย 1 เรื่อง ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 เรื่อง และอีก 1 เรื่อง เป็นการศึกษาแบบสหสถาบันซึ่งดำเนินการที่ประเทศบราซิล แคนาดา สกอตแลนด์และสหรัฐอเมริกา ผู้วิจัยประเมินการศึกษาทั้งหมดโดยมีความเสี่ยงของการเกิดอคติอยู่ในระดับไม่มีความชัดเจน เนื่องจากการรายงานวิธีการวิจัยและผลการศึกษาไม่มีความสมบูรณ์ มีการศึกษา 2 ใน 5 เรื่องที่รายงานเพียงบทคัดย่อจากงานประชุม
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงค่าเฉลี่ยของความดันตาที่ลดลงจากค่าตั้งต้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั้ง 5 เรื่อง รายงานค่าเฉลี่ยของความดันตาหลังผ่าตัด 12 เดือน ที่ 12 เดือนหลังผ่าตัด ผลของการใช้ MMC เทียบกับการไม่ใช้ MMC ต่อค่าเฉลี่ยของความดันตานั้นไม่ชัดเจนเมื่อใช้วิธีการวิเคราะหเมตต้า (meta-analysis) (mean difference -0.12 mmHg, 95% CI -2.16 ถึง 2.41; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การศึกษา 2 เรื่องรายงานข้อมูลไม่เพียงพอต่อการนำเข้ามาในการวิเคราะห์เมตต้า แต่รายงานว่าค่าเฉลี่ยของความดันตาในกลุ่มที่ใช้ MMC นั้นมีค่าต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ MMC หลังผ่าตัด 12 เดือน
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงค่าเฉลี่ยของค่าการมองเห็นที่ลดลงจากค่าตั้งต้น อย่างไรก็ตาม การศึกษา 1 เรื่องรายงานค่าเฉลี่ยของการมองเห็น (LogMAR) ว่ามีค่าต่ำกว่า (มองเห็นดีขึ้น) ในกลุ่มที่ใช้ MMC เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ MMC หลังผ่าตัด 12 เดือน ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีการมองเห็นคงที่ การศึกษา 3 เรื่องรายงานว่าการสูญเสียการมองเห็นระหว่างสองกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ (ไม่มีข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์เมตต้า)
ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีความดันตาสูงหลังผ่าตัด (หมายถึงความดันตาที่มากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท) ภายใน 3 เดือนหลังผ่าตัด การศึกษา 2 เรื่องรายงานถึงเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ (น้ำที่คอรอยด์ กระจกตาบวม ช่องหน้าลูกตาแคบและจอตาหลุด) อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ใช้ MMC และยาหลอกเพราะมีจำนวนเหตุการณ์และขนาดตัวอย่างที่น้อย
แปลโดย พญ.สุขุมาล ธนไพศาล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 30 มกราคม 2019