การทำกิจกรรมการฝึกอบรมด้านการรู้คิด/ทางปัญญา (cognitive) สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและ ผู้ที่เป็นโรคพาร์คินสันที่มีความบกพร่องทางการรู้คิดในระดับเล็กน้อย

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราต้องการทราบว่าการฝึกอบรมด้านการรู้คิดมีประสิทธิผลในการพัฒนาการรู้คิด (การคิด) ในผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจากพาร์คินสันหรือ มีความบกพร่องทางการรู้คิดในระดับเล็กน้อยหรือไม่

ความเป็นมา

ประมาณ 60% ถึง 80% ของผู้ที่เป็นโรคพาร์คินสัน (PD) จะมีความบกพร่องทางการรู้คิดในระดับหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอาจมีปัญหาในการคิดและการใช้เหตุผล ความจำ ภาษา หรือการรับรู้ หากปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันของบุคคลนั้น บุคคลนั้นจะมีภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์คินสัน (PDD) หากมีคนมีปัญหาด้านการรู้คิด แต่กิจกรรมประจำวันของพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าเขาหรือเธอเป็นโรคพาร์คินสันที่มีความบกพร่องในการรู้คิดในระดับเล็กน้อย (PD-MCI) การฝึกการรู้คิด/ทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทักษะทางการรู้คิด/ทางปัญญา เช่น ความจำ ความสนใจ และ ภาษาผ่านงานที่เฉพาะเจาะจง อาจสามารถช่วยให้ผู้ที่มีภาวะ PDD หรือ PD-MCI มีทักษะทางปัญญาที่ดีขึ้น

สิ่งที่เราทำ

การทบทวนนี้ตรวจสอบว่าการฝึกอบรมการรู้คิดมีประสิทธิผลในการพัฒนาผลลัพธ์เช่นทักษะการรู้คิดโดยรวม ('การรู้คิดที่เป็นสากล') ความจำ ความสนใจ หรือความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือ MCI หรือไม่ เราสืบค้นวรรณกรรมทางการแพทย์สำหรับการศึกษาวิจัยที่เปรียบเทียบผู้ที่ได้รับกิจกรรมการฝึกอบรมการรู้คิดกับผู้ที่ไม่ได้รับการอบรม ('กลุ่มควบคุม') เรารวมเฉพาะการศึกษาที่มีเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมวิจัยเข้ากลุ่มทดลองที่ได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดแบบสุ่ม การศึกษาดังกล่าวเรียกว่าการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมและถือเป็นวิธีการที่ยุติธรรมที่สุดในการทดสอบว่ากิจกรรมการทดลองได้ผลหรือไม่ เราไม่ได้ตรวจสอบการศึกษาประเภทอื่น ๆ

สิ่งที่เราพบ

เราพบการศึกษา 7 เรื่องที่มีการสุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 225 คนเข้ากลุ่มทดลอง คือได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดหรือเข้ากลุ่มควบคุม การทดลองใช้เวลานาน 4 ถึง 8 สัปดาห์ กลุ่มทดลองทั้งหมดที่ได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดโดยคอมพิวเตอร์ กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดหรือได้รับเฉพาะกิจกรรมที่กำหนดไว้เช่นการฝึกภาษา หรือการเคลื่อนไหว หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสันทนาการ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง เราไม่พบความแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการรู้คิดและผู้ที่อยู่ในกลุ่มควบคุมในผลลัพธ์ด้านการรับรู้ที่เป็นสากล ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่าการทดลองมีประโยชน์ต่อทักษะการรู้คิดที่มีความเฉพาะเจาะจง และไม่มีประโยชน์ต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตามการค้นพบนี้มาจากผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนน้อยและมีจำนวนงานวิจัยที่นำมาทบทวนจำนวนน้อย ความเชื่อถือได้โดยรวมของหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ในระดับต่ำซึ่งหมายความว่าผลการวิจัยที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตอาจได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากผลการทบทวนฉบับนี้

บทสรุป

เราไม่พบหลักฐานที่ดีว่า การฝึกทักษะการรู้คิดมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคพาร์คินสันและภาวะสมองเสื่อมหรือ MCI การศึกษาที่นำมาทบทวนมีขนาดเล็กและมีข้อบกพร่องที่อาจส่งผลต่อผลการวิจัย ความเชื่อมั่นของผลลัพธ์อยู่ในระดับต่ำและจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่เราจะมั่นใจได้ว่าการฝึกอบรมการรู้คิดได้ผลกับคนกลุ่มนี้หรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนนี้ไม่พบหลักฐานว่าผู้ที่มี PD-MCI หรือ PDD ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการรู้คิดเป็นเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์ มีการพัฒนาทักษะการรู้คิดเพิ่มมากขึ้นเมื่อสิ้นสุดการทดลอง อย่างไรก็ตามข้อสรุปนี้มาจากการศึกษาจำนวนน้อยที่มีผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่คน ข้อจำกัดของการออกแบบการวิจัย การจัดการในการดำเนินการวิจัย และผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการศึกษาการฝึกอบรมการรู้คิดที่มีความเข้มงวดในการวิจัย แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการฝึกอบรมการรู้คิดที่มีอำนาจการทดสอบเพียงพอก่อนที่จะเป็นข้อสรุปประสิทธิผลของการฝึกอบรมการรู้คิดสำหรับผู้ที่มี PDD และ PD-MCI การศึกษาควรใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัยความบกพร่องการรู้คิดที่เป็นทางการ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาครั้งต่อไปเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของการฝึกอบรมการรู้คิดในผู้ที่มี PDD

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ประมาณ 60% ถึง 80% ของผู้ที่เป็นโรคพาร์คินสัน (PD) มีความบกพร่องทางปัญญาหรือการรู้คิดซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา การเสื่อมของการรู้คิดเป็นลักษณะสำคัญของโรคและมักเกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มมีอาการด้านการเคลื่อนไหว การฝึกอบรมการรู้คิดอาจเป็นการบำบัดที่ไม่ใช่การรักษาด้วยยาที่สามารถช่วยรักษาหรือปรับปรุงการรู้คิดและคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม PD (PDD) หรือความบกพร่องทางสติปัญญาที่ไม่รุนแรง (PD-MCI) ที่เกี่ยวข้องกับ PD

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบว่าการฝึกอบรมการรู้คิด (กำหนดเป้าหมายที่มีองค์ประกอบเดียวหรือหลายองค์ประกอบ) ช่วยเพิ่มทักษะการรู้คิดในผู้ที่มี PDD และ PD-MCI หรือรูปแบบความผิดปกติทางความคิดอื่น ๆ ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนของความบกพร่องทางการรู้คิด/ปัญญาในผู้ที่เป็น PD

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นในฐาน Cochrane Dementia และ Cognitive Improvement Group Trials Register (8 สิงหาคม 2019), จากทะเบียน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase, CINAHL และ PsycINFO เราสืบค้นจากรายการอ้างอิงและฐานข้อมูลที่มีการลงทะเบียนการทดลอง สืบค้นจากบทวิจารณ์ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้รวมถึงเอกสารที่รวบรวมบทคัดย่อการวิจัยจากที่ประชุมวิชาการ นอกจากนี้เรายังติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลและการทดลองที่กำลังดำเนินการ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมโดยผู้เข้าร่วมวิจัยมี PDD หรือ PD-MCI และงานวิจัยเชิงทดลองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมด้านการทำหน้าที่การรู้คิดของสมองแบบทั่วไปหรือแบบเฉพาะเจาะจงโดยกำหนดเป้าหมายไปที่องค์ประกอบเดียวหรือหลายองค์ประกอบของการรู้คิด และเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีการวางเงื่อนไข การทดลองที่มีหลายองค์ประกอบที่รวมการเคลื่อนไหวหรือองค์ประกอบอื่น ๆ ก็อยู่ในเกณฑ์การคัดเข้าเช่นกัน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นอิสระต่อกันในการทำการคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อ และบทความฉบับเต็มตามเกณฑ์การคัดเข้า ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนยังดำเนินการอย่างเป็นอิสระต่อกันในการคัดลอกข้อมูลและประเมินคุณภาพของระเบียบวิธีการวิจัย และใช้วีธี GRADE เพื่อประเมินคุณภาพของงานวิจัย

ผลการวิจัย: 

การศึกษา 7 เรื่องนี้ มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 225 คนที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้า การศึกษาทั้ง 7 เรื่องเปรียบเทียบผลของการทดลองการฝึกอบรมการรู้คิดกับกลุ่มควบคุมเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรักษาที่มีระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์ การศึกษา 6 เรื่องรวมผู้ที่มี PD ที่อาศัยอยู่ในชุมชน การศึกษาทั้ง 6 เรื่องนี้คัดเลือกผู้ที่มีความบกพร่องทางการรู้คิดองค์ประกอบเดียว (ความสามารถในการจัดการ) หรือหลายองค์ประกอบใน PD การศึกษา 4 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่มี MCI โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยที่กำหนดไว้ และการศึกษาอีก 2 เรื่องรวมทั้งคนที่มี PD-MCI และคนที่มี PD ที่ไม่ได้มีความบกพร่องทางการรู้คิด มีการศึกษา 1 เรื่อง คัดเลือกผู้ที่มีการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม PD ที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลระยะยาว การทดลองที่มีการฝึกอบรมการรู้คิดใน 3 เรื่องกำหนดเป้าหมายไปที่องค์ประกอบเดียวของการรู้คิด ในขณะที่การศึกษาอีก 4 เรื่อง กำหนดเป้าหมายในหลายๆ องค์ประกอบของการทำหน้าที่การรู้คิด กลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้รับการทำกิจกรรมใดๆ เพิ่มหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมสันทนาการ (กีฬา ดนตรี ศิลปะ) ฝึกหัดการพูดหรือภาษา การบำบัดการเคลื่อนไหวผ่านคอมพิวเตอร์ หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวร่วมกับกิจกรรมสันทนาการ

เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการฝึกอบรมการรู้คิดช่วยเพิ่มการรู้คิดที่เป็นสากล แม้ว่าเมื่อสิ้นสุดการอบรมการฝึกอบรมการรู้คิดจะมีความสัมพันธ์กับค่าคะแนนการรู้คิดที่เป็นสากลที่สูงขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ชัดเจนและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (การทดลอง 6 เรื่องผู้เข้าร่วมวิจัย 178 คน ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) 0.28 ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −0.03 ถึง 0.59; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) ไม่มีหลักฐานที่แสดงความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองที่มีการฝึกอบรมการรู้คิดและกลุ่มควบคุมเกี่ยวกับความสามารถในการจัดการ (การทดลอง 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 112 คน; SMD 0.10, 95% CI −0.28 ถึง 0.48; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) หรือการประมวลการมองเห็น (การทดลอง 3 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 64 คน; SMD 0.30, 95% CI −0.21 ถึง 0.81; หลักฐานมีความเชื่อในระดับต่ำ) มีหลักฐานที่สนับสนุนว่ากลุ่มที่ได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดมีผลต่อความสนใจ (การทดลอง 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 160 คน; SMD 0.36, 95% CI 0.03 ถึง 0.68; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) และความจำต่อสิ่งที่ได้ยิน (การทดลอง 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 160 คน; SMD 0.37, 95% CI 0.04 ถึง 0.69; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) แต่ผลลัพธ์เหล่านี้มีความแน่นอนน้อย เมื่อมีการวิเคราะห์ให้มีความไวโดยการไม่รวมการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กที่มีความบกพร่องการรู้คิด ไม่พบความแตกต่างระหว่างการทดลองและกลุ่มควบคุมในกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (การทดลอง 3 เรื่อง ผู้เข้าร่วมวิจัย 67 คน; SMD 0.03, 95% CI −0.47 ถึง 0.53; หลักฐานมีความเชื่อถือได้ในระดับต่ำ) หรือคุณภาพชีวิต (การทดลอง 5 เรื่อง, ผู้ร่วมวิจัย 147 คน; SMD −0.01, 95% CI −0.35 ถึง 0.33; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์น้อยมาก เราถือว่าความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความเสี่ยงของการมีอคติในการศึกษาที่นำมาทบทวนและความไม่ชัดเจนของผลลัพธ์

เราพบว่ามีการทดลองที่กำลังดำเนินการวิจัยจำนวน 6 เรื่อง ที่รับสมัครผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็น PD-MCI แต่ไม่มีการทดลองที่กำลังดำเนินการอยู่ในการศึกษาการฝึกอบรมการรู้คิดสำหรับผู้ที่มี PDD

บันทึกการแปล: 

สมพร รุ่งเรืองกลกิจ วันที่ 9 เมษายน 2021

Tools
Information