คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
การฝึกโยคะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดการดูแลขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภทเมื่อเทียบกับการดูแลตามมาตรฐานหรือไม่
ความเป็นมา
โยคะเกี่ยวข้องกับการจัดท่าทางทางกายและการฝึกการหายใจ เพื่อส่งเสริมความสมดุลระหว่างจิตใจและร่างกาย ปัจจุบันโยคะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นวิธีการผ่อนคลายและการออกกำลังกาย เพื่อลดความเครียดและส่งเสริมสุขภาพและการมีสุขภาวะที่ดี โรคจิตเภทเป็นความเจ็บป่วยทางจิตร้ายแรงซึ่งผู้ที่เจ็บป่วยจะมีอาการ เช่น การได้ยินเสียงที่ไม่มีจริง มีความบกพร่องในการตอบสนองทางอารมณ์ และการแยกตัวจากสังคม โรคจิตเภทมักส่งต่อผลผู้ป่วยเป็นระยะเวลานานและได้รับการรักษาโดยยารักษาโรคจิตเป็นหลัก อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้มักไม่ได้ผลเต็มที่ และงานวิจัยบางเรื่องชี้ให้เห็นว่าการฝึกโยคะเพิ่มเติมในการรักษา อาจเป็นประโยชน์และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท โยคะสามารถใช้ร่วมกับการบำบัดอื่น ๆ เช่น การให้คำปรึกษาหรือการออกกำลังกายในรูปแบบอื่น ๆ ใน 'ชุดการดูแล'
ลักษณะของการศึกษา
ในการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์ฉบับนี้มีเพียงการศึกษาระยะสั้น 3 รายการ (ระยะเวลายาวนานแปดสัปดาห์) ที่สุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคจิตเภทเพื่อรับการฝึกโยคะเป็นชุดการดูแลหรือรับการดูแลตามมาตรฐาน โยคะถูกรวมเข้ากับละคร ดนตรี และการเต้นรำในหนึ่งการศึกษา โดยมีการสร้างแรงจูงใจและให้ข้อเสนอแนะป้อนกลับในอีก 1 การศึกษา การศึกษาเรื่องสุดท้ายที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้รวมโยคะกับการให้คำปรึกษา และการมีการโต้ตอบการตั้งคำถามและตอบคำถาม ลักษณะของการรวมโยคะเข้าไว้ในชุดการดูแลไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในการศึกษาเหล่านี้ เราพบการศึกษาเหล่านี้โดยการสืบค้นทางอิเล็กทรอนิกส์ของทะเบียน Cochrane Schizophrenia Group ในเดือนมีนาคม 2017 ผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดยังคงได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคจิตตามที่กำหนดไว้ในระหว่างการทดลอง
ผลการศึกษาที่สำคัญ
การศึกษานี้ไม่ได้กล่าวถึงผลลัพธ์ที่สำคัญหลายอย่าง รวมถึงสุขภาพทางจิต ทางร่างกาย และการทำหน้าที่ทางสังคม ผลข้างเคียง และผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ในกลุ่มที่ได้รับโยคะในชุดการดูแลอาจมีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้ว ไม่มีหลักฐานที่มีคุณภาพดีเพียงพอในการทบทวนนี้ที่จะกล่าวอ้างอย่างมั่นใจว่าควรรวมโยคะไว้ในชุดการดูแลเพิ่มไปจากการดูแลตามมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยจิตเภท
คุณภาพของหลักฐาน
หลักฐานมีข้อจำกัดและจุดอ่อน จำนวนการศึกษาที่รวบรวมมามีน้อย และรายงานเฉพาะการติดตามผลในระยะเวลาสั้นรายงานเพียง 2 ผลลัพธ์เท่านั้น โรคจิตเภทมักเป็นความเจ็บป่วยระยะยาวและจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเชิงทดลองระยะยาวที่มีขนาดกลุ่มตัวอย่างใหญ่ขึ้นที่ศึกษาผลลัพธ์ที่สำคัญ
หลักฐานงานวิจัยที่นำมาทบทวนฉบับนี้ได้มาจากการศึกษาจำนวนน้อยและแต่ละการศึกษามีขนาดเล็ก และขาดผลลัพธ์หลักที่สำคัญหลายประการ ข้อมูลที่กระจัดกระจายหมายความว่าเราไม่สามารถระบุระดับความแน่นอนใด ๆ ว่าโยคะที่รวมอยู่ในชุดการดูแลนั้นมีประโยชน์เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามมาตรฐาน
โยคะเป็นการฝึกร่างกายและจิตใจมาแต่โบราณ ซึ่งมีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียและเป็นที่นิยมในโลกตะวันตก ในรูปแบบของการผ่อนคลายและการออกกำลังกาย เป็นที่สนใจว่าการเพิ่มการทำโยคะในชุดการดูแลผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะมีประสิทธิภาพแตกต่างไปจากการดูแลตามมาตรฐานอย่างไร
เพื่อประเมินความแตกต่างระหว่างการใช้โยคะเป็นส่วนหนึ่งของชุดการดูแลผู้ป่วยจิตเภทเปรียบเทียบกับการดูแลตามมาตรฐาน
เราสืบค้นจาก Cochrane Schizophrenia Group Trials Register (ล่าสุด 30 มีนาคม 2017) ซึ่งเป็นการสืบค้นบนฐานข้อมูลของ MEDLINE, PubMed, Embase, CINAHL, BIOSS, AMED, PsychINFO และทะเบียนการทดลองทางคลินิก เราสืบค้นจากเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่รวมไว้ทั้งหมด เกณฑ์การคัดเข้าไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา ระยะเวลา ประเภทเอกสารหรือสถานะการเผยแพร่
งานวิจัยแบบ randomised controlled trials (RCTs) ทั้งหมด ที่ศึกษาในผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นโรคจิตเภท เปรียบเทียบระหว่างการได้รับการฝึกโยคะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดการดูแลกับการดูแลตามมาตรฐาน
ผู้ทบทวนงานวิจัยคัดเลือกงานวิจัย ประเมินคุณภาพงานวิจัย และสกัดข้อมูลการศึกษาอย่างเป็นอิสระต่อกัน สำหรับผลลัพธ์ชนิด binary outcomes เราทำการคำนวณสัดส่วนความเสี่ยง (risk ratio; RR) และช่วงความเชื่อมั่น (CI) 95% โดยวิธีวิเคราะห์แบบ intention-to-treat สำหรับข้อมูลแบบต่อเนื่องจะรายงานด้วยความแตกต่างของค่าเฉลี่ย mean difference (MD) ระหว่างกลุ่มและค่า CIs เราใช้ mixed-effect และ fixed-effect models สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล เราตรวจสอบความแตกต่าง (I2 technique) ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติสำหรับการศึกษาที่รวบรวมมา และสร้างตาราง 'สรุปข้อค้นพบ' โดยใช้ GRADE (Grading of Recommendations Assessment, Development and Evaluation)
มีการศึกษาสามเรื่องรวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ผลลัพธ์ทั้งหมดเป็นการประเมินผลระยะสั้น (น้อยกว่า 8 สัปดาห์) มีการรายงานข้อมูลที่ใช้งานได้เพียง 2 ผลลัพธ์เท่านั้นคือ การออกจากการศึกษาก่อนกำหนดและคุณภาพชีวิต มีหลักฐานสนับสนุนว่าการเพิ่มโยคะในชุดการดูแลตามปกติได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อคุณภาพชีวิตในการประเมินผลเมื่อสิ้นสุดการทดลอง (1 RCT, n=80, MD 22.93 CI 19.74 ถึง 26.12, หลักฐานคุณภาพระดับต่ำ) ข้อมูลในช่วงเริ่มต้นของการศึกษามีความไม่ชัดเจนระหว่างกลุ่มการรักษา (3 RCTs, n=193, RD 0.06 CI -0.01 ถึง 0.13, หลักฐานคุณภาพมีคุณภาพปานกลาง, มีความแตกต่างระหว่างการศึกษาสูง) โดยรวม การทบทวนนี้มีผลลัพธ์สำคัญที่ขาดหายไปจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงสภาพจิตและสภาวะทั่วไป การทำหน้าที่ทางสังคม สุขภาพร่างกาย ผลข้างเคียง และค่ารักษาพยาบาล
แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 25 มิถุนายน 2021