ยาหยอดหูสำหรับกำจัดขี้หู

ความเป็นมา

การสะสมของขี้หูเป็นเรื่องปกติ มันอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายและอาจทำให้เกิดปัญหาในการได้ยิน ยาหยอดหูได้รับการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการทำให้ขี้หูนิ่มลง และป้องกันไม่ให้ได้รับการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การล้างรูหู การทบทวนวรรณกรรมนี้จะพิจารณาว่าการรักษาแบบใด (หยดหรือสเปรย์โดยใช้น้ำมันและน้ำ) สามารถช่วยแก้ปัญหาการสะสมของขี้หูได้

ลักษณะของการศึกษา

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 เราทำการค้นหาการทดลองทางคลินิก (clinical trials) เกี่ยวกับการใช้ของเหลวหยอดหูเพื่อช่วยให้ขี้หูนิ่มและ กำจัดขี้หูออกจากหูคนไข้ เราค้นพบและรวมการศึกษา 10 เรื่อง โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 623 คน อย่างไรก็ตามการศึกษาเหล่านี้มีเพียง 6 ฉบับเท่านั้นที่ให้ข้อมูลที่เราสามารถวิเคราะห์ผลลัพธ์หลักของเรา คือสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีการล้างขี้หูอย่างสมบูรณ์ การศึกษาทั้ง 6 นี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 360 คน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ (ทุกวัย) ที่มีการอุดตันของช่องหูภายนอกบางส่วนหรือทั้งหมดด้วยขี้หู

ผลลัพธ์หลัก

การศึกษาจำนวน 10 ฉบับ ศึกษาเกี่ยวกับ น้ำมันหยอดหู (triethanolamine polypeptide, almond oil, benzocaine, chlorobutanol), ยาหยอดหูที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ (docusate sodium, carbamide peroxide, phenazone, choline salicylate, urea peroxide, โพแทสเซียมคาร์บอเนต), น้ำเกลือ (salty water) หรือน้ำเพียงอย่างเดียว หรือไม่มีการรักษา

มีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่เปรียบเทียบการใช้ยาหยอดผสมสารออกฤทธิ์กับการไม่ใช้ยาหยอดเลย การหยอดหูอาจช่วยเพิ่มสัดส่วนของการกำจัดขี้หู จาก 1 ใน 20 (ถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย) เป็นประมาณ 1 ใน 5 (ถ้าคุณใช้ยาหยอด)

เราไม่พบหลักฐานว่ายาหยอดหูแบบน้ำหรือน้ำมันมีความแตกต่างจากการใช้น้ำเกลือหรือน้ำ อย่างไรก็ตามเรายังไม่พบหลักฐานว่าการใช้น้ำหรือน้ำเกลือดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย

ไม่ค่อยพบผลข้างเคียง พบผู้ป่วยน้อยกว่า 30 ราย ที่รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใด ๆ เมื่อใช้ยาหยอดและอาการเหล่านี้ไม่รุนแรง (เช่น การระคายเคือง หรือความเจ็บปวดเล็กน้อย หรือกลิ่นไม่พึงประสงค์) ไม่มีรายงานว่าผู้เข้าร่วมได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรง

คุณภาพของหลักฐาน

เราจัดอันดับคุณภาพของหลักฐานจากการศึกษาโดยใช้ 4 ระดับ: ต่ำมาก, ต่ำ, ปานกลาง หรือ มีคุณภาพสูง หลักฐานคุณภาพสูง หมายความว่า เรามั่นใจในผลลัพธ์มาก หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก หมายความว่า เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ สำหรับการล้างขี้หู เราให้คะแนนคุณภาพของหลักฐาน ต่ำ สำหรับผลที่ไม่พึงประสงค์ เราได้ให้คะแนนคุณภาพของหลักฐาน ต่ำ

บทสรุป

เราพบว่าการใช้ยาหยอดหูเมื่อมีการอุดตันของช่องหูบางส่วนหรือทั้งหมดอาจช่วยกำจัดขี้หูได้ ไม่ชัดเจนว่ายาหยอดชนิดหนึ่งดีกว่ายาหยอดชนิดอื่น หรือชนิดที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์จะดีกว่าน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้ว่าการศึกษาจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินว่าสารละลายขี้หูประเภทหนึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าอีกประเภทหนึ่งหรือไม่ แต่ก็ไม่มีหลักฐานคุณภาพสูงที่จะทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและคำตอบก็ยังไม่แน่นอน

การศึกษาฉบับเดียวชี้ให้เห็นว่าการใช้ยาหยอดหูเป็นเวลา 5 วันอาจส่งผลให้มีโอกาสในการกำจัดขี้หูได้อย่างสมบูรณ์มากกว่าการไม่รักษาเลย อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถสรุปได้ว่าการรักษาประเภทหนึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาแบบอื่นหรือไม่ และไม่มีหลักฐานว่ามีความแตกต่างในประสิทธิภาพระหว่างการรักษาแบบใช้น้ำมันและแบบน้ำ

ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำเกลือหรือน้ำเพียงอย่างเดียวดีกว่าหรือแย่กว่า สารละลายขี้หู ที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำเกลือหรือน้ำเพียงอย่างเดียวดีกว่าการไม่รักษา

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ขี้หู (ซีรูเมน) คือ การหลั่งของร่างกายตามปกติซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาได้เมื่อมันไปอุดกั้นช่องหู อาการที่เกิดจากขี้หู (เช่น หูอื้อและปวด) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการดูแลเบื้องต้นด้วยปัญหาหู

ขี้หูเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการทำความสะอาดตัวเองของหูและมักจะถูกขับออกจากช่องหูตามธรรมชาติโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหา เมื่อกลไกนี้ล้มเหลว ขี้หูจะถูกกักไว้ในรูหูและอาจทำให้เกิดการอุดตัน และนั่นอาจจำเป็นต้องหาวิธีกำจัดขี้หูออกมา การใช้ยาหยอดหูเป็นหนึ่งในวิธีการเหล่านี้ ของเหลวที่ใช้ในการกำจัดและทำให้ขี้หูนิ่มมีหลายชนิด: สารประกอบจากน้ำมัน (เช่น น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันอัลมอนด์) สารประกอบที่เป็นน้ำ (เช่น โซเดียมไบคาร์บอเนต หรือน้ำเปล่า); การใช้สารละลายต่าง ๆ ข้างต้นร่วมกัน หรือที่ไม่ใช่น้ำ และไม่ใช่น้ำมัน เช่น คาร์บาไมด์เปอร์ออกไซด์ (สารประกอบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ - ยูเรีย) และกลีเซอรอล

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของยาหยอดหู (หรือสเปรย์ฉีด) เพื่อขจัดหรือช่วยในการกำจัดขี้หูในผู้ใหญ่และเด็ก

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาหลักฐานจากฐานข้อมูล Cochrane ENT Trials Register; ทะเบียนการศึกษา Cochrane; PubMed; Ovid Embase; CINAHL;Web of Science; ClinicalTrials.gov; ICTRP และแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการทดลองที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่ วันที่ค้นหาล่าสุดคือ 23 มีนาคม 2018

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ซึ่งเปรียบเทียบ 'สารละลายขี้หู' กับการไม่รักษา น้ำหรือน้ำเกลือ การบำบัดด้วยของเหลวอื่น ๆ (น้ำมัน หรือน้ำมันอัลมอนด์) หรือ 'สารละลายขี้หู' อื่น ๆ ในผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีขี้หูอุดตัน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีวิจัยตามมาตราฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักคือ 1) สัดส่วนของผู้ป่วย (หรือหู ) ที่สามารถล้างขี้หูได้อย่างสมบูรณ์ และ 2) ผลข้างเคียง (รู้สึกไม่สบาย ระคายเคืองหรือเจ็บปวด) ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การล้างขี้หู สัดส่วนของคน (หรือหู) ที่บรรเทาอาการเนื่องจากขี้หู สัดส่วนของคน (หรือหู) ที่ต้องการการจัดการเพิ่มเติมเพื่อกำจัดขี้ผึ้ง ความสำเร็จของการกำจัดขี้หูที่เหลือด้วยกลไกหลังการรักษา ผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่บันทึกไว้และค่าใช้จ่าย เราใช้ GRADE เพื่อประเมินคุณภาพของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์ สิ่งนี้ถูกระบุในแบบ ตัวเอียง

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษาได้ 10 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วม 623 คน (900 หู) วิธีการรักษา ได้แก่ น้ำมันหยอดหู (triethanolamine polypeptide, almond oil, benzocaine, chlorobutanol), ยาหยอดหูที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ (docusate sodium, carbamide peroxide, phenazone, choline salicylate, urea peroxide, โพแทสเซียมคาร์บอเนต), น้ำเกลือ หรือน้ำเพียงอย่างเดียว หรือไม่มีการรักษาเลย การศึกษาจำนวน 9 ฉบับ เผยแพร่มานานมากกว่า 15 ปี

ความเสี่ยงโดยรวมของอคติในการศึกษาทั้ง 10 ฉบับอยู่ในระดับต่ำหรือไม่ชัดเจน

ผลลัพธ์หลัก: สัดส่วนของผู้ป่วย (หรือหู) ที่มีการกำจัดขี้หูจนหมด

การศึกษา 6 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 360 คนจำนวน 491 หู) มีข้อมูลเชิงปริมาณและรวมอยู่ในการวิเคราะห์ Meta-analysis

การให้การรักษาด้วยยา กับ การไม่ให้การรักษา

มีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงการเปรียบเทียบนี้ สัดส่วนของหูที่มีการล้างขี้หูอย่างสมบูรณ์สูงกว่าในกลุ่มที่ใช้การรักษา (22%) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา (5%) หลังจากการรักษา 5 วัน (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 4.09, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI ) 1.00 ถึง 16.80); การศึกษา 1 ฉบับ; 117 หู ; NNTB = 8) (หลักฐานคุณภาพต่ำ)

การให้การรักษาด้วยยา กับ น้ำหรือน้ำเกลือ

เราไม่พบหลักฐานของความแตกต่างในสัดส่วนของผู้ป่วย (หรือหู) ที่มีการล้างขี้หูอย่างสมบูรณ์เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มการรักษาโดยใช้ยากับกลุ่มที่ได้รับน้ำหรือน้ำเกลือ (RR 1.47, 95% CI 0.79 ถึง 2.75; การศึกษา 3 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 213 คน 257 หู) (หลักฐานคุณภาพต่ำ) การศึกษาจำนวน 2 การศึกษา หยอดหูเป็นเวลา 5 วัน แต่การศึกษา 1 ฉบับ หยอดหูเพียง 15 นาทีเท่านั้น เมื่อนำการศึกษานี้ออกสำหรับการวิเคราะห์ sensitivity analysis ก็ไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไป

การใช้น้ำหรือน้ำเกลือ เทียบกับ การไม่รักษา

การเปรียบเทียบนี้ได้รับการกล่าวถึงเฉพาะในการศึกษาเดียวที่อ้างถึงข้างต้น (การให้ยารักษากับไม่มีการรักษา) และไม่มีหลักฐานว่ามีความแตกต่างกันในสัดส่วนของหูที่มีการกำจัดขี้ผึ้งอย่างสมบูรณ์เมื่อเปรียบเทียบน้ำหรือน้ำเกลือกับการไม่มีการรักษาหลังการรักษาห้าวัน (RR 4.00, 95% CI 0.91 ถึง 17.62; การศึกษา 1 ฉบับ; 76 หู) (หลักฐานคุณภาพต่ำ)

การรักษาโดยใช้ยา A เทียบกับ การรักษาโดยใช้ยา B

การศึกษาเดี่ยวหลายฉบับประเมินการเปรียบเทียบแบบ 'ตัวต่อตัว' ระหว่างการรักษาที่ใช้ยา 2 วิธี เราไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีตัวใดหนือกว่าตัวอื่น

การวิเคราะห์กลุ่มย่อย (subgroup analysis) ของการรักษาที่ใช้น้ำมันเทียบกับการรักษาแบบที่ไม่ใช้น้ำมัน

เราไม่พบความแตกต่างในผลลัพธ์เมื่อเปรียบเทียบการรักษาที่ใช้น้ำมันกับการรักษาแบบที่ไม่ใช่น้ำมัน

ผลลัพธ์หลัก: ผลข้างเคียง: รู้สึกไม่สบาย ระคายเคืองหรือเจ็บปวด

มีเพียงการศึกษา 7 ฉบับที่วางแผนจะวัดและรายงานผลลัพธ์นี้ มีเพียงการศึกษา 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 141 คน 176 หู) เท่านั้นที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ได้ ไม่มีหลักฐานของความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในจำนวนผลข้างเคียงระหว่างประเภทของยาหยอดหูในการศึกษาทั้ง 2 นี้ เราได้สรุปการศึกษาที่เหลืออีก 5 ฉบับ ในรูปแบบการบรรยาย เหตุการณ์ทั้งหมดไม่รุนแรงและมีรายงานผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 30 คนจากการศึกษาทั้ง 7 ฉบับ (หลักฐานคุณภาพต่ำ)

ผลลัพธ์รอง

การศึกษา 3 ฉบับรายงานผลข้างเคียง 'อื่น ๆ' (จำนวนการศึกษาที่วางแผนจะรายงานสิ่งเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน) ข้อมูลที่มีอยู่มีจำกัด และมีรายงานเกี่ยวกับอาการวิงเวียนศีรษะ กลิ่นไม่พึงประสงค์ หูอื้อและการสูญเสียการได้ยินบ้างเป็นครั้งคราว ไม่มีรายงานความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม ไม่มีรายงานเหตุฉุกเฉินหรือผลข้างเคียงที่ร้ายแรงในการศึกษา 10 ฉบับ

มีข้อมูลที่ จำกัด หรือไม่มีเลยเกี่ยวกับผลลัพธ์รองที่เหลือ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.ชุติมา ชุณหะวิจิตร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2020

Tools
Information