ยา aldosterone antagonists ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกไต

เรื่องนี้มีประเด็นอย่างไร

ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD) ที่ต้องได้รับการฟอกไตจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยอื่น ๆ สาเหตุหนึ่งคือ ความเสี่ยงของโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น ยากลุ่ม aldosterone antagonists (เช่น spironolactone หรือ eplerenone) เป็นยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ค่าโพแทสเซียมในเลือดสูง (hyperkalaemia) ซึ่งอาจเป็นอันตรายในผู้ที่ได้รับการฟอกไต

ผู้วิจัยทำการศึกษาอย่างไร

ผู้วิจัยค้นหาการศึกษาจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2020 และพบการศึกษา 16 เรื่องที่มีผู้ป่วย 1446 คนที่เป็นโรคไตวายและได้รับการฟอกไต การศึกษาเหล่านี้เปรียบเทียบยา aldosterone antagonists กับยาหลอกหรือการรักษาตามปกติ

ผู้วิจัยพบอะไร

จากหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลาง การทบทวนนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เป็นโรค CKD ที่รับประทานยา aldosterone antagonists อาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โดยที่ aldosterone antagonists เหมือนว่าจะไม่เพิ่มความเข้มข้นของโพแทสเซียมในเลือด อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานระดับปานกลางที่ชี้ว่าผู้ชายบางคนที่เป็นโรค CKD ที่ได้รับการฟอกไตอาจมีเต้านมที่โตขึ้น (gynaecomastia) อันเป็นผลจากยา aldosterone antagonists

บทสรุป

ผู้วิจัยได้ข้อสรุปว่ายา aldosterone antagonists อาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและโรคหัวใจได้ แต่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะ gynaecomastia ในผู้ที่ฟอกไตได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อบ่งชี้ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา aldosterone antagonists ในผู้ที่เป็นโรค CKD ที่ต้องฟอกไต

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

จากหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลาง ยา aldosterone antagonists อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และอาจช่วยลดความเจ็บป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองในผู้ที่เป็นโรค CKD ที่ต้องฟอกไต แต่พบผลข้างเคียงเป็นภาวะ gynaecomastia ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ซึ่งค่า absolute risk นี้น้อยกว่าค่า absolute risk ของการเสียชีวิต ผู้วิจัยหวังว่าการศึกษาขนาดใหญ่ 3 โครงการที่กำลังดำเนินอยู่จะให้หลักฐานที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือมากขึ้น

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD) ที่ต้องฟอกไตมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาทางคลินิกหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่ายา aldosterone antagonists อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพทางคลินิกและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นของยา aldosterone antagonists ในผู้ที่เป็นโรค CKD ที่ต้องฟอกไตยังไม่ได้รับการศึกษา

วัตถุประสงค์: 

การทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของยา aldosterone antagonists ทั้งแบบ non-selective (spironolactone) และแบบ selective (eplerenone) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (ยาหลอกหรือการรักษาตามมาตรฐาน) ในผู้ที่เป็นโรค CKD ที่ต้องฟอกเลือด (haemodialysis; HD) หรือล้างไตทางหน้าท้อง (peritoneal dialysis; PD)

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยได้สืบค้นใน Cochrane Kidney and Transplant Register of Studies จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2020 โดยใช้คำสืบค้นที่สัมพันธ์กับหัวข้อนี้ โดยการศึกษาเหล่านี้อยู่ในฐานข้อมูลของ CENTRAL, MEDLINE และ EMBASE, conference proceedings, the International Clinical Trials Register (ICTRP) Search Portal และ ClinicalTrials.gov.

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยได้รวบรวมการทดลองแบบ parallel randomised controlled trials (RCTs), cross-over RCTs, และ quasi-RCTs (การแบ่งกลุ่มประชากรไม่ได้ใช้การสุ่มอย่างแท้จริง, เช่น ใช้การสลับหว่างกัน, จัดกลุ่มตามลำดับของเอกสารทางการแพทย์, วันเดือนปีเกิด, หมายเลขของผู้เข้าร่วม หรือวิธีการอื่นๆ ที่คาดเดาได้) ที่เปรียบเทียบยา aldosterone antagonists กับยาหลอกหรือการรักษาตามมาตรฐานในผู้ที่เป็นโรค CKD ที่ต้องฟอกไต

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนสองคนดึงข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างมีอิสระต่อกัน และใช้ random-effects model ในการวิเคราะห์อภิมานเพื่อหาข้อมูลเชิงปริมาณจากการศึกษาเหล่านั้น และใช้สถิติ I² เพื่อวัดความแตกต่างกันของแต่ละการศึกษาในการวิเคราะห์แต่ละครั้ง ผู้วิจัยรายงานผลสรุปเป็น risk ratio (RR) สำหรับผลลัพธ์แบบ dichotomous , mean difference (MD) สำหรับผลลัพธ์ที่มีความต่อเนื่อง, หรือ standardised mean differences (SMD) หากมีการใช้การวัดผลที่แตกต่างกัน พร้อมกับค่า 95% confidence interval (CI) ในแต่ละผลลัพธ์ นอกจากนี้ยังใช้วิธีการ GRADE (Grades of Recommendation, Assessment, Development, and Evaluation) ในการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานในแต่ละผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยได้รวบรวมการศึกษา 16 เรื่อง (14 parallel RCTs และ 2 cross-over RCTs) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1446 คน ในนี้มี 13 การศึกษาที่เปรียบเทียบ spironolactone กับยาหลอกหรือการรักษาตามมาตรฐาน และ 1 การศึกษาที่เปรียบเทียบ eplerenone กับยาหลอก การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการเกิดอคติไม่ชัดเจนหรือสูง ยา aldosterone antagonists เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมแล้ว พบว่าอาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) สำหรับผู้ที่เป็นโรค CKD ที่ต้องฟอกไต (9 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 1119 คน: RR 0.45, 95% CI 0.30 ถึง 0.67; I² = 0%; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) และอาจลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (6 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 908 คน: RR 0.37, 95% CI 0.22 ถึง 0.64; I² = 0%; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) และความเจ็บป่วยจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 328 คน: RR 0.38, 95% CI 0.18 ถึง 0.76; I² = 0%; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) ในขณะที่ยา aldosterone antagonists อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเต้านมโต (gynaecomastia) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 768 คน RR 5.95, 95% CI 1.93 ถึง 18.3; I² = 0%; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) แต่อาจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะโพแทสเซีมในเลือดสูง (9 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 981 คน: RR 1.41, 95% CI 0.72 ถึง 2.78; I² = 47%; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) ยา aldosterone antagonists มีผลเล็กน้อยต่อ left ventricular mass ในผู้ที่ได้รับการฟอกไต (8 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 633 คน: SMD -0.42, 95% CI -0.78 ถึง 0.05; I² = 77%)

ในผู้ที่เป็นโรค CKD ที่ต้องฟอกไตและได้รับยา aldosterone antagonists เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ลดลง 72 รายต่อผู้เข้าร่วม 1,000 คน (95% CI 47 ถึง 98) โดยมี number needed to treat for an additional beneficial outcome (NNTB) 14 (95 % CI 10 ถึง 21) และเจอภาวะ gynaecomastia 26 เหตุการณ์ต่อผู้เข้าร่วม 1,000 คน (95% CI 15 ถึง 39) โดยมี number need to treat for an additional harmful outcome (NNTH) 38 (95% CI 26 ถึง 68)

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ แปลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2021

Tools
Information