ทำไมการทบทวนวรรณกรรมนี้จึงสำคัญ
มีเด็กและวัยรุ่นจำนวนมากประสบปัญหาเกี่ยวกับภาวะวิตกกังวล เด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรควิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในเรื่องมิตรภาพ ชีวิตครอบครัว และโรงเรียนและมีปัญหาสุขภาพจิตในภายหลังมากกว่าเด็กและวัยรุ่นที่ไม่ได้เป็นโรควิตกกังวล การบำบัดเช่นการบำบัดปรับความคิดและพฤติกรรม (CBT) สามารถช่วยเด็กและวัยรุ่นให้มีวิธีการจัดการความวิตกกังวลได้โดยมีมุมมองใหม่ ๆ และเผชิญหน้ากับความกลัวของพวกเขา
ใครที่จะมีความสนใจในการทบทวนวรรณกรรมนี้
พ่อแม่เด็กและวัยรุ่น คนที่ทำงานด้านการศึกษาและบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น และผู้ปฏิบัติงานทั่วไป
การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามอะไร
ได้ปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้ให้เป็นปัจจุบันและแทนที่ Cochrane Reviews ฉบับก่อนหน้า ตั้งแต่ปี 2005 และ 2015 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า CBT เป็นการรักษาที่มีประสิทธิผลสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรควิตกกังวล
Cochrane Review นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามต่อไปนี้
• CBT มีประสิทธิผลมากกว่ากลุ่มที่มีรายชื่อรอการบำบัดหรือไม่ได้รับการบำบัดหรือไม่
• CBT มีประสิทธิผลมากกว่าการรักษารูปแบบอื่นๆ และยา หรือไม่
• CBT ช่วยลดภาวะวิตกกังวลสำหรับเด็กและวัยรุ่นในระยะยาวหรือไม่
• CBT แต่ละประเภทมีประสิทธิผลมากกว่ากันหรือไม่ (เช่นการบำบัดแบบรายบุคคลหรือแบบกลุ่ม)
• CBT มีประสิทธิผลกับกลุ่มเฉพาะหรือไม่ (เช่นเด็กออทิสติก)
การศึกษาใดที่นำเข้าในการทบทวนวรรณกรรม
เราค้นหาฐานข้อมูลเพื่อค้นหาการศึกษา CBT สำหรับโรควิตกกังวลในเด็กและวัยรุ่นทั้งหมดที่เผยแพร่จนถึงเดือนตุลาคม 2019 การศึกษาที่นำเข้ามาในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ต้องเป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (เป็นประเภทของการศึกษาที่ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมกลุ่มบำบัดหนึ่งในสองกลุ่มขึ้นไปโดยใช้วิธีการสุ่ม) และต้องรวมเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล ผู้วิจัยรวบรวมการศึกษาได้ 87 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 5964 คน
หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมนี้บอกอะไรเราบ้าง
ผู้ทบทวนให้คะแนนคุณภาพของหลักฐานว่าอยู่ในระดับปานกลาง มีหลักฐานว่า CBT มีประสิทธิผลในการลดอาการวิตกกังวลในเด็กและวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการบำบัดหรือไม่มีการรักษาใด ๆ อย่างไรก็ตามผลการวิจัยจะแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า CBT มีประสิทธิผลมากกว่าการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ มีการศึกษาจำนวนเล็กน้อยที่ติดตามผลลัพธ์ 6 เดือนหลังจากได้รับ CBT และแสดงให้เห็นว่าอาการวิตกกังวลยังคงลดลงต่อเนื่อง เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการให้ CBT ในรูปแบบต่างๆ มีประสิทธิผลแตกต่างกัน (เช่นในรูปแบบกลุ่ม การรักษาระยะยาว การบำบัดร่วมกับพ่อแม่) หรือ CBT มีประสิทธิผลมากหรือน้อยต่อเฉพาะเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (เช่นเด็กที่เป็นออทิสติกในประเภทต่างๆ)
อะไรที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไป
การวิจัยในอนาคตควรเปรียบเทียบ CBT กับการรักษาทางเลือกและยา ระบุว่าใครได้รับและไม่ได้รับประโยชน์จาก CBT และสิ่งที่ผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์ต้องการ กำหนดวิธีทำให้ CBT สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และให้ความสำคัญกับประชากรที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งรวมถึงเด็กและวัยรุ่นจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
CBT น่าจะมีประสิทธิผลในระยะสั้นมากกว่ากลุ่มที่รอการบำบัด / ไม่มีการรักษา และอาจมีประสิทธิผลมากกว่าการควบคุมสมาธิ เราพบหลักฐานเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในผลลัพธ์ของการศึกษาทั้งหมดที่แสดงว่า CBT ดีกว่าการดูแลตามปกติหรือการรักษาทางเลือกอื่น ๆ แต่ความเชื่อมั่นของเราต่อข้อค้นพบนี้มีจำกัด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของหลักฐานที่มีอยู่ และเรายังไม่สามารถระบุได้ว่าวิธีไหนมีประสิทธิผลต่อผลลัพธ์ในการรักษามากที่สุด
การทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane ก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าการบำบัดปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (CBT) มีประสิทธิผลในการรักษาเด็กที่เป็นโรควิตกกังวล อย่างไรก็ตามยังคงมีคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้: หลักฐานล่าสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิผลและการยอมรับของ CBT เมื่อทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการบำบัด / ไม่ได้รับการรักษาและการรักษาตามปกติการควบคุมสมาธิ และการรักษาทางเลือกอื่นๆ ประโยชน์จากผลลัพธ์ที่หลากหลาย ประสิทธิผลระยะยาว ผลลัพธ์จากรูปแบบการบำบัดที่แตกต่างกัน และความแตกต่างในกลุ่มเด็กที่มีความผิดปกติออทิสติกในระดับที่ต่างกัน (ASD) และเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
เพื่อประเมินประสิทธิผลของ CBT สำหรับเด็กที่เป็นโรควิตกกังวลเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีรายชื่อรอรับการบำบัด / ไม่มีการรักษา และการรักษาตามปกติ (TAU) การควบคุมสมาธิ การรักษาทางเลือกและการใช้ยา
เราสืบค้นในฐานข้อมูล the Cochrane Common Mental Disorders Controlled Trials Register (ทุกปีจึนถึงปี 2016), the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase, และ PsycINFO (สืบค้นแต่ละฐานข้อมูลจนถึงเดือนตุลาคม 2019), international trial registries และเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่
เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่เกี่ยวกับ CBT ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพบกับเด็กโดยตรง กับผู้ปกครอง หรือ พบทั้งเด็กและผู้ปกครอง และรวมการศึกษาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำ CBT (รายชื่อผู้รอการบำบัด / ไม่มีการรักษา, การรักษาตามปกติ, การควบคุมสมาธิ, การรักษาทางเลือก, ยา) ผู้เข้าร่วมวิจัยอายุน้อยกว่า 19 ปีและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับการวินิจฉัยโรควิตกกังวล ผลลัพธ์หลักคือการทุเลาหลังจากการรักษาโรควิตกกังวลที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหลักและการยอมรับการรักษา (จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่ไม่มาเข้ารับการประเมินหลังสิ้นสุดการบำบัด) และผลลัพธ์รอง ได้แก่ การทุเลาจากการเป็นโรควิตกกังวลทุกประเภท อาการวิตกกังวลลดลง อาการซึมเศร้าลดลง ความสามารถในการทำหน้าที่ทั่วไปดีขึ้น ผลจากอาการข้างเคียง และประสิทธิผลในระยะยาว
เราใช้ระเบียบวิธีการที่เป็นขั้นตอนมาตรฐานตามคำแนะนำของ Cochrane โดยประเมินคุณภาพของหลักฐานด้วย GRADE
เรารวมการศึกษา 87 การศึกษาและผู้เข้าร่วม 5964 คนในการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เมื่อเทียบกับรายชื่อผู้รอการบำบัด / ไม่มีการรักษา พบว่าหลังการบำบัดด้วย CBT อาจเพิ่มการทุเลาของอาการโรควิตกกังวลที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลัก (CBT: 49.4% รายชื่อผู้รอการบำบัด / ไม่ได้รับการรักษา: 17.8%; OR 5.45, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 3.90 ถึง 7.60; n = 2697, 39 การศึกษา, คุณภาพหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง); NNTB 3 (95% CI 2.25 ถึง 3.57) และจากการวินิจฉัยความวิตกกังวลทั้งหมด (OR 4.43, 95% CI 2.89 ถึง 6.78; n = 2075, 28 การศึกษา, คุณภาพหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง)
หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าหลังการรักษามีความแตกต่างระหว่าง CBT และ การรักษาตามปกติ (TAU) ในการทุเลาจากโรควิตกกังวลที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหลัก (OR 3.19, 95% CI 0.90 ถึง 11.29; n = 487, 8 การศึกษา) แต่มีข้อเสนอแนะว่า CBT อาจเพิ่มการทุเลาจากความผิดปกติในความวิตกกังวลทุกชนิด เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาตามปกติ (TAU) (OR 2.74, 95% CI 1.16 ถึง 6.46; n = 203, 5 การศึกษา)
เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มการควบคุมสมาธิ หลังการบำบัดพบว่า กลุ่ม CBT อาจเพิ่มการทุเลาของอาการวิตกกังวลที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคหลัก (OR 2.28, 95% CI 1.33 ถึง 3.89; n = 822, 10 การศึกษา, หลักฐานคุณภาพต่ำ) และโรควิตกกังวลทั้งหมด (OR 2.75, 95% CI 1.22 ถึง 6.17; n = 378, 5 การศึกษา, หลักฐานคุณภาพต่ำ)
มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะเปรียบเทียบว่าหลังการบำบัด กลุ่ม CBT กับกลุ่มการรักษาทางเลือก ต่อการบรรเทาของอาการวิตกกังวลที่ได้รับการวินิฉัยโรควิตกกังวลเป็นโรคหลัก และหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำนี้แสดงให้เห็นว่า หลังการรักษาอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้ในการบรรเทาอาการวิตกกังวลทั้งหมด (OR 0.89, 95% CI 0.35 ถึง 2.23; n = 401, 4 การศึกษา)
หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างของความสามารถในการยอมรับระหว่างกลุ่ม CBT และกลุ่มที่มีรายชื่อผู้รอรับการบำบัด / ไม่มีการรักษา (OR 1.09, 95% CI 0.85 ถึง 1.41; n = 3158, 45 การศึกษา) การรักษาตามปกติ (OR 1.37, 95% CI 0.73 ถึง 2.56 ; n = 441, 8 การศึกษา), การควบคุมสมาธิ (OR 1.00, 95% CI 0.68 ถึง 1.49; n = 797, 12 การศึกษา) และการรักษาทางเลือก (OR 1.58, 95% CI 0.61 ถึง 4.13; n = 515, 7 การศึกษา) .
ไม่มีรายงานผลข้างเคียงในทุกการศึกษา อย่างไรก็ตามมีการศึกษาจำนวนน้อยที่มีการอ้างอิงถึงผลข้างเคียง แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าอาการเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นระบบหรือไม่
ผลการศึกษาจากผลลัพธ์ของอาการวิตกกังวล ได้ผลลัพธ์ที่กว้าง ข้อมูลผลลัพธ์ในระยะยาวและการวิเคราะห์กลุ่มย่อยถูกนำเสนอในเนื้อหาของเอกสารฉบับนี้
เราไม่พบหลักฐานของความแตกต่างที่สอดคล้องกันของผลลัพธ์ตามรูปแบบวิธีการให้การบำบัด (เช่นรายบุคคลกับกลุ่ม ระยะเวลาการติดต่อของนักบำบัด) หรือในกลุ่มตัวอย่างที่มีและไม่มี ASD และไม่มีการศึกษาใดที่ศึกษาในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
แปลโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สมพร รุ่งเรืองกลกิจ วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2564