วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
กลุ่มอาการออทิซึม (Autism spectrum disorder: ASD) เป็นความผิดปกติที่ค่อนข้างพบได้บ่อยเกี่ยวกับพัฒนาการที่ผิดปกติของสมอง ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมซ้ำๆ, ทำกิจกรรมเดิมๆ, มีความสนใจแค่เฉพาะบางเรื่อง, และทักษะทางสังคมและภาษาที่ลดลง ยังไม่มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับอาการเหล่านี้ของ ASD แต่การวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่ายา D-cycloserine อาจช่วยเพิ่มทักษะทางสังคมและการสื่อสารในผู้ที่มี ASD ได้ โดยยา D-cycloserine เป็นยาชนิดหนึ่งที่ถูกใช้ในการรักษาวัณโรค (การติดเชื้อวัณโรคที่มักเกิดขึ้นที่ปอด) และโรคจิตเภท (schizophrenia; ความผิดปกติทางจิตที่รุนแรงที่ส่งผลต่อความคิด, อารมณ์และพฤติกรรม) ผู้วิจัยต้องการทราบว่าการใช้ยา D-cycloserine เพียงอย่างเดียวหรือเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ จะให้ผลดีหรือแย่กว่ายาหลอกในการพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อสารในผู้ที่มี ASD และมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการใช้ยานี้หรือไม่
ใจความสำคัญ
ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างการใช้ยา D-cycloserine ร่วมกับการฝึกทักษะทางสังคม เมื่อเทียบกับการฝึกทักษะทางสังคมเพียงอย่างเดียวในการพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อสารในผู้ที่มี ASD อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลลัพธ์เหล่านี้
การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาอะไร
ผู้วิจัยสืบค้นจากฐานข้อมูลของการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และพบการศึกษาเพียง 1 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการทบทวนนี้ การศึกษานี้ทำขึ้นในสหรัฐอเมริกาและไม่ได้รับทุนวิจัยจากบริษัทยา การศึกษานี้มีเด็ก 67 คน อายุตั้งแต่ 5 ถึง 11 ปี โดยที่กลุ่มหนึ่งได้รับยา D-cycloserine สัปดาห์ละครั้งพร้อมกับรับการฝึกทักษะทางสังคม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับยาหลอก (เม็ดยาที่ไม่มีตัวยา) ร่วมกับการฝึกทักษะทางสังคม การรักษาใช้เวลา 10 สัปดาห์
ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
หลังการรักษาหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีความแตกต่างในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม, พฤติกรรมที่เกิดขึ้นซ้ำๆ หรือทักษะทางภาษาระหว่างกลุ่ม D-cycloserine และยาหลอก และพบว่า D-cycloserine อาจไม่มีเหตุการณ์ของผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย, จำนวนผู้ที่ออกจากการศึกษาและการตอบสนองต่อการรักษาที่ต่างจากกลุ่มยาหลอก
D-cycloserine อาจไม่ช่วยในการเพิ่มทักษะทางสังคมและการสื่อสารในผู้ที่มี ASD แต่ข้อมูลนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต ผู้วิจัยยังไม่ทราบผลกระทบในระยะยาวของ D-cycloserine เนื่องจากมีเฉพาะการศึกษาที่ติดตามผลในระยะเวลาอันสั้น
ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร
ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงพฤศจิกายน 2020
ผู้วิจัยยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า D-cycloserine มีประโยชน์กับผู้ป่วย ASD หรือไม่ การทบทวนนี้ได้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือต่ำจากการศึกษาเพียงฉบับเดียวที่มีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยและความไม่แม่นยำ การทบทวนนี้ได้เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของอคติและความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยใช้แนวทาง GRADE ให้กับการศึกษาต้นฉบับ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการทดลองใหม่ๆ ในหัวข้อนี้ การการทบทวนในอนาคตอาจรวมข้อมูลเหล่านั้นเข้าด้วยกันซึ่งอาจสอดคล้องหรือขัดแย้งกับข้อสรุปในครั้งนี้ได้
อาการของ autism spectrum disorder (ASD) มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของ N-methyl-D-aspartate (NMDA) glutamate receptors ที่ excitatory synapses และความผิดปกติของ glutamate ซึ่งยาที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท glutamate เช่น D-cycloserine (partial agonist ของ NMDA glutamate receptor) อาจเป็นหนึ่งในการรักษาที่ส่งผลต่ออาการสำคัญของ ASD อย่างไรก็ตาม ผลที่อาจเกิดขึ้นของ D-cycloserine ต่อการขาดทักษะทางสังคมและการสื่อสารของผู้ที่มี ASD ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างละเอียดและยังไม่มีการทบทวนหลักฐานอย่างเป็นระบบ
เพื่อประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยา D-cycloserine เมื่อเทียบกับยาหลอกต่อทักษะทางสังคมและการสื่อสารในคนที่เป็น autism spectrum disorder
ในเดือนพฤศจิกายน 2020 ผู้วิจัยได้สืบค้นการศึกษาใน CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่นๆ อีก 6 แห่งและแบบลงทะเบียนการศึกษาอีก 2 แห่ง นอกจากนี้ยังค้นหาจากรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้องและติดต่อเจ้าของการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ (Minshawi 2016) เพื่อหาการศึกษาที่อาจมีเพิ่มเติม ทั้งยังติดต่อบริษัทยา, ค้นหาจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตและแหล่งที่รวบรวมรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
การทดลองแบบ randomised controlled trials (RCTs) ทั้งหมดที่ใช้ D-cycloserine ในขนาดใดๆ และระยะเวลาใดๆ โดยอาจมีหรือไม่มีการรักษาเสริมอื่นๆ เมื่อเทียบกับยาหลอกในผู้ที่มี ASD
ผู้วิจัยสองคนได้ทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกันในการคัดเลือกการศึกษา, ดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง, ประเมินความเสี่ยงของอคติ, ให้คะแนนความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยใช้แนวทาง GRADE, และวิเคราะห์และประเมินข้อมูล ผู้วิจัยจำเป็นต้องรายงานผลลัพธ์ในเชิงบรรยายเท่านั้นเนื่องจากมีการศึกษาเพียงเรื่องเดียวที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้
ผู้วิจัยพบ RCT 1 ฉบับ (Minshawi 2016) ที่ได้รับทุนวิจัยจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา และดำเนินการในสองแห่งในสหรัฐอเมริกา: Indiana University School of Medicine และ Cincinnati Children's Hospital Medical Centre ในการศึกษานี้มีเด็ก 67 คนที่มี ASD, อายุระหว่าง 5 ถึง 11 ปี และได้รับการสุ่มให้ได้รับวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ D-cycloserine 50 มก. สัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 10 สัปดาห์ (10 ครั้ง) ร่วมกับการฝึกทักษะทางสังคม หรือ ได้รับยาหลอกร่วมกับการฝึกทักษะทางสังคม ขั้นตอนการสุ่มใช้อัตราส่วน 1: 1 ระหว่างกลุ่ม D-cycloserine และยาหลอกและมีการวัดผลที่หนึ่งสัปดาห์หลังจบการรักษา การประเมิน 'ความเสี่ยงของอคติ' สำหรับการศึกษาอยู่ในระดับต่ำในห้าโดเมนและไม่ชัดเจนในสองโดเมน
จากหลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำในการศึกษานี้ (ผู้เข้าร่วม 67 คน) พบว่า ไม่พบความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มในผลลัพธ์ทั้งหมดที่ประเมินได้ที่หนึ่งสัปดาห์หลังจบการรักษา: ความบกพร่องทางปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (mean difference (MD) 3.61 (ประเมินด้วย Social Responsiveness Scale), 95% confidence interval (CI) -5.60 ถึง 12.82); ความบกพร่องในการสื่อสารทางสังคม (MD -1.08 (วัดโดยใช้ระดับการพูดที่ไม่เหมาะสมของ Aberrant Behavior Checklist (ABC)), 95% CI -2.34 ถึง 0.18); รูปแบบพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ และวนไปวนมา (MD 0.12 (วัดโดย ABC stereotypy subscale), 95% CI -1.71 ถึง 1.95); เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง (risk ratio (RR) 1.11, 95% CI 0.94 ถึง 1.31); อาการรองของ ASD (RR 0.97 (วัดโดย Clinical Global Impression-Improvement scale), 95% CI 0.49 ถึง 1.93); และความทนต่อ D-cycloserine (RR 0.32 (ประเมินโดยจำนวนผู้ที่ออกจากการศึกษา), 95% CI 0.01 ถึง 7.68)
ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ แปลเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2021