การฝังเข็มสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การฝังเข็มช่วยลดอาการปวดอย่างปลอดภัยและ ปรับปรุงระดับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลังและ คุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง (low-back pain (LBP)) หรือไม่

ความเป็นมา

คนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง บางคนเลือกการฝังเข็มเพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการอื่น ๆ

ช่วงเวลาที่สืบค้น

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึง 29 สิงหาคม 2019

ลักษณะของการศึกษา

เราตรวจสอบการทดลอง 33 รายการ (37 บทความ) โดยมีผู้เข้าร่วม 8270 คน การทดลองดำเนินการในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือและใต้ การศึกษาเปรียบเทียบการฝังเข็มกับวิธีการแบบหลอก (ยาหลอก) ไม่ได้รับวิธีการรักษา และการดูแลตามปกติ

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบหลอก การฝังเข็มอาจไม่ได้ผลดีกว่าในการลดความเจ็บปวดทันทีหลังการรักษา การฝังเข็มอาจไม่ได้ช่วยให้ระดับการทำงานที่เจาะจงของส่วนหลังดีขึ้นทันทีหลังการรักษา หรืออาจไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในระยะสั้น

การฝังเข็มดีกว่าการไม่ได้รับวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด และระดับการทำงานดีขึ้นทันทีหลังการรักษา

เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติการฝังเข็มไม่ได้ช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก แต่ดูเหมือนจะมีประสิทธิผลมากกว่าในการปรับปรุงการทำงานทันทีหลังการรักษา การฝังเข็มไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในระยะสั้น

อุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อาจคล้ายคลึงกันระหว่างการฝังเข็มและวิธีการแบบหลอก และระหว่างการฝังเข็มกับการดูแลตามปกติ ผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับการฝังเข็มถือว่าอยู่ในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ความน่าเชื่อถือของหลักฐานมีตั้งแต่น้อยมากจนถึงปานกลาง การทดลองหลายรายการแสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติเนื่องจากปัญหาในการปกปิดนักฝังเข็มหรือผู้เข้าร่วมการศึกษา สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้เข้าร่วมในการรายงานผลลัพธ์ และผลการคำนวณของผู้ทดลอง ผลลัพธ์บางอย่างมาจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ทำให้ผลลัพธ์ไม่สอดคล้องกันและไม่แม่นยำ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราพบว่าการฝังเข็มอาจไม่มีบทบาทที่มีความหมายทางคลินิกมากกว่าวิธีการแบบหลอก ในการบรรเทาความเจ็บปวดทันทีหลังการรักษาหรือในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในระยะสั้น และการฝังเข็มอาจไม่ช่วยให้การทำงานของหลังดีขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีการแบบหลอกในระยะทันที อย่างไรก็ตามการฝังเข็มได้ผลดีกว่าการไม่รักษา สำหรับอาการปวดและการทำงานในระยะทันที การทดลองที่มีการรักษาตามปกติเป็นกลุ่มควบคุม พบว่าการฝังเข็มอาจไม่สามารถลดความเจ็บปวดได้ในทางคลินิก แต่การบำบัดอาจช่วยปรับปรุงการทำงานได้ทันทีหลังการทำเช่นเดียวกับคุณภาพชีวิตทางร่างกายในระยะสั้น แต่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตทางจิตใจ หลักฐานถูกลดระดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติ ความไม่สอดคล้องกัน และขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่เล็ก ทำให้เกิดความไม่แม่นยำของผลลัพธ์ การตัดสินใจใช้การฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง อาจขึ้นอยู่กับความพร้อม ค่าใช้จ่าย และความชอบของผู้ป่วย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง (LBP) เป็นเรื่อง ที่พบได้บ่อย ถูกกำหนดให้เป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีสาเหตุที่ทราบได้ ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน แนวทางปฏิบัติทางคลินิกบางประการชี้ให้เห็นว่าการฝังเข็มสามารถเป็นการบำบัดทางเลือกที่มีประสิทธิผล การทบทวนวรรณกรรมนี้แยกออกมาจากการทบทวน Cochrane ก่อนหน้านี้และมุ่งเน้นไปที่ LBP แบบเรื้อรัง

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการฝังเข็มเมื่อเทียบกับวิธีการแบบหลอก ไม่ได้รับวิธีการรักษา หรือการดูแลตามปกติสำหรับรักษอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นหลักฐานจาก CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, ฐานข้อมูลภาษาจีน 2 รายการ และการลงทะเบียนทดลอง 2 รายการ จนถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2019 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาหรือสถานะของการเผยแพร่ นอกจากนี้เรายังคัดกรองรายการอ้างอิงและแนวทางการรักษา LBP เพื่อหาการศึกษาที่อาจเกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมเฉพาะการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCTs) ของการฝังเข็มสำหรับ LBP แบบเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจงในผู้ใหญ่ เราไม่รวม RCTs ที่ตรวจสอบ LBP ที่มีสาเหตุเฉพาะ เรารวมการทดลองที่เปรียบเทียบการฝังเข็มกับวิธีการแบบหลอก ไม่มีการรักษา และการดูแลตามปกติ ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความเจ็บปวด สถานะระดับการทำงานที่เจาะจงของส่วนหลัง และคุณภาพชีวิต ผลลัพธ์รองคือความพิการที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด การประเมินโดยรวม หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คน คัดเลือกการศึกษา ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและคัดลอกข้อมูลโดยอิสระต่อกัน เราวิเคราะห์ข้อมูลเมต้าในข้อมูลที่มีลักษณะทางคลินิกที่คล้ายคลึงกันโดยใช้ random-effects model ใน Review Manager 5.3 นอกเหนือจากนั้น เราจะรายงานข้อมูลในเชิงคุณภาพ เราใช้วิธีการ GRADE เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษา 33 รายการ (37 บทความ) กับผู้เข้าร่วม 8270 คน การทดลองดำเนินการในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือและใต้ การศึกษา 7 รายการ (ผู้เข้าร่วม 5572 คน) ดำเนินการในประเทศเยอรมัน คิดเป็น 67% ของผู้เข้าร่วม การทดลอง 16 รายการเปรียบเทียบการฝังเข็มกับวิธีการแบบหลอก การดูแลตามปกติ หรือไม่รักษา การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติเนื่องจากขาดการปกปิดผู้ฝังเข็ม การศึกษาบางส่วนพบว่ามีความเสี่ยงสูงใน detection, attrition, reporting or selection bias

เราพบหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (การทดลอง 7 รายการ ผู้เข้าร่วม 1403 คน) ว่าการฝังเข็มอาจบรรเทาความเจ็บปวดแบบทันที (นานถึง 7 วัน) เมื่อเทียบกับวิธีการแบบหลอก (ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย (MD) -9.22, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -13.82 ถึง -4.61, visual analog scale (VAS) 0-100) ความแตกต่างไม่ถึงตามเกณฑ์ที่สำคัญทางคลินิกที่ 15 คะแนน หรือการเปลี่ยนแปลงสัมพัทธ์ 30% หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำมาก จากการทดลอง 5 รายการ (ผู้เข้าร่วม 1481 คน) แสดงให้เห็นว่าการฝังเข็มไม่ได้ผลดีไปกว่าวิธีการแบบหลอก ในการปรับปรุงการทำงานเฉพาะส่วนหลังแบบทันที (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) -0.16, 95% CI -0.38 ถึง 0.06; เทียบเท่าการเปลี่ยน Hannover Function Ability Questionnaire (HFAQ, 0 ถึง 100, ค่าที่สูงกว่าดีกว่า) (MD 3.33 คะแนน; 95% CI -1.25 ถึง 7.90)) การทดลอง 3 รายการ (ผู้เข้าร่วม 1068 คน) ให้หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำว่า การฝังเข็มดูเหมือนจะไม่ได้ผลทางคลินิกในระยะสั้นสำหรับคุณภาพชีวิต (SMD 0.24, 95% CI 0.03 ถึง 0.45; สอดคล้องกับการเปลี่ยนค่าคะแนนแบบสำรวจสุขภาพแบบสั้น 12 รายการทางกายภาพ (SF-12, 0-100 ค่าที่สูงกว่าดีกว่า) (คะแนน MD 2.33; 95% CI 0.29 ถึง 4.37)) สาเหตุของการลดระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานให้อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ได้แก่ ความเสี่ยงของอคติ ความไม่สอดคล้องและความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

เราพบหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลางว่า การฝังเข็มช่วยบรรเทาอาการปวดได้มากขึ้นและมีความสำคัญทางคลินิก (MD -20.32, 95% CI -24.50 ถึง -16.14; การทดลอง 4 รายการ, ผู้เข้าร่วม 366 คน; (VAS, 0 ถึง 100) และการทำงานของหลังที่ดีขึ้น (SMD - 0.53, 95% CI -0.73 ถึง -0.34; การทดลอง 5 รายการ; ผู้เข้าร่วม 2960 คน; สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง HFAQ (MD 11.50 คะแนน; 95% CI 7.38 ถึง 15.84)) ในระยะทันที เมื่อเทียบกับไม่มีการรักษา หลักฐานถูกลดระดับให้มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลางเนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิดอคติ ไม่มีการศึกษารายงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในระยะสั้นหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (การทดลอง 5 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1054 คน) ชี้ให้เห็นว่าการฝังเข็มอาจลดความเจ็บปวดได้ (MD -10.26, 95% CI -17.11 ถึง -3.40; แต่ไม่สำคัญทางคลินิกสำหรับ 0 ถึง 100 VAS) และปรับปรุงการทำงานเฉพาะที่หลังทันทีหลังการรักษา (SMD: -0.47; 95% CI: -0.77 ถึง -0.17; การทดลอง 5 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1381 คน; สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง HFAQ (MD 9.78 คะแนน 95% CI 3.54 ถึง 16.02) เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือปานกลาง จากการทดลอง 1 รายการ (ผู้เข้าร่วม 731 คน) พบว่าการฝังเข็มมีประสิทธิผลในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตทางกายภาพมากกว่า (MD 4.20, 95% CI 2.82 ถึง 5.58) แต่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตทางจิตใจในระยะสั้น (MD 1.90, 95% CI 0.25 ถึง 3.55) ความน่าเชื่อถือของหลักฐานถูกลดระดับลงเป็นปานกลางถึงต่ำเนื่องจากมีความเสี่ยงต่ออคติ ความไม่สอดคล้อง และความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ แสดงให้เห็นถึงอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ทันทีหลังการรักษาที่คล้ายคลึงกันในกลุ่มการฝังเข็มและวิธีการแบบหลอก (การทดลอง 4 รายการ, ผู้เข้าร่วม 465 คน) (RR 0.68 95% CI 0.46 ถึง 1.01) และกลุ่มการฝังเข็มและการดูแลตามปกติ (การทดลอง 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 74 คน) (RR 3.34, 95% CI 0.36 ถึง 30.68) ความน่าเชื่อถือของหลักฐานถูกลดระดับลง เนื่องจากความเสี่ยงต่อการมีอคติและความไม่แม่นยำของผลลัพธ์ ไม่มีการทดลองรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฝังเข็มเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รักษา อาการไม่พึงประสงค์ที่รายงานที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มการฝังเข็ม ได้แก่ อาการปวดตรงตำแหน่งที่แทงเข็ม รอยช้ำ เลือดคั่ง เลือดออก การแย่ลงของ LBP และอาการปวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ LBP (ปวดที่ขาและไหล่)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 กุมภาพันธ์ 2021

Tools
Information