ยาฟาวิพิราเวียร์มีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด‐19 หรือไม่

ใจความสำคัญ

เนื่องจากยังขาดหลักฐานที่มีความแน่ชัด เราไม่มั่นใจว่ายาฟาวิพิราเวียร์จะมีประโยชน์หรือไม่ ในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทั้งในผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่จำต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ยาฟาวิพิราเวียร์อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย แต่ดูเหมือนจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่สำคัญหรือรุนแรง

ยาฟาวิพิราเวียร์คืออะไร

ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่สามารถต่อสู้กับไวรัสได้ ปกติจะใช้รับประทานทางปาก เดิมทีใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ ยาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการเสนอแนะว่าอาจเป็นวิธีการรักษาที่มีศักยภาพสำหรับโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ขยายของไวรัส หน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ได้อนุมัติยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ดีกว่าการไม่ได้รับการรักษา หรือการรักษาแบบประคับประคอง หรือการทดลองการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอื่นๆ สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในแง่ของการเสียชีวิต ความต้องการความช่วยเหลือทางการหายใจ (เครื่องช่วยหายใจ) และผลลัพธ์อื่นๆ เรายังต้องการทราบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาทดลองที่เปรียบเทียบ ยาฟาวิพิราเวียร์กับการไม่มีการรักษา หรือการรักษาแบบประคับประคอง หรือการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอื่นๆ ในผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษาทดลองที่เกี่ยวข้อง 25 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 5750 คน การศึกษาทดลองดำเนินในหลายประเทศ: บาห์เรน บราซิล จีน อินเดีย อิหร่าน คูเวต มาเลเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา คนส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี และมีอาการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

อะไรคือผลลัพธ์หลักของการการทบทวนวรรณกรรมของเรา

• เราไม่ทราบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาหลอก หรือการรักษามาตรฐาน หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ หลักฐานที่สนับสนุนข้อสรุปนี้ไม่ชัดเจนมาก (จากการศึกษา 11 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 3459 คน)

• ยังไม่ชัดเจนว่ายาฟาวิพิราเวียร์ช่วยลดความจำเป็นในการใส่เครื่องช่วยหายใจเมื่อเทียบกับการรักษาหลอกหรือการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอื่นๆ หรือไม่ (จากการศึกษา 8 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1383 คน)

• ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อย การใช้ฟาวิพิราเวียร์อาจไม่ลดโอกาสที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจ (จากการศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 670 คน)

• ยาฟาวิพิราเวียร์มีผลไม่ชัดเจนต่อระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้น โดยตามเกณฑ์ที่กำหนดเรื่องการลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย (จากการศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 721 คน)

• ดูเหมือนว่ายาฟาวิพิราเวียร์จะสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในการลดความจำเป็นในการรักษาด้วยออกซิเจน เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาหลอกหรือการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอื่นๆ (จากการศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 543 คน)

• ยาฟาวิพิราเวียร์อาจทำให้เกิด ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง (จากการศึกษา 18 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 4699 คน) แต่ดูเหมือนจะไม่ก่อให้เกิด ผลข้างเคียงที่สำคัญหรือรุนแรง (มาจากการศึกษา 12 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 3317 คน)

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ความเชื่อมั่นของเราต่อหลักฐานการใช้ฟาวิพิราเวียร์นั้นมีจำกัด เนื่องจากผู้ป่วยในการศึกษามีความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน และการศึกษามีขนาดต่างกันและให้ผลลัพธ์ที่ไม่สอดคล้องกัน

การทบทวนวรรณกรรมนี้มีความเป็นปัจจุบันเพียงใด

การทบทวนพิจารณาหลักฐานจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานความเชื่อมั่นระดับต่ำถึงต่ำมาก หมายความว่าเราไม่ทราบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 หรือไม่ โดยไม่คำนึงถึงความรุนแรงหรือสถานะเมื่อเข้ารักษา การรักษาด้วยฟาวิพิราเวียร์ อาจส่งผลให้อุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์โดยรวมเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่ส่งผลให้เกิด เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงจากไวรัสโคโรนา 2 (SARS-CoV-2) ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายบุคลากรด้านสุขภาพและสังคมทั่วโลก มีผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่ายาฟาวิพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการรักษาโรคโควิด-19 ถึงแม้ว่ายานี้ได้รับการประเมินในการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs: randomized controlled trials) แต่ก็ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ยานี้บทบาทอย่างไรในการรักษาโรคโควิด-19

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ที่ป่วยโรคโควิด-19 แบบเฉียบพลัน เปรียบเทียบกับการไม่ให้ยารักษา หรือเทียบกับการรักษาแบบประคับประคอง หรือเทียบกับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดอื่นๆที่กำลังทดลองอยู่

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นฐานข้อมูลจนถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2023 จาก Cochrane COVID-19, MEDLINE, Embase, the World Health Organization (WHO) COVID-19 Global literature on coronavirus disease และฐานข้อมูลอื่นอีก 3 แหล่ง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราค้นหา RCTs ที่ประเมินประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนระเบียบวิธีมาตรฐานของ Cochrane ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน ในแต่ละผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษาทดลอง 25 ฉบับ ที่ทำการสุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่จำนวน 5750 คน (ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 60 ปี) การศึกษาทดลองดำเนินในประเทศ บาห์เรน บราซิล จีน อินเดีย อิหร่าน คูเวต มาเลเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยโรคที่มีความรุนแรงระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง (89%) การศึกษาทดลอง 22 จากทั้งหมด 25 ฉบับ เปรียบเทียบยาฟาวิพิราเวียร์กับยาหลอกหรือการดูแลมาตรฐาน ในขณะที่การศึกษาอีก 2 ฉบับ มี lopinavir/ritonavir เป็นตัวเปรียบเทียบ และ umifenovir เป็นตัวเปรียบเทียบในการศึกษาอีก 1 ฉบับ การศึกษาทดลองส่วนใหญ่ (24 จาก 25 ฉบับ) ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ขนาด 1600 มก. หรือ 1800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันแรก ตามด้วย 600 มก. ถึง 800 มก. วันละ 2 ครั้ง ระยะเวลาการรักษาแตกต่างกันไปตั้งแต่ 5 ถึง 14 วัน

เราไม่ทราบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ลดการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในระยะ 28 ถึง 30 วัน หรือขณะนอนโรงพยาบาล อัตราส่วนความเสี่ยง (RR: risk ratio) 0.84, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% confidence interval (CI)) 0.49 ถึง 1.46; การศึกษา 11 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 3459 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) เราไม่ทราบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ลดการลุกลามของโรคจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ (RR 0.86, 95% CI 0.68 ถึง 1.09; การศึกษา 8 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1383 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ยาฟาวิพิราเวียร์อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยในความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (ในผู้ป่วยนอก) (RR 1.04, 95% CI 0.44 ถึง 2.46; การศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 670 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่ทราบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ช่วยให้อาการทางคลินิกดีขึ้นเร็วหรือไม่ (หมายถึงเวลาที่มีการลด ordinal scale ของ WHO ลง 2 คะแนน จากช่วงแรกรับของผู้ป่วยใน) (Hazard Ratio (HR) 1.13, 95% CI 0.69 ถึง 1.83; การศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 721 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ยาฟาวิพิราเวียร์ อาจทำให้มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลย ในความต้องการการบำบัดด้วยออกซิเจนที่เพิ่มขึ้น (RR 1.20, 95% CI 0.83 ถึง 1.75; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 543 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ยาฟาวิพิราเวียร์ อาจทำให้อุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์โดยรวมเพิ่มขึ้น (RR 1.27, 95% CI 1.05 ถึง 1.54; การศึกษา 18 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 4699 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) แต่อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกิดจากยา (RR 1.04, 95% CI 0.76 ถึง 1.42; การศึกษา 12 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 3317 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นายแพทย์โยธี ทองเป็นใหญ่ หน่วยโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา Dr.Yothi Tongpenyai MD., M.Sc; May 31, 2024

Tools
Information