ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม สำหรับภาวะประจำเดือนออกมาก

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

กลุ่มวิจัย Cochrane Gynaecology and Fertility Group ได้ทบทวนหลักฐานการศึกษาเกี่ยวกับผลของการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เทียบกับการไม่รักษา ยาหลอก หรือ ยาอื่นๆ สำหรับรักษาภาวะประจำเดือนออกมาก (heavy menstrual bleeding; HMB)

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

HMB สามารถทำให้เกิดภาวะซีด (เซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยเกินไป) และรบกวนคุณภาพชีวิตของสตรีได้ ในสตรีที่ยังไม่หมดประจำเดือน อาจจะมาปรึกษาแพทย์ประจำตัวหรือแพทย์เฉพาะทางนรีเวช เพื่อรักษาเลือดประจำเดือนที่ผิดปกติ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแบบรับประทาน (Combined oral contraceptive pills ; COCP) สามารถควบคุมรอบเดือนได้โดยการทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัว (เยื่อบุของมดลูกที่หลั่งในระหว่างมีประจำเดือน) มีโอกาสเป็นไปได้ที่ยาคุมกำเนิดที่ใช้ผ่านช่องทางอื่นๆ (เหน็บช่องคลอด หรือ แผ่นแปะผิวหนัง) จะออกฤทธิ์เช่นกัน และลดเลือดประจำเดือนที่ออกได้

ลักษณะของการศึกษา

แปดการศึกษา ซึ่งทำในสตรีรวม 805 คน ซึ่งเปรียบเทียบ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (ส่วนใหญ่คือยาเม็ดคุมกำเนิด) กับการไม่รักษา, ยาหลอก, หรือการรักษาด้วยยาอื่นๆ การศึกษาเหล่านี้ประเมินผลของการรักษาต่อ เลือดประจำเดือน, ความพึงพอใจ, คุณภาพชีวิต, ผลข้างเคียง, และระดับเม็ดเลือดแดงในเลือด (Haemoglobin; HMB) หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงกันยายน 2018

ผลการศึกษาที่สำคัญ

สองการศึกษาพบว่า COCP ชนิดที่ประกอบด้วย estradiol valerate และ dienogest ช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกได้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตและระดับเม็ดเลือดแดงในเลือด เมื่อเทียบกับยาหลอก แต่มีผลข้างเคียงชนิดที่ไม่รุนแรงมากกว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเปรียบเทียบยาคุมกำเนิดกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ยาต้านอักเสบ (NSAIDs) หรือ ยาโปรเจสติน (progestogens) สองการศึกษาพบว่า ห่วงคุมกำเนิดใส่โพรงมดลูกชนิด levonogestrel (LNG IUS) มีประสิทธิภาพมากกว่า COCP ในการลดเลือดประจำเดือนที่ออก สองการศึกษาพบว่า ไม่มีหลักฐานของความแตกต่างระหว่างยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน หรือชนิดห่วงใส่ช่องคลอด เราไม่พบการศึกษาที่ประเมินผลของยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพของหลักฐานที่เปรียบเทียบระหว่างยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานกับยาหลอก อยู่ในระดับปานกลาง, แต่สำหรับการศึกษาที่เปรียบเทียบยาคู่อื่นๆ อยู่ในระดับต่ำหรือต่ำมาก LNG IUS มีประสิทธิภาพมากกว่า COCP ในการลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออก แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับการรักษาอื่นๆที่เปรียบเทียบกัน ซึ่งหมายความได้ว่า ถึงแม้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมดูเหมือนจะสามารถช่วยลดประจำเดือนที่ออกได้ แต่เราไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าผลจะเป็นเช่นไรเมื่อเทียบกับยาอื่นๆ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีหลักฐานการศึกษาคุณภาพระดับปานกลาง ที่แนะนำว่า การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนานกว่า 6 เดือน ช่วยลดภาวะเลือดประจำเดือนออกมากได้ในสตรี ตั้งแต่ 12% ถึง 77% (เทียบกับ 3% ในสตรีที่ใช้ยาหลอก) เมื่อเทียบกับยาอื่นๆที่ใช้รักษาภาวะประจำเดือนออกมากแล้ว, COCP มีประสิทธิภาพน้อยกว่า LNG IUS มีหลักฐานที่จำกัดบ่งชี้ว่า COCP และ CVR ใช้ได้ผลเหมือนกัน ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ COCP กับ NSAIDs หรือโปรเจสโตเจน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

Menorrhagia หรือ Heavy menstrual bleeding (HMB) คือภาวะที่ประจำเดือนออกมาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสตรี อาจจะทางกาย, จิตใจ, สังคม หรือด้านอื่นๆ เป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและไม่สัมพันธ์กับการตั้งครรภ์หรือโรคทางนรีเวชอื่นๆ ยาที่ใช้รักษาเพื่อลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออก ประกอบด้วย prostaglandin synthetase inhibitors, antifibrinolytics, ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน, และ ฮอร์โมนอื่นๆ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแบบรับประทาน (Combined oral contraceptive pills ; COCP) มีประโยชน์หลากหลายได้แก่ ทำให้ประจำเดือนมาเป็นรอบสม่ำเสมอและยับยั้งการตกไข่ ดังนั้นจึงมีผลทั้งในแง่การรักษาภาวะประจำเดือนออกมากและใช้คุมกำเนิดได้ ไม่นานมานี้ ยาคุมกำเนิดชนิดห่วงใส่ช่องคลอด (contraceptive vaginal ring ;CVR) ได้ถูกศึกษาเพื่อประเมินว่าใช้รักษาได้เหมือน COCP หรือไม่ รีวิวนี้เป็นการปรับให้ใหม่จากงานรีวิวตั้งต้นซึ่งเจาะจงเฉพาะ COCP ขอบเขตของรีวิวกว้างขึ้นโดยจะพิจารณายาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมชนิดอื่นๆด้วย ในการลดปริมาณเลือดประจำเดือน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพของ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (ชนิดรับประทาน, ห่วงใส่ช่องคลอด, หรือแผ่นแปะผิวหนัง) เทียบกับการรักษาด้วยยาอื่นๆ, ยาหลอกหรือไม่รักษา สำหรับภาวะเลือดประจำเดือนออกมาก วัตถุประสงค์รองเพื่อเปรียบเทียบ COCP กับ CVR

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาหลักฐานใน Gynecology and Fertility Group trials register, MEDLINE, Embase, CENTRAL, CINAHL and PsycINFO (วันที่ค้น: ตุลาคม 1996, พฤษภาคม 2002, มิถุนายน 2004, เมษายน 2006, มิถุนายน 2009, กรกฎาคม 2017 และ กันยายน 2018) สำหรับการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ ระหว่าง COCP และ CVR สำหรับรักษาภาวะเลือดประจำเดือนออกมาก นอกจากนั้น ยังค้นในการศึกษาที่ลงทะเบียนแล้ว และ รายชื่อเอกสารอ้างอิงของงานวิจัยที่ค้นได้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ ของการใช้ COCP หรือ CVR เทียบกับ การไม่รักษา, ยาหลอก, หรือการรักษาด้วยยาอื่นๆ สำหรับสตรีที่มีภาวะเลือดประจำเดือนออกมากและประจำเดือนมาเป็นรอบสม่ำเสมอ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

การประเมินคุณภาพของการศึกษาวิจัยและการดึงข้อมูลทำโดยผู้รีวิวอย่างน้อยสองคน ตัวชี้วัดหลักของรีวิวนี้คือ ความสำเร็จของการรักษา, เลือดประจำเดือนที่ออก, และความพึงพอใจของการรักษา ตัวชี้วัดรองคือ ผลข้างเคียง, คุณภาพชีวิต, และระดับเม็ดเลือดแดงในเลือด

ผลการวิจัย: 

เราพบ แปดการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบในสตรีรวม 805 คน สองการศึกษาที่เปรียบเทียบ COCP กับยาหลอก มีคุณภาพในระดับปานกลาง ในขณะที่การศึกษาที่เหลืออยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก เนื่องจากความเสี่ยงของการเกิดอคติของงานวิจัยจากการขาดการ blinding และ over precision

การเปรียบเทียบระหว่าง COCP กับการใช้ยาหลอก

COCP, ชนิดที่มีการลดระดับของเอสโตรเจนและเพิ่มระดับของโปรเจสโตเจนในแผงยา, เพิ่มการตอบสนองต่อการรักษา (ทำให้ประจำเดือนกลับมาปกติ) (OR 22.12, 95% CI 4.40 ถึง 111.12; 2 การศึกษา; สตรี 363 คน; I2 = 50%; คุณภาพหลักฐานระดับปานกลาง), และลดเลือดประจำเดือนที่ออก (OR 5.15, 95% CI 3.16 ถึง 8.40; 2 การศึกษา; สตรี 339 คน; I2 = 0%; คุณภาพหลักฐานระดับปานกลาง) เมื่อเทียบกับยาหลอก ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า หากโอกาสสำเร็จในการรักษา 3% ในสตรีที่ใช้ยาหลอก ดังนั้น COCP จะเพิ่มโอกาสการรักษาสำเร็จเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 12% ถึง 77% ในสตรีที่มีภาวะประจำเดือนออกมาก มีผลข้างเคียงเล็กน้อย คือ พบอาการคัดตึงเต้านมมากกว่าในกลุ่มที่ใช้ COCP ไม่มีการศึกษาในการเปรียบเทียบนี้ ที่รายงานการประเมินปริมาณเลือดที่ออกโดยวิธี semi-objective หรือรายงานความพึงพอใจต่อการรักษา

การเปรียบเทียบระหว่าง COCP กับการใช้ยาอื่นๆ

ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเปรียบเทียบว่า COCP ช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกเมื่อเทียบกับ NSAIDs (mefanamic acid และ naproxen) ไม่มีการศึกษาในการเปรียบเทียบนี้ ที่รายงานการประเมินปริมาณเลือดที่ออกโดยวิธี semi-objective หรือรายงานความพึงพอใจต่อการรักษา หรือผลข้างเคียงของการรักษา

ห่วงคุมกำเนิดใส่โพรงมดลูกชนิด levonogestrel (LNG IUS)

LNG IUS มีประสิทธิภาพมากกว่า COCP ในการลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออก (OR 0.21, 95% CI 0.09 ถึง 0.48; 2 การศึกษา; สตรี 151 คน; I2 = 0%; คุณภาพหลักฐานระดับต่ำ) แต่ไม่ชัดเจนว่าความพึงพอใจต่อการรักษาหรือผลข้างเคียงจากการรักษาต่างกันหรือไม่ ไม่มีการศึกษาในการเปรียบเทียบนี้ ที่รายงานการประเมินปริมาณเลือดที่ออกโดยวิธี semi-objective หรือ subjective

ยาคุมกำเนิดชนิดห่วงใส่ช่องคลอด (contraceptive vaginal ring ;CVR) เทียบกับยาอื่นๆ

COCP

มีการเปรียบเทียบระหว่าง COCP กับ CVR ในสองการศึกษา มีความคลาดเคลื่อนในผลการศึกษาบางอย่าง และไม่มีหลักฐานพอที่จะสรุปว่าการรักษาวิธีใดจะมีประโยชน์มากกว่ากัน ในแง่ของการตอบสนองต่อการรักษา, ปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออก หรือความพึงพอใจต่อการรักษา มีโอกาสพบอาการคลื่นไส้มากกว่าในกลุ่มที่ใช้ COCP ไม่มีการศึกษาในการเปรียบเทียบนี้ ที่รายงานการประเมินปริมาณเลือดที่ออกโดยวิธี objective และ subjective

โปรเจสโตเจน

มีการเปรียบเทียบระหว่าง CVR กับ โปรเจสโตเจนในหนึ่งการศึกษา มีความเป็นไปได้ว่า CVR เพิ่มโอกาสของความพึงพอใจต่อการรักษามากกว่า, แต่ไม่แน่ชัดว่า CVR ช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกหรือไม่ หลักฐานการศึกษานี้มาจากวิจัยที่ทำในคนจำนวนน้อยและคุณภาพในระดับต่ำมาก ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปชัดเจนได้ ไม่มีการศึกษาในการเปรียบเทียบนี้ ที่รายงานการประเมินปริมาณเลือดที่ออกโดยวิธี objective และ subjective หรือรายงานผลข้างเคียงของการรักษา

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.นันทสิริ เอี่ยมอุดมกาล ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tools
Information