ความเป็นมา
โรคลมชัก (epilepsy) เป็นความผิดปกติของการปล่อยกระแสไฟฟ้าออกจากสมองซึ่งก่อให้เกิดอาการชัก ซี่งโรค absence epilepsy จะมีอาการชักซึ่งทำให้ไม่รู้สึกตัวไปอย่างกะทันหัน และมักเริ่มมีอาการในวัยเด็กหรือวัยรุ่น มียากันชัก 3 ชนิดที่มักใช้ควบคุมโรค absence epilepsy ได้แก่ valproate, ethosuximide และ lamotrigine
การทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาว่า ยากันชักชนิดใดใน 3 ชนิดนี้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการรักษา absence seizures ในเด็กและวัยรุ่น
ผลการศึกษา
การทบทวนพบหลักฐานบางอย่าง (จากการศึกษาขนาดเล็ก 8 ฉบับ) ว่า ผู้ป่วยที่รับประทาน lamotrigine มีแนวโน้มที่จะปลอดจากการชักได้มากกว่าผู้ที่รับยาหลอก และมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้ป่วยที่รับประทาน ethosuximide หรือ valproate มีแนวโน้มที่จะปลอดจากการชักได้มากกว่าผู้ที่ใช้ lamotrigine อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่ต่ำกว่า จึงควรใช้ ethosuximide มากกว่า valproate ในผู้ป่วยโรค absence epilepsy ในวัยเด็ก
ในแง่ของประสิทธิภาพและความทนต่อยา ethosuximide เป็นยากันชักตัวแรกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรค absence seizures
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนกันยายน 2020
ผู้วิจัยไม่พบการศึกษาใหม่ตั้งแต่การทบทวนวรรณกรรมครั้งก่อน ดังนั้นข้อสรุปยังคงเหมือนกับการทบทวนก่อนหน้านี้ ในแง่ของประสิทธิภาพและความทนต่อยา พบว่ายา ethosuximide เป็นยากันชักตัวแรกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรค absence seizures อย่างไรก็ตาม หากมีอาการ absence และ generalised tonic-clonic seizures ร่วมด้วย สมควรเลือกใช้ยา valproate เนื่องจากยา ethosuximide อาจไม่มีประสิทธิภาพในการคุมอาการชักแบบ tonic-clonic seizures
บทความนี้เป็นการปรับปรุงบทความ Cochrane Review ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2019
Absence seizures (AS) เป็นอาการชักแบบสั้นๆ ซึ่งพบในวัยเด็กและวัยรุ่น เมื่อแบ่งตามลักษณะทางคลินิกและผล electroencephalogram (EEG) แล้ว จะแบ่งได้เป็น typical, atypical absences, และ absences with special features ซึ่ง typical absences จะมีอาการไม่รู้สึกตัวอย่างกะทันหันและ EEG มักจะมีคลื่น generalised spike wave ที่ 3 ครั้งต่อวินาที ในปัจจุบันมีการใช้ยา ethosuximide, valproate และ lamotrigine เป็นยากันชักหลักในการรักษา absence seizures ซึ่งการทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหายากันชักที่ดีที่สุดสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มี AS
เพื่อทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของยา ethosuximide, valproate และ lamotrigine ในการรักษาเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรค absence seizure (AS) เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือยาอื่นๆ
สำหรับการอัปเดตล่าสุด ผู้วิจัยได้สืบค้นจาก Cochrane Register of Studies (CRS Web, 22 กันยายน 2020) และ MEDLINE (Ovid, 1946 ถึง 21 กันยายน 2020) ซึ่ง CRS Web ประกอบด้วยการทดลองแบบ randomised หรือ quasi-randomised, controlled trials จาก PubMed, Embase, ClinicalTrials.gov, World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) และ the Specialized Registers of Cochrane Review Groups including Epilepsy โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้ติดต่อกับ Sanofi Winthrop, Glaxo Wellcome (ปัจจุบันคือ GlaxoSmithKline) และ Parke Davis (ปัจจุบันคือ Pfizer) ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตยา sodium valproate} lamotrigine และ ethosuximide ตามลำดับ
การศึกษาแบบ randomised parallel group monotherapy หรือ add-on trials ที่มีการเปรียบเทียบยาต่อไปนี้ในเด็กหรือวัยรุ่นที่เป็นโรค AS: ethosuximide, sodium valproate, lamotrigine หรือยาหลอก
การวัดผลลัพธ์คือ: 1. สัดส่วนของผู้ป่วยที่ปลอดจากการชักที่ 1, 3, 6, 12 และ 18 เดือนหลังการสุ่ม; 2. จำนวนผู้ป่วยที่มีความถี่ของการชักลดลง 50% หรือมากกว่า; 3. การที่ผล EEG เป็นปกติและ/หรือผลการทดสอบ hyperventilation เป็นลบ; และ 4. ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนได้ดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน และนำเสนอผลลัพธ์เป็น risk ratios (RR) กับ 95% confidence intervals (95% CIs) นอกจากนี้ผู้วิจัยยังใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพ GRADE เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานในผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาทั้งหมดที่เข้าเกณฑ์
จากเกณฑ์การคัดเลือกของผู้วิจัยพบว่าไม่มีการศึกษาใหม่ในการทบทวนครั้งนี้ มีการศึกษาขนาดเล็ก 8 ฉบับ (จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด: 691 คน) รวมอยู่ในการทบทวนก่อนหน้านี้ ซึ่ง 6 ฉบับมีคุณภาพของระเบียบวิธีวิจัยที่ต่ำ (ความเสี่ยงของการมีอคติไม่ชัดเจนหรือมีความเสี่ยงสูง) และ 7 ฉบับมีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 50 คน, ไม่มีการศึกษาแบบ placebo-controlled trials สำหรับ ethosuximide หรือ valproate ดังนั้นจึงไม่มีหลักฐานจาก randomised controlled trials (RCTs) ที่สนับสนุนผลต่อ AS สำหรับยาทั้ง 2 ชนิดนี้ และเนื่องจากวิธีการที่แตกต่างกันที่ใช้ในการทดลองเปรียบเทียบ ethosuximide, lamotrigine และ valproate ผู้วิจัยจึงคิดว่าไม่เหมาะสมที่จะทำการวิเคราะห์เมตต้า มีการศึกษา 1 ฉบับขนาดใหญ่ เป็นแบบ randomised, parallel double-blind controlled ที่เปรียบเทียบระหว่าง ethosuximide, lamotrigine และ sodium valproate ในเด็ก 453 คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค childhood absence epilepsy พบว่า ที่ 12 เดือน การปลอดจากการชักมีมากกว่าในผู้ป่วยที่ได้รับ ethosuximide (70/154, 45%) เทียบกับผู้ป่วยที่รับประทาน lamotrigine (31/146, 21%; P <0.001) แต่ไม่มีความแตกต่างระหว่าง valproate (64/146, 44%) กับ ethosuximide (70/154, 45%; P> 0.05)
ในการศึกษานี้ จำนวนของความล้มเหลวในการรักษาเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่สามารถทนได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มการรักษา โดยมีสัดส่วนของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากที่สุดในกลุ่ม valproic acid (48/146, 33%) เมื่อเทียบกับ ethosuximide (38/154 , 25%) และกลุ่ม lamotrigine (29/146, 20%) (P <0.037) โดยรวมแล้ว การศึกษาขนาดใหญ่นี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลที่เหนือกว่าของ ethosuximide และ valproic acid เมื่อเทียบกับ lamotrigine ในการเป็นยาเดี่ยวสูตรเริ่มต้นเพื่อควบคุมอาการชักโดยไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่สามารถทนได้ในเด็กที่เป็นโรค absence epilepsy นอกจากนี้การศึกษานี้ยังให้หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือสูงในผลลัพธ์ที่มีข้อมูล ในขณะที่ความเชื่อมั่นของหลักฐานจากการศึกษาอื่นๆ อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงของการมีอคติและผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจนเนื่องจากขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่เล็ก ดังนั้น ข้อสรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ ethosuximide, valproic acid และ lamotrigine ส่วนใหญ่มาจากการศึกษาเพียงฉบับเดียว
ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 23 มีนาคม 2021