คำถามของการทบทวน
เราดำเนินการทบทวนนี้เพื่อหาว่าการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นสามารถป้องกันการเป็นนิ่วในไตได้หรือไม่
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
นิ่วในไตพบได้บ่อยในประชากรทั่วไป การดื่มน้ำเพิ่มขึ้น อาจป้องกันการมีนิ่วในคนที่ไม่เคยเป็นนิ่วมาก่อน และ/หรือ ช่วยคนที่เคยมีนิ่วไม่ให้กลับเป็นซ้ำ เราไม่แน่ใจว่าวิธีการนี้ได้ผลดีหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นมีผลไม่พึงประสงค์หรือไม่
ลักษณะของการศึกษา
เราตรวจสอบงานวิจัยที่ตีพิมพ์จนถึงตุลาคม 2019 เรารวบรวมการศึกษาที่มีการเลือกให้ผู้เข้าร่วมดื่มน้ำเพิ่มขึ้น (ปัสสาวะอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน) หรือผู้เข้าร่วมที่ไม่ได้รับคำแนะนำใดเป็นพิเศษ เราไม่พบการศึกษาในคนที่ไม่เคยเป็นนิ่วไตมาก่อน เราพบการศึกษา 1 ฉบับ ดำเนินการใน 220 คนที่มีประวัติเคยมีนิ่วที่มีส่วนประกอบของแคลเซียม แต่ไม่มีนิ่วเมื่อเริ่มต้นการศึกษา อายุเฉลี่ยประมาณ 41 ปี และสองในสามของผู้เข้าร่วมเป็นผู้ชาย
ผลการศึกษาที่สำคัญ
เราพบว่าการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอาจลดความเสี่ยงของการกลับป็นนิ่วซ้ำ นอกจากนี้ ยังอาจยืดเวลาของการกลับเป็นนิ่วซ้ำ เราไม่พบหลักฐานของผลไม่พึงประสงค์
ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
ความน่าเชื่อถือของหลักฐานของผลลัพธ์ทั้งสองอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหมายความว่าผลที่แท้จริงอาจจะแตกต่างกว่านี้
เราไม่พบหลักฐานจาก RCT ถึงผลของการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นพื่อป้องกันนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะระดับปฐมภูมิ สำหรับการป้องกันระดับทุติยภูมิ การเดื่มน้ำเพิ่มขึ้นจนมีปัสสาวะอย่างน้อย 2.0 ลิตรต่อวัน อาจลดการกลับเป็นซ้ำของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และยืดระยะเวลาการกลับเป็นนิ่วซ้ำในผู้มีประวัติเป็นโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของการศึกษานี้มีข้อจำกัด เราไม่พบหลักฐานสำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยโดยมีความชุกที่เพิ่มขึ้นและมีอัตรากลับเป็นซ้ำสูง การศึกษาแบบสังเกตมีรายงานว่าการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นมีส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะแต่ยังมีข้อจำกัดของคุณภาพของหลักฐาน
เพื่อเปรียบเทียบผลของการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นกับการดื่มน้ำตามมาตรฐานเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะของผู้เข้าร่วมที่เคยและไม่เคยมีประวัตินิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
เราสืบค้นอย่างเป็นระบบใน PubMed (MEDLINE), EMBASE (Ovid) และ the Cochrane Library จนถึง 15 ตุลาคม 2019 เราทำการค้นหาบทความด้วยมือ (handsearched) การศึกษาทางคลินิกที่ลงทะเบียนไว้ และรายการอ้างอิงของบทความที่ดึงมา เราไม่มีข้อจำกัดใดด้านภาษาหรือสถานะของสิ่งพิมพ์
เรารวบรวม randomised controlled trials (RCTs) และ quasi-RCTs ที่ศึกษาประโยชน์และโทษของการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเทียบกับการดื่มน้ำตามมาตรฐานเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะในผู้เข้าร่วมที่เคยหรือไม่เคยมีประวัติเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
เราใช้ระเบียบวิธีการวิจัยตามมาตรฐานของ Cochrane ผู้ทบทวนสองคนดึงข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างมีอิสระต่อกัน เรารวมผลของข้อมูลประเภทแจงนับ (เช่น อุบัติการณ์/อัตราการเกิดซ้ำของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์) โดยใช้ risk ratios (RRs) กับ 95% CIs เราคำนวณ hazard ratio (HRs) และ corresponding 95% CIs เพื่อประเมินผลของการดื่มน้ำโดยใช้ time-to event outcomes เราประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยวิธี GRADE
การสืบค้นของเราไม่พบการศึกษาแบบ RCTs ที่ศึกษาผลของการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะในผู้เข้าร่วมที่ไม่มีประวัตินิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ (การป้องกันระดับปฐมภูมิ) เราพบการศึกษาแบบ RCT 1 ฉบับ ที่ประเมินผลของการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับการดื่มน้ำมาตรฐาน เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะในคนที่มีประวัติเคยเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ (การป้องกันระดับทุติยภูมิ) การทดลองนี้สุ่มผู้เข้าร่วม 220 คน (อยู่ในกลุ่มทดลองให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้น 110 คน และอีก110 คนอยู่ในกลุ่มควบคุมให้ดื่มน้ำตามมาตรฐาน) นิยามของการให้ดื่มน้ำเพิ่มขึ้นคือมีปัสสาวะอย่างน้อย 2.0 ลิตรต่อวัน
จากการศึกษานี้ การดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอาจลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วซ้ำ (RR 0.45, 95% CI 0.24 ถึง 0.84; ผู้เข้าร่วม 199 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) มีการเกิดนิ่วน้อยลง 149 คน (43 ถึง 205 คน) จากผู้เข้าร่วมทุกๆ 1000 คน ส่วนในในกลุ่มควบคุมเกิดนิ่วซ้ำ 270 คนต่อผู้เข้าร่วม 1000 ตนตลอด 5 ปี
การดื่มน้ำเพิ่มขึ้นอาจยืดเวลาการเกิดซ้ำของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเปรียบเทียบกับการดื่มน้ำตามมาตรฐาน (HR 0.40, 95% CI 0.20 ถึง 0.79; ผู้เข้าร่วม 199 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) จากหลักฐานอัตราการเป็นซ้ำของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะอยู่ที่ 270 คนจาก 1000 คนตลอดห้าปี ซึ่งเท่ากับว่าการเกิดซ้ำลดลงน้อยกว่า 152 คน (น้อยลง 209 ถึง 50 คน) ต่อผู้เข้าร่วม 1000 คน
จากผลการศึกษาทั้งสองผลลัพธ์ เราลดความเชื่อมั่นของหลักฐานจากข้อจำกัดของการศึกษาและความไม่เที่ยงของผลการศึกษา เราไม่พบหลักฐานสำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที 2 กรกฎาคม 2022 Edit โดย ผกากรอง 24 พฤศจิกายน 2022